พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ มีความสำคัญมากในอดีต ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงสันนิษฐานว่า ได้รับอิทธิพลมาจากลังกา ซึ่งตามความเชื่อของพระราชพิธีดังกล่าว ถือว่า เป็นการสวดไล่ผี เพราะในสมัยก่อนคนไทยมีความเชื่อว่า ช่วงเปลี่ยนผ่านของปีเก่าสู่ปีใหม่ไทยหรือสงกรานต์ จะต้องขับไล่สิ่งไม่ดีออกจากบ้านจากเมือง เพื่อสร้างความเป็นสิริมงคลให้แก่ผู้คนและบ้านเมืองด้วย
พิธีโล้ชิงช้า
พระราชพิธีตรียัมปวาย หรือ ตรียัมพวาย หรือที่ประชาชนทั่วไปมักเรียกว่า “พิธีโล้ชิงช้า” เป็นพิธีหนึ่งในพระราชพิธีสิบสองเดือน ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาทุกปี ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี จนกระทั่งถึงรัชกาลที่ 7 สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อเศรษฐกิจของไทยไม่ค่อยมั่นคง เงินในท้องพระคลังร่อยหรอลงเต็มที และการโล้ชิงช้าก็ต้องใช้เงินมาก ประกอบกับช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย เหตุการณ์บ้านเมืองยังไม่สงบดีนัก ด้วยเหตุผลต่างๆ เหล่านี้ จึงได้ยกเลิกประเพณีการโล้ชิงช้าไปเสีย
พระแม่ทุรคา
พระแม่ทุรคา เป็นอีกปางหนึ่งของ พระแม่อุมาเทวี ที่อวตารลงมาเพื่อมีวัตถุประสงค์ในการปราบอสูรที่ชื่อว่า มหิษาสูร ปางอวตารนี้นับว่าเป็นปางที่ยิ่งใหญ่และสำคัญไม่น้อยไปกว่าปาง พระแม่กาลี โดยพระแม่ทุรคามีความแข็งแกร่ง เหี้ยมหาญ และมีพละกำลังมาก แต่ไม่ดุร้ายเท่ากับปางพระแม่กาลี พระแม่ทุรคา คือปางที่มีพละกำลังที่สูงที่สุดในบรรดาเทพสตรีทั้งปวง พระแม่ทุรคานั้น มักปรากฎเป็นสตรีมี 8 พระกรไปจนถึง 18 พระกร ทรงศาสตราวุธอันทรงอานุภาพในการทำลายล้างมากมายนับไม่ถ้วน เช่น ดาบ ตรีศูล หอก วัชระ คฑา ธนู ฯลฯ ทรงสิงโตเป็นพาหนะประจำพระองค์