Dunning Kruger Effect จิตวิทยาของความอวดฉลาด

Dunning Kruger Effect จิตวิทยาของความอวดฉลาด

ทำไมคนไม่เก่ง ถึงคิดว่าตัวเองเก่ง

Dunning-Kruger Effect คืออะไร

ดันนิ่ง-ครูเกอร์ เอฟเฟกต์ (Dunning-Kruger Effect) คือ ทฤษฎีที่อธิบายว่า เมื่อใครสักคนเริ่มเรียนรู้เรื่องหนึ่งไปได้ระดับนึงแล้ว ความมั่นใจในองค์ความรู้ของตัวเองจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างฉับพลัน และช่วงเวลานี้เองที่ทำให้ใครหลายคนเผลอเชื่อไปว่า ตนเองเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นแล้ว ทั้งที่ยังไม่ใช่

ที่มา และการทดลอง

แนวคิดนี้เริ่มเป็นที่รู้จักครั้งแรกในปี 1999 เมื่อนักจิตวิทยา 2 คน ได้แก่ เดวิด ดันนิ่ง (David Dunning) และ จัสติน ครูเกอร์ (Justin Kruger) สนใจในคดีปล้นธนาคารของ “แมคอาเธอร์ วีลเลอร์” (McArthur Wheeler) ซึ่งทำการปล้นธนาคาร 2 แห่งในวันเดียวกัน โดยไม่มีการปิดบังใบหน้าของตนเองแต่อย่างใด

เหตุผลเพราะว่า วีลเลอร์ คนนี้คิดว่าใบหน้าของตนเอง ‘ล่องหนอยู่’ จากการใช้น้ำมะนาวซึ่งเป็นส่วนผสมสำคัญในการทำ ‘หมึกล่องหน’ มาทาบริเวณใบหน้าก่อนออกปล้นธนาคาร

เหตุการณ์นี้ได้สร้างความสนใจให้ 2 นักจิตแพทย์อย่าง ดันนิ่ง และ ครูเกอร์มาก ๆ จนนำไปสู่การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างความรู้ ความสามารถที่มีอยู่จริง และตามความคิดของตัวเอง โดยให้ผู้เข้าร่วมการทดลองทำข้อสอบหลากหลายรูปแบบ ทั้งที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ การใช้เหตุผล ไปจนถึงความรู้ทางไวยากรณ์

โดยก่อนที่จะประกาศผลคะแนน  เดวิด ดันนิ่ง และ จัสติน ครูเกอร์ ได้ให้ผู้เข้าร่วมการทดลองประเมินคะแนนสอบของตัวเอง ออกมาตามความคิด ผลปรากฎว่า “ผู้เข้าร่วมการทดลองที่มีผลคะแนนต่ำ มักจะประเมินคะแนนสอบของตัวเองสูงกว่าความเป็นจริงมาก”

ยืนยันข้อสันนิษฐาน

เพื่อยืนยันข้อสันนิษฐานนี้ ดันนิ่ง และ ครูเกอร์ ได้ให้ผู้เข้าร่วมการทดลองทั้งกลุ่มที่มีคะแนนสูง และต่ำ สลับกันดูข้อสอบของอีกฝ่ายเพื่อดูความแตกต่างของคำตอบ จากนั้นจึงให้ผู้เข้าร่วมการทดลองทุกคนประเมินคะแนนสอบของตัวเองอีกครั้ง

ผลปรากฎว่า กลุ่มที่มีคะแนนต่ำยังคงมั่นใจอยู่ว่าทุกสิ่งที่เขาตอบนั้นถูกต้อง และยังประเมินคะแนนสอบแบบเดิม แม้จะเห็นแล้วว่าอีกกลุ่มหนึ่งนั้นส่งคำตอบที่แตกต่างออกไป (ผู้เข้าร่วมทดลองไม่รู้ว่ากลุ่มไหนคือกลุ่มที่คะแนนสูง)

ผลสรุป

ดันนิ่ง และ ครูเกอร์ จึงได้ข้อสรุปว่า สาเหตุที่ทำให้คนที่ไม่เก่ง ยังคิดอยู่เสมอว่าตัวเองเก่งกว่าความจริง เป็นเพราะ ‘อคติทางการรับรู้’ (Cognitive Bias) ที่เชื่ออย่างสนิทใจว่าพวกเขาคือคนที่รู้ทุกอย่าง และฉลาดที่สุด

ดันนิ่ง และ ครูเกอร์ ได้เปรียบเทียบกราฟแสดงการแปรผันของความรู้ และความมั่นใจ โดยเปรียบเทียบกับสภาพภูมิประเทศ ดังนี้

1. กำแพงแห่งความไม่รู้ (Wall of Ignorance)

เป็นช่วงแรกที่ยังเต็มไปด้วยความไม่รู้ ความสงสัย และยังไม่มีความมั่นใจ ในช่วงนี้จะเป็นช่วงที่มีความกระตือรือร้นสูงในการเรียนรู้สิ่งใหม่ เมื่อได้เริ่มลองเรียนรู้จะรู้สึกว่ามันไม่ยากอย่างที่คิด ความมั่นใจจะเริ่มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้ว่าสิ่งที่เรารู้จะเป็นเรื่องพื้นฐาน แต่เราจะคิดว่าตนเองเริ่มมีความรู้พอสมควร

2. ยอดเขาแห่งความโง่ (Peak of Mt. Stupid)

หลังจากที่ได้เรียนรู้ไปสักระยะหนึ่ง เราจะเริ่มคิดว่า “เรารู้เกือบหมดทุกอย่างแล้ว” ความมั่นใจเพิ่มขึ้นสู่จุดสูงสุด ในช่วงนี้เราจะรู้สึกดีมาก ๆ กับสิ่งที่ได้เรียนรู้ และรู้สึกเหนือกว่าคนอื่น เราจะคิดว่าเรื่องนี้มันง่ายมาก และในบางครั้งอาจจะเผลอโอ้อวดความรู้กับคนรอบตัวได้

3. ทางลาดแห่งการรับรู้ (Side of Awareness)

หลังจากได้เรียนรู้ฝึกฝนมากขึ้น อยู่กับสิ่งนั้นนานขึ้น ได้รับข้อมูลใหม่ที่ไม่เคยรู้มาก่อน หรือมีคนมาถามรายละเอียดในสิ่งที่คุณเรียนรู้มา แต่บางครั้งเราตอบคำถามนั้นไม่ได้ ก็จะเริ่มเกิดคำถามในใจว่า “เรารู้สิ่งนี้ดีพอแล้วจริงหรือ?”

และเราก็จะได้คำตอบว่า สิ่งที่เรารู้มาเป็นเพียงผิวเผิน มีอีกหลายอย่างที่เรายังไม่รู้เกี่ยวกับสิ่งนี้เลย ความมั่นใจที่เคยมีของก็จะลดลงมาอย่างรวดเร็ว และพูดเรื่องนี้กับผู้อื่นน้อยลงเรื่อย ๆ

ในช่วงนี้ หลายคนรับไม่ได้ว่า “ตัวเองไม่รู้” จึงเลือกจะกลับไปอยู่บน “ยอดเขาแห่งความโง่” (Peak of Mt. Stupid) อีกครั้ง เพื่อความสบายใจของตัวเอง และต่อให้ความจริงจะปรากฎออกมาอย่างไร พวกเขาจะเลือกเชื่อในสิ่งที่ตัวเองยึดถือมาตลอด

4. หุบเหวแห่งความสิ้นหวัง (Valley of Despair)

ช่วงนี้เป็นช่วงที่ยิ่งศึกษาหาความรู้ ความมั่นใจของเราก็จะลดลงไปเรื่อย ๆ จนถึงจุดต่ำสุด เราจะรู้สึกแย่กับความรู้น้อยของตัวเอง และตระหนักได้ว่า “เราแทบไม่รู้อะไรเลย” บางคนถึงขั้นล้มเลิกการเรียนรู้ ยอมกลับไปที่ “ยอดเขาแห่งความโง่” อีกครั้ง

แต่ถ้าถึงจุดนี้แล้วเราตัดสินใจจะลุยต่อ เราจะได้เรียนรู้ที่จะเป็นคนเปิดใจในการเรียนรู้สิ่งใหม่มากขึ้น และเมื่อเวลาผ่านไปความมั่นใจก็จะเริ่มกลับมาอีกครั้ง

5. ทางลาดแห่งการตื่นรู้ (Slope of Enlightenment)

หลังจากที่ลุกขึ้นจาก “หุบเหวแห่งความสิ้นหวัง” ได้ การยอมรับความรู้น้อยของตนเอง จะเป็นจุดเริ่มต้นในการเรียนรู้อย่างยั่งยืน ความถ่อมตัว และการไม่หยุดเรียนรู้ จะกลายเป็นนิสัยของเราโดยไม่รู้ตัว เรียกว่าเป็นการปีนขึ้นสู่ “ทางลาดแห่งการตื่นรู้” เราจะไม่โอ้อวดในความรู้ที่มี เพราะรับรู้อย่างลึกซึ้งว่าเรายังมีสิ่งที่ต้องเรียนรู้อีกมากมาย และความมั่นใจก็จะค่อย ๆ เพิ่มขึ้น

6. ที่ราบสูงแห่งความยั่งยืน (Plateau of Sustainability)

เมื่อเราพัฒนามาถึงจุดนี้ การศึกษาของเราจะยังคงดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ พร้อมกับความมั่นใจที่เพิ่มมากขึ้นตามความรู้ที่มี และแม้ว่าเราจะมั่นใจมากแค่ไหน แต่เราก็ยังคงศึกษาหาความรู้ต่อไปเรื่อย ๆ เพราะความรู้นั้นจำเป็นต้องอัปเดตอยู่ตลอดเวลา และโลกของความรู้ก็ไม่มีสิ้นสุด

บทความโดย คุณานันต์ TechToro

Ref:

ที่มา: finnomena

Leave a Reply