พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์

พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์

570300000119

พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ มีความสำคัญมากในอดีต ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงสันนิษฐานว่า ได้รับอิทธิพลมาจากลังกา ซึ่งตามความเชื่อของพระราชพิธีดังกล่าว ถือว่า เป็นการสวดไล่ผี เพราะในสมัยก่อนคนไทยมีความเชื่อว่า ช่วงเปลี่ยนผ่านของปีเก่าสู่ปีใหม่ไทยหรือสงกรานต์ จะต้องขับไล่สิ่งไม่ดีออกจากบ้านจากเมือง เพื่อสร้างความเป็นสิริมงคลให้แก่ผู้คนและบ้านเมืองด้วย

“ตามหลักการ พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ จะมีพระสงฆ์มาสวดพระปริตร ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคาถาไล่ผี โดยผู้เข้าร่วมพระราชพิธีจะต้องสวมมงคล และถือกระบองเพชร เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ผีวิ่งเข้าชนผู้เข้าร่วมพิธี และจะมีการยิงปืนไล่ผีให้เกิดความตกใจ จะส่งผลให้เกิดความเป็นสิริมงคลต่อตนเองและบ้านเมือง อย่างไรก็ตาม พระราชประเพณีดังกล่าวไม่มีจัดขึ้นแล้วในปัจจุบัน หากคนโบราณที่ยังอยู่และเห็นสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้ ก็จะบอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้น เกิดจากผีป่าเข้าเมือง ผู้คนทะเลาะกัน เพราะไม่มีพิธีสวดมนต์ขับไล่ผีปีศาจ และยิงปืนใหญ่ไล่ผีขึ้น แต่สิ่งที่ยังทำให้เห็นว่า พิธีนี้ยังไม่สูญหาย คือ พิธีสวดภาณยักษ์ ที่ยังคงมีการประกอบพิธีขึ้นตามวัด ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับ พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์

”สำหรับความเป็นมาของ พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์โลก เรียกว่า ตรุษฝ่ายพุทธศาสตร์ เริ่มการจัดงานโดย พนักงานตั้งบาตรนํ้า บาตรทราย จับด้ายมงคลในโรงราชพิธีทั้ง 4 ทิศ พระนครและในพระราชนิเวศน์ จากนั้นอัญเชิญ พระพุทธปฏิมากรมาประดิษฐาน อาราธนาพระมหาเถรานุเถร ผลัดเปลี่ยนกันมาจำเริญพระปริตร ในโรงราชพิธีทุกตำบล เมื่อพระมหาเถรเจ้าจำเริญ พระอาฏานาฏิยสูตรในราตรี หมู่ทหารยิงปืนใหญ่รอบพระนคร ฝ่ายพราหมณาจารย์ ประชุมกันผูกพรตกระทำการพระราชพิธี ในพระเทวสถานหลวง ตั้งเครื่องพลีกรรมสังเวย บวงสรวงพระเทวรูปทั้งมวล แล้วเปลี่ยนเวร กันอ่านอาคม ในทิวาราตรีทั้งสารม ครั้นถึงวันขึ้น 14 คํ่า เพลาบ่าย ชายแสง พระครูพรหมพรตพิธีกับชีพ่อพราหมณ์ทั้งหลาย ก็เชิญจตุโลกปาลเทวรูป ขึ้นเสลี่ยงงา แห่เข้ามายังโรงพิธีในพระราชนิเวศน์ กระทำปทักษิณสิ้นวาระ สามรอบแล้ว พราหมณาจารย์ทั้งหลายก็สมาทานบัญจางคลิกศีล ในสำนักสมเด็จพระสังฆราช เสร็จแล้วก็แห่พระเทวรูปทั้ง 4 ออกไปประดิษฐานไว้บนเกย อันกระทำไว้หน้าโรงราชพิธีทั้ง 4 ทิศ พระนคร

85dcc28796c6e859

ครั้นเพลาพลบคํ่า พระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จพร้อมด้วยพระราชเทพี แลพระบรมวงศา ทรงสถิตในมาฬกดาดเพดานผ้าขาวเป็นพระที่นั่ง แล้วก็ทรงสมาทานบัญจางคิกศีลพร้อมด้วย หมู่ข้าเฝ้าฝ่ายหน้าฝ่ายใน ต่างสดับฟังพระมหาเถรเจ้าจำเริญพระรัตนสูตรและพระอาฏานาฏิยสูตร โดยสัจเคารพ ชาวพนักงานฝ่ายทหารก็ยิงปืนน้อยใหญ่รอบราชธานี สำหรับขับภูตปีศาจ จนสิ้นราษราตรี นับได้ 108 คราวปืน ครั้นรุ่งขึ้นเป็นวันสิ้นปี ก็ทรงปรนนิบัติพระมหาเถรเจ้าด้วยของคาวหวาน อันประณีต แล้วตั้งขบวนเป็นปัญจพยุหะ หมู่ทหารแต่งกายใส่เสื้อหมวกสีต่างๆ ถือธงฉาน ธงชาย สรรพศัสตราวุธครบมือ ประดับด้วยเครื่องพระอภิรมแลกลองอินทเภรีแตรสังข์ มโหระทึก กังสดาลฉาบแฉ่ง จึงเชิญพระพุทธปฏิมา ขึ้นทรงพระราชยานมีฉัตรกั้นบังสูรย์ อาราธนาพระมหาเถรเจ้าทั้งหลาย ขึ้นสถิตยานราชรถ และรถประเทียบเรียบเรียงกระบวนแห่งนั้นเป็น5 กระบวน ประนํ้าพระพุทธมนต์ แลโรยทรายรอบพระราชนิเวศน์นั้นกระบวนหนึ่ง รอบพระนคร ตามท้องสถลมารคนั้น 4 กระบวน ดูเป็นสง่ายิ่งนัก เหล่านักเลงก็เล่นมหรสพ เอิกเกริกสมโภชบ้านเมือง เป็นการนักขัตฤกษ์ บรรดานิกรประชาราษฎร ชายหญิงก็แต่งตัวนุ่งห่มกายอ่าโถง พากันมาเที่ยวดูแห่ดูงาน นมัสการพระในวันสิ้นปีและขึ้นปีใหม่เป็นต้น

พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ หรือพิธีตรุษ ทำในปลายเดือน ๔ ต่อเดือน ๕ อยู่ระหว่างวันที่ ๒๘ ถึง ๓๑ มีนาคม วันขึ้นปีใหม่ วันที่ ๑ เมษายน และการพระราชพิธีสงกรานต์ วันที่ ๑๒ ถึง ๑๕ เมษายน พระราชพิธีประเพณีไทยเหล่านี้มีลักษณะคล้ายกัน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงรวมเข้าเป็นงานเดียวเรียกว่า พระราชพิธีตรุษสงกรานต์ และเถลิงศกขึ้นปีพุทธศักราช โดยรวมหลักการของงานพระราชพิธีนั้นๆการตั้งแต่งเครื่องมงคลพิธี ตลอดจนพิธีมณฑลก็อนุโลมเช่นเดียวกับพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์และพระราชพิธีสงกรานต์เดิม ดังที่ปรากฏในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ที่มา: https://traditionthailand.wikispaces.com/เดือนสี่

Leave a Reply