ขนมจู้จุน ขนมพื้นเมืองโบราณของคนปักษ์ใต้ที่เริ่มจะเลือนราง ต้องกินกันสดๆ ร้อนๆ ถึงจะอร่อย กรอบนอกนุ่มใน ปัจจุบันไม่ค่อยจะมีคนทำขายกัน ขนมจู้จุน เป็นการดัดแปลงขนมจากการทำขนมในเทศกาลเดือนสิบ ชื่อขนมรังนกมาเป็นขนมจู้จุน ส่วนมากรับประทานกันในพื้นบ้าน และสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ การทำขนมจู้จุน นับว่าเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นในการทำขนมไทยพื้นบ้านที่สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน สำหรับชื่อขนมชนิดนี้จะเรียก จู้จุน จูจุ่น จูจุ๋น หรือภาคกลางก็จะเรียก ขนมฝักบัว
ขนมถังแตก
ขนมถังแตกแต่โบราณจะพบเห็นตามงานวัด งานประจำปี หรือแถวที่ฉายหนังกลางแปลง ที่เคยเห็นเค้าทำจะใช้ข้าวสารแช่น้ำจนนุ่มแล้วโม่เป็นแป้ง หมักไว้หลายวันจนมีกลิ่นเปรี้ยว แล้วนำมาผสมน้ำตาล น้ำ ตีเข้ากันให้แป้ขึ้น ก่อนนำไปหยอดใส่กระทะ ปิดฝาอบจนสุก จึงใส่มะพร้าวขูดขาว น้ำตาลทราย และงาคั่ว ขนมจะชิ้นใหญ่มาก ทานชิ้นเดียวอิ่มไปนาน แถมราคาถูกแสนถูก
ขนมลืมกลืน
ขนมลืมกลืน ขนมไทยที่ทำจากแป้งถั่วเขียวหรือแป้งสลิ่ม ผสมน้ำลอยดอกไม้และน้ำตาล นำไปกวนจนใส หยอดหน้าด้วยกะทิ ส่วนประกอบของขนมมี 2 ส่วน คือ ส่วนของตัวขนมที่ทำจากแป้งถั่วเขียวและหน้าขนมที่ทำจากกะทิ รสชาติหวานหอม มันๆ เค็มๆ จากตัวกะทิ เนื้อของขนมมีลักษณะนุ่ม ทานอร่อยจนทำให้ลืมกลืนตามชื่อขนมไปเลย