อาร์เตมิส (Artemis) หรือ ไดอานา (Diana) เทวีแห่งการล่าสัตว์ และ เทวีแห่งดวงจันทร์
อาร์เตมิส (Artemis)
ในคณะเทพโอลิมเปียนมีเทวีพรหมจารีอยู่ 3 องค์ ทรงนามตามลำดับว่า เฮสเทีย (Hestia) เอเธน่า (Athene) และ อาร์เตมิส (Artemis) ซึ่งเป็นเทวีครองการล่าสัตว์ ทรงนามว่า ไดอานา (Diana) หรือ อาร์เตมิส เทวีองค์นี้เป็นที่เคารพบูชาของพวกพรานโดยเฉพาะ และเป็นเจ้าของสัตว์ป่าทั้งปวง แต่สัตว์ที่เทวีโปรดปรานมากเป็นพิเศษ ได้แก่ กวาง
โดยที่แสงเดือนเพ็ญ เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่การเดินป่า และล่าสัตว์ในเวลากลางคืน คนทั้งปวง จึงนับถือ เทวีในฐานะ เทวีครองแสงจันทร์ด้วย และในที่สุดก็ยกย่องเทวี เป็นเทวีแห่งดวงจันทร์ ในชื่อว่า ฟีบี (Phoebe) บ้าง เซลีนี (Selene) บ้าง ซึ่ง เป็นชื่อเรียกเทวีประจำดวงจันทร์ หรือจันทรเทวี มาแต่ดั้งเดิม ต่อมาในระยะหลัง ๆ ยังมีการเอา เทวีเหกกะตี (Hecate) ซึ่งครองความมืดในข้างแรม และไสยศาสตร์ มารวมกับ เทวีอาร์เตมิส หมายให้เป็นเทวีองค์เดียวกันอีกด้วย
อาร์เตมิสเป็นเทพธิดาคู่แฝดผู้พี่ของ อพอลโล สุริยเทพของกรีก เกิดแต่ซุส กับนางแลโตนา หรือ ลีโต (Latona ,Leto) (แต่บางตำนานกล่าวว่า เป็นธิดาของเทพไดโอนิซัสกับไอซิส แต่ผู้คนมักรู้จักเทวีอาร์เตมิส ในฐานะธิดาของ ซุสมากกว่า รวมทั้งท่านโฮเมอร์นักกวีชาวกรีกกล่าวไว้เช่นนี้ด้วย) เมื่อตอนเกิดคลอดยากนักหนา ถึงแก่นางแลโตนา เกือบเอาชีวิตไม่รอด เทวีรู้สึกถึงความเจ็บปวดทนทุกข์เวทนาอย่างใหญ่หลวงของมารดา เลยพลอยรังเกียจการวิวาห์ ถึงกับขอประทานอนุญาตจากเทพบิดาในอันที่จะขอไม่มีคู่ครอง แม้เหล่าเทพบนเขาโอลิมปัส แสดงความปรารถนา ใคร่จะได้วิวาห์ด้วยเทวีก็ไม่ไยดี คงยืนกรานที่จะดำรงชีวิตโสดอย่างเดียว และวิงวอนต่อเทพบิดา ด้วยเหตุผลเช่นนี้ ซุสจำต้องประทานอนุญาตให้ เทวีขอประทานนางอัปสรโอเชียนิค 60 กับอัปสรอื่นอีก 20 ซึ่งล้วนแต่ ไม่ยินดี ในการวิวาห์ เป็นบริวารติดสอยห้อยตาม เสด็จประพาสไปตามราวป่า เพลิดเพลินเป็นนิตย์นิรันดร
ทุกเวลาเย็นอาทิตย์อัสดง พอตะวันตกลับโลกไปแล้ว เทวีอาร์เตมิส ก็ทรงจันทรยานเทียมม้าขาวปลอด ดั่งสีนม พเนจรไปในห้วงเวหา ผ่านดวงดารา ซึ่งต่างก็ทอแสงจ้าระยิบระยับรับตลอดทาง
อาร์เตมิส เป็นเทวีที่มีอุปนิสัยโหดเหี้ยมและดุร้าย น่าแปลกที่ชาวกรีกกลับให้ความเคารพนับถือเทวีเป็นอันมาก ตำนานหลายฉบับ กล่าวไว้ตรงกันว่า นางมักลงโทษผู้ที่ทำให้ขุ่นเคืองอย่างรุนแรง มีผู้เคราะห์ร้ายหลายรายถูกเทวี ลงโทษอย่างน่าสยดสยอง ดังเรื่องราว 2-3 เรื่องต่อไปนี้
วันหนึ่งเมื่อเทวีอาร์เตมิสทรงจันทรยาน ดำเนินไปตลอดราตรีกาลแล้ว จึงถือศรคู่หัตถ์ลงจากรถออกล่าสัตว์ป่า มีนางอัปสรบริวาร ติดสอยห้อยตามดุจเคย เวลาบ่ายหนึ่งในฤดูร้อนภายหลังที่เที่ยวตามสัตว์ ด้วยความตื่นเต้นเป็นเวลานานผิดกว่าเคย เทวีกับบริวาร ก็พากันมาถึงหนองน้ำนิ่งแห่งหนึ่งแห่งลำเนาเขา น้ำใสเย็น แพรวพราย ชวนให้ลงสรงสนาน เทวีและบริวารทั้งปวง จึงพากันเปลื้องเครื่องทรง ชุดล่าสัตว์ ลงเล่นน้ำเป็นที่สำราญยิ่งนัก แต่วันนั้น เทวีและบริวารใช่จะเป็นพรานคณะเดียวที่ออกล่าสัตว์ก็หาไม่ ยังมีนายพรานชื่อ แอคเตียน (Actaeon) ออกเที่ยวล่าสัตว์หาเนื้อ อีกคนหนึ่งด้วย พอเวลาบ่ายตะวันชาย แอคเตียน เหน็ดเหนื่อยโรยกำลัง และกระหายน้ำ จึงมุ่งหน้า มายังหนองน้ำแห่งนี้เหมือนกัน ในขณะที่เข้าไปใกล้หนองน้ำนั้น แอคเตียนแว่วเสียงสำรวล สรวลดัง มาจากหนองน้ำแต่ไกล จึงย่องเข้าไปอย่างระมัดระวัง เมื่อถึงระยะพอมองเห็น เขาก็ค่อยบรรจง แหวกกิ่งไม้ใบหนา แง้มมองดู เห็นเทวีอาร์เตมิส กับบริวารสรงน้ำอยู่ เป็นภาพที่ไม่เคยมีมนุษย์คนใด มีโอกาสได้พบเห็นซักครั้งหนึ่งเลย ในขณะนั้นเอง เทวีซึ่งสันทัดจัดเจนกับความเป็นไปในราวป่า ได้สดับเสียงใบไม้ไหว เหลียวขวับมาเพื่อจะดูให้แน่ใจว่าเสียงนั้นเกิดจากเหตุใด ก็ประสบสายตาจ้องมองอย่างตะลึงพรึงเพริด ของนายพรานหนุ่มผู้พิศวง เทวีโกรธนักที่เจ้าหนุ่มบังอาจละลาบละล้วง จึงกอบน้ำด้วยอุ้งหัตถ์ ซัดสาดตรงไปยังใบหน้าของเจ้าหนุ่มทันที พอหยดน้ำกระทบหน้าเจ้าหนุ่ม เขาก็รู้สึกตัวว่าร่างของเขากลายเปลี่ยนเป็นกวางไปเสียแล้ว พร้อมกับมีเขางอกขึ้นแผ่กิ่งก้านสาขางามสะพรั่งให้รู้สึกเสียใจนัก ในขณะที่เขายืนนิ่งงันในรูปกวางอยู่ ณ ที่นั้นเอง ก็แว่วเสียง สุนัขล่าเนื้อ ของเขาเอง เห่าอยู่ในที่ไกลเที่ยวตามหานาย แอคเตียนสะดุ้งตกใจ จึงขยับออก จะวิ่งหนีเข้าป่า แต่อนิจจา ช้าไปเสียแล้ว ฝูงสุนัขเห็นเขาเข้าแล้ว มันพากัน วิ่งกรูตามกระชั้นเข้าไปเป็นพรวน กวางแอคเตียนเจ้ากรรม พยายามโกยหนีสุดกำลัง แต่ไม่พ้น พอล้มฮวบลงกับพื้นเพราะอิดโรย สุนัขทั้งฝูงก็กระโจนเข้ารุมงับคอหอย ถึงแก่ความตายอยู่กับที่ตรงนั้นนั่นเอง
[field name = adsense]
เทวีอาร์เตมิส และ บริวาร ลงเล่นน้ำ
อีกรายหนึ่งทำผิดเพียงเล็กน้อย ก็ถูกเทวีอาร์เตมิสลงทัณฑ์อย่างไม่เป็นธรรม เรื่องมีอยู่ว่า มานพหนุ่มผู้หนึ่งชื่อว่า อัดมีทัส (Admetus) ซึ่งมัวปลื้มใจที่ได้แต่งงานกับสาวงาม จึงหลงลืมที่จะถวายเครื่องสักการะบูชา เทวีก็โกรธกริ้ว บันดาลให้ห้องหอของอัดมีทัสมีแต่งูพิษเต็มไปหมด
นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวอีกเรื่องที่คล้าย ๆ กันนั่นคือ กษัตริย์แห่งเมืองคาลีดอน นามว่า เอนีอัส (OeNeus) เกิดลืม ถวายพืชผล ที่เก็บเกี่ยวจากไร่นาของพระองค์เป็นครั้งแรก แด่เทวีอาร์เตมิสตามธรรมเนียม เทวีก็บันดาลให้โคป่าเข้าบุกดินแดนของกษัตริย์เอนีอัส มิหนำซ้ำเมื่อครอบครัวของเอนีอัสออกไปปราบวัว ก็ถูกวัวสังหารตายเสียทั้งครอบครัวเป็นที่น่าเวทนายิ่ง
แต่ชะรอยบาปคงจะตามสนองเทวีอาร์เตมิสเข้าให้บ้างเหมือนกัน ทำให้เทวีได้รับความเจ็บปวดร้าวทุกข์ทรมาน เนื่องจากสูญเสียคนอันเป็นที่รักไปด้วยน้ำมือของตนเอง
โอไรออน
ในกาลครั้งหนึ่งยังมีนายพรานร่างกำยำทรงพลังยิ่งคนหนึ่ง ชื่อว่า โอไรออน (Orion) กำเนิดอันแท้จริงของเขาไม่มีประวัติแน่ชัด หากแต่ถือกันว่าเขาเป็นบุตรของเทพเจ้าแห่งทะเลโปเซดอน (เนปจูน) และสามารถลุยทะเลลึก บางคน ก็ว่าเดินไปบนพื้นน้ำทะเลได้ในเวลากลางวัน โอไรออนออกเที่ยวตระเวณไป ตามราวป่าตลอดวัน มีสุนัขที่แสนซื่อ ชื่อว่า ซิริอัส (Sirius) ตามติดสอยไปด้วย วันหนึ่งเขาได้พบกับนางอัปสรทั้ง 7 เรียกว่า พลียาดีส (Pleiades) ที่กลางป่า ให้บังเกิดความเสน่หา จึงตามนางเหล่านั้นไปอย่างฉับพลัน แต่นางอัปสรก็เร่งหนี จนกระทั่งอ่อนกำลังจวนเจียนจะไม่พ้น นางเหล่านั้นจึงขอร้องให้ เทวีอาร์เตมิสช่วย เทวีก็โปรดช่วยดังที่เคยโปรดแก่บริวารเสมอ เพราะฉะนั้นเมื่อโอไรออน กระหืดกระหอบตามไปทันก็พลันได้เห็นนกพิราบสีขาวดังหิมะ 7 ตัว บินขึ้นสู่ฟากฟ้าพอดี ในฟากฟ้านกพิราบทั้ง 7 เปลี่ยนไปอีกด้วยอำนาจบันดาลของเทวีอาร์เตมิส กลายเป็นกลุ่มดาวซึ่งเรียกว่า พลียาดีส เปล่งประกาย ระยิบระยับเรืองโรจน์ แต่เมื่อกรุงทรอยเสียแก่ข้าศึกนั้น ดาวกลุ่มนี้สลัวลงด้วยความเศร้า และดวงหนึ่ง ซึ่งมีอารมณ์แรงกว่าเพื่อน ถึงแก่มืดมัวลับจากสายตาไป เพื่อซ่อนตัวให้พ้นตาคน
ฝ่ายโอไรออนแม้ไม่สมหวังก็มิได้เสียใจนานนัก ต่อมาเขาก็ผูกสมัครรักนาง มิโรปี (Merope) ธิดาท้าว อีโนเปียน (Oenopion) เจ้าครองเกาะไคออส (Chios) โดยความมุ่งมั่นที่จะวิวาห์ด้วยกับนาง โอไรออนอุตส่าห์ล่าสัตว์ป่าเสียจนเตียนไปทั้งเกาะ เอาสัตว์ที่ล่าได้เป็นกำนัลแด่สาวเจ้าและบิดา แต่เมื่อโอไรออนออกปากขอนางมิโรปีต่อบิดาของนางทีใด บิดานางก็ผัดไปทุกที โอไรออนนั้นมีนิสัยวู่วามไม่อดทนในการที่จะต้องคอยเรื่อยไป ไม่มีกำหนดเวลาเช่นนี้ เขาจึงตัดสินใจที่จะรวบรัดด้วยวิธีฉุดคร่านางมิโรปีด้วยกำลังหักหาญ แทนการวิวาห์โดยเปิดเผย ซึ่งจะกำหนดกันเมื่อใดก็ไม่รู้ ฝ่ายท้าวอีโนเปียนรู้ทันจึงจัดการตัดไฟแต่ต้นลมเสียก่อน โดยมอมเหล้าโอไรออนจนเมาทำให้ตาบอด แล้วเอาไปทิ้งริมทะเล โอไรออนเสียทั้งรัก ทั้งดวงตา ฟื้นตื่นขึ้นไม่รู้จะไป ณ แห่งหนใด แต่อาศัยความรู้ของนายพราน ฟังเสียงของค้อนยักษ์ไซคลอปส์ในเกาะเลมนอส (lemnos) ดั้นด้นไปจนถึงถ้ำตีเหล็กของยักษ์ ฝ่ายยักษ์ตนหนึ่งมีความสงสารจึงอาสาพาโอไรออน เดินไปทางทิศตะวันออก ช่วยให้ได้พบกับ สุริยเทพ อพอลโล และอาศัยแสงสว่างรักษาดวงตาให้กลับคืนเป็นปกติ
เมื่อกลับเป็นปกติดังเดิมแล้ว โอไรออนก็กลับมาล่าสัตว์อีก ตั้งแต่เช้าจนเย็นทุกวัน โดยตอนนี้เองเทวีอาร์เตมิสได้พบเขาในป่า และได้คบหาชอบพอกันมาก อพอลโล เห็นท่าไม่ชอบกลในมิตรภาพ ทั้งนี้เกรงว่าภคนีเทวีจะกลับสัตย์ปฏิญาณที่ตั้งไว้เดิม ว่าจะครองความเป็นพรหมจารีตลอดไปนั้นเสีย จึงคิดอุบายให้มิตรภาพนั้นยุติลงอย่างเด็ดขาด
วันหนึ่งอพอลโล เห็นโอไรออนเดินลุยทะเล โผล่หัวอยู่เหนือพื้นน้ำ จึงเรียกอาร์เตมิสเข้าไปและชวนคุยเรื่องฝีมือธนูศิลป์ จนอาร์เตมิสตายใจ ว่าแล้วอพอลโล ก็ท้าให้อาร์เตมิสลองฝีมือ โดยให้ลองยิงอะไรที่ลอยอยู่เหนือพื้นน้ำทะเลดูว่าจะถูกหรือไม่ ฝ่ายเทวีขมังธนูก็ยิงธนูออกไปฉับพลัน หาเฉลียวใจไม่ว่าอะไรดำ ๆ นั้นคือ หัวของโอไรออน ลูกธนูถูกเป้าหมายอย่างแม่นยำ ครั้นคลื่นซัดสาดโอไรออนเข้าฝั่ง เทวีอาร์เตมิสจึงรู้ว่าได้ทำอะไรลงไป จึงรู้สึกเศร้าเสียดายเป็นอย่างมาก เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วเทวีจึงแปลงโอไรออน กลายเป็นกลุ่มดาว พร้อมด้วย สายรัดเอว ดาบ และ กระบองคู่มือของเขา อยู่ในท้องฟ้าต่อจากกลุ่มดาวพลียาดีส และแปลงสุนัขของเขา ให้กลายเป็น ดาวซิริอัส อยู่ท้ายกลุ่มดาวโอไรออนด้วยตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
เรื่องราวนายพรานโอไรออนนั้น มีบางตำนานกล่าวถึงการตายของนายพรานหนุ่มคนนี้แตกต่างกันออกไป กล่าวคือ ขณะที่ไปล่าสัตว์ด้วยกัน โอไรออนเกิดไปสัมผัสถูกกายของเทวีอาร์เตมิสเข้า ความที่ไม่ยอมให้ชายใดเข้าใกล้ เทวีเผลอตัวลงโทษบุรุษคนแรกที่บังอาจสัมผัสกายเทวีทันที โทษที่อาร์เตมิสบันดาลให้เป็นไปนั้น มาในรูปของแมงป่องพิษ ที่โผล่ขึ้นจากใต้ดิน มากัดข้อเท้าของโอไรออน อันเป็นเหตุให้ นายพรานอาภัพผู้นี้ ล้มลงสิ้นใจตาย
เนื่องด้วยเทวีอาร์เตมิส รังเกียจการวิวาห์ ถือครองพรหมจารี นอกจากนางจะไม่รัก ไม่วิวาห์แล้ว เทวีเองยังบังคับให้ บริวารของตนไร้รัก และไร้คู่ ตามไปด้วย หากผู้ใดฝ่าฝืนถูกพิษรักเข้าให้ ก็จะถูกเทวีอาร์เตมิสลงโทษอย่างทารุณ ดั่งเช่น นางคัลลิสโต นางสวยงามจนซุส แอบหลงรักจึงใช้เล่ห์เพทุบาย จำแลงองค์เป็นอาร์เตมิสเข้าไปคลอเคลียใกล้ ๆ พอเทวีอาร์เตมิสรู้เข้าก็โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ แต่ไม่ยักโกรธเทพพระบิดาผู้ก่อเหตุ กลับหันไปเล่นงาน คัลลิสโตผู้น่าสงสาร ด้วยการใช้ธนูยิงนางจนมอดม้วยสิ้นใจไป
เอนดิเมียน หลับไหลตลอดกาล
นอกจากนี้ยังมีเรื่องเศร้าอีกเรื่องก็คือ ในคืนหนึ่ง ขณะที่เทวีอยู่เหนือแว่นแคว้นแดนคอเรีย พลันเทวีก็แลเห็น หนุ่มน้อยคนหนึ่ง นอนหงายหน้าอาบแสงเดือนอันอ่อนละมุนอยู่ริมเขา เจ้าหนุ่มนี้คือคนเลี้ยงแกะรูปงามชื่อ เอนดิเมียน (Endymion) กำลังอยู่ในอาการเคลิ้มหลับ ความงามของเจ้าหนุ่มเมื่อต้องแสงจันทร์ เป็นที่พิสมัยแก่เทวีอาร์เตมิสนัก เทวีอดรัญจวนไว้มิได้ จึงยอรถให้หยุดฉับพลัน แล้วลงจากรถลอยเลื่อนลงมาจุมพิตริมฝีปากเผยอน้อย ๆ ของเจ้าหนุ่มเบา ๆ แล้วลอยเลื่อนกลับไป ในขณะนั้นเองเอนดิเมียนฟื้นตื่น แต่จิตยังอยู่ในภวังค์ ค่อยลืมเปลือกตาขึ้นอย่างปรือ ๆ เห็นภาพคลับคล้ายคลับคลาพึงพิศวง บัดดลก็สะดุ้งตื่นลุกขึ้นขยี้ตาเหลียวมองรอบข้าง ครั้นเห็นดวงจันทร์กำลังลอยเลื่อนอยู่ในฟากฟ้า ก็นึกแน่ว่าเหตุที่ประสบกับตนเป็นแค่ความฝันเท่านั้น แต่ความฝันก็แสนจะดื่มด่ำใจเสียยิ่งกระไร หวังจะได้ฝันเห็นดังนั้นอีกครั้งหนึ่ง เอนดิเมียนฝังใจในความฝันนั้นหนักหนาเที่ยวซอกซอนค้นหาเทพธิดาในฝัน ไปตามที่ต่าง ๆ แม้กระทั่งในทะเลลึก ฝ่ายอมรเทพทั้งปวงรู้ความเสน่หา ที่เทวีมอบให้เอนดิเมียน ก็พากันพิศวงสนเท่ห์ยิ่งนัก เพื่อตัดหนทางที่จะทำให้เกิดเรื่องอื้อฉาว ซุสจึงบังคับเอนดิเมียน ให้เลือกเอาว่าจะยอมตายด้วยวิธีหนึ่ง ตามแต่จะพึงประสงค์ หรือจะยอมนอนหลับโดยไม่มีเวลาตื่นในถ้ำแห่งหนึ่งบนยอดเขาแลตมัส (Latmus) เอนดิเมียน เลือกเอาประการหลัง และ ณ ที่นั้นคนโบราณเขาเชื่อว่า เอนดิเมียน คงนอนหลับตลอดกาล โดยเทวีอาร์เตมิสผู้ซื่อสัตย์แวะเวียนไปเยือนเจ้าหนุ่มทุกคืน และเฝ้าดูแลฝูงแกะ ที่เจ้าหนุ่มทอดทิ้งไป เพื่อค้นหาเทวีให้อีกด้วย
เทวีอาร์เตมิส แต่งกายนุ่งกระโปรงสั้นเหนือเข่า
รูปสลักของเทวีอาร์เตมิสของชาวกรีก เป็นหญิงสาวอรชรแต่แข็งแกร่ง แต่งกายไม่เหมือนเทวีองค์อื่น ๆ โดยนุ่ง กระโปรงสั้นเหนือเข่า ทั้งนี้เพื่อสะดวกในการล่าสัตว์นั่นเอง อาวุธที่โปรดปราน คือ ธนู มีหมีเป็นสัญลักษณ์ อุปนิสัยดี ๆ ในองค์ เทวีเท่าที่ค้นพบคือ ความรักในดนตรี และ เล่นดนตรีต่าง ๆ ได้ไพเราะ เทวีชอบการร้องเพลง และเต้นรำ เหมือนน้องชาย คือ เทพอพอลโล นั่นเอง