ดีมิเตอร์ (Demeter) หรือ ซีริส (Ceres) เทวีครองข้าวโพด และ เกษตรกรรม

ดีมิเตอร์ (Demeter) หรือ ซีริส (Ceres) เทวีครองข้าวโพด และ เกษตรกรรม

เทพซุส มีเทวีภคินี 3 องค์ ในจำนวนนี้ 2 องค์เป็นคู่พิศวาสของซุสด้วย องค์หนึ่งคือ เทวีฮีรา อีกองค์ ทรงนามว่า ดีมิเตอร์ (Demeter) ตามชื่อกรีก หรือ ภาษาโรมันว่า ซีริส (Ceres) เป็นเทวีครองข้าวโพด ซึ่งหมายถึง การเกษตรกรรมนั่นเอง

ดีมิเตอร์ (Demeter) ตามชื่อกรีก หรือ ภาษาโรมันว่า ซีริส (Ceres)

ดีมิเตอร์ (Demeter) ตามชื่อกรีก หรือ ภาษาโรมันว่า ซีริส (Ceres)

เทวีดีมิเตอร์มีธิดาองค์หนึ่งทรงนามว่า พรอสเสอะพิน (Proserpine) หรือ เพอร์เซโฟนี (Persephone) เป็นเทวี ครองฤดูผลิตผล ของพืชทั้งปวง เพื่ออธิบายธรรมชาติของการผลัดฤดู กวีกรีกโบราณจึงผูกเรื่อง ให้เทวีองค์นี้ ถูกฮาเดส ลักพาตัวไปเป็นคู่ครองในยมโลก ดังมีเรื่องดังนี้

 

ฮาเดส ปกครองยมโลกอยู่คนเดียว โดดเดี่ยวไร้คู่ มาเป็นเวลานาน หามีเทวีองค์ใดไยดีที่จะร่วมเทวบัลลังก์กับฮาเดส เทวีแต่ละองค์ที่ฮาเดสทอดเสน่หา ต่างองค์ต่างก็ไม่สมัครรักใคร่ ด้วยไม่ปรารถนาจะลงไปอยู่ในใต้หล้าแดนบาดาล อันดวงสุริยาไม่สามารถทอแสงลงไปถึง ในที่สุดฮาเดส จึงต้องตั้งปณิธาน จะไม่ทอดเสน่หาใครอีกเป็นอันขาด หากปฏิพัทธ์สวาทกับใคร ก็จะฉุดคร่าพาเอาลงไปบาดาลดื้อ ๆ

วันหนึ่งเพอร์เซโฟนี พร้อมเพื่อนเล่นทั้งมวล ชวนกันลงเที่ยวสวนดอกไม้ เที่ยวเด็ดดอกไม้อันจรุงกลิ่น สอดสร้อย ร้อยมาลัยอยู่ เป็นที่สำราญ บังเอิญฮาเดสขับรถทรงแล่นผ่านมาทางนั้น ได้ยินสรวลสรรหรรษา ร่าเริงระคร เสียงขับร้อง ของเหล่านางอัปสรสาวสวรรค์ลอยมา จึงหยุดรถทรง ลงไปเยี่ยมมองทางช่องสุมทุมพุ่มไม้ ครั้นพบเทวีรุ่นสะคราญทรงโฉมวิลาสลิไลนักให้นึกรัก จะเอาไปไว้ในยมโลก ฮาเดสจึงก้าวกระชากชิงอุ้มเพอร์เซโฟนีเทวี ขึ้นรถไปในทันที

ฮาเดสขับรถเร่งไปจนถึงแม่น้ำ ไซเอนี (Cyane) ซึ่งขวางหน้าอยู่ เห็นน้ำในแม่น้ำเกิดขยายท่วมท้นตลิ่งสกัดกั้นฮาเดสเอาไว้ จึงชักรถไปทางอื่น ใช้มือถือคู่หัตถ์มีง่าม 2 แฉก กระแทกกระทุ้งแผ่นดินให้แยกออกเป็นช่อง แล้วขับรถลงไปยังบาดาล ในขณะเดียวกันนั้นเพอร์เซโฟนีแก้สายรัดองค์ขว้างลงในแม่น้ำไซเอนี พลางร้องบอกนางอัปสรประจำแม่น้ำ ให้เอาไปถวายเทวีดีมิเตอร์ ผู้มารดาด้วย

ฝ่ายดีมิเตอร์ แม่โพสพ กลับมาจากทุ่งข้าวโพด ไม่เห็นธิดาเที่ยวเพรียกหา ก็ไม่พานพบวี่แววอันใด เว้นแต่ดอกไม้ ตกเรี่ยราดกลาดเกลื่อนอยู่ เทวีเที่ยวหาไปตามที่ต่าง ๆ พลางกู่เรียกไปจนเวลาเย็นให้อาดูร โทมนัสนัก ล่วงเข้าราตรีกาล ก็ไม่หยุดพักการเสาะหาธิดา จนถึงรุ่งอรุณของวันใหม่ แม้กระนั้นก็ไม่ลดละความพยายาม คงดั้นด้น เรียกหาธิดาไปตามทางอีก มิได้ห่วงถึงภาระหน้าที่ประจำที่เคยปฏิบัติแต่อย่างใด ดอกไม้ทั้งปวงจึงเหี่ยวเฉาเพราะขาดฝนชะโลมเลี้ยง ติณชาติตายเกลี้ยงไม่เหลือเลย พืชพันธุ์ธัญญาหารถูกแดดแผดเผาซบเซาหมด ในที่สุดเทวีก็สิ้นหวัง ระทดระทวยหย่อนองค์ ลงนั่งพักที่ริมทางใกล้นครอีลูสิส ความระทมประดังขึ้นมาสุดที่จะหักห้าม เทวีก็ซบพักตร์กันแสงไห้ตามลำพัง

 

ดีมิเตอร์ (Demeter) เทวีแห่งการเกษตรกรรม

ดีมิเตอร์ (Demeter) เทวีแห่งการเกษตรกรรม

ในระหว่างที่ยังไม่พบธิดานี้ มีเรื่องแทรกเกี่ยวกับเจ้าแม่ดีมิเตอร์เกิดขึ้นเรื่องหนึ่ง ดังนี้

เพื่อมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดรู้จัก เทวีดีมิเตอร์ ได้จำแลงองค์เป็นยายแก่ ในขณะที่นั่งพัก พวกธิดาของเจ้านครอีลูสิส รู้ว่ายายแก่ มานั่งคร่ำครวญคิดถึงลูก บังเกิดความสังเวชสงสาร และเพื่อที่จะให้ยายหายโศกเสร้า นางเหล่านั้นจึงชวนยายแก่ เข้าไปในวังให้ดูแลกุมาร ทริปโทลีมัส (Triptolemus) ผู้น้อง ซึ่งยังเป็นทารกแบเบาะอยู่ เทวีดีมิเตอร์ยอมรับภาระนี้ พอลูบคลำโอบอุ้มทารก ทารกก็เปล่งปลั่ง มีน้ำมีนวลขึ้นเป็นที่อัศจรรย์แก่เจ้านคร และบริษัทบริวารยิ่งนัก ตกกลางคืนขณะที่เทวีอยู่ตามลำพังกับทารก เทวีคิดใคร่จะให้ทารกได้ทิพยภาพเป็นอมรรตัยบุคคล จึงเอาน้ำวิเศษเกสรดอกไม้ชะโลมทารก พลางท่องบทสังวัธยายมนต์ แล้ววางทารกลงบนถ่านไฟอันเร่าร้อน เพื่อให้ไฟลามเลียเผาผลาญธาตุมฤตยู ที่ยังเหลืออยู่ในกายทารกให้หมดสิ้น

เทวีดีมิเตอร์

เทวีดีมิเตอร์

ฝ่ายนางพญาของเจ้านคร ยังไม่วางใจยายแก่นักค่อยย่องเข้าไปในห้องเพื่อคอยดู ประจวบกับตอนเทวีดีมิเตอร์ กำลังทำพิธีชุบทารกอยู่พอดี นางตกใจนัก หวีดร้องเสียงหลงพลางถลันเข้าฉวยบุตรออกจากไฟ ครั้นเห็นบุตรสุดสวาทไม่เป็นอันตรายแล้ว จึงหันกลับมาจะไล่เบี้ยเอากับยายแก่เสียให้สาสมกับความโกรธแค้น แต่แทนที่จะเห็นยายแก่ กลับเห็นรูปเทวีประกอบด้วยรัศมีเรืองรองอยู่ตรงหน้า เทวีตรัสพ้อนางพญาโดยสุภาพ ในการที่เข้าไปขัดขวางการพิธีเสีย ทำให้มนต์เสื่อมและชุบทารกอีกไม่ได้ แล้วเทวีดีมิเตอร์ ก็ออกจากเมืองอีลูสิส เที่ยวหาธิดาต่อไป

วันหนึ่งเทวีดีมิเตอร์พเนจรเลียบฝั่งแม่น้ำอยู่พลัน ได้ประสบวัตถุแวววาวสิ่งหนึ่ง อยู่แทบบาท เทวีจำได้ทันทีว่า เป็นสายรัดองค์ของธิดา คือสายรัดองค์ที่เพอร์เซโฟนีทิ้งฝากนางอัปสรแห่งแม่น้ำไซเอนีไว้ เมื่อตอนรถทรงของฮาเดส จะลงสู่บาดาล เทวีได้ของสิ่งนี้ยินดียิ่งนัก แสดงว่าธิดาอยู่ใกล้ที่นั้น จึงรีบดำเนินไปจนถึงน้ำพุแก้วแห่งหนึ่ง รู้สึกเมื่อยล้าจึงลงพักทอดองค์ตามสบาย พอรู้สึกเคลิ้มจะหลับ เสียงน้ำพุก็ฟ่องเฟื่องยิ่งขึ้นเหมือนเสียงพูดพึมพำ ในที่สุดเทวีก็จับความได้ว่าเป็นการแจ้งข่าวของธิดาว่าเป็นประการใด น้ำพุเล่าประวัติของตนเองว่าเดิมตนเป็น นางอัปสรชื่อว่า แอรีธูสะ (Arethusa) บริวารของเทวี อาร์เตมิส (Artemis) วันหนึ่งลง อาบน้ำในแม่น้ำ แอลฟีอัส (Alpheus) เทพประจำน่านน้ำนั้นหลงรัก แต่นางไม่ไยดีด้วยจึงหนีไป ส่วนเทพนั้นก็ติดตามไม่ลดละ นางหนีเตลิดข้ามเขาไปตลอดแว่นแคว้น ซ้ำผ่านแดนบาดาลไปตลอดอาณาเขตของฮาเดส ได้เห็นเพอร์เซโฟนีประทับบัลลังก์อาสน์ของราชินีแห่งยมโลก ครั้นกลับขึ้นมาอ่อนแรงเห็นไม่พ้นเทพแอลฟีอัส นางเสี่ยงบุญอธิษฐานยึดเอาเทวีของ นางเป็นที่พึ่ง เทวีอาร์เตมิส จึงโปรดบันดาลให้นางกลายเป็นน้ำพุอยู่ ณ ที่นั่น

เมื่อได้รู้ถึงที่อยู่ของธิดาดังนี้แล้ว เทวีดีมิเตอร์จึงรีบไปอ้อนวอนเทพซุสให้ช่วย ซุสอนุโลมตามคำวอนขอ โดยมีเงื่อนไขว่า ถ้าเพอร์เซโฟนีไม่ได้เสพเสวยสิ่งใดในระหว่างที่อยู่บาดาลจะให้ฮาเดส ส่งเพอร์เซโฟนีขึ้นมาอยู่กับมารดา แล้วมีเทวบัญชาให้เฮอร์มีสลงไปสื่อสารแก่ฮาเดสในยมโลก เจ้าแดนบาดาลจำต้องยอมโอนอ่อน จะส่งเพอร์เซโฟนีคืนสู่ เทวีดีมิเตอร์

Demeter

แต่ในขณะนั้นภูตครองความมืดชื่อว่า แอสกัลละฟัส (Ascalaphus) ร้องประกาศขึ้นว่า ราชินีแห่งยมโลกได้เสวยเมล็ดทับทิมแล้ว 6 เมล็ด ในที่สุดจึงตกลงกันเป็นยุติว่าในปีหนึ่ง ๆ ให้เพอร์เซโฟนีเทวี อยู่กับฮาเดสใน ยมโลก 6 เดือน โดยเมล็ดทับทิมที่เสวยคิดเป็นเมล็ดละเดือนแล้วให้กลับขึ้นมา อยู่กับมารดาบนพิภพอีก 6 เดือน สลับกันอยู่ทุกปี ไป ด้วยเหตุนี้เมื่อเพอร์เซโฟนีเทวีอยู่กับมารดา โลกจึงอยู่ในระยะกาลของวสันตฤดู พืชพันธุ์ธัญญาหารนานาชนิดผลิดอกออกผล และเมื่อเพอร์เซโฟนีเทวี ลงไปอยู่ในบาดาล โลกก็ตกอยู่ในระยะกาลของเหมันตฤดู พืชผลทั้งปวงร่วงหล่นซบเซา อันเป็นความเชื่อของชาวกรีก และโรมันโบราณ

ยังมีเรื่องที่ต้องเล่าต่ออีกเล็กน้อย คือเมื่อเทวีดีมิเตอร์ พบธิดาแล้ว ก็กลับไปยังเมืองอีลูสิสอีก เพราะว่าเจ้าครองนคร กับนางพญาปลูกวิหารถวายเทวีไว้ที่นั่น เพื่อให้มนุษย์รู้จักการทำไร่ไถนา เทวีได้สั่งสอนทริปโทลีมัส ซึ่งเติบโตเจริญวัยเป็นผู้ใหญ่แล้ว ให้รู้จักใช้ ไถ จอบ และเคียว สั่งสอนชาวนาสืบ ๆ กันมาจนตราบเท่าปัจจุบันนี้

ที่มา: http://variety.phuketindex.com/

Leave a Reply