"เรือนพระสุรภี" หรือ "บ้านจักรยาน"

"เรือนพระสุรภี" หรือ "บ้านจักรยาน"

10942311_10152964098271253_1854985459515422846_n

คำว่า “พระสุรภี” เป็นชื่อของพระชายาองค์หนึ่งของพระกศยปเทพบิดร มีพระโอรสกับองค์พระเทพบิดร คือ พระอิศวร หรือ พระศิวะ ดังนั้นเจ้าของเรือนจึงต้องเป็นหญิงที่มีความสำคัญ และได้รับมอบหมายภาระหน้าที่อันใหญ่หลวงตลอดรัชสมัยของล้นเกล้ารัชกาลที่ 6

คำว่า “สุรภี” ยังหมายถึง เครื่องหอม ดังนั้นเรือนพระสุรภีจึงเป็นเรือนที่พักของคุณท้าวอินทรสุริยา สรรพาหารพิจาริณี หรือ หม่อมหลวงเชื้อ พึ่งบุญ ซึ่งจะเห็นได้ว่าคำว่า “สรรพาหารพิจาริณี” หากแยกคำก็จะพบว่ามีความหมายที่สอดคล้องกับชื่อตำแหน่งของผู้อยู่อาศัยในเรือน ซึ่งเป็นตำแหน่งของคุณท้าวว่าการห้องวิเสท

หม่อมหลวงเชื้อ พึ่งบุญ ถือเป็นสตรีที่มีบทบาทสำคัญมากในรัชสมัย เพราะในรัชสมัยของรัชกาลที่ 6 ผู้ใกล้ชิดพระองค์ล้วนแล้วแต่เป็นชาย หากแต่ด้วยคุณท้าวอินทรสุริยาเป็นถึงพี่สาวแท้ของเจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) และพระยาอนิรุทธเทวา (หม่อมหลวงฟื้น พึ่งบุญ) ก็ด้วยความที่ทั้ง 3 เป็นบุตรของพระนมทัด พระนมของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทำให้มีความสนิทเป็นปฐม และเป็นที่ไว้พระราชหฤทัยมอบหมายภารกิจงานสำคัญของชาติบ้านเมือง

และเมื่อวันจันทร์ที่ 19 มกราคม 2558 ทางมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ทำพิธีบวงสรวงเพื่อความเป็นสิริมงคลในการบูรณะเรือนพระกรรมสักขี และเรือนพระสุรภี วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือกันของกองแผนงาน วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ และสถาบันศิลปสถาปัตยกรรมไทย ในส่วนของมหาวิทยาลัยศิลปากร กับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ผู้ให้ความอนุเคราะห์งบประมาณ 11 ล้านบาท
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์ที่แสดงเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ในพระราชวังสนามจันทร์ และเทคโนโลยีการก่อสร้างในสมัยรัชการที่ 6 เนื่องในโอกาสมหามงคลสมัยที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ มีพระชนมายุครบ 60 พรรษา ในปี พ.ศ. 2558 นี้

ค้นคว้าและเรียบเรียงโดย :: อาจารย์โอภาส วงษ์ทวีทรัพย์
ที่มาของภาพ :: (ทางซ้ายมือ) ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ฯ ภาพจากที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเอก พลเรือเอก มหาเสวกเอก เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ พ.ศ. ๒๕๑๐)

Leave a Reply