สอ เสถบุตร – ดิกชันนารีจากในคุก
กว่า 4 ทศวรรษที่ดิกชันนารีเล่มแรกของประเทศไทยเกิดขึ้น จากการกลั่นกรองผ่านอัจฉริยภาพทางภาษา ของ สอ เสถบุตร ที่ต้องใช้ความพยายามและผ่านอุปสรรคมาอย่างยาวนาน เพื่อที่คำภีร์ด้านภาษาอังกฤษนี้จะได้ผ่านตานักเรียน นักศึกษามาหลายยุคหลายสมัย แต่จะมีกี่คนที่ทราบว่าดิกชันนารีที่ถูกยกให้เป็นเล่มแรกของสยามนั้น สอ เสถบุตร เขียนขึ้นระหว่างการถูกจองจำในฐานะนักโทษการเมือง
“สอ เสถบุตร” เกิดวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2446 เป็นบุตรชายคนโตในตระกูล “เศรษฐบุตร” บิดาชื่อ นายสวัสดิ์ มารดาชื่อ นางเกษร มีน้องชาย 2 คน การศึกษาจบ ม.8 จาก ร.ร.สวนกุหลาบวิทยาลัย และได้รับทุนคิงสกอลาชิพ (ทุนเล่าเรียนหลวง) ไปศึกษาต่อยังประเทศอังกฤษ จนสำเร็จปริญญาตรีเกียรตินิยม สาขาธรณีวิทยากับวิศวกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ ก่อนกลับมารับบรรดาศักดิ์เป็น “รองเสวกเอก หลวงมหาสิทธิโวหาร” ด้วยวัยเพียง 26 ปี ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมบัญชีกลาง ต่อมาได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้เป็นปลัดกรมองคมนตรี สังกัดกรมราชเลขาธิการในราชสำนัก
ต่อมาในปี พ.ศ.2476 ถูกจับในคดีกบฏบวรเดช จนถูกถอดบรรดาศักดิ์ และศาลตัดสินจำคุกตลอดชีวิต ที่ บางขวาง, เกาะตะรุเตา และ เกาะเต่า ซึ่งระหว่างที่ถูกจองจำในฐานะนักโทษการเมืองถึง 11 ปี (พ.ศ.2476-2487) นั้นกลับเป็นช่วงเวลาในการถือกำเนิดขึ้นของ “งานแห่งชีวิต” นั่นคือปทานุกรม (พจนานุกรมอังกฤษเป็นไทย) ที่ได้รับความนิยมจนถูกยกย่องทั่วประเทศให้เป็นพจนานุกรมเล่มแรกและยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยมีมา ซึ่ง สอ เสถบุตร เองแอบลักลอบส่งต้นฉบับออกมาตีพิมพ์นอกเรือนจำผ่านทางมารดาที่เดินทางเข้ามาเยี่ยม
หลังจากได้รับอิสรภาพได้เข้าสู่แวดวงสื่อสารมวลชนโดยเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ “สามัคคีสาร” รับตำแหน่งผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ “ศรีกรุง” “สยามราษฎร์” เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษชื่อ “ลิเบอร์ตี้” กับ “ลีดเดอร์” จนเข้าสู่ถนนการเมืองร่วมกับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช พร้อมจัดตั้งพรรคการเมือง ชื่อ “ก้าวหน้า” ต่อมาได้รับเลือกเป็น ส.ส.ธนบุรี เขต 1 ก่อนได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร ในรัฐบาล พ.ต.ควง อภัยวงศ์ และโอนมาสังกัดพรรคประชาธิปัตย์
เส้นกราฟชีวิตเดินทางมาจนถึง วันที่ 9 กันยายน พ.ศ.2513 สอ เสถบุตร ได้ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคหัวใจวายเฉียบพลัน ที่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ รวมอายุได้ 67 ปี 7 เดือน 1 วัน
ที่มา: http://th.wikipedia.org/