ตาลปัตร

ตาลปัตร

20120625164754mRjU

ตาลปัตร (อ่านว่า ตาละปัด) ตามรูปศัพท์แปลว่า พัดใบตาล, พัดใบลาน

ตาลปัตร ของเดิมเป็นพัดที่ทำจากใบตาลหรือใบลานสำหรับพัดตัวเองเวลาร้อนหรือพัดไฟ ใช้กันทั้งพระและคฤหัสถ์ ต่อมามีการต่อด้ามให้ยาวขึ้นและใช้บังหน้าเวลาทำพิธีทางศาสนาของพระสงฆ์ เช่นในเวลาให้ศีลและให้พร และแม้ภายหลังจะใช้ผ้าสีต่างๆ หุ้มลวดหรือไม้ไผ่ซึ่งขึ้นรูปเป็นพัดก็อนุโลมเรียกว่าตาลปัตร

ในพุทธประวัติได้กล่าวไว้ว่า หลังจากที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้แล้ว ในพรรษาที่สองได้เสด็จไปโปรดพระเจ้าพิมพิสาร ผู้ครองเมืองราชคฤห์ แต่เนื่องจากในเวลานั้นพระเจ้าพิมพิสารทรงนับถือ ชฎิลสามพี่น้อง คือ อุรุเวลกัสสป นทีกัสสป และคยากัสสป ดังนั้นพระพุทธองค์จึงทรงไปโปรดชฎิลสามพี่น้องก่อน เมื่อทรงแสดงธรรมจนกระทั่งชฎิลสามพี่น้องละความเชื่อดังเดิมของตน ยอมเป็นสาวกของพระองค์แล้ว พระองค์ก็ทรงพาชฏิลทั้งสามพร้อมสาวกอีกพันรูป เสด็จไปประทับยัง ลัฏฐิวัน (สวนตาลหนุ่ม) ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองราชคฤห์

เมื่อพระเจ้าพิมพิสารได้สดับข่าว จึงเสด็จพร้อมประชาชนจำนวนมากไปยังสวนตาลหนุ่ม และเมื่อได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์แล้ว ก็เกิดธรรมจักษุ และประกาศพระองค์เป็นอุบาสก นอกจากนี้ ตาลปัตร ที่พระสงฆ์ใช้ในพิธีกรรมต่างๆ นั้น สมัยโบราณทำมาจากใบตาล ซึ่งมาจากภาษาบาลีว่า ‘ตาลปตฺต’ ซึ่งแปลว่าใบตาลนั่นเอง ซึ่งปัจจุบันพระสงฆ์บ้านเราไม่นิยมใช้ตาลปัตรที่ทำจากใบตาลแล้ว แต่พระสงฆ์ในประเทศอื่นที่นับถือพระพุทธศาสนา เช่น พม่า, ศรีลังกา, กัมพูชา และลาว ยังนิยมใช้ตาลปัตรที่ทำจากใบตาลอยู่ และถือเป็นพัดสารพัดประโยชน์ใช้พัดวีโบกไล่แมลง รวมทั้งใช้บังแดดด้วย

และด้วยลักษณะของต้นตาลซึ่งเมื่อตัดยอดไปแล้วกลายเป็น “ตาลยอดด้วน” ไม่สามารถเจริญเติบโตได้อีกต่อไป ดังคำที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ในพระสูตรต่างๆ ในพระไตรปิฎก ซึ่งขอยกมาบางตอนดังนี้
“…สมบัติ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เหล่านั้น ตถาคตละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มีในภายหลัง มีไม่เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา… ”

large_CIMG2161

ข้อสันนิษฐานการใช้ตาลปัตร

จากหลักฐานทั้งที่เป็นเอกสารและภาพศิลปกรรมในสมัยต่างๆ กล่าวได้ว่า ธรรมเนียมปฏิบัติในการใช้ตาลปัตรนั้น ไทยได้รับมาจากพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ ตั้งแต่เมื่อแผ่เข้ามายังดินแดนของราชอาณาจักรไทย ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ – ๑๗ ทั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทานความเห็นไว้ว่า ความคิดในการให้พระสงฆ์ถือตาลปัตรคงมาจากลังกา เพราะพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ เป็นที่เลื่อมใสทั้งใน พม่า ไทย ลาว และกัมพูชา

หลักฐานทางโบราณคดีที่พบในประเทศไทย ที่แสดงให้เห็นว่า พระสงฆ์ถือตาลปัตรไปด้วย ในการแสดงธรรม เช่น ประติมากรรมสำริด ศิลปะลพบุรี อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ – ๑๘ เป็นแผ่นภาพนูนต่ำทั้ง ๒ ด้าน ด้านหนึ่งแสดงภาพพระพุทธเจ้าทรงถือตาลปัตรโปรดพระพุทธบิดา และพระญาติ อีกด้านหนึ่งแสดงภาพขณะทรงเทศนาโปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดุสิต ตาลปัตรที่ปรากฏมีลักษณะคล้ายพัดใบตาล รูปกลมมน ขนาดเล็ก แบบเดียวกับรูปตาลปัตร ที่ปรากฏอยู่บนแผ่นใบเสมาศิลาจำหลักภาพนูนต่ำ ศิลปะลพบุรี แสดงภาพพระพุทธเจ้าทรงถือตาลปัตรขณะกำลังสวดธรรม นอกจากนี้ ในศิลาจารึก วัดช้างล้อม พ.ศ. ๑๙๒๗ มีกล่าวถึงการถวายตาลปัตรแก่พระเถระ โดยเรียกว่า “พัดสวดธรรม” ด้วย

จากหลักฐานดังกล่าวเป็นเครื่องยืนยันว่า พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาใช้พัดใบตาล หรือตาลปัตร ในการแสดงธรรม และมีการถวายตาลปัตรแด่พระสงฆ์ด้วย ส่วนการที่พระสงฆ์ใช้ตาลปัตรบังหน้า ในระหว่างแสดงธรรมนั้น มีปรากฏในหนังสือ สมันตปาสาทิกา อรรถกถา วินัยปิฎกภาค ๑ กล่าวว่า ในการทำปฐมสังคายนา ที่ประชุมสงฆ์มีการซักถามและตอบกล่าวแก้ข้อธรรมและข้อวินัย โดยพระสงฆ์ที่มีหน้าที่ตอบจะต้องขึ้นไปนั่งบนธรรมาสน์ท่ามกลางพระสงฆ์ที่มาประชุม และถือพัดบังหน้าตลอดเวลาที่ชี้แจงข้อธรรมข้อวินัย

...........4.p65

เรื่องที่พระสงฆ์ใช้ตาลปัตรบังหน้ามีผู้รู้สันนิษฐานไปอีกหลายทาง บางท่านว่า แรกเริ่มพระสงฆ์อาจจะใช้ในพิธีปลงศพ เมื่อจะชักผ้าบังสุกุลจากศพที่เน่าเปื่อย เพื่อนำไปทำจีวร จึงใช้พัดใบตาลบังจมูกเพื่อกันกลิ่นเหม็น ทำให้เกิดเป็นประเพณี ที่พระสงฆ์จะถือตาลปัตร ไปทำพิธีกรรมต่างๆ บางท่านก็ว่า เพราะพระพุทธเจ้าทรงถือตาลปัตร เมื่อเสด็จไปโปรดพระพุทธบิดา แต่บางท่านว่า เนื่องจากสภาพจิตใจของผู้มาฟังธรรมมีหลายระดับ ดังเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระกัจจายนเถระ พระสาวกองค์สำคัญรูปหนึ่ง ซึ่งมีรูปงามว่า ขณะที่พระกัจจายนเถระแสดงธรรมโปรดผู้มาฟังธรรม มีสตรีบางคนเกิดหลงรักท่าน ด้วยจิตอันไม่บริสุทธิ์นี้จึงก่อให้เกิดบาป พระกัจจายนเถระจึงอธิษฐานขอให้ท่านมีรูปร่างไม่งามเสีย ดังที่เห็นภาพของพระกัจจายนเถระเป็นพระสงฆ์ที่มีรูปร่างอ้วนพุงพลุ้ย ด้วยเหตุนี้ พระสงฆ์จึงต้องหาเครื่องบังหน้าในขณะสวด เพราะประสงค์ให้ผู้มาฟังธรรมได้ฟังแต่ธรรม ซึ่งข้อสันนิษฐานนี้นับว่าสอดคล้องกับที่มีกล่าวไว้ในหนังสือ วิมติ วิโนทนี ฎีกาวินัยปิฎก ซึ่งแสดงวัตถุประสงค์ของการใช้พัดบังหน้าบังตาในเวลาพระสงฆ์สวดแสดงธรรมว่า เพื่อป้องกัน หัตถวิการ คือ การยกมือยกไม้ ในเวลาแสดงธรรมอย่างหนึ่ง เพื่อป้องกัน มุขวิการ คือ อาการอ้าปากกว้าง ซึ่งทำให้น่าเกลียดอย่างหนึ่ง และป้องกันมิให้เป็นวิสภาคารมณ์ อันจะทำให้จิตใจฟุ้งซ่าน ซึ่งวัตถุประสงค์ที่พระสงฆ์ต้องหาสิ่งมาบังหน้านี้ ปรากฏเป็นประเพณี ที่ยังพบเห็นได้ทางภาคเหนือ เมื่อพระสงฆ์ต้องขึ้นไปเทศน์ยังธรรมาสน์ยอด ซึ่งเป็นธรรมาสน์ ที่ยกสูงจากระดับพื้น เมื่อเวลาจะเทศน์ต้องดึงม่านมาปิดไม่ให้ผู้ฟังเห็นใบหน้าพระสงฆ์ ที่กำลังเทศน์อยู่

ตาลปัตร ปัจจุบันนิยมปักลวดลายศิลปะแสดงสัญลักษณ์ของงานและอักษรบอกงานพร้อมวันเดือนปีไว้ด้วย ทำให้มีคุณค่าทางศิลปะขึ้นนอกเหนือจากวัตถุประสงค์เดิม

ตาลปัตร ที่ใช้ทั่วไปเรียกว่า พัดรอง เป็นคู่กับคำว่า พัดยศ ซึ่งเป็นพัดพระราชทานบอกตำแหน่งชั้นสมณศักดิ์ จึงนิยมเรียกันว่า ตาลปัตรพัดยศ

ที่มา: kanchanapisek, Wikipedia, https://plus.google.com/+mrbigninkpage/posts/haMgmi58tHa

Leave a Reply