ป. พิบูลสงคราม “จอมพลตราไก่” ตอน 2

ป. พิบูลสงคราม “จอมพลตราไก่” ตอน 2

por2

“อนุสาวรีย์ปราบกบฎ” หรือ “อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ซึ่งปัจจุบันถูกทำให้ลืมโดยเรียกว่า “อนุสาวรีย์หลักสี่”

นักเรียนทุน

หลังแต่งงาน ๓ เดือน ประจำปืน ๗ ครบ ๒ ปี ร้อยตรีแปลกก็ย้ายกลับพระนคร เรียนต่อในโรงเรียนเหล่าทหารปืนใหญ่ในกรมทหารปืนใหญ่ที่ ๑ รักษาพระองค์ (ปืน ๑) เขตบางซื่อ มีกำหนด ๒ ปี เมื่อเรียนจบก็ถูกส่งกลับปืน ๗ ก่อนโดนย้ายกลับพระนครอีกครั้งเพื่อประจำที่ปืน ๑ และเรียนในโรงเรียนเสนาธิการทหารบก

ที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบกนี้เอง ร้อยตรีแปลกได้ฉายความโดดเด่นทางการเรียน โดย “คิดต่าง” ทางวิชาการกับหลวงชาตินักรบเพื่อนร่วมชั้นเสมอ เช่น ในการสอบแก้ปัญหายุทธวิธีครั้งหนึ่ง หลวงชาตินักรบตกลงกับเพื่อน ๆ ว่าจะตอบเหมือนกันโดยชูกำปั้นเป็นสัญญาณเข้าตี ลดกำปั้นลงหมายถึงตั้งรับ แต่เมื่อหลวงชาตินักรบและเพื่อน ๆ “เข้าตี” ร้อยตรีแปลกกลับเลือก “ตั้งรับ” และแก้สถานการณ์ไปตามความเป็นจริง

ผลสอบออกมาว่าพวกเตี๊ยมตกหมด ร้อยตรีแปลกสอบได้ และการ “ตั้งรับ” ก่อนจะ “โต้กลับ” ก็กลายเป็นจุดเด่นของร้อยตรีแปลกมาตั้งแต่ตอนนั้น

ปี ๒๔๖๗ ร้อยตรีแปลกสอบได้ที่ ๑ และได้ทุนศึกษาต่อที่ฝรั่งเศส ตอนนั้นเขาอายุ ๒๐ ปี มีลูกสามคนและติดยศร้อยโท ก่อนเดินทางต้องปลอบภรรยาที่ “ร้องไห้เสียหลายวัน” ขณะที่บิดามารดามองว่าการไปเรียนเมืองนอกของลูกถือว่า “โก้” เพราะคนธรรมดาไม่ได้ไปกัน

หลายปีต่อมาท่านผู้หญิงละเอียดเล่าให้ลูกฟังว่าร้อยโทแปลกไปเมืองนอกโดย “นั่งเรือจ้างจากบางเขนแต่เช้ามืดแล้วไปจับเรือที่จะเดินทางโดยสารต่อไป”  สัมภาระติดตัวมีเพียงกระเป๋าเสื้อผ้า เมื่อเรือโดยสารแวะท่าเรือสำคัญทีหนึ่ง ร้อยโทหนุ่มก็ส่งจดหมายทีหนึ่ง จดหมายจะถึงบ้านเดือนละครั้งและเธอก็จะมานั่งคอยอยู่ที่หัวแพ

ส่วนข้อความในจดหมายนั้นก็ไม่ต่างจากตอนที่เริ่มจีบกัน

“เวลานี้ได้เห็นพระจันทร์ดวงเดียวกับเธอ อยากเห็นเธอก็ได้เห็นพระจันทร์ดวงเดียวกับเธอ”

นักเรียนฝรั่งเศสผู้อภิวัฒน์ ๒๔๗๕

ร้อยโทแปลกถึงฝรั่งเศสในเดือนมีนาคม ๒๔๖๗ เรียนภาษา วิชาคำนวณ และวิชาทหารปืนใหญ่ตามลำดับ โดยวิชาทหารปืนใหญ่เข้าเรียนที่โรงเรียนประจำเหล่าทหารปืนใหญ่ (Ecole d’application de l’artillerie - EAA) เมืองฟองเตนโบล (Fontainebleau) ช่วงนี้เองเขาพบกับร้อยโท ประยูร ภมรมนตรี และ ปรีดี พนมยงค์ นักเรียนไทยในฝรั่งเศสซึ่งกำลังคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองสยาม

ร้อยโทประยูรเล่าว่าแรงบันดาลใจที่ทำให้ร้อยโทแปลกเข้าร่วมกลุ่มผู้ก่อการคือ หลังกลับจากเที่ยวเยอรมนีด้วยกัน ทั้งคู่ถูกตำรวจตรวจคนเข้าเมืองฝรั่งเศสตรวจแล้ว “เหยียดหยาม หาว่าเป็นประเทศที่อยู่ในเครือการปกครองของฝรั่งเศสในอินโดจีน…” แม้ภายหลังทราบว่าไม่ใช่ เจ้าหน้าที่ก็ยังบอกว่า “(สยาม) เป็น ‘เมืองเหาเมืองเลน’ จะรู้จักได้อย่างไร ควรจะมาอยู่เป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสเสียจะได้รุ่งเรือง”

ทำเอาร้อยโทแปลกของขึ้นสวนว่า “สักวันหนึ่ง ‘ไอ้หมัดไอ้เหา’ จะกัดให้ประเทศฝรั่งเศสเน่าไปทั้งชาติ”

ร้อยโทแปลกวัย ๒๙ ปี เป็นหนึ่งในแกนนำคณะราษฎรเจ็ดคนแรก ร่วมกับ ปรีดี พนมยงค์ ร้อยโท ประยูร ภมรมนตรี ร้อยตรี ทัศนัย มิตรภักดี ตั้ว ลพานุกรม หลวงสิริราชไมตรี และแนบ พหลโยธิน  เจ็ดคนนี้ประชุมปรึกษาหารือที่หอพักถนน Rue du Sommerard กรุงปารีส ในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๔๖๙ หลายครั้ง ทั้งนี้หลักการที่ตกลงกันคือต้องยึดอำนาจฉับพลัน เปลี่ยนระบอบเป็นประชาธิปไตยและหาแนวร่วมเพิ่ม  ช่วงนั้นร้อยโทแปลกได้หนังสือว่าด้วยการปฏิวัติมาเล่มหนึ่ง แต่ไม่ได้นำติดตัวกลับสยามเมื่อสำเร็จการศึกษา “เพราะกลัวมีพิรุธ”

ต้นปี ๒๔๗๐ สยามที่ร้อยโทหนุ่มนักเรียนนอกกลับมาเจอ มีประชากร ๑๑ ล้านคน รัฐบาลรัชกาลที่ ๗ กำลังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจต้องตัดงบประมาณและปลดข้าราชการจำนวนมาก ซ้ำความพยายามปฏิรูปการปกครองก็ล้มเหลว

ร้อยโทแปลกก้าวหน้าในชีวิตราชการอย่างรวดเร็ว เข้าประจำการกรมยุทธการทหารบก กรมเสนาธิการทหารบก และจเรทหารบกตามลำดับ และสอนวิชาปืนใหญ่ให้นายทหารชั้นสูง ปลายปี ๒๔๗๐ ติดยศร้อยเอก ปีถัดมาได้บรรดาศักดิ์และราชทินนาม “หลวงพิบูลสงคราม” อีก ๒ ปีต่อมา (๒๔๗๓) ก็ติดยศพันตรี และนางละเอียดก็ได้มีชื่อในทางราชการว่า “นางพิบูลสงคราม” ไปด้วย

“หลวงพิบูลสงคราม” มีชื่อเสียงจากการเป็นครูวิชาทหารปืนใหญ่มากความสามารถ เห็นได้จากขณะสอนครั้งหนึ่ง รัชกาลที่ ๗ เสด็จพระราชดำเนินผ่านสนพระทัยถึงกับเจ้าหน้าที่ต้องถวายเก้าอี้ให้ประทับฟังจนจบชั่วโมง

หลวงพิบูลฯ ประสบความสำเร็จในการชวนนายทหารที่จบโรงเรียนนายร้อยรุ่นเดียวกัน อาทิ หลวงอำนวยสงคราม (ถม เกษะโกมล) หลวงอดุลเดชจรัส (บัตร พึ่งพระคุณ) เข้าร่วม  การเสี่ยงตายครั้งนี้ เขายังเตรียมแผนเผื่อผิดพลาดเอาไว้ด้วย  ท่านผู้หญิงละเอียดบันทึกว่าหลวงพิบูลฯ ให้ “คุณลมัย ภรรยาหลวงอำนวยสงครามมาสอนปักจักรและเย็บจักร” ที่บ้านเช่าย่านแพร่งสรรพศาสตร์เพื่อเตรียมอาชีพสำรอง และยังสังเกตเห็นเพื่อนบางคนมาเยี่ยมบ่อยจนผิดสังเกต อาทิ ร้อยโท ประยูร ภมรมนตรี หลวงอดุลเดชจรัส เป็นต้น

เช้ามืดวันศุกร์ที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ หลวงพิบูลฯ แต่งเครื่องแบบ ก่อนออกจากบ้านปลอบภรรยาที่เก็บงำความสงสัยมานานและกำลังตกใจท่าทางของสามีว่า “พรุ่งนี้เป็นวันที่เขาจะทำการเชิญรัฐธรรมนูญมาให้พี่น้องชาวไทย” ก่อนจะไปที่กรมทหารม้าบางซื่อสมทบกับพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนาและคนอื่น ๆ  หลังจากนั้นก็สั่งรวมพลเคลื่อนรถรบไปบนถนนพระราม ๕ เข้าร่วมกับกำลังจากกรมทหารปืนใหญ่ที่ ๑ รักษาพระองค์และทหารช่าง ก่อนจะไปยังจุดนัดพบที่ลานพระบรมรูปทรงม้า

ย่ำรุ่งพันเอกพระยาพหลฯ ก็ก้าวมาหน้าแถวทหารประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากนั้นทหารก็แยกย้ายอารักขาสถานที่สำคัญและเชิญเจ้านายในรัฐบาลเก่ามาคุมตัวที่พระที่นั่งอนันต-สมาคม  หลวงพิบูลฯ ร่วมกับพระประศาสน์พิทยายุทธ และเรืออากาศตรี หลวงนิเทศกลกิจ นำรถเกราะสองคันไปที่วังบางขุนพรหม (ธนาคารแห่งประเทศไทยปัจจุบัน) เชิญจอมพลเรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์รัชกาลที่ ๗ (ซึ่งแปรพระราชฐานอยู่ที่หัวหิน) โดยไปกับรถเกราะคันที่ ๒

ที่วังบางขุนพรหมขณะนั้นกรมพระนครสวรรค์ฯ อยู่กับอธิบดีตำรวจและกำลังตำรวจภูบาล (สันติบาล) และเตรียมป้องกันตัวเต็มที่  เมื่อหลวงพิบูลฯ ไปถึง ขณะกำลังส่วนแรกล้อมวัง เสียงปืนกลหนักชุดแรก (จากการยิงขู่) ดังขึ้นแล้ว “รถรบที่หลวงพิบูลฯ ควบมาเป็นแนวหนุนก็ปราดมาถึงวังและปิดล้อมประตูวังไว้ พร้อมที่จะเปิดการยิงช่วยหากมีการต่อสู้ตอบโต้…” ก่อนที่พระประศาสน์ฯ จะเผชิญหน้ากรมพระนครสวรรค์ฯ และเชิญพระองค์ไปคุมที่พระที่นั่งอนันตสมาคมทั้งชุดนอน

เมื่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองประสบความสำเร็จ เวลา ๐๑.๐๐ น. วันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๔๗๕ หลวงพิบูลฯ ก็กลับบ้าน พอมาถึงก็กอดรัชนิบูล (ลูกคนที่ ๔) ซึ่งยังเป็นทารกแล้วเปรยว่า

“พ่อคิดว่าจะไม่ได้กลับมาเห็นหน้าลูกแล้ว”

ปราบกบฏบวรเดช

หลังวันแห่งความเป็นความตายผ่านไป หลวงพิบูลฯ ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ชั่วคราว (แบบสรรหา) ควบตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารปืนใหญ่และรัฐมนตรีลอย (เทียบได้กับรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ) ใน “คณะกรรมการราษฎร” (คณะรัฐมนตรี) ชุดแรกของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา (นายกรัฐมนตรีคนแรก)

อย่างไรก็ตามความวุ่นวายทางการเมืองก็เริ่มขึ้นในช่วงปลายปี ๒๔๗๕ ต่อต้นปี ๒๔๗๖ เมื่อเค้าโครงการเศรษฐกิจ “สมุดปกเหลือง” ของ ปรีดี พนมยงค์ ที่พยายามปรับปรุงโครงสร้างเศรษฐกิจ ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ คณะรัฐมนตรีแตกเป็นสองฝ่าย เกิดความขัดแย้งในกลุ่ม “สี่ทหารเสือ” แกนนำคณะราษฎร คือ พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา พันเอก พระยาทรงสุรเดช พันโท พระประศาสน์ฯ และพันเอก พระยาฤทธิ์อัคเนย์

๑ เมษายน ๒๔๗๖ พระยามโนฯ ประกาศพระราชกฤษฎีกางดใช้รัฐธรรมนูญเกือบทั้งฉบับ ปิดสภา วันต่อมาก็ประกาศพระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ และกดดันให้นายปรีดีออกนอกประเทศไปอยู่ที่ฝรั่งเศส

ขณะนั้นหลวงพิบูลฯ ย้ายครอบครัวมาอยู่บ้านริมคลองที่กรมทหารปืนใหญ่บางซื่อ มียศพันโท เป็นรัฐมนตรีลอย  ตำแหน่งทางทหารคือผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกฝ่ายยุทธการ เป็นคณะราษฎรคนเดียวที่ยังถือกำลังทหารอยู่ในมือขณะนั้นหลังจากสี่ทหารเสือลาออกจากคณะรัฐมนตรีและกองทัพเนื่องจากวิกฤตทางการเมือง

เขาซุ่มเงียบ

หลังเตรียมการระยะหนึ่ง เช้าวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๔๗๖ หลวงพิบูลฯ ก็ “ลุกขึ้นจากเตียงนอนตั้งแต่ฟ้ายังไม่สว่างลุกลน สวมเครื่องแบบทหาร หยิบปืนพกประจำตัวได้ก็ขึ้นรถยนต์อย่างรีบร้อน…ไม่ลืมหันหน้ามากล่าวกับนางพิบูลสงครามด้วยเสียงหนักแน่นแต่สีหน้ายิ้มแย้มว่า ‘ฉันจะต้องไปทำงานใหญ่’”

“งานใหญ่” ที่ว่าคือยึดอำนาจพระยามโนฯ และแถลงว่า “พระยามโนฯ ได้บริหารราชการแผ่นดินไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ” ถือเป็นรัฐประหารครั้งแรกหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ส่งผลให้มีการเปิดสภาผู้แทนราษฎรขึ้นอีกครั้งหลังถูกปิดไป ๒ เดือน ๒๑ วัน เกิด “รัฐบาลคณะราษฎร” มีพันเอกพระยาพหลฯ เป็นนายกฯ และเรียกตัวปรีดีกลับ

ในวัย ๓๖ ปี บทบาททางทหารของหลวงพิบูลฯ เด่นขึ้นเรื่อย ๆ ตุลาคมปีเดียวกันเขารับหน้าที่ “ผู้บังคับกองกำลังผสม” รบกับพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหมที่นำ “คณะกู้บ้านกู้เมือง” และทหารภาคอีสานลงมาล้อมกรุงเทพฯ ยื่นคำขาดให้รัฐบาลลาออก  สนามรบสำคัญคือทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา สนามบินดอนเมือง และสถานีรถไฟบางซื่อ ซึ่งเป็น “แนวหน้า” ของฝ่ายกบฏที่จัดวางกำลังทหารไว้ตลอดสองข้างทางรถไฟเพื่อรอคำตอบจากรัฐบาล

หลวงพิบูลฯ ปราบกบฏด้วยวิชาที่เขาเชี่ยวชาญ ระดมยิงปืนใหญ่และปืนต่อสู้อากาศยานใส่ก่อนเคลื่อนกองบัญชาการไปเรื่อย ๆ ตามทางรถไฟ บีบให้พระองค์เจ้าบวรเดชถอยกำลังไปจนถึงอำเภอปากช่อง นครราชสีมาและพ่ายแพ้ในที่สุด  จากนั้นเดินทางไปจัดการกำลังทหารจากราชบุรีซึ่งก็ยอมแพ้เมื่อทราบว่าแนวรบทางเหนือแตกแล้ว

ศึกครั้งนี้หลวงพิบูลฯ เสียพันโท หลวงอำนวยสงคราม เพื่อนร่วมรุ่นนักเรียนนายร้อยทหารบกจากการรบ

เหตุการณ์นี้รับรู้ในเวลาต่อมาว่า “กบฏบวรเดช” สิ่งที่หลงเหลือจากการปราบกบฏ คือ “อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” และ “เหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ซึ่งจัดทำแจกทหารผ่านศึกเพื่อรำลึกถึงการปกป้องมิให้ประเทศถอยหลังกลับสู่ระบอบเก่า ทุกวันนี้กลายเป็นเหรียญหายากที่กระจายอยู่ในความครอบครองของนักสะสม

—- มีต่อ ——

ที่มา: http://www.sarakadee.com/2015/02/11/por-pibulsongkram/2/

Leave a Reply