เศรษฐีตีนแมว
ในสมัยหนึ่ง กลุ่มชนในเมืองสาวัตถีมักจะชักชวนกันไปทำบุญเป็นพวกๆ เสมอๆ และในวันหนึ่งพระศาสดาได้ทรงกระทำการอนุโมทนาว่า
“อุบาสกและอุบาสิกาทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลก ถวายทานด้วยตนเอง แต่ไม่ได้ชวนคนอื่นๆให้ถวายพร้อมกัน บุคคลจำพวกดังกล่าวนั้น ตายไปแล้วจะได้ทรัพย์สมบัติมาก แต่ไม่ได้บริวารและหมู่คณะ บุคคลบางคนไม่ได้ถวายเอง แต่ชักชวนให้คนอื่นๆถวายทาน บุคคลคนนั้นจะไม่ได้โภคะ จะไม่ได้ทรัพย์สมบัติ แต่จะเพรียบพร้อมด้วยบริวาร บุคคลบางคนไม่ถวาย แถมยังไม่ชักชวนคนอื่นๆให้ถวาย บุคคลนั้นตายไปเกิดใหม่จะไม่ได้อะไรๆในที่ที่เกิดเลย แต่จะเป็นขอทานซึ่งจะเคี้ยวกินของเป็นเดนของคนทั่วไป แต่ถ้าบุคคลชักชวนเพื่อนๆทำบุญ แล้วยังทำบุญเนืองนิตย์ บุคคลนั้น จะได้ทั้งทรัพย์และบริวารมากมาย (เศรษฐี)”
เมื่อบุคคลคนหนึ่งได้ฟังการอนุโมทนาแล้ว จึงอุทานว่า
“โอ้โห! เหตุนี้น่าอัศจรรย์นัก ตอนนี้เรายังมีชีวิตอยู่ เราน่าจะกระทำทั้งสองอย่างพร้อมๆกัน”
เมื่อคิดดังนี้แล้วจึงกราบทูลพระศาสดาว่า
“ในวันพรุ่งนี้ ข้าพระองค์ขอนิมนต์ท่านผู้เจริญทั้งหลายฉันภัตตาหารที่เรือนของข้าพระองค์ด้วย”
อุบาสกเมื่อพระศาสดารับคำนิมนต์ก็ไปป่าวประกาศเชิญชวนให้ชาวเมืองสาวัตถีทราบโดยทั่วกันให้ช่วยกันบริจาคทานว่า
“พ่อแม่พี่น้องทั้งหลาย พรุ่งนี้พระศาสดาพร้อมทั้งหมู่สงฆ์จะมาฉันภัตตาหารที่เรือนของกระผม ใครมีสิ่งของ ไม่ว่าจะเป็นข้าวสาร หรืออะไรก็ตาม ขอให้นำมาร่วมสมทบทำบุญด้วยกัน ในเรื่องการหุงข้าพเจ้าจะจัดการเอง”
เศรษฐีคนหนึ่งชื่อว่าพิฬาลปทกะ (แปลว่าตีนแมว) ได้ยินคำที่บุรุษพูดแล้วก็คิดว่า
“ไอ้คนนี้มันยังไง ไม่รู้จักประมาณตนเองเอาเสียเลย มีปัญญาแค่ไหนทำไมไม่ถวายแค่นั้น ใยต้องมาป่าวประกาศชักชวนชาวบ้านด้วย”
เมื่อคิดดังนี้แล้วจึงเรียกบุรุษมาแล้วก็ได้ให้ถั่วเขียวหยิบมือหนึ่ง ข้าวหยิบมือหนึ่ง ถั่วเหลืองอีกนิดหนึ่ง รวมทั้งน้ำอ้อยอีก หยดหนึ่ง
เศรษฐีต้องการรู้ว่าบุรุษจะว่าอย่างไรจึงส่งคนไปดูว่าบุรุษพูดอะไร อุบาสกนั้นเมื่อไปแล้วก็ไม่ได้พูดอะไร ได้จัดแจงรวมรวมวัตถุต่างๆ ที่ได้มาเข้าด้วยกัน คนของเศรษฐีก็ได้มารายงานตามที่ตนเองเห็น
ฝ่ายเศรษฐีเมื่อฟังคำของคนของตนแล้วก็คิดว่า
“ถ้าบุรุษคนนี้พูดเรื่องของเราในวันนี้แก่มหาชน ซึ่งจะทำให้เราอับอาย เราจะฆ่ามันให้ตาย”
เมื่อคิดดังนี้แล้วก็เหน็บกฤชไว้ในผ้านุ่งแล้วจึงไปในโรงภัตร (ที่หุงข้าว)
บุรุษต้อนรับพระพุทธเจ้าและหมู่ภิกษุแล้วจึงกราบทูลกะพระพุทธเจ้าว่า
“มนุษย์ที่ข้าพระองค์ชักชวน ได้ให้ข้าวสารและวัตถุต่างๆ มากบ้าง น้อยบ้างตามกำลังศรัทธาของตน ขอให้ผลบุญใหญ่จงมีแก่หมู่มนุษย์ทั้งหลายเหล่านั้นด้วยเถิด”
เศรษฐีเมื่อได้ฟังคำนั้นก็คิดว่า
“เรามาเพื่อที่จะฟังคำเหน็บแนมที่บุรุษจะพูดถึงเราในเรื่องเสียหาย แต่บุรุษนี้ไม่ได้พูดอะไรเลย แถมยังให้ส่วนบุญอีก ถ้าเราไม่ขอขมาบุรุษนี้ เราคงต้องโดนอาญาแห่งเทพเล่นงานเป็นแน่”
เมื่อคิดได้ดังนี้ เศรษฐีก็หมอบกราบแทบเท้าของบุรุษและขอขมา บุรุษนั้นด้วยความงุนงงก็ถามในเรื่องทั้งหมด เมื่อได้ฟังเรื่องทั้งหมดแล้ว จึงให้อภัยแก่เศรษฐี
พระพุทธเจ้าได้ช่องในการแสดงธรรมจึงตรัสว่า
“นี่อุบาสกทั้งหลาย ใครๆ ไม่พึงดูหมิ่นบุญว่าบุญน้อย ทานน้อย ของน้อยๆ ยิ่งทำก็ยิ่งเพิ่มพูน และก็จะเติมเต็มไปเรื่อยๆ เปรียบดังตุ่มน้ำที่ไม่ได้ปิดฝา เมื่อฝนตกลงทีละน้อยก็จะเต็มเองนั้นแหละ”
บุคคลไม่ควรดูหมิ่นบุญว่า ‘บุญมีประมาณน้อยจักไม่มาถึง’
แม้หม้อน้ำยังเต็มด้วยหยาดน้ำที่ตกลงมา (ทีละหยาดๆ) ได้ฉันใด,
ธีรชน (ชนผู้มีปัญญา) สั่งสมบุญแม้ทีละน้อยๆ ย่อมเต็มด้วยบุญได้ฉันนั้น.
ที่มา: http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=bwn2528&date=17-03-2008&group=15&gblog=2