ป. พิบูลสงคราม “จอมพลตราไก่” ตอน 3

ป. พิบูลสงคราม “จอมพลตราไก่” ตอน 3

por3

เสื้อเปื้อนคราบเลือดและมีรอยกระสุนของ พันเอก หลวงพิบูลสงครามทั้งชั้นในและนอกในวันที่ถูกลอบยิงที่ท้องสนามหลวง ปัจจุบันได้รับการเก็บรักษาที่มุม “จอมพล ป.พิบูลสงคราม” พิพิธภัณฑ์ อาคาร รร.จปร. ๑๐๐ ปี โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า

“มือปืน” และ “ยาพิษ”

หลังปราบกบฏ หลวงพิบูลฯ ได้รับยศเป็นพันเอก ได้ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและรองผู้บัญชาการทหารบกในรัฐบาลของพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา  ช่วงนี้เขาเผชิญการลอบสังหารถึงสามครั้ง

ครั้งที่เสี่ยงที่สุดเกิดขึ้นในวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๗๗ เมื่อปฏิบัติหน้าที่ประธานปิดงานแข่งขันฟุตบอลของกระทรวงกลาโหมที่สนามหลวงเสร็จสิ้น หลวงพิบูลฯ กลับมาขึ้นรถยนต์ที่จอดอยู่ใกล้กระโจมพิธี พอเข้ารถก็ก้มหยิบกระบี่ส่งให้นายทหารติดตามซึ่งยืนอยู่นอกรถ “เสียงปืนปังปังก็ดังระเบิดขึ้น ๒ นัด น.ต. หลวงสุนาวินวิวัฒน์ เหลียวไปเห็นชายคนหนึ่งในระยะใกล้ชิด กำลังถือปืนพกจ้องปากกระบอกปืนตรงไปที่ร่างของ พ.อ. หลวงพิบูลฯ ปากกระบอกปืนยังปรากฏมีควันกรุ่นอยู่…น.ต. หลวงสุนาวินฯ กระโดดปัดมือชายผู้นั้นจนปืนพกตกกระเด็นจากมือ พร้อมกับกระสุนได้หลุดออกไปจากลำกล้องเป็นนัดที่ ๓ ทหารหลายคนตรูกันเข้ารวบตัวชายผู้นั้นไว้ได้ ร.อ. ทวน วิชัยขัทคะ รีบประคอง
ร่างท่านรัฐมนตรีไว้ด้วยความตกใจสุดขีดเมื่อมองเห็นเลือดสีแดงเข้มไหลรินออกจากรูกระสุนปืนตรงต้นคอ ทำให้เสื้อสีกากีที่ท่านสวมเกิดรอยเปื้อนเป็นทางด้วยเลือดที่ยังไหลจากลำคอของท่านโดยไม่หยุด”

นางพิบูลสงครามซึ่งอยู่ที่บ้านบางซื่ออุ้มพัชรบูล (ลูกคนที่ ๕) อยู่ พอรับโทรศัพท์แจ้งข่าวก็ “เป็นลมไปชั่วครู่”

แพทย์พบว่าหลวงพิบูลฯ ถูกยิงสองแห่ง แห่งแรกกระสุนเข้าแก้มซ้ายทะลุออกต้นคอ แห่งที่ ๒ กระสุนเข้าไหล่ขวาทะลุด้านหลัง โชคดีไม่โดนอวัยวะสำคัญทำให้รอด  อย่างไรก็ตาม หลวงพิบูลฯ ต้องรักษาตัวอยู่ ๑ เดือน  นายพุ่ม ทับสายทอง มือปืนถูกจับไปสอบสวนและดำเนินคดี

ครั้งที่ ๒ เกิดในวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๔๘๑ (ก่อนการเลือกตั้งทั่วไป) ที่บ้านบางซื่อ เวลา ๑๙.๐๐ น. ขณะหลวงพิบูลฯ แต่งตัวจะไปงานเลี้ยงที่กระทรวงกลาโหม นายลี คนสวน บุกเข้าไปไล่ยิงถึงห้อง แต่นายทหารติดตามขึ้นไปช่วยได้ก่อนจะจับนายลีส่งตำรวจ โดยนายลีเป็นคนสวนที่หลวงพิบูลฯ อุปการะและไว้เนื้อเชื่อใจมานาน

ครั้งที่ ๓ เกิดในวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๔๘๑ (ก่อนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในสภาฯ ๙ วัน) ขณะหลวงพิบูลฯ รับประทานอาหารที่บ้าน จอมพลเรือ หลวงยุทธศาสตร์โกศล อดีตผู้บัญชาการทหารเรือซึ่งตอนนั้นมียศนาวาโทและอยู่ในวงอาหาร เล่าว่าหลวงพิบูลฯ รู้ตัวก่อนแล้วอุทานว่า “ผมท่าจะกินยาพิษ” และ “เนื้อตัวสั่น หน้าซีด เหงื่อไหลโซม” แล้วทั้งคณะก็ต้องรีบไปโรงพยาบาล ก่อนที่แพทย์จะล้างท้องจนรอดมาได้อย่างหวุดหวิด

การลอบสังหารสามครั้ง ทำให้ต่อมารัฐบาลคณะราษฎรชุดหลวงพิบูลฯ ตั้ง “ศาลพิเศษ” จับกุมผู้ต้องหา ๕๒ คนดำเนินคดีโดยพบว่าทำงานกันอย่างเป็นขบวนการ ผล ๑๘ คนถูกตัดสินประหารชีวิต มีการถวายฎีกาเพื่อขอลดหย่อนโทษ ทว่ามีเพียงสามคนเท่านั้นที่ได้รับการลดหย่อน ส่วนอีก ๑๕ คนถูกประหาร

เรื่อง “ศาลพิเศษ” นี้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยมองว่าหลวงพิบูลฯ ถือโอกาสกำจัดศัตรูทางการเมืองและจับบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง แต่อีกมุมหนึ่งก็มีผู้มองว่าหลวงพิบูลฯ จำเป็นต้องทำเพื่อความปลอดภัยของคณะราษฎรเอง

ปัจจุบันเสื้อเปื้อนเลือดมีรอยกระสุนและผ้าที่ใช้ซับเลือดจากเหตุการณ์ลอบสังหารครั้งแรก เก็บรักษาอยู่ที่ “มุมจอมพล ป. พิบูลสงคราม” ใน “พิพิธภัณฑ์ อาคาร รร.จปร. ๑๐๐ ปี” โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จังหวัดนครนายก

ผลพลอยได้หลังจากเหตุการณ์นั้นคือ ท่านผู้หญิงละเอียดตัดสินใจทำอาหารให้จอมพลแทบทุกมื้อ  เธอเล่าให้ลูกฟังภายหลังว่า “แม่ซาวข้าวเสียเล็บไม่เคยยาวเลย”

ผู้นำยุค “สร้างชาติ” 

หลวงพิบูลฯ ขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดทางการเมืองในวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๔๘๑ ขณะอายุ ๔๑ ปี

ขณะนั้นสถานการณ์รอบประเทศอยู่ในภาวะวิกฤต เค้าลางสงครามก่อตัวขึ้นในยุโรปจากการคุกคามของเยอรมนี ในเอเชียญี่ปุ่นกำลังแผ่แสนยานุภาพโดยยึดอินโดจีนของฝรั่งเศส (ลาว กัมพูชา เวียดนาม) ไว้ได้

งานที่เด่นชัดของหลวงพิบูลฯ ในสภาวะนี้ คือการเปลี่ยนประเทศสู่ “สมัยใหม่” สร้างชาติบนฐาน “ระบอบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ” สร้าง “สำนึกความเป็นไทย” ผ่านสิ่งก่อสร้างเชิงสัญลักษณ์ รณรงค์ด้านวัฒนธรรม  ที่สำคัญคือการประกาศ “รัฐนิยม” ๑๒ ฉบับ ทั้งช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒

พันเอกหลวงพิบูลฯ ปราศรัยในงานฉลอง “วันชาติ” (๒๔ มิถุนายน ๒๔๘๓) ว่าไทยเป็นอารยชนแล้ว “การสร้างชาติก็คือการสร้างตัวของคนทุกคนในบรรดาประชากรของชาติให้ดี ถ้าเราทุกคนมีร่างกายแข็งแรง มีวัฒนธรรมดี มีศีลธรรมงาม และมีอารยธรรมดี-ดีอย่างไทยซึ่งไม่มีใครจะดีกว่าอยู่แล้ว ประกอบอาชีพให้รุ่มรวยดังนี้ ชาติไทยก็จะดีตามไปด้วยโดยมิต้องสงสัยเลย…”

โดยเน้นให้คนไทยมี

“วัธนธัมดี      มีศีลธัมดี
มีอนามัยดี      มีการแต่งกาย
อันเรียบร้อยดี       มีที่พักอาศัยดี
และมีที่ทำมากินดี…”

รัฐนิยมเจ็ดฉบับถูกประกาศในปี ๒๔๘๒ หลวงวิจิตรวาทการ (กิมเหลียง วัฒนปรีดา) เป็นกำลังสำคัญในการร่างและทำนโยบาย ฉบับที่ ๑ “ชื่อประเทศ ประชาชน และสัญชาติ” และฉบับที่ ๓ ส่งผลให้เกิดคำเรียก “คนไทย” ชื่อประเทศเปลี่ยนจาก “สยาม” เป็น “ไทย” ชื่อภาษาอังกฤษเปลี่ยนจาก “Siam” เป็น “Thailand” รัฐนิยมฉบับที่ ๔ และ ๖ ให้ “ยืนตรงเคารพธงชาติ” เปลี่ยนเนื้อเพลงชาติจาก “ประเทศสยามนามประเทืองว่าเมืองทอง…” เป็น “ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย”  รัฐนิยมฉบับที่ ๘ ซึ่งออกในปี ๒๔๘๓ ว่าด้วยเรื่องเพลงสรรเสริญพระบารมีซึ่งส่งผลให้เพลงสรรเสริญฯ ถูกย่อและเปลี่ยนคำว่า “สยาม” ในเพลงเป็น “ไทย”

เรื่องนี้ยังส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนชื่อสิ่งของและสถานที่ที่มีคำว่า “สยาม” อาทิ ธนาคาร “สยามกัมมาจล” เป็นธนาคาร “ไทยพาณิชย์” หรือ “พระสยามเทวาธิราช” เป็น “พระไทยเทวาธิราช”

รัฐนิยมฉบับที่ ๑๐ กำหนดให้คนไทยแต่งกายแบบ “ไทยอารยะ” แผ่นโฆษณาวัฒนธรรมไทยแผ่นหนึ่งระบุว่า คนไทยไม่ควรนุ่งโสร่ง เปลือยกายท่อนบน ใส่หมวกแขก โพกหัว ทูนของบนศีรษะ ผู้ชายควรแต่ง “ตามแบบสากล หรือสรวมกางเกงตามแบบไทยขาสั้น สรวมเสื้อกลัดรังดุมเรียบร้อย” ผู้หญิงควร “ไว้ผมยาวสรวมเสื้อชั้นนอกให้สอาดเรียบร้อยและนุ่งผ้าสิ้น (ผ้าถุง) จงทุกคน” และรณรงค์ให้ใส่หมวกชี้ว่า “มาลานำไทยไปสู่มหาอำนาจ”

ถึงขั้นที่ครั้งหนึ่งรัฐบาลส่งเจ้าหน้าที่ไปเฝ้าสมเด็จฯ พระพัน-วัสสาอัยยิกาเจ้า ขอพระราชทานให้พระองค์สวมพระมาลา และขอประทานฉายพระรูป จนถูกกริ้วว่า

“…ทุกวันนี้ จนจะไม่เป็นตัวของตัวอยู่แล้ว  นี่ยังจะมายุ่งกับหัวกับหูอีก…ไม่ใส่ อยากจะให้ใส่ก็มาตัดหัวเอาไปตั้งแล้วใส่เอาเองก็แล้วกัน…”

การที่รัฐยุ่งกับหัวหูของผู้คนยังปรากฏในคำสั่งอื่น ๆ อีก เรื่องที่คนจำได้ดีเช่น “ห้ามกินหมาก” ซึ่งรัฐบาลมองว่าเป็น “ประเพณีเสื่อมเกียรติอย่างร้ายแรง” บ้วนน้ำหมากเลอะเทอะเป็นผู้ “ไม่มีวัฒนธรรม” กระทรวงมหาดไทยจึงห้ามประชาชนที่กินหมากติดต่อราชการและกวดขันเรื่องนี้อย่างเข้มงวด

สรศัลย์ แพ่งสภา สถาปนิก-นักเขียนซึ่งผ่านยุคนั้นมาเล่าว่า “วันดีคืนดีท่านสั่งให้หยุดเคี้ยวหยุดขาย (หมาก) ราวกับปิดสวิตช์ไฟฟ้าปั๊บเดียวดับมืดทั้งบ้าน คนที่ติดมาก ๆ ยิ่งคนแก่ด้วยแล้วนั่งหาวหวอด ๆ จนขากรรไกรค้าง…ทีนี้ซิครับ เหล่าสมุนที่ว่าจะสอพลอเจ้านาย…แต่ไม่รู้ว่าได้รับมอบอำนาจมาจากไหนสั่งตัดโค่นสวนหมากพลูพินาศไป” ยังไม่นับคนยากคนจนที่ต้องหาเสื้อผ้าสากลมาใส่ตามคำสั่ง “ท่านผู้นำ”

ยังมีประกาศให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จากวันที่ ๑ เมษายนเป็นวันที่ ๑ มกราคม และประกาศอีกหลายฉบับที่เปลี่ยนธรรมเนียมและวัฒนธรรมดั้งเดิมให้เข้ากับสากล  ช่วงนี้รัฐบาลยังโอนกิจการค้าชาวต่างประเทศเข้ามาดำเนินการเอง อาทิ โรงงานยาสูบ สัมปทานป่าไม้ เหมืองแร่ และตั้งกิจการค้าของไทย เช่น บริษัทไทยเดินเรือทะเล จำกัด

สงครามอินโดจีน 

ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ จะมาถึงเมืองไทยไม่นาน พันเอก หลวงพิบูลฯ เลื่อนยศเป็นพลตรี และกลายเป็น “จอมพล” เมื่อการเรียกร้องดินแดนอินโดจีนประสบความสำเร็จ

กรณี “สงครามอินโดจีน” ระหว่างไทยกับฝรั่งเศส (เกิดก่อน “สงครามมหาเอเชียบูรพา” อันเป็นส่วนหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่ ๒)  เรื่องเล่ากระแสหลักตามที่ทราบกันคือ เกิดจากความต้องการ “ปรับปรุงเส้นเขตแดน” ของไทยหลังแพ้ฝรั่งเศสในการชิงดินแดนที่เป็นประเทศลาวและกัมพูชาในสมัยรัชกาลที่ ๕ อย่างราบคาบ

ช่วงที่รัฐบาลไทยยึดนโยบายนี้ สงครามโลกครั้งที่ ๒ ระเบิดแล้วในยุโรป เยอรมนีชนะฝรั่งเศสตั้งแต่ ๒๒ มิถุนายน ๒๔๘๓ รัฐบาลไทยทำ “สนธิสัญญาไม่รุกรานกันและกัน” กับมหาอำนาจตะวันตกหลายประเทศเพื่อประกันความเป็นกลาง ดังนั้นเมื่อฝรั่งเศสขอให้ไทยรับสัตยาบันพลตรี หลวงพิบูลฯ จึงเห็นโอกาส ปฏิเสธสัตยาบัน และขอปรับปรุงเส้นเขตแดน ขอไชยบุรีและจำปาศักดิ์คืน ให้ถือแม่น้ำโขงเป็นเส้นเขตแดน และสุดท้ายหากมีการโอนอธิปไตยในอินโดจีน ขอให้ลาวและกัมพูชาเป็นของไทย ซึ่งรัฐบาลฝรั่งเศส (ภายใต้การยึดครองของเยอรมนี) ไม่ยินยอม

“สงครามอินโดจีน” จึงเกิดขึ้นในช่วงปลายปี ๒๔๘๓  ตลอดเดือนตุลาคมปีนั้น มีการปลุกกระแสเรียกร้องดินแดนคืน  นิสิตจุฬาฯ นักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (มธก.) ออกมาเดินขบวนอย่างคึกคัก

ในที่สุดญี่ปุ่นก็เข้ามาไกล่เกลี่ย เกิด “อนุสัญญากรุงโตเกียว พ.ศ. ๒๔๘๔” ทำให้ไทยได้ไชยบุรี จำปาศักดิ์ เสียมราฐ (เสียม-เรียบ) และพระตะบอง  พลตรีหลวงพิบูลฯ มีความชอบ รับพระราชทานยศ “จอมพล” เป็น “จอมพล หลวงพิบูลสงคราม” มีการสร้างอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิจารึกชื่อทหารผู้เสียชีวิตในสงครามอินโดจีน เกิดจังหวัด “พิบูลสงคราม” ในดินแดนที่ได้มาใหม่โดยรวมท้องที่เมืองเสียมราฐและอุดรมีชัยเข้าไว้ด้วยกันเพื่อเป็นเกียรติแก่จอมพล

แน่นอน หลักฐานจำนวนมากโดยเฉพาะฝ่าย ปรีดี พนมยงค์ ที่คัดค้านการทำสงคราม มองว่านี่คือการเดินนโยบายผิดพลาดของจอมพลซึ่งทำให้หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ไทยต้องคืนดินแดนไปทั้งหมด แต่หลักฐานฝ่ายจอมพล ป. ก็อ้างว่าสงครามครั้งนี้นอกจากต้องการกู้เกียรติยศ ยังมีเจตนา “ขยายแนวตั้งรับ” เพื่อเตรียมรับมือญี่ปุ่นด้วย  ตัวอย่างหลักฐานหนึ่งซึ่งถูกยกขึ้นมา คือโทรเลขของจอมพลที่ส่งถึงพันโท ไชย ประทีปเสน ที่เดินทางไปไซ่ง่อน (โฮจิมินห์ซิตี) กับคณะกรรมการเจรจาปรับปรุงเขตแดนกับฝรั่งเศสในเดือนกันยายน ๒๔๘๔ ระบุว่า “…ขอแต่เส้นเขตแดนให้เสร็จไปแล้วกัน ดินแดนที่ได้มาเรามีความมุ่งหมายในการป้องกันชาติในภายหน้า ยิ่งกว่าจะได้ดินแดนมา…”  ด้วยการได้ดินแดนเพิ่มส่วนนี้ ทำให้ญี่ปุ่นใช้เวลาบุกนานขึ้น “ต้องลำบากตั้งแต่สวายดอนแก้ว พระตะบอง…ไกลนครหลวงออกไปหลายสิบกิโลเมตร”

เรื่องนี้ยังถกเถียงกันถึงปัจจุบัน

หลังชนะสงครามอินโดจีน คณะรัฐมนตรีส่วนหนึ่งถวายบังคมลาออกจากบรรดาศักดิ์ตามนโยบายจอมพลที่ต้องการยกเลิกบรรดาศักดิ์ทั้งหมด บ้างเปลี่ยนไปใช้ชื่อเดิม บ้างก็นำบรรดาศักดิ์มาเป็นนามสกุล

โดย “จอมพล หลวงพิบูลสงคราม” เลือกใช้ชื่อ “จอมพล แปลก พิบูลสงคราม” เขียนย่อว่า “จอมพล ป. พิบูลสงคราม” ตั้งแต่บัดนั้น

เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย 

จุดชี้เป็นชี้ตายที่กำหนดบทบาทประเทศไทยในสงครามโลกครั้งที่ ๒ อยู่ในช่วงรอยต่อคืนวันที่ ๗ ถึงเช้าวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ เมื่อญี่ปุ่นยกพลขึ้นบก

ขณะนั้นจอมพลกำลังตรวจราชการที่ชายแดนภาคตะวันออก คณะรัฐมนตรีไม่กล้าตัดสินใจตอบทูตญี่ปุ่นที่มายื่นคำขาดขอเดินทัพผ่าน  ขณะที่เกิดการต่อสู้ทุกแนวเขตแดนที่ญี่ปุ่นบุกเข้ามา

การที่จอมพลกลับถึงที่ประชุมคณะรัฐมนตรีช้าเป็นที่มาของข้อกังขาว่าจอมพลมี “ข้อตกลงลับ” กับญี่ปุ่นหรือไม่

ในจดหมายที่ส่งให้หนังสือพิมพ์ฉบับต่าง ๆ หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ จอมพลเล่าว่าไปตรวจราชการที่ปราจีนบุรี ดูแนวตั้งรับที่ศรีโสภณ เดินทางไปจังหวัดพระตะบองก่อนกลับมาอรัญประเทศตอนค่ำและได้โทรเลขด่วน “ผมจึงได้เดินทางกลับกรุงเทพฯ เมื่อเวลา ๑ นาฬิกาของวันที่ ๘”

พอใกล้รุ่งสางก็พบกับรถของพลอากาศตรี มุนี มหาสันทนะ เวชยันตรังสฤษฏ์ (พระเวชยันตรังสฤษฏ์) ที่คณะรัฐมนตรีส่งมาตามจอมพลที่สระบุรี จอมพล ป. ตัดสินใจไม่ขึ้นเครื่องบินกลับทันที และจะ “เข้าไปดูท่วงที (ในกรุงเทพฯ) ส่วนการรบก็คงให้รบกันต่อไปตามแผนและตามคำสั่ง…”

ตอนเช้าเมื่อถึงวังสวนกุหลาบ (ทำเนียบรัฐบาลสมัยนั้น) จึงเจรจากับทูตญี่ปุ่น โดยญี่ปุ่นเสนอระหว่าง ๑. ให้เดินทัพผ่าน ๒. ร่วมรบ  ๓. เข้าร่วมสัญญาไตรภาคี  ๔. ไม่รับข้อเสนอ

จอมพลขอว่าต้องประชุมกับคณะรัฐมนตรีเพื่อตัดสินใจ

ขณะนั้นสถานการณ์ตึงเครียด ในห้องนายกรัฐมนตรีมีคนไทยเพียงสองคน คือ จอมพล ป. กับ วณิช ปานะนนท์ ซึ่ง “เผชิญคำขู่เข็ญ…จากฝ่ายญี่ปุ่นซึ่งมีทั้งคณะทูตพลเรือน ทูตทหาร และนายทหารชั้นนายพล นายพัน ถือดาบอยู่เกะกะ นับจำนวนได้ประมาณตั้ง ๒๐ คน นายวณิช…ได้ขอร้องให้ฝ่ายญี่ปุ่นให้เกียรติแก่นายกรัฐมนตรีไทยให้ได้ออกจากห้องเพื่อไปหารือคณะรัฐมนตรีบ้าง พูดกันอยู่นาน ญี่ปุ่นจึงได้ยอม…”

ในที่สุดคณะรัฐมนตรีก็ “ลงมติเป็นเอกฉันท์ไม่รบกับญี่ปุ่น” ให้เดินทัพผ่านโดยขอให้เคารพอธิปไตยของประเทศไทย

สิบโมงเช้า รัฐบาลประกาศให้ “ยุติการสู้รบ” วันเดียวกันยังมีประชุมคณะรัฐมนตรีรอบเย็น ซึ่งจอมพลออกอาการ “ท้อ” ให้เห็น กล่าวกับคณะรัฐมนตรีว่า “ไม่มีอะไรจะพูด…เก่งมาหลายปี ๓-๔ ปี วันนี้หมดภูมิ เราลองพิจารณาดูซิว่าจะมีทางอะไรที่จะเอาตัวรอดได้…”  ที่น่าสังเกตคือจอมพลถามถึงความเป็นไปได้ในการ “อพยพ (รัฐบาล) ไปทางเหนือ”

ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ ๑๑ ธันวาคม สถานการณ์แย่ลงอีกเมื่อญี่ปุ่นต้องการให้ร่วมมือมากกว่ายอมให้เดินทัพผ่าน จอมพลกล่าวว่า “ไม่รู้ที่จะแก้อย่างไร…จะเป็นการที่ผมขายชาติทั้งขึ้นทั้งล่อง อ้ายไม่รับเดี๋ยวเขาก็จะปลดอาวุธทหาร เราก็หมดเสียง อ้ายจะสู้หรือ ก็ฉิบหายมาก…ในใจของผมเห็นว่า เมื่อเราจะเข้ากับเขาแล้วก็เข้าเสียให้เต็ม ๑๐๐% เขาก็คงเห็นอกเห็นใจเรา ส่วนการข้างหน้าจะเป็นอย่างไรผมทายไม่ถูก…”

ตอนนี้เอง ปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ค้านว่าเมื่อตกลงแค่ให้เดินทัพผ่านก็ควรทำเท่านั้น หากร่วมเต็มตัวแล้วกลับลำภายหลัง “ถ้าประเด็นอยู่ที่จะกู้เกียรติยศของชาติ ก็จะเสียเกียรติทั้งขึ้นทั้งล่อง” โดยเสนอว่าให้หาทางให้ญี่ปุ่นปฏิบัติตามสัญญาจะดีกว่า ซึ่งการโต้เถียงครั้งนี้เป็นรอยร้าวแรกที่เห็นชัดระหว่างแกนนำฝ่ายบุ๋นและบู๊ของคณะราษฎร

ในที่สุดปรีดีถูกปรับออกจากคณะรัฐมนตรีไปรับตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ด้วยเหตุว่า “เป็นที่รังเกียจของญี่ปุ่น” ก่อนที่ไทยจะเซ็นสัญญาร่วมรบกับญี่ปุ่นและประกาศสงครามกับสัมพันธมิตรในวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๔๘๕

ความจริงเบื้องหลัง ตอนนั้นปรีดี “คิดต่าง” ก่อตั้งขบวนการเสรีไทย” (Free Thai Movement) ตั้งแต่วันที่ไทยยอมให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่าน  ขณะที่จอมพล ป. ดำเนินนโยบายอีกแบบ ซึ่งต้องบันทึกในที่นี้ว่าเป็นการตัดสินใจขณะที่ลูกสาวคนหนึ่งของเขากำลังเรียนต่ออยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส

จอมพลบอกประชาชนว่าขอให้ “เชื่อผู้นำ” และ “ชาติ (จะ) พ้นภัย” เพราะ “ญี่ปุ่นมีเครื่องยึดมั่นอยู่คือพระเจ้าแผ่นดินของเขา ของเราไม่มีอะไรเป็นเครื่องยึดแน่นอน…ชาติก็ยังไม่มีตัวตน ศาสนาก็ไม่ทำให้คนเลื่อมใส ถึงยึดมั่น พระมหากษัตริย์ก็ยังเป็นเด็กเห็นแต่รูป รัฐธรรมนูญก็เป็นสมุดหนังสือ…ผมจึงให้ตามนายรัฐมนตรี”

“ชาตินิยม” และ “เมกะโปรเจกต์” ในไฟสงคราม

ระหว่างสงคราม เราเข้าถึงวิธีคิดและวิธีทำงานของจอมพลได้จากการอ่าน “สมุดสั่งงาน”

ผมพบว่าสมุดสั่งงานทุกเล่มได้รับการเก็บรักษาไว้ในตู้ไม้ ในพิพิธภัณฑ์ อาคาร รร.จปร. ๑๐๐ ปี โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จังหวัดนครนายก ทั้งหมดเป็นสมุดปกแข็งสีเขียว บางเล่มก็ถูกห่อด้วยกระดาษสีอื่น ทั้งหมดมี ๑๒ เล่ม แบ่งเป็น “สมุดสั่งการฝ่ายทหาร” “สมุดสั่งงานฝ่ายพลเรือน” “สมุดสั่งงานฝ่ายสภาวัฒนธรรม” และ “สมุดสั่งการเพ็ชร์บูรน์” สมุดเหล่านี้บันทึกคำสั่งของจอมพล ป. ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ๒๔๘๔ (ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ เริ่ม ๑ เดือน) ถึงเดือนสิงหาคม ๒๔๘๗ (ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติ ๑ ปี)

ภารกิจสำคัญสี่เรื่องที่ปรากฏคือ สงวนกองทัพไม่ให้ถูกปลดอาวุธ หาทางทอนกำลังญี่ปุ่น สร้างเพชรบูรณ์ให้เป็นเมืองหลวง สร้างพุทธบุรีมณฑล กำหนดเขตหวงห้ามคนต่างชาติ ตาม “แผนยุทธการที่ ๗”

เมกะโปรเจกต์สำคัญที่สุดคือการสร้าง “นครบาลเพชรบูรณ์” ระหว่างปี ๒๔๘๖-๒๔๘๗

จอมพล ป. เลือกเพชรบูรณ์เนื่องจากล้อมรอบด้วยทิวเขาสี่ด้าน มีเส้นทางสู่ภาคเหนือ ที่นี่จึงเป็น “เมืองหลวงเชิงยุทธศาสตร์” ที่เหมาะสำหรับต่อต้านญี่ปุ่น และตั้ง “รองนายกฯ ประจำเพชรบูรณ์” ดูแลภารกิจนี้โดยตรง  คำสั่งส่วนมากเน้นสร้างถนนสายสำคัญ อาทิ “ถนนไชยวิบูรณ์” เชื่อมจังหวัดลพบุรีกับเพชรบูรณ์ (ปัจจุบันคือบางส่วนของทางหลวงหมายเลข ๒๑) โดยการเกณฑ์แรงงานจากราษฎรหลายจังหวัด

นโยบายนี้ถูกโจมตีอย่างหนักด้วยสมัยนั้นเพชรบูรณ์เป็นเมือง “มหากันดาร” ผู้ถูกเกณฑ์เจ็บป่วยและเสียชีวิตมากเสียจนมีคำกล่าวว่าใครถูกเกณฑ์ให้ “เตรียมหม้อดินไปใส่กระดูก”

อดีตคนเกณฑ์รายหนึ่งเล่าว่า “ทำทางแถวลำนารายณ์ มองออกไปทางไหนก็มืดครึ้มไปด้วยป่าดิบ ที่นี่มันดงพญาเย็น…อดอยาก ขนาดรินน้ำข้าวยังแย่งกันกิน น้ำก็ต้องพึ่งแควป่าสัก ต้องเดินจากที่ทำงานไปอีกไกล เป็นไข้มาลาเรียกันงอม โอ้โห ตายต่อหน้าต่อตา เดี๋ยวก็หามเอาไปฝังกันแล้ว”

ตัวจอมพลก็ลำบากมิใช่น้อย ครั้งหนึ่งเมื่อทูตญี่ปุ่นขอพบก็ต้องผัดผ่อนว่า “ขอนัดพบครึ่งทางคือบัวชุม (ตำบลบัวชุม อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี) จะมาเมื่อใดให้แจ้งมาด่วน จะได้บุกโคลนไปพบ”

รัชนิบูล ลูกคนที่ ๓ ของจอมพล ป. บันทึกว่าช่วงนี้ถ้าบิดากลับวังสวนกุหลาบก็ไม่มีเวลาให้ (ขณะนั้นมีลูกห้าคนแล้ว) “ดูยุ่งเหลือเกิน…จะได้กอดลูกก็ตอนมาลาท่านไป ร.ร.  สิ่งที่ท่านชอบทำก็คือจับลูกไว้ใต้แขนประมาณอึดใจหนึ่งแล้วก็ปล่อยลูกไป ร.ร. ได้  สำหรับน้องนิตย์ คนสุดท้อง (คนที่ ๖ เกิดปี ๒๔๘๔) ท่านจะต้องให้ลูบหนวดเคราท่านสักพักหนึ่งด้วย”

อย่างไรก็ตามแม้มีเมกะโปรเจกต์เพชรบูรณ์ จอมพลก็ไม่เคยทิ้งการรณรงค์ทางวัฒนธรรม ยิ่งช่วงสงครามนั้นเข้มข้นยิ่งกว่าเดิมเสียอีกโดยมีท่านผู้หญิงละเอียดเป็นกำลังสำคัญ

มีการตั้ง “สภาวัฒนธรรม” ในปี ๒๔๘๕ เพื่อทำงานด้านวัฒนธรรมโดยเฉพาะ ตั้ง “คนะกัมการส่งเสิมวัธนธัมไทย” (เขียนแบบใหม่) ปรับปรุงภาษาไทยขนานใหญ่และสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้ผู้ใช้ภาษาในยุคนั้นเป็นอย่างยิ่ง  ตัวอย่างของการปรับปรุง คือ ตัดพยัญชนะ ๑๓ ตัว สระ ๕ ตัว  คำควบกล้ำที่ไม่ออกเสียง ร กำหนดว่าไม่ต้องเขียนตัว ร  ให้ใช้ไม้มลาย (ไ) แทนไม้ม้วน (ใ) เป็นต้น

ท่านผู้หญิงละเอียดยังมีส่วนช่วยรณรงค์เรื่องทางวัฒนธรรมอื่น ๆ อีก อาทิ แต่งเพลง “ยอดชายใจหาญ” “หญิงไทยใจงาม” “ดอกไม้ของชาติ” เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการปรับปรุง “รำโทน” โดยจอมพลและท่านผู้หญิงเป็นผู้ตั้งชื่อ “รำโทน” ที่ปรับปรุงแล้วว่า “รำวง” แล้วขอให้กรมศิลปากรคิดท่ารำมาตรฐานขึ้นมา

เหตุที่จอมพลมีนโยบายส่งเสริมบทบาทสตรีเพราะ “หยิงเปนส่วนหนึ่งของชาติ ก็ควนจะได้สร้างตนและช่วยชาติด้วยในตัว…ไครจะดูว่าชาตินั้นชาตินี้เจรินเพียงไดไนเมื่อผ่านไปชั่วแล่นแล้วก็มักจะตัดสินความเจรินของชาตินั้นตามความเจรินของฝ่ายหญิง”

ดังนั้นจึงออกคำสั่งให้สามียกย่องภรรยาตลอดเวลา ถ้าข้าราชการทะเลาะกับภรรยาถือเป็นการผิดวินัย เป็นต้น

ปี ๒๔๘๕ ยังรับ “นักเรียนนายร้อยหญิง” รุ่นแรกมาฝึกเพื่อส่งเสริมบทบาทสตรีในการป้องกันประเทศ ซึ่งจีรวัสส์บุตรีจอมพลที่เพิ่งกลับจากต่างประเทศก็เป็นนักเรียนนายร้อยหญิงรุ่นแรกนี้ด้วย  อย่างไรก็ตามเรื่องนักเรียนนายร้อยหญิงนี้ก็ทำให้จอมพลโดนชาวบ้านด่าอีก ด้วยบรรดาข้าราชการ “ทำเกิน” เกณฑ์บรรดาแม่บ้านทั้งหลายออกมาฝึกซ้ายหันขวาหันกันเป็นที่คึกคัก จนจอมพลต้องออกคำสั่งปรามการกระทำดังกล่าว

ยังมีนโยบายอื่น ๆ อีก อาทิ ห้าม “ใส่หมวกแขก โพกหัว” และ “แต่งกายผิดเพศ” ส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ ปลูกผักสวนครัว ให้กินก๋วยเตี๋ยว กีดกันอิทธิพลชาวจีนจากระบบเศรษฐกิจไทยด้วยการส่งเสริมให้คนไทยประกอบการค้า

เรื่องที่คนจำกันได้มากที่สุด คือการเปิดเพลง “สดุดี ป. พิบูล-สงคราม” ก่อนฉายภาพยนตร์ เนื้อร้องมีว่า “ไชโย วีรชนชาติไทย ตลอดสมัย ที่ไทยมี ประเทศไทย คงชาตรี ด้วยคนดี ผยองชัย ท่านผู้นำ พิบูลสงคราม ขอเทิดนาม เกริกไกร ขอดำรง คงไทย ตลอดสมัย เทิดไทย ชะโย”  โดยโรงหนังประกาศขอให้ผู้ชม “ลุกขึ้นคารวะท่านผู้นำ” เมื่อหนังจบจึงขึ้นพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและเพลงสรรเสริญพระบารมี

สง่า อารัมภีร หนึ่งในคณะนักร้องของกองทัพอากาศที่เห็นกำเนิดเพลง “สดุดี ป. พิบูลสงคราม” เล่าว่าพระเจนดุริยางค์เป็นผู้แต่งทำนอง ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) เป็นผู้คิดเนื้อร้อง คณะนักร้องกองทัพอากาศขับร้องแล้วอัดเสียง จากนั้นก็นำไปเปิดพร้อมกับการขึ้นจอเป็นรูป “ท่านนายกฯ และธงชาติไทย” โดยภาพยนตร์เรื่องแรกที่เปิดเพลงและขึ้นรูปท่านผู้นำคือ บ้านไร่นาเรา ซึ่งฉายในช่วงต้นปี ๒๔๘๕

ช่วงนี้จอมพลยังใช้ตรา “ไก่ขาวกางปีก” (เพราะเกิดปีระกา) มีตราสำนักนายกรัฐมนตรีลอยอยู่เหนือไก่เป็นสัญลักษณ์ โดยมีสองแบบคือ ตราไก่สีเขียว (สีประจำวันพุธซึ่งเป็นวันเกิด) กับตราไก่บนพื้นสีแดงกับดำซึ่งเป็นสีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทำให้ตราไก่กลายเป็นของประดับเวลามีงานเกี่ยวข้องกับท่านผู้นำ และเมื่อจอมพลไปสร้างสิ่งก่อสร้างที่ไหน ตรานี้ก็จะตามไปปรากฏอยู่เสมอ

ทว่าพอถึงเดือนกรกฎาคม ๒๔๘๖ ท่านผู้นำตราไก่ก็ตกเก้าอี้ เมื่อ “พระราชกำหนดระเบียบราชการบริหารนครบาลเพชรบูรน์ พุทธสักราช ๒๔๘๗” และ “พระราชกำหนดจัดสร้างพุทธบุรีมณฑล พุทธสักราช ๒๔๘๗” เข้าสู่สภาแล้วไม่ผ่านด้วยมติที่ประชุม ๓๐ ต่อ ๔๘ เสียง

จอมพลลาออก แต่ยังดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดและพยายามทำตามแผนต่อโดยปักหลักอยู่ที่ลพบุรีและออกคำสั่งทางทหาร การกระทำของจอมพล ป. ทำให้เกิดข่าวลือว่าจอมพล “ตั้งป้อม” จะยกทหารบุกกรุงทำรัฐประหารปลดรัฐบาลใหม่ที่นำโดยพันตรี ควง อภัยวงศ์

อย่างไรก็ตามต่อมาพันตรีควงก็ยุบตำแหน่ง “ผู้บัญชาการทหารสูงสุด” ตั้งจอมพล ป. เป็น “ที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน” ตั้ง พันเอกพระยาพหลฯ ซึ่งขณะนั้นป่วยด้วยโรคหอบหืดเป็น “แม่ทัพใหญ่” แทน เรื่องจึงสงบลง

หลังจากนั้นจอมพล ป. ก็ต้องนั่งดูรัฐบาลใหม่ที่มีเสรีไทยหนุนหลัง ยกเลิกนโยบายทางวัฒนธรรมที่ทำมาตลอดช่วงสงคราม คือการปรับปรุงตัวอักษรไทย การบังคับสวมหมวก กลับมาให้เสรีภาพเรื่องกินหมาก และเปลี่ยนชื่อประเทศเฉพาะในภาษาอังกฤษกลับมาเป็น “SIAM” อีกครั้ง

จุดเปลี่ยนสำคัญคือการอภัยโทษนักโทษการเมืองตั้งแต่เหตุการณ์กบฏบวรเดชเป็นต้นมา ทำให้ฝ่ายอนุรักษนิยมซึ่งเป็นศัตรูคู่ปรับของคณะราษฎรได้รับการปลดปล่อยกลับสู่เวทีการเมืองทั้งหมด

ทุกวันนี้ผมพบว่าหลักฐานการเตรียมการสร้างนครบาลเพชรบูรณ์ยังปรากฏให้เห็นเด่นชัด คือเสาหลักเมืองนครบาลเพชรบูรณ์บริเวณสี่แยกหล่มเก่าภายในสวนสาธารณะที่ทางจังหวัดจัดสร้างขึ้นไว้เพื่อรำลึกถึงจอมพล ป. ที่มีส่วนในการพัฒนาจังหวัด ถ้ำที่จอมพล ป. เคยคิดจะนำสมบัติและวัตถุมีค่าของชาติไปเก็บไว้ ยังคงถูกรักษาไว้เป็นแหล่งท่องเที่ยว

ขณะที่ลพบุรีก็ยังเก็บรักษาบ้านพักและสิ่งของเกี่ยวข้องกับจอมพล ป. ไว้ในศูนย์การทหารปืนใหญ่และเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้

อาชญากรสงคราม

เมื่อจอมพล ป. ถูกปลดในปี ๒๔๘๗ และสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลงในเดือนสิงหาคม ๒๔๘๘ รัฐบาลเสรีไทยหลังสงครามก็พยายามแก้สถานะผู้แพ้สงครามโดยคืนดินแดนที่ได้มาและสมัครเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ เกิด “รัฐบาลเสรีไทย” ตามมาหลายชุด ชุดสำคัญคือรัฐบาลของ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ซึ่งออก “พระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พ.ศ. ๒๔๘๘” ดำเนินคดีจอมพล ป. และพวก

ตอนนั้นจอมพล ป. ล้างมือในอ่างทองคำ ไปเลี้ยงสัตว์ ทำสวนครัว ปลูกไร่สับปะรดอยู่ที่จังหวัดปทุมธานี  พลตรี อนันต์ พิบูลสงคราม เล่าว่าบิดา “บางครั้งก็กลับมาฟังข่าวการบ้านการเมืองที่ (บ้าน) หลักสี่ บางวันก็ลงเรือแล่นไปตามแม่น้ำลำคลองในชนบทต่างจังหวัดหรือขับรถยนต์ไปเยี่ยมสนทนากับเพื่อนฝูงที่คุ้นเคย”

มาลัย ชูพินิจ ซึ่งไปสัมภาษณ์จอมพลที่บ้านใกล้อนุสาวรีย์หลักสี่พบว่า “ทั่วทั้งบริเวณบ้านเงียบเหมือนไม่มีคนอยู่นอกจากตำรวจถือปืนยืนยามอยู่ในช่องกุดข้างประตูคนเดียวเท่านั้น” ต่างจากก่อนหน้าที่เวลาเข้าพบไม่ผิดกับ “ขอเข้าเฝ้าพระเจ้าจักรพรรดิ” เมื่อพบจอมพลก็เห็น “ใบหน้าซึ่งเกร็งและแกร่งขึ้นด้วยการออกกำลังกลางแจ้ง หน้าผากอันแคบคล้ำดำไปด้วยการกรำแดด พุงที่เคยทำท่าจะพลุ้ยเพราะความฉุก็ยุบลงไป นัยน์ตาซึ่งแต่ก่อนเปลี่ยนไปได้ต่าง ๆ นานา…บัดนี้เป็นประกายร่าเริงแจ่มใส”

จอมพล ป. เล่าให้มาลัยฟังว่าช่วงนี้ใช้ชีวิตแบบ “ตาสีตาสา” เรียนปลูกผักกาดกับ “เจ๊กเพื่อนบ้าน” และ “หัดเดินเท้าเปล่า…ให้เคยอย่างพวกชาวนาเขา” และว่า “เข็ดแล้ว (การเมือง) ถึงจะมีราชรถมาเกย ก็ไม่ขอรับประทาน”

จอมพลถูกนำไปขึ้นศาลในวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๔๘๘ พลตรี อนันต์เล่าว่าทหารมาที่บ้านรอจนจอมพลทำธุระส่วนตัวเสร็จ จอมพลก็ “สวมเสื้อกันหนาวสปอร์ทแบบมีซิปรูด มือหนึ่งถือหมวกหางนกยูงสีน้ำตาล อีกมือหนึ่งถือกระป๋องบุหรี่ที่ขาดไม่ได้ เดินลงบันไดและหยุดยืนอย่างสง่าผ่าเผยกลางบันไดเหนือพื้นห้องโถงรับแขกชั้นล่าง นายพันโททหารสารวัตรแห่งกองทัพบกก็ได้เดินไปหยุดยืนตรงอยู่เบื้องหน้า แสดงความเคารพและอ่านหมายจับ…ด้วยน้ำเสียงที่สั่นเครือ แต่ชัดถ้อยชัดคำด้วยใบหน้าที่เย็นชา แต่มีน้ำตานองเป็นทาง  จอมพล ป. รับการเคารพ และกล่าวอย่างปรกตินุ่มนวลว่าจะไปกันหรือยัง…”

ก่อนที่ลูกชายคนที่ ๒ คือประสงค์ จะขับรถส่วนตัวนำนายทหารและบิดาไปส่งยังที่ทำการตำรวจสันติบาล

ในศาลจอมพล ป. โดนข้อหาหนัก อาทิ เข้าข้างฝ่ายญี่ปุ่น เป็นเผด็จการ  ท่านผู้หญิงละเอียดบันทึกว่าช่วงนี้ต้องซื้อบ้านที่ซอยชิดลมซึ่งได้รับอนุเคราะห์ขายในราคาถูกเพื่ออยู่ในเมืองทำอาหารส่งจอมพลและสู้คดี  สถานะทางการเงินแย่ลงถึงกับ “ต้องขายของเก่ากิน” และตัดสินใจใช้ทุนทรัพย์ที่เก็บออมไว้จ้างทนายต่อสู้คดี

ทั้งนี้พยานฝ่ายโจทก์ล้วนเป็นบุคคลในคณะรัฐบาลชุดจอมพล ป. และส่วนหนึ่งเป็นเพื่อนที่ร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครองมาด้วยกันทั้งสิ้น

ในชั้นศาลจอมพลปฏิเสธข้อกล่าวหาทุกข้อโดยระบุว่าการเข้าข้างฝ่ายญี่ปุ่นทำเพื่อรักษาบ้านเมือง และชี้แจงมาตรการต่อต้านที่มีทั้งด้านการยุทธ์ วัฒนธรรม ฯลฯ

ถูกขังอยู่ ๘๘ วัน ศาลก็ตัดสินว่าพระราชบัญญัติอาชญากรสงครามไม่มีผลบังคับใช้ เนื่องจากขัดมาตรา ๑๔ ของรัฐธรรมนูญที่ระบุว่ากฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง โดยไม่ลงรายละเอียดข้อเท็จจริงของฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยว่าฝ่ายใดมีน้ำหนักมากกว่ากัน

คำถามที่ว่า จอมพล ป. เป็น “อาชญากรสงคราม” หรือไม่ จึงยังไม่มีคำตอบ

จอมพล ป. รำพึงถึงสิ่งที่เกิดขึ้นว่า “ภายหลังที่ทำงานมากว่า ๑๐ ปีแล้ว ก็อดนึกขันไม่ได้ว่าไม่มีใครในโลกนี้เลยเขาจะอยู่ในฐานะที่แปลกประหลาดอย่างผมที่ทำให้คนเกลียดได้ ไม่ใช่แต่เพียงทั้งประเทศไทย แต่ทั้งโลก …เอาละฝรั่งโกรธก็พอเข้าใจ แต่พอเข้าเมืองได้แล้ว เจ้าญี่ปุ่นกลับเกลียดเข้าให้อีก ต่อมาก็จีน ลงท้ายก็พวกไทยเราเอง แม้จนกระทั่งคนที่เคยรักกัน”

ขี่เสือ

หลังพบปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้าหลังสงครามและกรณีสวรรคตรัชกาลที่ ๘ รัฐบาลพลเรือนที่มีฝ่ายเสรีไทยหนุนหลังก็ตกเป็นฝ่ายตั้งรับ รัฐบาลพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ถูกรัฐประหารในวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ทำให้ปรีดีต้องลี้ภัยไปอยู่นอกประเทศ รัฐธรรมนูญปี ๒๔๘๙ ซึ่งเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดฉบับหนึ่งถูกยกเลิก

จากนั้นคณะรัฐประหารก็ตื๊อจอมพล ป. ซึ่งหนีไปเก็บตัวที่บ้านเพื่อนย่านบางโพมาเป็นหัวหน้าคณะ

พลตรีอนันต์เล่าว่าเช้าวันที่ ๙ พฤศจิกายน หลังรัฐประหารแล้ว ๑ วัน  ผู้นำคณะรัฐประหารมาหาบิดาด้วยอาการ “หน้าซีด ปากสั่น มือสั่น หวั่นเกรงว่าจอมพลจะปฏิเสธ…”

จีรวัสส์ พิบูลสงคราม บุตรีจอมพลจำได้ว่าเมื่อเกิดรัฐประหาร “คุณพ่อร้องไห้ คุณแม่เขียนบันทึกว่าถามคุณพ่อทำไมเธอร้องไห้ คุณพ่อบอก ๒๔๗๕ ฉันหมดแล้ว” (ไทยโพสต์, ๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๒)

แต่เรื่องก็หักมุมเมื่อจอมพล ป. ยอมรับเป็นหัวหน้าคณะและถูก “แห่” ไปที่กระทรวงกลาโหมท่ามกลางเสียงยินดีว่า “จอมพลมาแล้ว ๆ” และนี่เป็นครั้งแรกที่จอมพล ป. ต้องบริหารประเทศกับกลุ่มคนที่ไม่ใช่คณะราษฎร

รัฐบาลพันตรี ควง อภัยวงศ์ เกิดขึ้นอีกครั้งโดยมีเงาทะมึน คือจอมพล ป. และคณะรัฐประหารอยู่ข้างหลัง ก่อนคณะรัฐประหารจะเขี่ยทิ้งรัฐบาลนายควงด้วยการ “จี้” ให้ลาออก แล้วให้จอมพล ป. ขึ้นเป็นนายกฯ อีกครั้ง ซึ่งในระดับโลกนับเป็นผู้นำคนแรกที่เข้าร่วมกับฝ่ายอักษะในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ แล้วกลับมาครองอำนาจได้อีก

ทว่าคราวนี้อำนาจของจอมพลไม่มากเท่าเดิม เนื่องจากต้องฝากการคุมกำลังทหารไว้กับพลโท ผิน ชุณหะวัณ พันเอก สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และการคุมกำลังตำรวจกับพันตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์

กลายเป็นการคุมเสือสองตัว คือ ผิน-เผ่า ก่อนจะกลายเป็น สฤษดิ์-เผ่า ในช่วงก่อนปี ๒๕๐๐

ระหว่างนี้จอมพล ป. ยังพบการต่อต้านครั้งใหญ่ คือ กบฏเสนาธิการ (๒๔๙๑) กบฏวังหลวง (๒๔๙๒) กบฏแมนฮัตตัน (๒๔๙๔)

“กบฏวังหลวง” เกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๔๙๒ เมื่อปรีดีพยายามกลับมาชิงอำนาจเพื่อนำรัฐธรรมนูญและระบบประชาธิปไตยกลับมาใช้อีก เกิดการสู้รบในกรุงเทพฯ ๓ วัน ก่อนที่ปรีดีจะลี้ภัยออกนอกประเทศ การกบฏครั้งนี้ทำให้ความพยายามประนีประนอมในทางลับระหว่างคณะราษฎรฝ่ายจอมพล ป. กับปรีดียุติลงอย่างสิ้นเชิง และมีการกวาดล้างคนของฝ่ายปรีดีขนานใหญ่

“กบฏแมนฮัตตัน” ผู้ก่อการคือทหารเรือระดับกลางที่ไม่พอใจบทบาททหารบกและตำรวจ จึงจู่โจมจับตัวจอมพล ป. ขณะรับมอบเรือขุดสันดอน แมนฮัตตัน จากสหรัฐอเมริกาโดยนำไปกักไว้ในเรือรบหลวง ศรีอยุธยา และพยายามยึดอำนาจ  จอมพลถูกจับอยู่ ๑ วัน ๗ ชั่วโมง รัฐบาลก็ตัดสินใจส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดเรือรบหลวง ศรีอยุธยา

นาทีที่เรือโดนทิ้งระเบิดจอมพล ป. “ได้ยินเสียงปืนกลกราดยิงลงมาถูกเรืออย่างหนัก ไม่ช้าก็มีเสียงระเบิดดังขึ้นระยะใกล้พร้อมกับสะเก็ดชิ้นเล็กชิ้นน้อยกระเด็นกระจัดกระจาย…” จึงสงสัยว่าหน้ามีแผลจึงลุกไปดูกระจกที่ห้องน้ำข้างเตียง ทันใดนั้น “ระเบิดลูกหนึ่งได้ทะลุผ่านเพดานห้องตกลงบนเตียงที่นั่งอยู่เมื่ออึดใจแล้วทะลุลงไปใต้ท้องเรือโดยไม่ระเบิด” เมื่อเรือจมก็ต้อง “โดดลงแม่น้ำเจ้าพระยาท่ามกลางเสียงกระสุนปืนจากริมฝั่งพระนครซึ่งดังอยู่ไม่ขาดระยะ” ไปขึ้นฝั่งที่พระราชวังเดิมซึ่งเป็นกองบัญชาการกองทัพเรือท่ามกลางห่ากระสุน  เหตุการณ์นี้ส่งผลให้เกิดการ “ล้างบาง” กองทัพเรือให้เป็นกองกำลังขนาดเล็กและหมดบทบาททางการเมืองนับแต่นั้น

ระยะนี้จอมพล ป. ดำเนินนโยบายเอียงไปทางสหรัฐฯ ระแวงภัยคอมมิวนิสต์ ออกพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. ๒๔๙๕ ส่งทหารไปรบในสงครามเกาหลี ร่วมกับสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรตั้งองค์การสนธิสัญญาป้องกันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEATO) และรับความช่วยเหลือด้านการทหารและเศรษฐกิจ

จอมพลยังตั้ง “กระทรวงวัฒนธรรม” ขึ้นในปี ๒๔๙๕ ส่งเสริมงานด้านสังคมสงเคราะห์ด้วยการออกพระราชบัญญัติประกันสังคม ตั้งคณะสังคมสงเคราะห์ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่งเสริมการศึกษาด้วยการตั้งมหาวิทยาลัยใหม่ ๆ ในเขตภูมิภาค ตั้ง “กระทรวงสหกรณ์” เพื่อส่งเสริมงานสหกรณ์ วางรากฐานโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ อาทิ เขื่อนยันฮี (ภูมิพล) เขื่อนเจ้าพระยา และวางระบบชลประทานบริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางตอนล่าง

ปี ๒๔๙๘ จอมพล ป. ออกเดินทางเยือน ๑๗ ประเทศรอบโลก อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐฯ สเปน ฝรั่งเศส ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์หลายฉบับโดยแสดงท่าทีอยู่กับฝ่ายโลกเสรีอย่างชัดเจน

ก่อนจะกลับมาพบว่าความสัมพันธ์ระหว่างสฤษดิ์ -เผ่าไม่ราบรื่น และเริ่มคุมสถานการณ์ไม่อยู่ จึงเริ่ม “ฟื้นฟูประชาธิปไตย” จัด “เพรสคอนเฟอเรนซ์” พบปะสื่อ จัดสถานที่ “ไฮด์ปาร์ก” อภิปรายในชุมชนเช่นเดียวกับอังกฤษ อนุญาตให้ตั้งพรรคการเมืองเพื่อเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๐ ซึ่งมีพรรคลงแข่งขันถึง ๒๓ พรรค

จอมพล ป. ตั้งพรรคเสรีมนังคศิลาในเดือนกันยายน ๒๔๙๘ มีจอมพลสฤษดิ์เป็นรองหัวหน้า และพลตำรวจเอกเผ่าเป็นเลขาธิการ เป็นครั้งแรกที่จอมพลลงสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งที่ผ่านมาเป็นผู้แทนด้วยโควตาแต่งตั้งมาตลอด  จอมพลยังนับอายุพรรคย้อนหลังไปถึงปี ๒๔๗๕ อ้างความเกี่ยวพันคณะราษฎรก่อนจะสรุปว่าพรรคเสรีมนังคศิลานั้นมีอายุ “เก่าแก่กว่า ๒๔ ปีแล้ว” นอกจากนี้ยังลงสมัครในเขตพระนครและส่งท่านผู้หญิงละเอียดไปลงสมัครที่จังหวัดนครนายก

ผลการเลือกตั้ง จอมพลและท่านผู้หญิงได้รับเลือก พรรคเสรีมนังคศิลาได้ ๘๖ จาก ๑๖๐ ที่นั่ง  อย่างไรก็ตามการเลือกตั้งครั้งนี้ถูกขนานนามว่า “เลือกตั้งสกปรก” มีการทุจริตกว้างขวางซึ่งจะถูกกล่าวขวัญกันต่อมาว่า “พลร่ม” (เวียนเทียนลงคะแนน) และ “ไพ่ไฟ” (ใส่บัตรลงคะแนนเถื่อนในหีบบัตร)

เรื่องนี้ทำให้เกิดการเดินขบวนประท้วงของนิสิตนักศึกษาเป็นครั้งแรก เมื่อสถานการณ์บานปลายจอมพลก็ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโดยตั้งจอมพลสฤษดิ์เป็นผู้ดูแล แต่กลับกลายเป็นนิสิตนักศึกษาเดินขบวนไปที่ทำเนียบก่อนที่จอมพลสฤษดิ์จะแสดงบทบาทเจรจาให้นักศึกษากลับไปด้วยความสงบ

รัฐบาลจอมพล ป. ชุดสุดท้ายก็ได้ตั้งขึ้นในเดือนมีนาคม ๒๕๐๐

—- มีต่อ ——

ที่มา:

Leave a Reply