10 คำไทยที่มักเขียนผิด

10 คำไทยที่มักเขียนผิด

อันดับที่ 1 :: กะเพรา
คำนี้แหละ หนึ่งในคำยอดฮิตที่เราชอบผิดกันบ่อย เพราะเวลาสั่งข้าวยอดฮิตของคนไทยอย่าง “หมูกะเพรา” เรามักจะเห็นว่าขียนแบบนี้ “กระเพา” หรือ “กระเพรา” บ้างแหละ คำที่ถูกต้อง ต้องเป็น “กะเพรา” ครับ
ราชบัณฑิตยสถาน : คำว่า “กะเพรา” ที่ถูกต้องเขียนดังนี้  “กะเพรา”  ในหนังสือ “การใช้ กระ และ กะ พร้อมความหมาย” ฉบับราชบัณฑิตยสถาน  ได้ให้ความหมายของคำว่า กะเพรา ไว้ดังนี้

กะเพรา เป็นชื่อไม้ล้มลุกชนิด Ocimumtenuiflorum  ในวงศ์ Labiatae มีกลิ่นฉุน ใช้ปรุงอาหาร  พันธุ์ที่กิ่งและก้านใบสีเขียวอมแดงเรียก กะเพราแดง ใช้ทำยาได้  ส่วนชื่ออาหารยอดนิยมที่มักใช้สับสนกันระหว่าง “กระเพาะปลา” กับ “กะเพาะปลา” ที่ถูกต้องแล้วเราสะกดว่า “กระเพาะปลา” ซึ่งเป็นชื่ออาหารคาวแบบจีนชนิดหนึ่ง ประกอบด้วยถุงลมปลา  เนื้อไก่  เลือดหมู เป็นต้น  คำที่มักใช้สับสนกันอีกคำหนึ่งคือ คำว่า “กะพง” และ “กระพง”  การเขียนที่ถูกต้องแล้วเราใช้ว่า “กะพง”  กะพง มีหลายความหมาย ความหมายที่ ๑ เป็นชื่อปลาหลายชนิดในหลายวงศ์ ลำตัวหนา แบนเล็กน้อย หัวโตลาดลงมาจากด้านหลัง ตาค่อนข้างโต ปากกว้าง เช่น กะพงแดง, กะพงขาว, กะพงลาย ความหมายที่ ๒ เป็นชื่อหอยทะเลกาบคู่ มีลักษณะเปลือกบางยาวรี สีเขียว มีลายเป็นเส้นสีน้ำตาล ความหมายที่ ๓ เป็นชื่อต้นไม้ขนาดใหญ่ชอบขึ้นริมน้ำ โคนต้นเป็นพอนแผ่กว้าง เปลือกสีเทาหรือเทาแกมน้ำตาลเลื่อมเป็นใบใน  เนื้อไม้อ่อนเบา

อันดับที่ 2 :: คลินิก
นี้ก็เป็นอีกคำที่คนเรามักเขียนผิด ด้วยการสะกดที่ใกล้เคียงกัน ออกเสียงคล้ายๆ กันคนมักจะเขียนว่า “คลินิค”
ราชบัณฑิตยสถาน : คลินิก (คฺลิ-หฺนิก)  เป็นคำเรียกสถานพยาบาลของเอกชน ซึ่งไม่รับผู้ป่วยให้พักรักษาตัวเป็นผู้ป่วยภายใน เช่น แพทย์หลายคนเปิดคลินิกส่วนตัว รักษาผู้ป่วยในตอนเย็นและในวันหยุดราชการ.
คำว่า คลินิก ใช้เรียก หน่วยที่รักษาโรคเฉพาะทางในโรงพยาบาลทั้งของรัฐและของเอกชนด้วย เช่น โรงพยาบาลหลายแห่งเปิดคลินิกโรคผู้สูงอายุ เพื่อรักษาโรคให้ผู้สูงอายุเป็นพิเศษ.
คำว่า คลินิก เป็นคำมาจากภาษาอังกฤษว่า clinic. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช ๒๕๔๒ กำหนดให้เขียน คลินิก ออกเสียงกันทั่วไปว่า คฺลิ-หฺนิก.
คลินิกหลายแห่งเขียนต่างไปจากนี้ก็เพราะได้เขียนมาก่อนที่ราชบัณฑิตยสถานจะกำหนดการเขียนนี้ขึ้น.

อันดับที่ 3 :: ฆาตกร
คำนี้ก็เป็นคำที่หลายๆ คนเขียนผิดบ่อย ไม่เว้นแม้แต่หนังสือบางเล่มก็มักจะเขียนว่า “ฆาตรกร”
ราชบัณฑิตยสถาน : ฆาตกร = น. ผู้ที่ฆ่าคน.

อันดับที่ 4 :: จักจั่น
คำว่า “จักจั่น” หลายๆ คนมักจะคิดว่ามันเขียนว่า “ จั๊กจั่น” ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ถูกต้องครับ
ราชบัณฑิตยสถาน :  จักจั่น (อ่านว่า จัก-กะ-จั่น) แต่คนทั่วไปมักเรียกว่า จั๊ก-กะ-จั่น.  จักจั่น (อ่านว่า จัก-กะ-จั่น)  เป็นชื่อแมลงชนิดหนึ่งรูปร่างคล้ายตัวเหลือบ แต่โตกว่า สีเขียวปนน้ำตาล เกาะอยู่ตามต้นไม้ ลักษณะเด่นของจักจั่นคือตัวผู้สามารถส่งเสียงดังซึ่งคนเข้าใจว่าเป็นเสียงร้อง ด้วยเหตุนี้อีสปนักเล่านิทานชาวกรีกจึงแต่งนิทานเรื่องมดกับจักจั่น ให้จักจั่นเป็นตัวแทนของผู้ที่รักความสุขสำราญ ชอบร้องเพลง ส่วนมดเป็นตัวแทนของผู้ที่ขยันอดทน
คำว่า “จักจั่น” ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์มีเสียง ร แทรก เป็น จักระจั่น (อ่านว่า จัก-กฺระ- จั่น) ดังปรากฏในอักขราภิธานศรับท์ว่า “จักระจั่น   เป็นชื่อสัตว์ตัวเล็ก ๆ เท่าเลือบ, (อ่านว่า เหลือบ) มันมักอยู่ในป่าใหญ่ ร้องเสียงดังเพราะนั้น”. คำว่า จักจั่น น่าจะไม่ใช่คำไทย อาจยืมมาจากภาษามอญก็ได้

อันดับที่ 5 :: ไซ้
คำนี้มักไม่ได้ใช้บ่อยๆ นัก แต่ก็มองข้ามไม่ได้ว่าหลายๆ คนใช้ผิดความหมาย ไซ้ = กิริยาที่นกหรือเป็ดเอาปากย้ำ ๆ ขนหรือหาอาหาร ฯลฯ, เช่น เป็ดไซ้ขน ไซร้ = คำสำหรับเน้นความหมายของคำหน้า, เช่น ลูกหนี้ยังไม่ชำระหนี้ไซร้ ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัด
ราชบัณฑิตยสถาน : “ไซ้” = ก. กิริยาที่นกหรือเป็ดเอาปากยํ้า ๆ ขนหรือหาอาหาร อาการที่ทําให้ปวดมวน เช่น ยาดําไซ้ท้อง.ว. ได้ ไหน อะไร.

128108-simple-red-square-icon-alphanumeric-asterisk

อันดับที่ 6 :: ดอกจัน
เป็นอีกคำที่อาจจะไม่ได้เห็นบ่อยนักในชีวิตประจำวัน แต่คนก็มักจะเขียนผิดกันอยู่เรื่อยๆ จริงๆ แล้วมันก็ ง่ายๆ ดอกจัน (เครื่องหมาย *)นั้นแหละ หลายคนชอบยากๆ ดอกจันท์, ดอกจันทน์, ดอกจันทร์ บ้างแล้วแต่คน
ราชบัณฑิตยสถาน : คำที่ออกเสียง [จัน]
คำที่ออกเสียงว่า จัน มีหลายคำ เขียนต่าง ๆ กันไป คำแรก เขียน จัน เป็นชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่ง มีผลสุกสีเหลือง กลิ่นหอม กินได้  เรียกว่า ลูกจัน และใช้เรียกเครื่องหมายที่มีลักษณะกลม ๆ เป็นจัก ๆ คล้ายดอกของต้นจันว่า ดอกจัน ใช้แสดงจุดสังเกตของข้อความ.
“จัน” คำที่ ๒ เขียน จันทร์ หมายถึง ดวงเดือน หรือดวงจันทร์ และเรียกวันที่ ๒ ของสัปดาห์ว่า วันจันทร์
“จัน” คำที่ ๓ เขียน จันทน์ เป็นชื่อต้นไม้หลายชนิดที่เนื้อไม้ ดอก หรือผลมีกลิ่นหอม. เนื้อไม้ที่มีกลิ่นหอม นำมาทำของใช้ เช่น พัดไม้จันทน์  โกศไม้จันทน์
“จัน” คำที่ ๔ เขียน จัณฑ์ คำนี้แปลว่า ดุร้าย ใช้ในคำราชาศัพท์ว่า น้ำจัณฑ์ หมายถึง สุรา.
“จัน” คำที่ ๕ เขียน จรรย์ แปลว่าความประพฤติ ปรากฏในคำว่า พรหมจรรย์

อันดับที่ 7 :: เกม
คำนี้แหละครับ..ตัวดีเลย! ไม่เว้นแม้แต่มืออาชีพ ยังเขียนผิด บ่อยๆ ในภาษาไทยสำหรับกรณีทั่วไปจะไม่มีการเปลี่ยนรูปแบบคำใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าสื่อความหมายถึงเอกพจน์หรือพหูพจน์ เว้นแต่เป็นการทับศัพท์วิสามานยนาม เช่น “SEA Games” ว่า ซีเกมส์
ราชบัณฑิตยสถาน : คำภาษาต่างประเทศที่เรานำมาใช้ในภาษาไทย ทั้งพูดและเขียนกันจนติดแล้ว คำหนึ่ง ก็คือคำว่า “เกม” ซึ่งมักเป็นเรื่องเกี่ยวกับการแข่งขันกีฬา เช่น เอเชียนเกม โอลิมปิกเกม ปัญหาก็มีอยู่ที่ว่าคำว่า “เกม” ในกรณีเช่นนี้ควรจะมี ส การันต์ด้วยหรือไม่ เพราะภาษาอังกฤษจะใช้ว่า games มีตัว s ด้วย เมื่อเราถอดออกมาก็น่าจะมี ส การันต์ด้วย และเราก็มักจะพบตามป้ายโฆษณาว่ามี ส การันต์แทบทั้งนั้น
ความจริงแล้วในการถอดคำภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาฝรั่งมาเป็นภาษาไทยนั้น เรามิได้คำนึงถึงว่าคำนั้นจะเป็นเอกพจน์หรือพหูพจน์ เมื่อถอดมาแล้ว เราใช้เป็นรูปเอกพจน์ทั้งนั้น  เพราะในภาษาไทย คำที่ใช้เป็นเอกพจน์หรือพหูพจน์เราเขียนอย่างเดียวกัน  ถ้าต้องการให้รู้ว่าเป็นพหูพจน์ก็ต้องอาศัยคำแวดล้อมเข้าช่วย เช่น เด็กพวกนั้น  เด็ก ๒ คน เราไม่ได้เขียนว่า “เด็กส์” มี ส การันต์ อย่างผู้ที่ชอบเขียนผิด ๆ ทำให้เกิดภาษาวิบัติอยู่สมัยหนึ่ง โดยมี ส การันต์ คำไทย เช่น ซ่าส์ ยากส์ ฯลฯ  ถ้าซ่ามาก หรือยากมาก ก็มี ส การันต์หลาย ๆ ตัว แล้วแต่ว่าจะซ่าหรือยากมากแค่ไหน   คำว่า “ฟุต” ในสมัยหนึ่ง ถ้าหากเป็นพหูพจน์ ท่านเขียนว่า “ฟิต” ก็มี เช่น สูง ๘ ฟิต  แต่ในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นกี่ฟุตก็ใช้ “ฟุต” ในรูปเอกพจน์ทั้งนั้น
คำว่า “เกม” ที่เรานำมาใช้ในภาษาไทยนั้น มีทั้งที่เป็นคำนามและคำกริยา เด็ก ๆ เดี๋ยวนี้รู้จักคำว่า “เกม” กันทั่วไปแล้ว เพราะตามโรงเรียนต่าง ๆ มักมีเกมต่าง ๆ ให้นักเรียนเล่น หรือเมื่อเร็ว ๆ นี้ เด็ก ๆ ก็นิยมเล่น “เกมกด” กันอยู่พักหนึ่ง เดี๋ยวนี้ก็หายไปหมดแล้ว ในปัจจุบันคำว่า “เกม” เรานำไปใช้กับเรื่องต่าง ๆ มากมาย ทางการเมืองก็เอาไปใช้ เช่น “เกมการเมือง” ทางกีฬาก็ใช้เช่น “เกมกีฬา” ทั้งนี้ก็เพื่อให้ทราบว่าเป็นเกมทางด้านไหนนั่นเอง
คำว่า “เกม” นี้ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้เก็บไว้แล้ว โดยไม่มี ส การันต์ และได้ให้ความหมายไว้ดังนี้
“เกม น. การแข่งขัน, การเล่นเพื่อความสนุก, ลักษณนามเรียกการแข่งขันซึ่งหมดลงคราวหนึ่ง ๆ เช่น บิลเลียดเกมละเท่าไร เล่น ๓ เกม. (ปาก) ก. สิ้นสุด, จบ, เช่น เรื่องนี้เกมกันแล้ว. (อ. game).
ขอให้สังเกตไว้ด้วยว่าคำว่า “เกม” ที่ใช้เป็นกริยานั้น ในพจนานุกรมท่านยังไม่ยอมรับเต็มรูป ยังให้เป็นเพียงภาษาปากอยู่ ยังไม่ควรนำมาใช้เป็นภาษาเขียน โดยเฉพาะในหนังสือราชการ แต่ถ้าในหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หนังสือนวนิยาย หรือหนังสืออ่านเล่นทั่ว ๆ ไป ก็ใช้ได้ ภาษาปากเมื่อใช้ไปนาน ๆ เข้า บางทีท่านก็อาจเลื่อนฐานะเป็นภาษาที่ใช้เป็นทางการได้เหมือนกัน.

DSC_5275_Cover-620x392

อันดับที่ 8 :: หมูหย็อง
คำนี้หลายคนมักเขียนผิดกันบ่อยครั้งมาก เรามักจะเขียนว่า “หมูหยอง” คำที่ถูกต้อง ต้องเป็น “หมูหย็อง”
ราชบัณฑิตยสถาน : “หมูหย็อง” เป็นของกินทำด้วยเนื้อหมูทำเป็นฝอย ๆ คำว่า “หย็อง” หมายถึง หยิกเป็นฝอยฟู เช่น ผมหยิกหย็อง.  หย็อง ในคำ หมูหย็อง อาจมาจากคำว่า ย้ง ในภาษาจีนแต้จิ๋ว บ๊ะย้ง แปลว่า หมูหย็อง. นอกจากนั้น ในภาษาไทใหญ่มีคำว่า ย้อง เสียงและความหมายใกล้เคียงกับ หย็อง เช่น  เป๋นย้องเป๋นย้อง มีความหมายว่า เป็นเส้น ๆ. คำว่า เน่อย้อง หรือ ย้องเน่อ แปลว่า เนื้อเป็นเส้น ๆ เป็นอาหารชนิดหนึ่งของชาวไทใหญ่ วิธีทำเน่อย้อง คือเอาเนื้อมาหั่นเป็นเส้น ๆ นวดกับเกลือ แล้วย่างหรือตากแดดจนแห้ง เก็บไว้กินได้นาน
คำว่า “หย็อง” ในภาษาไทย  “ย้อง” ในภาษาไทใหญ่ และ “ย้ง” ในภาษาจีน มีเสียงและความหมายคล้ายกัน.

อันดับที่ 9 :: โควตา
เรามักจะเขียนคำนี้ว่า “โควต้า” แต่ที่ถูกต้องแล้วต้องเขียนว่า “โควตา” ออกเสียง คว ควบกล้ำ และออกเสียง ต้า โดยไม่ต้องใส่วรรณยุกต์
ราชบัณฑิตยสถาน : โควตา (โคฺว-ต้า)  หมายถึง จำนวนหรือส่วนที่กำหนดไว้เพื่อให้สิทธิในการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น โควตาในการรับนักศึกษาที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดที่มีมหาวิทยาลัยตั้งอยู่. เขาได้รับโควตาในการส่งสินค้าไปขายต่างประเทศ. มหาวิทยาลัยหลายแห่งมีโควตารับนักกีฬาดีเด่นระดับชาติเข้าศึกษาเป็นกรณีพิเศษ.
คำว่า “โควตา” เป็นคำที่มาจากภาษาอังกฤษว่า “quota” พยางค์แรกเป็นเสียงพยัญชนะควบ qu. ในภาษาไทย คำนี้ออกเสียงว่า โคฺว-ต้า. คว ออกเป็นเสียงควบ คฺว

อันดับที่ 10 :: ข้าวเหนียวมูน
คำนี้เรามักจะเขียนว่า ข้าวเหนียวมูล แต่แท้จริงแล้วต้องเขียนว่า ข้าวเหนียวมูน เพราะ “มูล” กับ “มูน” ความหมายไม่เหมือนกัน
ราชบัณฑิตยสถาน : “ข้าวเหนียวมูน” ที่สะกดด้วย น (หนู) หมายถึง ข้าวเหนียวที่คลุกเคล้ากับกะทิเพื่อให้มัน แต่ คำว่า “มูล” ที่สะกดด้วย ล (ลิง) มีความหมายหลายอย่าง ถ้าเป็นคำวิเศษณ์ แปลว่า มวล, ทั้งหมด. แต่ถ้าเป็นคำนามแปลว่า “โคน” เช่น รุกขมูล.  แปลว่า “รากเหง้า” เช่น มีโทสะเป็นมูล.  แปลว่า “เค้า” เช่น คดีมีมูล.  และยังใช้ในความหมายว่า “ขี้” หรือเศษของสิ่งต่างๆ เช่น ขยะมูลฝอย ดังนั้น คำว่า “ข้าวเหนียวมูน” จึงสะกดด้วย น (หนู) แปลว่า ข้าวเหนียวที่คลุกเคล้ากับกะทิเพื่อให้เกิดรสชาติเฉพาะ

ที่มา: mrbignink page

Leave a Reply