ตำนานเกี๊ยว
ในช่วงตรุษจีนที่จีนแผ่นดินใหญ่จะมีธรรมเนียมห่อเกี๊ยวกินเกี๊ยวเพื่อความเป็นสิริมงคล เพราะเกี๊ยวมักมีรูปร่างเหมือนก้อนตำลึงทอง บางที่ยังยัดเงินเข้าไปในไส้ถือเคล็ดให้รวยยกกำลังสอง แต่เวลากินต้องระวังเป็นพิเศษ
เกี๊ยว ภาษาจีนกลางออกเสียงว่า เจียวจึ ญี่ปุ่นรับไปเรียกตามจีนว่า เกี๊ยวซ่า ที่จริงคำว่า เกี๊ยวกับคำว่าเจี่ยวเป็นคำเดียวกันคำแรกเป็นสำเนียงโบราณหรือสำเนียงทางใต้ และไทยกับญี่ปุ่นรับมาใช้ สรุปก็คือ เจียวจึ เกี๊ยวซ่า และชายสี่หมี่เกี๊ยวบ้านเราก็บรรพชนเดียวกันนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม เกี๊ยวที่กินกับน้ำแกงอย่างบ้านเรานั้นที่จีนเรียก “หุนตุ้น” ทางกวางตุ้งออกสำเนียงว่า “หวั่นต่อน” แล้วอังกฤษรับไปเรียกว่า wonton นั่นเอง แต่ยังไม่แน่ชัดว่า ทำไมไทยเราไม่เรียก หวั่นต่อน แต่ดันไปเรียกเกี๊ยว
เวลาห่อเกี๊ยวช่วงตรุษจีนจะนั่งห่อกันเงียบๆ ไม่ได้ ต้องพูดคำว่า “สุ้ยสุ้ย ผิงอาน” หรือ “อยู่ดีมีสุขปีแล้วปีเล่า” เมื่อห่อเสร็จก็พูดว่า “หยวนเป่าหรู่คู่เล่อ” แปลว่า “ตำลึงทองเข้าคลังแล้ว” เมื่อจะกินก็จะต้องพูดอะไรที่เป็นมงคลอีก จะเห็นได้ว่าเกี๊ยวธรรมดาจะกลายเป็นของดีงามทันทีเมื่อเข้าช่วงเทศกาล
เกี๊ยว มีที่มาจากตำนานสร้างโลกของจีน เมื่อครั้งที่เจ้าแม่หนี่วาสร้างมนุษย์ขึ้นมาจากดินเหลือง ได้ปั้นหูขึ้นประกบแต่หูมักหลุดร่วงบ่อยๆ เพราะเปราะบาง เจ้าแม่จึงเย็บหูเข้ากับปาก แต่นั้นมาหูจึงไม่ร่วง ผู้คนในยุคหลังรำลึกถึงเหตุการณ์นี้ จึงทำเกี๊ยวกินกันในช่วงเทศกาลตงจื้อ ช่วงเข้าฤดูหนาว ซึ่งเป็นงานรำลึกเจ้าแม่หนี่วา ต่อมาทำกินกันในช่วงเทศกาลขึ้นปีใหม่กันเป็นปกติ
คำว่าเกี๊ยวแต่เดิมเรียกว่า เจียวเอ่อร์ (娇耳) หรือสำเนียงโบราณคือ “เกี๊ยวเนี่ยะ” คำนี้หมายถึง “หูอ่อน” ซึ่งสะท้อนตำนานสร้างมนุษย์นั่นเอง และแต่เดิมเกี๊ยวทำขึ้นเพื่อเลียนแบบหู หากภายหลังเปลี่ยนมาเทียบกับก้อนตำลึงทองเพื่อความเป็นมงคล
ในทางประวัติศาสตร์ เกี๊ยวปรากฎกายขึ้นครั้งในสมัยสามก๊ก บันทึกช่วงนี้ ระบุว่าเกี๊ยวกับหุนตุ้นคืออย่างเดียวกัน หมายถึงของกินรูปร่างเหมือนหูหรือพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว กินกับน้ำแกง
กระทั่งถึงสมัยราชวงศ์ถัง หุนตุ้นกับเจียวจึ หรือ เกี๊ยวจึงแยกกันเด็ดขาด ที่เราเห็นในปัจจุบันเป็นดีไซน์จากยุคถัง และเปลี่ยนตัวอักษรที่หมายถึง “หูอ่อน” มาเป็นอีกคำแต่ออกเสียงคล้ายๆ กัน คือ เจี่ยวเอ๋อร์ (角儿) เพราะดูคล้ายเขาสัตว์ ครั้นถึงสมัยราชวงศ์ชิงมาเปลี่ยนตัวอักษรอีก แต่ยังเรียก เจี่ยวเอ๋อร์ (饺儿) เหมือนเดิม เพียงแต่อักษรตัวนี้เกี่ยวพันกับอาหารมากขึ้น กระทั่งปัจจุบันเรียก เจียวจึ (饺子) กัน
โดยทั่วไป และกินกันแบบแห้งๆ ทั้งนึ่งๆ และทอด ส่วนที่กินกับน้ำแกงจะเรียกแยกเด็ดขาดว่า หุนตุ้น
ในช่วงตรุษจีน คนจีนทางภาคเหนือจะนั่งห่อเกี๊ยวกันในคืนก่อนเข้าปีใหม่ มีบันทึกว่าในสมัยหมิงก็เริ่มธรรมเนียมนี้กันแล้ว ครั้นพอเข้าปีใหม่ก็จะนั่งกินกันทันทีเพื่อเอาฤกษ์เอาชัย จากนั้นก็กินกันไปคุยกันไปทั้งคืนไม่หลับไม่นอน ครัวจะเละยังไงบ้านจะรกแค่ไหน จะไม่ทำความสะอาดเด็ดขาด เพราะกลัวว่า โชคลาภจะถูกกวาดไปด้วย
ภาพที่นำมาประกอบ คือ เกี๊ยวที่เก่าแก่ที่สุดในโลก พบที่สุสานในเมืองถูหลู่ฟาน เขตปกครองตนเองซินเจียง เป็นเกี๊ยวสมัยราชวงศ์ถังวางในถ้วยเสร็จสรรพแสดงว่ากินกับน้ำแกง แต่น้ำแกงแห้งไปนานแล้ว เหลือแต่เกี๊ยวแป้งแข็งๆ (ภาพประกอบจากเวยปั๋ว)
ที่มา: https://www.facebook.com/