พยัคฆ์ทมิฬ สิ้นชาติ: Part I The New Justice

พยัคฆ์ทมิฬ สิ้นชาติ: Part I The New Justice

ประเทศศรีลังกา เป็นเกาะเล็กๆที่อยู่ทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย มีขนาดประมาณ 1 ใน 8 ของประเทศไทยประมาณ มีประชากรราว 20 ล้านคน ร้อยละ 75 เป็นชาวสิงหล ร้อยละ 11 เป็นชาวทมิฬศรีลังกา นอกนั้นเป็นชาวมัวร์ มาเลย์ อินเดีย ชาวยุโรปและชนกลุ่มน้อยอื่นๆ

ท่านอาจจะเคยได้ยินข่าวเกี่ยวกับสงครามกลางเมืองในศรีลังกา ซึ่งเป็นความขัดแย้งระหว่างชาวสิงหลซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ กับชนกลุ่มน้อยชาวทมิฬ โดยกลุ่มกบฏพยัคฆ์ทมิฬต้องการจะตั้งประเทศของพวกตนชื่อว่า “อีแลม” ขึ้นทางตอนเหนือและตะวันออกของประเทศศรีลังกา
เรื่องนี้พึ่งจะจบลงเมื่อมี 2009 โดยฝ่ายรัฐบาลปราบปรามกบฏพยัคฆ์ทมิฬอีแลมจนราบคาบ เป็นการยุติสงครามที่ดำเนินมากว่าสามสิบปี

อย่างไรก็ดีความขัดแย้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในชั่วอายุคนเดียว หากแต่เป็นความขัดแย้งอันต่อเนื่องมานับเวลาเป็นพันๆปี
แน่นอนเรื่องราวที่จะเล่านี้เป็นเรื่องความคับแค้นของชาวทมิฬที่ถูกกดขี่โดยชาวสิงหลจนต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดน แต่ธรรมดาเรื่องทุกอย่างจะมีสองด้าน ดังนั้นก่อนที่ผมจะเล่าถึงความคับแค้นของชาวทมิฬ ผมจะเล่าถึงมุมมองของชาวสิงหลอันเป็นที่มาของปัญหาทั้งปวงเสียก่อน
ความคับแค้นของชาวสิงหล
เป็นที่ยอมรับว่าชาวสิงหลคือชนพื้นเมืองดั้งเดิมของศรีลังกา ชื่อที่ชาวต่างประเทศเรียกเกาะศรีลังกา เช่นชาวยุโรปเรียกว่า “ซีลอน” ชาวเปอร์เซียเรียกว่า “เซเรนดิบ” หรือแม้แต่ชื่อ “อีแลม” ของชาวทมิฬ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่า “สิงหล” โดยการออกสำเนียงของชาตินั้นๆ

รูปหญิงสาวชาวสิงหล
เมื่อพูดถึงความขัดแย้งทมิฬ สิงหล ชาวโลกจะคิดว่าเป็นการที่ชาวสิงหลกดขี่ชาวทมิฬซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย แต่สำหรับชาวสิงหลแล้ว เขาไม่เคยมองว่าทมิฬเป็นชนกลุ่มน้อยเลย
ตรงกันข้าม “ทมิฬ” เป็นอาณาจักรขนาดใหญ่ที่มีอาณาเขตกินบริเวณภาคใต้ของอินเดียเอาไว้ทั้งหมด มีประชากรมากกว่าชาวสิงหลหลายสิบหลายร้อยเท่า เป็นพวกที่เจริญกว่า ร่ำรวยกว่า แข็งแรงกว่า และยังพยายามยกทัพมารุกรานเกาะศรีลังกาอยู่เสมอ
“ทมิฬ” ที่ปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์ศรีลังกาส่วนใหญ่จะไม่ได้ปรากฏในฐานะประเทศของตัวเอง แต่จะอยู่ในฐานะ “จังหวัด” ที่เป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิทมิฬ เป็นเขตอาณานิคมที่จักรวรรดิยึดได้ เวลาคนสิงหลเข้มแข็งก็ขับไล่ทมิฬไป พอคนทมิฬเข้มแข็งก็มายึดใหม่ กลับไปมาเช่นนี้หลายครั้ง
อันที่จริงเราอาจเรียกประวัติศาสตร์หลายพันปีของชาวสิงหล ว่าเป็นประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้รักษาเอกราชจากศัตรูที่เหนือกว่าเผ่าพันธุ์ของเขาอย่างมากๆก็ไม่ผิดนัก

รูปนักรบสิงหลโบราณ
ด้วยความที่ศรีลังกาเป็นเกาะที่มีชัยภูมิดี เป็นท่าเรือสำคัญในการล่องเรือค้าขายระหว่างยุโรปกับเอเชีย จึงเป็นที่ปรารถนาของมหาอำนาจต่างชาติจำนวนมาก ตลอดมาชาวสิงหลจึงต้องรับมือกับกองทัพที่แข็งแกร่งของชาวทมิฬจากอินเดีย ชาวโปรตุเกส และชาวฮอลันดา ซึ่งพวกเขาก็ต่อสู้ป้องกันตนเองอย่างทรหด หลายครั้งพวกเสียบ้านเมือง ต้องถอยหนีไปอยู่ตามป่าเขา พอรวบรวมกำลังไปกู้ชาติ ตีได้บ้านเมืองคืนมาได้ก็ถูกมหาอำนาจอื่นมารุกรานต่ออีกไม่หยุดหย่อน
แม้จะถูกรุกรานขนาดนี้ชาวสิงหลก็ยังรักษาเอกราชของตนไว้ได้ จนกระทั่งต้องปะทะกับมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกคืออังกฤษซึ่งเป็นชาติแรกชาติเดียวที่สยบชาวสิงหลลงจนราบคาบ
แน่นอนว่าผู้รุกรานทุกชาติล้วนเคยกดขี่ชาวสิงหลอย่างหนัก ถ้าท่านไปเยี่ยมประเทศศรีลังกา จะเห็นว่าชาวสิงหลนั้นรักใคร่นับถือในศาสนาพุทธที่เขานับถือมาแต่โบราณมาก นั่นเพราะมีหลายเหตุการณ์ที่พวกเขาเคยถูกกดขี่บังคับทางศาสนาจากชาวทมิฬที่นับถือฮินดู และชาวยุโรปที่นับถือคริสต์
ชาวทมิฬเคยเข้าไปเข่นฆ่า ทำลายล้างชาวพุทธศรีลังกา มีเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ศรีลังกามากกว่าหนึ่งครั้งที่ศาสนาพุทธในศรีลังกาเสื่อมทรามลงจนถึงขั้นไม่มีแม้แต่พระสงฆ์มาสืบต่อศาสนา ชาวศรีลังกาต้องนิมนต์พระของประเทศไทยและพม่า ไปฟื้นฟู (อาจจะเคยได้ยินชื่อนิกายสยามวงศ์ซึ่งเป็นเกิดจากการที่คณะภิกษุไทยเข้าไปช่วยนั่นเอง) และอีกยุคหนึ่งเมื่อถูกชาวยุโรปปกครองบ้านเมือง ศาสนาพุทธก็ถูกข่มเหงกีดกัน พวกพระสงฆ์ต้องพยายามฟื้นฟูศาสนาโดยการเดินสายโต้วาทีกับพวกบาทหลวงคริสต์ โน้มน้าวให้ประชาชนกลับมานับถือศาสนาพุทธสำเร็จ

ภาพประวัติศาสตร์ศาสนาพุทธในศรีลังกา
เมื่อชาวอังกฤษเข้ามาปกครองศรีลังกา พวกเขาได้ใช้นโยบาย “แบ่งแยกแล้วปกครอง” เนื้อหาของนโยบายนี้คืออังกฤษจะปกครองโดยเอาใจคนกลุ่มหนึ่ง และกดขี่คนอีกกลุ่มหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อยุยงให้คนในชาติเกลียดชังทะเลาะกันเอง เพราะเมื่อทะเลาะกันแล้ว ก็จะไม่มีแรงมาต่อสู้เรียกร้องเอกราชกับอังกฤษ
นโยบายนี้ทำให้อังกฤษปกครองชาติต่างๆในโลกอย่างได้ผล และก็เป็นนโยบายนี้ที่ทำให้เกิดสงครามเชื้อชาติศาสนาขึ้นทั่วทุกมุมโลกสืบเนื่องจนปัจจุบัน (สงครามยิวปาเลสไตน์, สงครามอินเดียปากีสถาน, สงครามชนกลุ่มน้อยพม่า, ความขัดแย้งคนดำคนขาวในแอฟริกาใต้ และอื่นๆอีกมาก ล้วนเกิดมาจากนโยบายแบ่งแยกแล้วปกครองของอังกฤษ)
สำหรับกรณีศรีลังกา อังกฤษเลือกที่จะเอาใจชาวทมิฬ และกดขี่ชาวสิงหล โดยให้อิสรภาพมากกว่า ให้การศึกษาและโอกาสที่ดีกว่า และยังเอาคนทมิฬจากอินเดียเข้ามาทำงานไร่ชาในศรีลังกาเป็นจำนวนมาก ซึ่งชาวสิงหลมองว่านั่นเป็นความพยายามกลืนชาติของอังกฤษ
เป็นเวลาร้อยกว่าปีที่ชาวทมิฬมีความสุขสงบจากการปกครองของอังกฤษ ชาวทมิฬมากมายได้เข้ารับราชการ จนข้าราชการส่วนใหญ่ของศรีลังกายุคนั้นเป็นชาวทมิฬ พวกเขาช่วยอังกฤษกดขี่ชาวสิงหล สร้างความคับแค้นให้กับชาวสิงหลเป็นอย่างมาก

ความคับแค้นของชาวทมิฬ
เล่ามาถึงตรงนี้คงพอเห็นภาพว่าทำไมชาวสิงหลจึงมีความแค้นต่อชาวทมิฬขนาดนี้ จะเล่าต่อไปว่าเหตุใดชาวทมิฬจึงมีความแค้นต่อชาวสิงหลบ้าง
ก่อนอื่นถ้าท่านลองดูแผนภาพชนเผ่าและภาษาของประเทศอินเดีย จะเห็นคนอินเดียแบ่งออกเป็นสองส่วนใหญ่ๆ (ไม่รวมดินแดนที่ติดทิเบตและพม่า ซึ่งมีวัฒนธรรมไปทางนั้น) ได้แก่ชาวอารยันทางตอนเหนือของประเทศ และชาวทมิฬทางตอนใต้ของประเทศ

ตำนานมหากาพย์รามายณะบอกเราว่าพระรามซึ่งมาจากอินเดียเหนือ ได้ยกทัพไปรุกรานทศกัณฐ์กษัตริย์ยักษ์ถึงเกาะลงกา (ซึ่งก็คือประเทศศรีลังกา) มีการวิเคราะห์ว่าตำนานนี้บอกถึงการที่ชาวอารยันจากเอเชียกลาง ยกทัพมารุกรานชาวทมิฬซึ่งเป็นชนพื้นเมืองของอินเดียมาก่อน ก่อนที่ทั้งสองชนชาติจนผสมผสานเป็นชาติเดียวกัน กลายเป็นชาวอินเดียในปัจจุบัน
ถ้าตำนานนี้เป็นจริงแปลว่าพวกยักษ์นั้นอาจหมายถึง “พวกทมิฬ” ซึ่งเคยปกครองเกาะศรีลังกามาก่อน

ในคัมภีร์มหาวงศ์ของศรีลังกาซึ่งบันทึกการตั้งประเทศ ได้มีการระบุว่า มีกษัตริย์ชาวสิงหลชื่อวิชัย (FYI. ชาวสิงหล เป็นอารยันกลุ่มหนึ่ง) พระเจ้าวิชัยได้ล่องเรือจากอินเดียลงมายังเกาะศรีลังกา เขาพบกับชนพื้นเมืองสองกลุ่มได้แก่ “พวกยักษ์” และ “พวกนาค” พระเจ้าวิชัยได้ใช้การแต่งงานและสงครามรวบรวมศรีลังกาเป็นปึกแผ่น โดยพวกยักษ์และนาคนั้นก็ผสมผสานกลมกลืนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชาวสิงหลทั้งสิ้น และหลังจากนั้นอีกหลายๆร้อยปี อาณาจักรทมิฬจากอินเดียใต้ถึงจะเริ่มเข้ามารุกรานเกาะศรีลังกา
ชาวทมิฬใช้ความคิดนี้อ้างว่า แท้แล้วพวกเขาไม่ใช่ผู้รุกรานจากอินเดียใต้ แต่เป็นชนพื้นเมืองที่อยู่ในศรีลังกามาก่อนชาวสิงหลเสียอีก แม้ว่าต้นตระกูลสายนั้นจะปนๆไปกับชาวสิงหลหมดแล้วก็ตาม และถึงเขาจะเป็นผู้รุกราน ก็แล้วไง ชาวสิงหลก็เคยรุกรานคนที่อยู่มาก่อนเหมือนกันไม่ใช่เหรอ
ตรงนี้ผมขอนอกเรื่องหน่อย คือชาวทมิฬพูดไปเป็นพวกที่เก่งนะครับ ก็คิดดูแล้วกันว่าอารยธรรมอินเดียไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการประดิษฐ์ของชนชาติทมิฬ ผมคิดว่ามีชาวทมิฬคนหนึ่งที่พอเอ่ยชื่อไปแฟนนิยายกำลังภายในทุกคนต้องรู้จักแน่นอน

พระโพธิธรรม ตั๊กม้อ
ครับท่านตั๊กม้อเป็นพระภิกษุชาวทมิฬผู้นำศาสนาพุทธไปเผยแผ่ที่ประเทศจีน พร้อมทั้งก่อตั้งวิทยายุทธวัดเส้าหลิน
วิชากำลังภายจีนในทั้งแผ่นดินมีต้นกำเนิดจากเส้าหลิน วิชากำลังภายในเส้าหลินมีต้นกำเนิดมาจากศิลปะการป้องกันตัวของชาวทมิฬเรียกว่า “กละริก กาลัย”

กลับมาที่เรื่องชาวทมิฬในศรีลังกา หลังจากที่ชาวทมิฬรับใช้ชาวอังกฤษเป็นอย่างดี มีความสุขสบายจากอภิสิทธิ์ที่เหนือกว่าชาวสิงหล มันก็มาถึงเวลาที่โลกเปลี่ยนไป คือความคิดเรื่องอาณานิคมเริ่มเป็นของล้าสมัยเสียแล้ว ประเทศต่างๆต่างพยายามเรียกร้องเอกราชจากชาติยุโรป
ศรีลังกาก็เหมือนกัน ทั้งชาวทมิฬและสิงหลต่างเห็นพ้องต้องกันว่า “เราปล่อยให้ฝรั่งมาปกครองพวกเรานานเกินไปแล้ว” พวกเขาจึงสามัคคีกันเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ
ในชั้นแรกนั้นชาวทมิฬและสิงหลมีความกลมเกลียวกันดีในการเรียกร้องเอกราช อังกฤษก็พยายามให้เอกราชศรีลังกาอย่างค่อยเป็นค่อยไป มีการแต่งตั้งสภาชาวท้องถิ่นขึ้นมาปกครองก่อน ผู้ปกครองคนแรกๆเป็นชาวทมิฬ เพราะเป็นชนชั้นที่มีการศึกษาสูงในสมัยนั้น

การประกาศอิสรภาพของศรีลังกา
พอสภาดังกล่าวจะเริ่มใช้ระบบเลือกตั้งจากประชาชน ผู้ปกครองชาวทมิฬก็เริ่มตระหนักว่าระบบนี้ไม่ดีกับพวกตนแน่ เพราะมันจะทำให้ผู้ปกครองที่ขึ้นมาเป็นชาวสิงหลเสียงข้างมาก และพวกเขาก็คงหนาวๆร้อนๆ เพราะพอรู้ตัวว่าเคยไปทำอะไรกับชาวสิงหลไว้บ้าง ผู้ปกครองชาวทมิฬจึงพยายามผลักดันระบบการเลือกตั้งที่ว่า “ผลเลือกตั้งจะออกมาอย่างไรก็ตามชาวสิงหลจะได้ที่นั่งในสภามากที่สุดแค่ครึ่งหนึ่งเท่านั้น ที่นั่งที่เหลือต้องเป็นของชาวทมิฬและชนกลุ่มน้อยอื่นๆ”
ชาวทมิฬและสิงหลพยายามผลักดันระบบการเลือกตั้งแข่งกัน ในที่สุดชาวสิงหลที่มีมากกว่าก็เป็นฝ่ายชนะ บังคับใช้การเลือกตั้งให้ประชาชนทุกคนมีหนึ่งเสียงเท่ากันหมด ไม่แบ่งตามเชื้อชาติ
หลังจากนั้นก็เป็นที่แน่นอนว่าสมาชิกสภาที่ขึ้นมาปกครองประเทศส่วนใหญ่เป็นชาวสิงหล …และแน่นอน… เวลาของการแก้แค้นมาถึงแล้ว…

ผมอ่านประวัติศาสตร์ช่วงนี้ พบว่าผู้นำชาวสิงหลช่วงแรกๆไม่ใช่พวกเชื้อชาตินิยมนะครับ ผู้นำหลายคนจะเป็นแนวสายกลางที่พยายามให้ความยุติธรรมกับฝ่ายต่างๆในศรีลังกา พยายามให้สร้างขาติด้วยกัน
ประธานาธิบดีคนแรกของศรีลังกาชื่อ วิลเลียม โคปาล เป็นรัฐบุรุษที่ได้รับการเคารพจากทุกฝ่าย (หมายเหตุว่า ชื่อศรีลังกาหลายชื่อเป็นชื่อบาลีสันสกฤตที่อ่านสำเนียงศรีลังกา ผมจะพยายามอ่านเป็นสำเนียงไทยเท่าที่ทำได้ แต่ถ้าอ่านผิดก็เตือนมาได้เลยนะครับ จะแก้ทันที)

นายวิลเลียม โคปาล
ประธานาธิบดีคนต่อมาชื่อ เจ. อาร์. ชัยวัฒน์ ตามประวัติมีเพื่อนเป็นชาวทมิฬหลายคน ไม่ใช่คนมีความคิดเหยียดผิว
อย่างไรก็ตาม ผมขอใช้คำว่า “การเอาคืนชาวทมิฬ เป็นเจตนารมณ์ของชาวสิงหลจำนวนมาก” ผู้นำสิงหลคนใดอยากได้รับเลือกตั้ง อยากอยู่ในตำแหน่งนานๆก็ควรทำอะไรที่มันทำให้ชาวสิงหลได้เปรียบ แล้วทำให้ชาวทมิฬเสียเปรียบ จะได้รับคะแนนเสียงท่วมท้น นักการเมืองสายกลางไม่ค่อยได้รับเลือก นักการเมืองสายชาตินิยมได้รับเลือกมาก นานเข้าพอพวกนักการเมืองเรียนรู้สิ่งนี้ พวกเขาก็เริ่มทำอะไรหลายอย่างเพื่อรักษาอำนาจของตัวเอง

นาย เจ.อาร์. ชัยวัฒน์
หลายๆรัฐบาลรวมถึงรัฐบาลของนายชัยวัฒน์ ได้มีการกดขี่เอาคืนชาวทมิฬในหลายทาง หลักๆได้แก่
1. การตั้งภาษาสิงหลเป็นภาษาราชการ ทำให้ข้าราชการชาวทมิฬหลายคนต้องออกจากงานเพราะใช้ภาษาสิงหลไม่คล่อง (ปัจจุบันมีการแก้ไขเรื่องนี้แล้ว)
2. การตั้งศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ
3. การให้โอกาสทางการศึกษาชาวสิงหลมากกว่าชาวทมิฬ (นโยบายนี้เป็นการให้ที่นั่งนักศึกษาในมหาวิทยาลัยมาจากการสอบแข่งขันเพียงครึ่งเดียว อีกครึ่งหนึ่งถูกกันไว้ให้กับประชาชนในเขตยากจนด้อยโอกาส ซึ่งในทางปฏิบัติ ชาวสิงหลจะได้รับประโยชน์มากกว่า เพราะเป็นพวกที่ยากจนด้อยโอกาส ส่วนชาวทมิฬยุคนั้นเป็นพวกที่รวยและการศึกษาดีกว่าจากการปกครองแบบเอาใจของอังกฤษ ตามที่กล่าวไปแล้ว)
ที่นี้คนทมิฬก็ทำการประท้วง มีการทะเลาะตีกันของนักเลงชาวสิงหลและทมิฬอยู่ทั่วไป รัฐบาลนายชัยวัฒน์นั้นถ้าเห็นคนผิดเป็นสิงหลบางทีก็เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ถ้าเห็นคนผิดเป็นทมิฬก็จับกุมเข้มงวด

ภาพชาวทมิฬถูกนักเลงสิงหลจับแก้ผ้า ก่อนจะตีจนตาย
บ้านเมืองขาดความยุติธรรม เป็นเหตุให้ชาวทมิฬเริ่มมีความคิดแยกประเทศ เริ่มก่อตัวเป็นกองกำลังหลายกลุ่มป้องกันตนเองจากรัฐบาล ในจุดนี้เองได้มีนักศึกษาหนุ่มคนหนึ่งชื่อนายเวลูพิไล ประภาการันมีความไม่พอใจต่อนโยบายโควตานักศึกษา ได้เข้าก่อตั้งกลุ่มนักศึกษาขึ้นมาต่อต้านนโยบายนี้

ประภาการันตอนหนุ่มๆและภรรยา แบบนี้คนแขกถือว่าหล่อมากนะครับ เป็นพระเอกหนังได้
กลุ่มนักศึกษาของประภาการันเป็นพวกหัวรุนแรง ได้ก่อผลงานไว้หลายอย่าง เช่นลอบฆ่านายกเทศมนตรีเมืองจาฟนา (เมืองหลวงของพวกทมิฬในศรีลังกา) เพราะนายกเทศมนตรีคนนี้เป็นชาวทมิฬ แต่ไปสนับสนุนรัฐบาล
กลุ่มนักศึกษาของประภาการันนี้เองต่อมาได้ตั้งชื่อตัวเองว่ากลุ่มพยัคฆ์ทมิฬ Liberation Tigers of Tamil Eelam (LTTE) กลายเป็นที่มาของกองกำลังก่อการร้ายชื่อก้องโลก

กลุ่มเคลื่อนไหวของชาวทมิฬในเวลานั้นมีอยู่ด้วยกันหลายกลุ่ม บางกลุ่มใช้วิธีสันติ บางกลุ่มใช้วิธีรุนแรง แต่ไม่มีกลุ่มไหนก่อเรื่องรุนแรงเท่ากลุ่มพยัคฆ์ทมิฬของประภาการัน พวกเขาไม่ลังเลที่จะฆ่าคนบริสุทธิ์ และทำร้ายแม้กระทั่งกลุ่มเคลื่อนไหวอื่นๆที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางรุนแรงของเขา
ความโหดเหี้ยมของประภาการันกลายเป็นที่นิยมในหมู่ชาวทมิฬ ทำให้กลุ่มของเขาเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และเขาก็ใช้ความรุนแรงที่หนักขึ้นเพื่อบ่อนทำลายความสัมพันธ์ใดๆก็ตามที่ชาวทมิฬ และสิงหลเคยมีต่อกัน
ปลายเดือนกรกฎาคมปี 1983 กลุ่มพยัคฆ์ทมิฬเข้าลอบสังหารทหารศรีลังกาตายไป 13 คน ปฏิบัติการครั้งนี้ได้ผลเป็นอย่างมาก เพราะมันทำให้ชาวสิงหลโกรธแค้นมาก
เดือนเดียวกัน เกิดม๊อบชาวสิงหลเข้าทำลายทรัพย์สินบ้านเรือนของชาวทมิฬในหลายที่ในประเทศศรีลังกา รัฐบาลนายชัยวัฒน์ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน พร้อมทั้งส่งตำรวจและทหารเข้าควบคุมม๊อบ แต่ใจพวกตำรวจทหารนั้นก็มีความแค้นเคืองต่อการตายของพวกพ้อง ทำให้ไม่ทำการจับกุมม๊อบเต็มที่ ปล่อยให้แยกย้ายกันไปโจมตีชาวทมิฬในที่อื่นๆอีก จนเมื่อเหตุการณ์บานปลายจะกลับมาปราบม๊อบอย่างเข้มงวดก็สายไปแล้ว

การจลาจล Black July
ความเสียหายจากเหตุการณ์ครั้งนั้น มีคนสิงหลและทมิฬตายไปนับพันคน บ้านเรือนร้านค้าเสียหายกว่าหนึ่งหมื่นสามพันหลัง ชาวทมิฬเกือบหนึ่งในสามรู้สึกว่าตัวเองอยู่ในประเทศนี้ไม่ได้แล้ว ต่างพากันอพยพหนีไปอยู่ในประเทศตะวันตกต่างๆที่ให้ลี้ภัย เช่นแคนาดา อังกฤษ เยอรมัน
เหตุการณ์นี้เรียกว่า Black July หรือกรกฎาทมิฬ กลายเป็นจุดเริ่มต้นสงครามกลางเมืองในศรีลังกานั่นเอง

หลัง Black July ประภาการันได้ส่งกองกำลังบุกเข้าไปยังหมู่บ้านชาวนาเล็กๆสองแห่งชื่อหมู่บ้านเคนท์ และดอลล่าร์ แล้วจับชาวบ้านสิงหลในนั้นสังหารเสีย 62 คน นอกจากนั้นยังปล้นรถไปยังเมืองอนุราธปุระซึ่งเป็นเมืองสำคัญทางศาสนาของชาวสิงหล ฆ่าคนที่อยู่ที่สถานีรถ และบุกเข้าวัดต้นศรีมหาโพธิ์ จับคนสังหารเสีย 146 คน เหยื่อในครั้งนี้มีทั้งเด็ก ผู้หญิง คนแก่ พระสงฆ์ เณร ชี

เหล่าเณรซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเหยื่อการสังหารหมู่ของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬ
การกระทำนี้เพื่อยุยงให้ชาวสิงหลกับชาวทมิฬเกลียดกันทำร้ายกันมากขึ้น เพื่อให้ชาวสิงหลสายกลางกลายเป็นสายรุนแรง และให้ชาวทมิฬสายกลางหันมาสนับสนุนแนวทางรุนแรงของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬ
รัฐบาลศรีลังกาของนายชัยวัฒน์ก็ไม่ได้นิ่งเฉย ได้จัดการปราบปรามพวกกบฏทั้งด้วยกำลังและการเจรจา จนสามารถผลักดันปิดล้อมกองโจรของประภาการันเอาไว้ในเมืองจาฟนา กำลังจะเผด็จศึกทำลายล้างกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬตั้งแต่ยังไม่แข็งแกร่งเท่าไหร่ได้ตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว…
แต่แล้วเหมือนฟ้ากลั่นแกล้ง ได้มีมือข้างหนึ่งที่ยื่นเข้ามาช่วยฝ่ายพยัคฆ์ทมิฬ
…มือนั้นมีชื่อเรียกว่า “อินเดีย”…

พูดถึงภูมิภาคเอเชียใต้ ต้องนับอินเดียเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุด มีประชากรพันล้านคน เรียกว่ามากกว่าศรีลังกา 50 เท่าทีเดียว
อย่างที่ผมเรียนไปแล้ว ทมิฬในศรีลังกา จริงๆก็เป็นเหมือนจังหวัดหนึ่งของอาณาจักรทมิฬอินเดีย คนทมิฬในอินเดียย่อมมีใจเอ็นดูคนเชื้อชาติเดียวกันที่ถูกรังแกโดยพวกสิงหล
รัฐบาลอินเดียยุคนั้นนำโดยนายราจีฟ คานธี ได้มีความคิดว่าถ้าแผ่อิทธิพลเข้าไปครอบงำเกาะศรีลังกาผ่านทางชาวทมิฬได้ก็คงจะดี จึงได้ลอบสนับสนุนเงินทุน อาวุธ และการฝึกทหารให้กับกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอย่างลับๆ

นายราจีฟ คานธี
ครั้นพวกพยัคฆ์ทมิฬถูกรัฐบาลศรีลังกาปิดล้อมไว้ที่จาฟนา จะพ่ายแพ้อยู่แล้ว ราจีฟ คานธีได้ส่งเสบียงไปอุดหนุนพวกพยัคฆ์ทมิฬทำให้รอดพ้นจากความพินาศ จากนั้นจึงได้เปิดการเจรจากับนายชัยวัฒน์
เนื้อหาการเจรจามีอยู่ว่า “อีนี่เธอเป็นแค่ประเทศเล็กๆ ถ้าอีนี่ฉานใช้เรื่อง Black July กับเรื่องที่เธอกดขี่พวกทมิฬของฉาน เป็นข้ออ้างบุกประเทศเธอก็คงไม่มีมหาอำนาจหน้าไหนเสียเวลามาช่วยเธอหรอก เพราะอีนี่เธอไม่มีน้ำมัน มีแต่ใบชา …แต่อีนี่ฉานเป็นพี่ใหญ่ใจกว้าง เอาอย่างนี้ เธอถอนทัพออกไปจากภาคเหนือของประเทศเธอ แล้วให้อีนี่ฉานยกทัพไปยึดไว้ ฉานจะดูแลให้ไม่ให้มีเหตุการณ์ร้ายเกิดขึ้น …จำไว้ อีนี่ฉานไม่ได้จะทำอะไรประเทศเธอนะนายจ๋า แค่ยกทัพไปยึดเอง …อีนี่เธออยากยอมดีๆหรือให้อีนี่ฉานยึดมากกว่าภาคเหนือประเทศเธอล่ะนายจ๋า”
นายชัยวัฒน์เจอแบบนี้ก็ต้องฝืนจำยอมเพราะรู้ว่าอย่างไร ศรีลังกาสู้ยักษ์ใหญ่อย่างอินเดียไม่ได้แน่ หลังจากนั้นก็เกิดม๊อบชาวสิงหลขึ้นประท้วงรัฐบาลทั่วไปประเทศ นายชัยวัฒน์กลับจากเจรจาต้องไปรับมือม๊อบ ต้องใช้กำลังปราบม๊อบประชาชนที่เรียกร้องไม่ให้ยกประเทศตนเองให้กับคนอื่น คิดๆดูแล้วก็น่าอัปยศอดสู น่าสงสารนายชัยวัฒน์เหมือนกัน…
ปี 1987 กองทัพอินเดียจึงได้ยกพลเข้ามายึดภาคเหนือของศรีลังกา ท่ามกลางความเคียดแค้นของชาวสิงหล และการต้อนรับอย่างอบอุ่นของกลุ่มกบฏพยัคฆ์ทมิฬ…

ภาพกองกำลังรักษาสันติภาพอินเดีย ที่เข้ามายึดครองศรีลังกาตอนเหนือ เพื่อช่วยเหลือกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬ

ท่านที่อ่านมาถึงตรงนี้คงคิดว่าศรีลังกาเป็นประเทศที่ย่ำแย่ยากจนเพราะสงครามกลางเมืองยาวนาน แต่จริงๆแล้วถ้าเอาข้อมูลเศรษฐกิจปัจจุบันมาเทียบกันดู จะพบว่าศรีลังกาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจต่อจำนวนประชากรที่ดีที่สุดในเอเชียใต้นะครับ
ผลงานนี้ส่วนหนึ่งเกิดมาจากนโยบายของรัฐบาลยุคนายชัยวัฒน์ ซึ่งเป็นรัฐบาลที่ประสบความล้มเหลวอย่างมากในการจัดการปัญหาการเมืองในประเทศ แต่ประสบความสำเร็จอย่างมากในการพัฒนาเศรษฐกิจ เป็นที่แน่นอนว่าศรีลังกานั้นมีศักยภาพจะเจริญเติบโตกว่านี้ได้มากมายนักถ้าไม่มีเรื่องสงครามกลางเมือง
…ซึ่งต้องเรียกว่าเป็นกรรมครับ…
กรรมที่นายชัยวัฒน์กดขี่คนทมิฬนำไปสู่สถานการณ์ที่บีบคั้นตัวเขาเอง คือมีชาวสิงหลรักชาติได้รวมตัวกันก่อกบฏเพื่อต่อต้านการยึดครองของอินเดีย แล้วนายชัยวัฒน์ก็จำเป็นต้องไปปราบคนพวกนี้อย่างนองเลือด เพื่อไม่ให้อินเดียใช้เป็นข้ออ้างยกทัพมาตีศรีลังกาให้วอดวายกันหมด
สภาพการณ์เหมือนจะเข้าทางกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬมาก แต่โลกก็ไม่ได้สวยขนาดนั้น…
สุนัขที่แว้งกัดเจ้าของ
หลังจากอินเดียเข้ามาแล้ว พวกเขาก็ได้ยื่นข้อเสนอให้ทางพยัคฆ์ทมิฬว่า “เราสัญญากับทางศรีลังกาว่าเราจะจัดการให้ดินแดนนี้สงบเรียบร้อย เราจำเป็นต้องเป็นคนกลุ่มเดียวที่มีอาวุธในพื้นที่นี้ ดังนั้นอาวุธอะไรที่เราให้ท่านไป ท่านก็เอาคืนมาเถอะนะ”

ประภาการันกับกองกำลังพยัคฆ์ทมิฬรุ่นแรกๆขณะได้รับการฝึกทหารจากทางการอินเดียในค่ายทหารในประเทศอินเดีย
พวกพยัคฆ์ทมิฬมีอาวุธแล้วก็เหมือนเสือติดปีก เรื่องอะไรจะให้คืนล่ะครับ พวกเขาจึงต่อต้านการปลดอาวุธของอินเดียจนเป็นการนองเลือด อินเดียแสดงให้พวกพยัคฆ์ทมิฬเห็นว่าใครคือคนมีอำนาจมากที่สุดโดยการระดมสรรพอาวุธ ทางบก ทางน้ำ ต่อสู้เพื่อช่วงชิงเมืองจาฟนาจากพวกพยัคฆ์ทมิฬ หลังจากสู้กันจนคนตายไปหลายร้อยคน ในที่สุดอินเดียก็ยึดจาฟนาได้ ส่วนพวกพยัคฆ์ทมิฬหลบหนีปะปนไปกับประชาชน และรวมกันเป็นกองโจร ต่อต้านอินเดียอยู่ในป่าเขา
อินเดียเข้ามาปกครองภาคเหนือของศรีลังกาอยู่สามปี ชาวทมิฬศรีลังกาบางคนก็รักใคร่ เห็นเป็นผู้มาปลดปล่อย แต่บางคนก็คิดว่าทำไมไม่ให้เอกราชพวกเขาสักที เพราะอินเดียเองก็ยังไม่แน่ใจว่าจะทำยังไงให้เรื่องนี้จบสวย ไม่ถูกนานาประเทศต่อว่า (อินเดียเคยทำการคล้ายอย่างนี้คราวหนึ่ง โดยการช่วยชาวบังคลาเทศให้กบฏต่อปากีสถาน และส่งกำลังไปตีทัพปากีสถานแตก ประกาศเอกราชให้บังคลาเทศมาแล้ว นับแต่นั้นบังคลาเทศก็เป็นรัฐบริวารของอินเดีย)
มีฝ่ายการเมืองของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬคนหนึ่งชื่อธิลีพันนอนอดอาหารประท้วงอินเดียเพื่อเรียกร้องให้จริงจังในการขับไล่ชาวสิงหลและให้เอกราชพวกเขามากขึ้น

นายธิลีพัน
ทางการอินเดียคิดว่า “มันไม่แน่จริงหรอก เดี๋ยวมันหิวทนไม่ไหวก็ต้องกลับมากินเองแหละ”
แต่การณ์ไม่เป็นเช่นนั้น นายธิลีพันประท้วงอยู่ 12 วันก็อดตาย ทำให้ชาวทมิฬศรีลังกาเสื่อมความนิยมในรัฐบาลอินเดียลงอย่างมาก ประภาการันฉวยโอกาสนี้ซ่องสุมกำลังอาวุธ และเรียกความสนับสนุนจากชาวบ้านเข้าต่อสู้กับอินเดีย
ทางด้านรัฐบาลสิงหลซึ่งตอนนี้ได้มีประธานาธิบดีใหม่แล้วชื่อนายรานะสิงเห เปรมดัส ฉวยโอกาสจากการที่พยัคฆ์ทมิฬกับอินเดียแตกคอกัน สนับสนุนอาวุธให้พยัคฆ์ทมิฬ
ท่านไม่ได้อ่านผิดนะครับ รัฐบาลศรีลังกาเคยสนับสนุนอาวุธให้กลุ่มพยัคฆ์ทมิฬ เพื่อให้ช่วยขับไล่ทหารอินเดียออกไป
นี่เป็นชนวนความวุ่นวายในศรีลังกาอีกครั้ง

ตอนนี้เราได้ดำเนินมาถึงจุดสำคัญที่สุดตอนหนึ่งแล้วครับ เพราะมันจะเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ “โลก” เปลี่ยนจากเดิมตลอดกาล ด้วยนวัตกรรมชิ้นหนึ่งของพวกพยัคฆ์ทมิฬ
กล่าวคือเมื่อนายราจีฟ คานธีเป็นนายกรัฐมนตรีอินเดียจนครบวาระก็มีการเลือกตั้งใหม่ เขาได้ออกเดินทางหาเสียงทั่วประเทศ จนมาถึงรัฐทมิฬนาดูซึ่งเป็นรัฐเอกของพวกทมิฬ
ที่นั่น นายราจีฟได้เดินเข้าทักทายกลุ่มชาวทมิฬที่มารอรับและสวมพวงมาลัยให้ (ประเพณีอินเดีย การสวมพวงมาลัย และแตะเท้าเป็นการแสดงความเคารพและอวยพรอย่างสูงครับ) ในหมู่ประชาชนนั้นมีเด็กผู้หญิงคนหนึ่งชื่อดนุต่อแถวอยู่ ขณะที่เธอก้มลงจะแตะเท้าเขา เธอก็ได้จุดชนวนระเบิดที่เธอซ่อนไว้ใต้เสื้อ เกิดเป็นระเบิดครั้งใหญ่สะเทือนเลื่อนลั่น คร่าชีวิตนายราจีฟ, ตัวดนุเอง และคนรอบข้างอีก 14 คนในทันที

นายราจีฟ คานธีขณะรับพวงมาลัยจากกลุ่มชาวทมิฬที่มีดนุอยู่ด้วย รูปบนขวาคือดนุ
…ครับ ดนุเป็นสมาชิกคนหนึ่งของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬ สิ่งที่เธอใช้คือ “เข็มขัดระเบิด” ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่พวกพยัคฆ์ทมิฬคิดค้นขึ้นมาเป็นกลุ่มแรก ใช้สำหรับทำการระเบิดพลีชีพเป้าหมายสำคัญ
เหตุการณ์นี้นำไปสู่การเลียนแบบของกลุ่มก่อการร้ายทั่วโลก เพราะเป็นวิธีที่รุนแรงและได้ผล เสริมให้ศักยภาพของคำว่า “ก่อการร้าย” น่าหวาดกลัวมากขึ้นมาจนปัจจุบัน เพราะคนร้ายนั้นอาจมาในรูปแบบของเด็กหญิงที่ดูไม่มีพิษภัยอย่างดนุก็ได้
การตายของราจีฟ คานธี ทำให้ชาวอินเดียจำนวนมากรวมทั้งพวกทมิฬอินเดียเสื่อมความนิยมในกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬลงอย่างมาก พวกเขาหลายคนได้ถอนความช่วยเหลือใดๆที่เคยให้กับกลุ่มนี้เพราะเหตุการณ์ดังกล่าว
แต่พวกพยัคฆ์ทมิฬตอนนั้นก็ไม่สนหรอกครับ พวกเขากำลังชื่นชมกับวีรกรรมนี้ เพราะมันทำให้อินเดียตัดสินใจได้เด็ดขาดว่า การมายุ่งกับพวกพยัคฆ์ทมิฬนั้น “ไม่คุ้ม” ไม่กี่เดือนหลังการลอบสังหารนายราจีฟ ทางการอินเดียจึงถอนทหารออกจากศรีลังกา…
หลังจากนั้นอีกสองปี พวกพยัคฆ์ทมิฬก็ส่งมือระเบิดพลีชีพอีกคนไปสังหารนายเปรมดัส ประธานาธิบดีผู้เคยสนับสนุนอาวุธพวกเขา
พวกพยัคฆ์ทมิฬได้ก้าวขึ้นมาเป็นกลุ่มก่อการร้ายแนวหน้าของโลกด้วยวีรกรรมเหล่านี้ พวกเขาประกาศก้องว่าเขาไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจใคร และพร้อมจะแว้งกัดทุกคนที่คิดจะมา “อยู่เหนือ” ตน
พยัคฆ์ทมิฬเป็นกลุ่มก่อร้ายเดียวที่เคยสังหารคนระดับผู้นำประเทศถึงสองคน ซึ่งไม่เคยมีใครลบสถิตินี้ได้จนปัจจุบัน

เข็มขัดระเบิด อาวุธที่มีต้นกำเนิดมาจากนวัตกรรมของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬ

ที่มา: http://pantip.com/topic/31113823/story

Leave a Reply