เสือกับสิงโต (มาลุตชาดก ว่าด้วยการถือความคิดเห็นของตนเป็นใหญ่)

เสือกับสิงโต (มาลุตชาดก ว่าด้วยการถือความคิดเห็นของตนเป็นใหญ่)

maluta-11

……ครั้งหนึ่งในสมัยพุทธกาล มีพระหลวงตาสองรูปชื่อ พระกาฬะ และพระชุณหะ ทั้งสองรูปตั้งใจปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัดอยู่ในป่าแห่งหนึ่งในเขตชนบท แคว้นโกศล อย่างไรก็ดี พระทั้งสองรูปยังติดนิสัยตั้งแต่สมัยเป็นฆราวาสมาคนละอย่าง คือ พระชุณหะชมชอบความงามของพระจันทร์เต็มดวงข้างขึ้น ส่วนพระกาฬะชอบมองหมู่ดาวที่ส่องแสงระยิบระยับจับตาในคืนข้างแรม

…..วันหนึ่ง พระหลวงตาทั้งสองได้มาพบปะสนทนากันถึงเรื่องลมฟ้าอากาศ พระชุณหะจึงถามพระกาฬะขึ้นว่า ” ท่านรู้หรือไม่ว่า คืนไหนอากาศจะหนาวจัด ? ” พระกาฬะตอบทันทีว่า ” คืนข้างแรมสิ! เราสังเกตมานานแล้ว พบว่าถ้าคืนไหนเป็นคืนข้างแรม คืนนั้นอากาศจะหนาวจัดทุกที ” พระชุณหะได้ฟังดังนั้นจึงแย้งว่า ” เราก็อยู่ป่ามานาน แต่สังเกตเห็นว่า อากาศหนาวจัดในคืนข้างขึ้นต่างหาก ”

…..หลวงตาทั้งสองโต้เถียงกันด้วยเรื่องนี้เป็นเวลานาน แต่ไม่อาจจะหาข้อยุติได้ ในที่สุดจึงชวนกันออกเดินทางไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อให้พระพุทธองค์ตัดสินให้

…..พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงดำริว่า พระภิกษุสองรูปนี้อุตส่าห์เดินทางไกลเป็นเวลาแรมเดือน ข้ามเขตแดนชนบทน้อยใหญ่มายังนครสาวัตถี เพียงเพื่อให้พระองค์ตัดสินปัญหาอันไม่เป็นสาระ ด้วยต่างฝ่ายต่างถือทิฐิมานะเข้าหากัน หลงยึดมั่นแต่ความคิดเห็นของตนโดยไม่พิจารณาถึงสาเหตุที่แท้จริง เช่นนี้จึงทรงระลึกชาติด้วยบุพเพนิวาสานุสติญาณ แล้วตรัสว่า

…..” ดูก่อนภิกษุ เมื่อชาติก่อนโน้น เราก็ตอบปัญหานี้แก่เธอทั้งสองแล้ว แต่เธอจำไม่ได้ จึงต้องย้อนมาถามปัญหาเดิมซ้ำอีก ” พระหลวงตาทั้งสองรู้สึกแปลกใจ จึงกราบทูลอาราธนาให้พระพุทธองค์ทรงเล่าเรื่องราวในอดีตชาติของตนให้ฟัง พระพุทธองค์จึงทรงแสดง มาลุตชาดก มีเนื้อความดังนี้

maluta-17

…..นานมาแล้ว ในถ้ำเชิงเขาแห่งหนึ่ง เป็นที่อาศัยของราชสีห์กับเสือโคร่ง ทั้งสองอยู่ถ้ำเดียวกัน ด้วยความผาสุกตลอดมา ตามปกติ ราชสีห์ชอบออกหากินในคืนเดือนหงาย ครั้งตกดึกลมแรงก็เกิดหนาวสั่น จึงหลงเข้าใจว่าอากาศหนาวเพราะคืนข้างขึ้น

….ส่วนเสือโคร่งชอบออกล่าเหยื่อในคืนเดือนมืด พอลมพัดมาแรงจัด ก็รู้สึกหนาวจึงทักเอาว่า อากาศหนาวเพราะข้างแรม อยู่มาวันหนึ่ง สัตว์ทั้งสองสนทนากันถึงเรื่องลมฟ้าอากาศเสือโคร่งได้พูดขึ้นว่า ” ถึงคืนข้างแรมทีไร อากาศหนาวทุกที ” ราชสีห์ได้ฟังดังนั้นก็แย้งว่า ” อะไรกันเพื่อน ข้างขึ้นต่างหากที่อากาศหนาวมาก ” เสือโคร่งก็กลับแย้งว่า ” เพื่อนเอาอะไรมาพูด คืนข้างแรมสิ เราออกหากินทีไรอากาศหนาวเสียจนเรานี้สั่นไปทั้งตัว ” แต่ราชสีห์ค้านว่า ” อากาศจะหนาวในคืนข้างแรมได้อย่างไร เรานอนอุ่นสบายเชียว แต่คืนข้างขึ้นเมื่อเราออกหากิน อากาศหนาวเสียจนตัวเราเย็นเฉียบเลย ”

…..ทั้งเสือโคร่งและราชสีห์ต่างแผดเสียงเถียงกันลั่นป่า เมื่อหาข้อยุติไม่ได้ ทั้งสองจึงชวนกันไปหาฤาษี ซึ่งบำเพ็ญตบะอยู่ ณ เชิงขาแห่งนั้น แล้วเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ท่านฟัง พระฤาษีจึงกล่าวว่า

…..” ไม่ว่าจะเป็นข้างขึ้นหรือข้างแรมก็ตาม เมื่อมีลมพัดมาย่อมรู้สึกหนาว เพราะความหนาวเกิดแต่ลม เจ้าทั้งสองไม่แพ้กันในปัญหานี้ ” เมื่อราชสีห์และเสือโคร่งทราบความจริงจากพระฤาษีแล้วก็หมดทิฏฐิ เดินกลับถ้ำที่อยู่ของตนด้วยความสุขใจ

…..เมื่อมีปัญหาหรือข้อขัดแย้งใด ๆ เกิดขึ้น ควรพิจารณาดังนี้

…..๑. ตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ดีก่อน โดยไตร่ตรองว่าอะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นผล เพื่อประกอบการพิจารณา

…..๒. ฟังทั้งข้อเสนอของอีกฝ่ายหนึ่ง ไม่ถือทิฏฐิมานะ เอาแต่ใจตนเองเป็นใหญ่

…..๓. พูดให้ไพเราะที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อมิให้อีกฝ่ายมีทิฏฐิมานะมากขึ้น หากยังหาข้อยุติไม่ได้ ควรให้ผู้รู้จริงช่วยตัดสิน

ที่มา: http://www.kalyanamitra.org/daily/dhamma/index.php?option=com_content&task=view&id=1823&Itemid=99999999

Leave a Reply