มโนสาเร่

มโนสาเร่

20140114131558

อาจเคยได้ยินคำว่า “มโนสาเร่” กันมาบ้าง โดยเฉพาะคำว่า “คดีมโนสาเร่” บางท่านอาจสงสัยว่าคำนี้หมายถึงอะไร คดีประเภทใดจึงเรียกว่าคดีมโนสาเร่

          พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ อธิบายว่า มโนสาเร่ หมายถึง เรื่องเบ็ดเตล็ดหยุมหยิม เช่น เรื่องมโนสาเร่ และเรียกคดีอันมีทุนทรัพย์หรือค่าเช่าจำนวนเล็กน้อย ซึ่งไม่เกินจำนวนที่กำหนดในกฎหมายว่า คดีมโนสาเร่

คำ มโนสาเร่ นี้ ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความฉบับเก่าเขียนเป็น “มะโนสาเร่ห”  หรือเขียนเป็น “มโนสาเร่ห”  ก็มี คำนี้เป็นคำไทยที่บัญญัติขึ้นหมายถึง ประเภทของคดีที่ไม่ค่อยมีความสำคัญรวม ๆ น่าจะมาจากคำภาษาอังกฤษว่า miscellaneous cases 

คำว่ามโนสาเร่ปรากฏเป็นคำในกฎหมายเด่นชัดตั้งแต่ครั้งปฏิรูปการปกครอง  การศาล และกฎหมาย ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา เมื่อไทยรับระบบกฎหมายของฝ่ายตะวันตกมาใช้ ก็ได้จัดระบบศาลและการคดีเหมือนดังของตะวันตก เฉพาะคดีเล็ก ๆ หรือคดีมโนสาเร่นั้น มีการตั้งศาลพิเศษประกอบด้วยผู้พิพากษานายเดียวเป็นองค์คณะตัดสินชี้ขาดไว้ชำระเหมือนดังของตะวันตก ศาลเหล่านี้ในกรุงเทพฯ เรียกว่า ศาลโปริสภา ส่วนในหัวเมืองเรียกว่า ศาลแขวง จากนั้นศาลโปริสภาในกรุงเทพฯ ได้เปลี่ยนเป็นศาลแขวง ดังปรากฏอยู่กระทั่งทุกวันนี้   

ต่อมาจำนวนศาลแขวงไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน  ทางการจึงได้ออกกฎหมายฉบับหนึ่งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๓ ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัดด้วย  เวลานี้ราษฎรได้รับความสะดวกในการเป็นความเล็ก ๆ น้อย ๆ  ทั่วประเทศ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า คดีอาญาเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ขึ้นศาลแขวงนี้ ไม่มีชื่อเรียกว่า คดีมโนสาเร่ เหมือนดังสมัยเริ่มปฏิรูปการปกครอง ในทางปฏิบัตินักกฎหมายไม่เรียกคดีมโนสาเร่ แต่เรียกคดีศาลแขวง หรือคดีเล็ก ๆ น้อย ๆ ตามสภาพของคดี  ส่วนคดีแพ่งนั้นยังคงมีชื่อ  “มโนสาเร่” อยู่จนปัจจุบัน.

ที่มา: http://www.royin.go.th/?knowledges=มโนสาเร่-๓-ธันวาคม-๒๕๕๓

Leave a Reply