วันไหว้ขนมบัวลอย

วันไหว้ขนมบัวลอย

K8680936-3

เทศกาลไหว้ขนมบัวลอย หรือ เทศกาลตังโจ่ย คือ วันเปลี่ยนเทศกาลเป็นฤดูหนาว มีลักษณะเป็นวันที่พระอาทิตย์จะส่องแสงสั้นที่สุดหรือวันที่เป็นจุดสูงสุดในฤดูหนาว โดยเทศกาลไหว้ขนมบัวลอย ถือเป็นเทศกาลสุดท้ายของชาวไทยเชื้อสายจีนในรอบหนึ่งปีปฏิทิน ซึ่งในเทศกาลนี้จะมีการทำขนมบัวลอยหรือ ขนมอี๋ มาไหว้ฟ้าดิน ปึ๋งเถ่ากง ตี่จู๋เอี๊ย (เจ้าที่) เพื่อขอบคุณที่ได้ช่วยให้การดำรงชีวิตของสมาชิกทุกคนในครอบครัวสามารถดำรงมาได้อย่างราบรื่นตลอดปีที่ผ่านมา และเพื่อขอพรให้ช่วยคุ้มครองคนในครอบครัวด้วย

สำหรับขนมบัวลอยหรือขนมอี๋ ที่ใช้ในการไหว้จะทำจากแป้งข้าวเหนียวนวดกับน้ำต้มสุกจนเข้าที่และปั้นเป็นเม็ดกลม ๆ เล็ก ๆ นิยมผสมสีชมพูและสีขาว เมื่อปั้นเสร็จแล้วจึงนำลงไปต้มในน้ำเดือด คล้ายกับการทำบัวลอยน้ำกะทิของคนไทย แต่ขนมอี๋จะใช้น้ำตาลทรายขาวหรือน้ำตาลทรายแดงแทนกะทิ ที่สำคัญจะต้องมีขนมอี๋ลูกใหญ่ที่เรียกว่า อีโบ้ ใส่ลงไปในถ้วยขนมอี๋ที่จะไหว้ถ้วยละหนึ่งลูกด้วย

เทศกาลไหว้ขนมบัวลอย
          ลักษณะกลมของขนมอี๋ สื่อความหมายถึง ความกลมเกลียวกันของคนในครอบครัว สีแดงและสีชมพู สื่อความหมายถึง ความโชคดี นอกจากนี้ ขนมอี๋ ยังถือเป็นขนมมงคลของชาวไทยเชื้อสายจีน ที่นิยมทำขึ้นในงานแต่งงานอีกด้วย
          ทั้งนี้ตามหลักของปฏิทินจีน เทศกาลไหว้ขนมบัวลอย จะไม่มีวันที่ระบุอย่างแน่ชัดตายตัว แต่จะตรงกับเดือน 11 ตามปฏิทินจีน หรือเดือนธันวาคม ซึ่งเรียกว่า เกี๋ยวง๊วย แต่ตามปฏิทินทางสุริยคติสากล วันตังโจ่ย จะตรงกับวันที่ 21 หรือ 22 ธันวาคมของทุกปี สำหรับปี 2557 วันไหว้ขนมบัวลอย จะตรงกับวันจันทร์ที่ 22 ธันวาคม 2557

          ของที่ใช้ในการไหว้ขนมบัวลอย
              1. กระถางธูป
              2. เทียนแดง 1 คู่
              3. ธูป 3 หรือ 5 ดอก
              4. ผลไม้
              5. น้ำชา 5 ถ้วย
              6. ขนมบัวลอย 5 ถ้วย

large_sweet1

ขนมอี๊ หรือขนมอี๊
         ขนมอี๊ (ขนมหวานจีน) ขนมมงคล อีกชนิดหนึ่งของคนจีน ที่รับประทานเพื่อความเป็น สิริมงคล ในโอกาสสำคัญต่างๆ เช่น พิธีแต่งงาน ที่เชื่อว่า การทานขนมอี๊ จะทำให้คนทั้งสองนั้นรักใคร่กลมเลียว เหนียวแน่น รวมถึง เทศกาลตรุษจีนหรือเปิดกิจการใหม่
         อี๊ หรือ อี๊ แปลว่ากลม ๆ ขนมอี๊ทำจากแป้งข้าวเหนียว นวดจนได้ที่เจือสีชมพู ปั้นเป็นก้อนกลม ๆ ต้มกับน้ำตาล เพื่อให้ชีวิตเคี้ยวง่ายราบรื่น เหมือนขนมอี๊ที่เคี้ยวง่ายและหวานใส ซึ่งขนมอี๊นี้อาจใช้เป็น สาคู หรือลูกเดือยก็ได้ คนจีนแต้จิ๋วเรียกว่าอี๊เหมือนกัน
        ขนมอี๊ดั้งเดิม ทำจากแป้งข้าวเหนียวใส่น้ำนิดหน่อยเอามาปั้นเป็นรูปต่าง ๆ ตามท้องถิ่น แล้วเอาไปต้มน้ำเดือด ใส่น้ำตาลรับประทานขณะที่ร้อนเพื่อกันหนาวได้ เดิมคงไม่ได้ใส่สี คงเป็นสีขาว ต่อมาได้พัฒนาไปตามกาลเวลา ได้มีการใส่ไส้ทั้งหวานและคาว ส่วนตัวแป้งผสมสีให้เป็นแป้งสีต่าง ๆ เช่น สีเขียว แดง เหลือง ขาว แล้วเอามาปั้น ต้มน้ำเดือด
       ขนมอี๊แตกต่างกันไปตามภูมิภาคของจีน เมื่อคนจีนอพยพไปอยู่ยังประเทศอื่น ก็ยังคงรักษาเอกลักษณ์ของความเป็นขนมอี๊อยู่ ด้วยการดัดแปลงส่วนผสมไปตามท้องถิ่นใหม่ที่หาวัสดุการทำง่าย แต่ก็ยังรักษาวัฒนธรรมของขนมอี๊ นั่นก็คือ ใช้แป้งข้าวเหนียวเอามาปั้นเป็นพื้น
       ขนมอี๊ของชาวภูเก็ตจะไม่ใส่ไส้ มีแป้งข้าวเหนียว สีผสมอาหาร น้ำเชื่อมทำจากน้ำ น้ำตาลแดงหรือน้ำตาลทรายขาวต้มใส่ขิงแก่หั่นเป็นแว่น ใส่ใบเตยหอม ส่วนแป้งใส่น้ำอุ่นพอปั้นได้ แล้วแบ่งเป็นส่วนๆเพื่อเติมสีต่างๆ นวดให้นิ่ม ปั้นเป็นลูกกลม ทำแม่อี๊ที่เรียกว่า อี๊โบ้ โดยปั้นให้ลูกใหญ่กว่าลูกอื่นๆ ตั้งน้ำให้เดือด เอาแป้งปั้นใส่ลงไป แป้งสุกจะลอยขึ้น ช้อนใส่ลงในน้ำเชื่อม เวลาตักเอาไปไหว้จะตักอีโบ้ลูกหนึ่ง ที่เหลือลูกเล็กกี่ลูกก็ได้
       ขนมอี๊ใส่ไส้ ส่วนที่ทำไส้ มีงาดำบด แป้งถั่ว เมล็ดพืช ผลไม้แห้งชนิดต่างๆ เอาไส้รวมกัน ปั้นเป็นลูกเล็ก ทำแป้งข้าวเหนียวให้ปั้นได้ เอาไส้ใส่ปั้นเป็นลูกกลม เอาไปต้ม ทอด หรือนึ่ง
       ขนมอี๊แบบคนอยู่เมืองฝรั่ง ไส้มีงาดำบด ใส่เนย น้ำตาลและเหล้าไวน์ แบ่งแป้งเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งเอารวมกับไส้แล้วต้มนิดหน่อย ปั้นเป็นลูกกลม เอาแป้งข้าวเหนียวอีกครึ่งหนึ่งผสมน้ำ ปั้นเป็นแผ่น เอาไปใส่ในน้ำเดือดจนสุก ทิ้งไว้ให้เย็น แล้วปั้นเป็นลูกกลม เจาะรูเอาไส้ใส่ปั้นให้กลมอีกครั้ง ใส่ลงไปในน้ำเดือด จนลอยตัวสุก ทิ้งต่อไว้สักหนึ่งนาที แล้วช้อนขึ้น
      ขนมอี๊ใส่ไส้อีกสูตรหนึ่ง ไส้มีงาดำบด ถั่วแดงบด ถั่วลิสงบด ปั้นเป็นลูกกลมทำเช่นเดียวกันคือเอาแป้งข้าวเหนียวห่อแล้วเอาไปต้มน้ำเดือด ใส่ในน้ำเชื่อม จะเป็นของหวาน ถ้าจะทำเป็นของคาว ให้ใส่ลูกชิ้นหมูทำไส้ ต้มน้ำเดือดจนสุกแล้วสงขึ้น เอาไปใส่ในน้ำต้มกระดูกหมูหรือกระดูกไก่หรือน้ำซุป แต่วิธีนี้ใช้ทำกินเอง ไม่ได้เอาไปไหว้เจ้า เช่นเดียวกับบัวลอย ซึ่งก็คือขนมอี๊ใส่น้ำกะทิ บางแห่งใส่ไข่ด้วย เป็นของกินเล่นเท่านั้น
      ปกติแล้วเวลาไหว้เจ้าควรต้มแบบน้ำตาล ถ้านำมาไหว้ น้ำเชื่อมต้องไม่ใส่ขิง  แต่หลังจากไหว้แล้วเพื่อความอร่อยชุ่มคอ ชื่นใจ แม่จะนำขิงหั่นแฉลบเป็นชิ้นและนำใบเตยมาใส่ด้วย ทำให้ หอมและทานอร่อยยิ่งขึ้น

ที่มา: http://www.indochinaexplorer.com/forum/index.php?topic=1797.0

Leave a Reply