สะพานชุดเทวดานฤมิต
ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3 ประชากรในพระนครเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ขอบเขตของเมืองยังคงอยู่เพียงคลองรอบกรุง ดังนั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 เสด็จขึ้นครองราชย์ จึงโปรดให้ขุดคลองขนานกับกำแพงเมืองเดิม จากวัดเทวราชกุญชรไปออกแม่น้ำเจ้าพระยา ณ วัดแก้วฟ้าล่าง เป็นการขยายเขตพื้นที่พระนครออกไป เพื่อรองรับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นและเป็นปราการป้องกันพระนครชั้นนอกอีกชั้นหนึ่ง
คลองนี้ขุดเสร็จในปี 2395 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามคลองที่ขุดขึ้นใหม่นี้ว่า “คลองผดุงกรุงเกษม” หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า คลองขุดใหม่
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 บ้านเมืองมีความเจริญมากขึ้น จึงจำเป็นต้องสร้างสะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษมหลายสะพาน เพื่อเชื่อมเส้นทางการคมนาคม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริ ให้สะพานเหล่านี้มีชื่อเกี่ยวกับเทวดาเป็นผู้สร้าง ทรงปรึกษาพระราชเลขานุการซึ่งมีความเชี่ยวชาญในภาษามคธให้ตั้งชื่อสะพานให้มีชื่อคล้องจองกัน ต่อจากสะพานเทเวศรนฤมิตรที่แปลว่าพระวิศุกรรมพระอินทร์พระเทวกรรมและพระพรหมสร้าง
จนเกิดเป็นสะพานทั้งห้า คือสะพานเทเวศรนฤมิตร วิศุกรรมนฤมาน มัฆวานรังสรรค์ เทวกรรมรังรักษ์ และจตุรภักตร์รังสฤษดิ์
สะพานเทเวศรนฤมิตร เป็นสะพานแรกที่อยู่ในชุด 5 สะพานที่มีความหมายว่าเทวดาสร้างขึ้น เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก มีราวพนักสะพานเป็นคอนกรีตทึบทั้งสองข้าง สองข้างจารึกทำเป็นเสาหัวเม็ดปลายราวสะพานทั้ง 4 มุมมีแท่นตั้งเสาไฟโลหะมุมละ 1 อัน
ต่อมาคือสะพานวิศุกรรมนฤมาณ เชื่อมถนนราชสีมา และถนนประชาธิปไตย เดิมเป็นสะพานโครงเหล็กพื้นไม้ มีราวสะพานเป็นลูกกรงเหล็กหล่อ ต่อมาได้มีการปรับปรุงใหม่เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาดกว้างกว่าเดิม ลักษณะราวสะพานทำเป็นลูกกรงคอนกรีตโปร่ง มีลักษณะโค้งออกด้านข้าง
สะพานมัฆวานรังสรรค์ เป็นสะพานเชื่อมถนนราชดำเนินกลาง และถนนราชดำเนินนอก โดยรัชกาลที่ 5 มีพระราชประสงค์ให้เป็นสะพานที่มีขนาดใหญ่และงดงามเป็นพิเศษ พร้อมกับให้กรมสุขาภิบาลตัดถนนราชดำเนินนอก เพื่อเป็นเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินไปยังพระราชวังดุสิต ตัวสะพานเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ราวสะพานสองข้างเป็นเหล็กหล่อที่มีลวดลายงดงาม กึ่งกลางราวสะพานด้านนอก มีแผ่นโลหะกลมหล่อเป็นรูปช้างเอราวัณ 3 เศียร ซึ่งถือว่าเป็นเทพพาหนะของท้าวมัฆวาน
สะพานเทวกรรมรังรักษ์ที่ถนนนครสวรรค์ สร้างขึ้นเพื่อเชื่อมถนนตลาด และถนนปลายตลาดซึ่งคือถนนนครสวรรค์ ที่ปลายราวสะพานทั้งสี่มุมทำเป็นเสาหัวเม็ดคู่แบบไทย ระหว่างเสาใช้เป็นฐานรองรับโคมไฟโลหะ
สะพานจตุรภักตร์รังสฤษดิ์เป็นสะพานสุดท้ายในสะพานชุดนี้ อยู่บริเวณถนนหลานหลวง ปัจจุบันเรียกสั้นๆ ว่า “สะพานขาว” กรมโยธาเทศบาลได้ปรับปรุงสร้างใหม่เป็น 3 สะพานขนานกัน ลักษณะเป็นสะพานคอนกรีต มีราวสะพานสองข้างเป็นลูกกรงคอนกรีตที่ปลายราวสะพานทั้งสี่มุมมีเสาไฟคอนกรีตมุมละ 1 ต้น
ที่มาhttp://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1437714588