21 กลศึก ตำราพิชัยสงครามไทย
ตำราพิชัยสงครามเล่มแรกเขียนในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 พ.ศ. 2041 ต่อมามีการรวบรวมแก้ไขสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช หลังจากนั้นกระจัดกระจายจนมีการรวบรวมอีกครั้งสมัย ร.3 โดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์ กรมพระราช วังบวรสถานมงคล
จวบจนต่อมาสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ตีพิมพ์เป็นเล่มครั้งแรก พ.ศ. 2469 ทรงนิพนธ์คำนำว่า “ตำราพิชัยสงครามที่ปรากฏอยู่จึงเป็นตำราดูนิมิตฤกษ์ยาม และทำเลขยันต์อาถรรพ์ศาสตร์เสียโดยมาก ตำราการรบพุ่งและอุบายสงครามเหลืออยู่ แต่ที่เก็บใจความแต่งเป็นกลอน สำหรับท่องบ่นให้จำขึ้นเจนใจ
เนื้อหาใจความตำราพิชัยสงครามประกอบด้วยกลศึก 21 กล เรียบเรียงบางส่วนจากหนังสือยุทธศาสตร์ศึกษา 2006 ครบรอบ 37 ปี สถาบันวิชาการทหารบกชั้นสูง เล่ม 1 โดย พลตรี ชอบ ภักดิ์ศรีวงศ์
กลศึกที่ 1 ฤทธี คือ ขั้นทะนงองอาจสำแดงแก่ข้าแกล้วหาญ เพื่อพร้อมจะรบได้เสมอคือ พร้อมทั้งกำลังพลและอาวุธทำการสำแดงฤทธิ์เสมอ ด้วยการปล้น ซุ่มโจมตีเพื่อให้ข้าศึกยำเกรงตลอดเวลา
กลศึกที่ 2 สีหจักร กระทำดุจเสือคือมองดูช้า แต่พอปฏิบัติรวดเร็ว จึงเป็นการรุกรานแบบค่อยเป็นค่อยไป ได้โอกาสก็ยึดเอาเป็นไร่นาเป็นบ้านของตน รู้จักยักย้ายถ่ายเทกำลังตนให้ได้เปรียบข้าศึก
กลศึกที่ 3 ลักษณะซ่อนเงื่อน เป็นการซ่อนเงื่อนงำหรืออุบายไว้ พอข้าศึกเข้ามาในอุบายของตน จะเข้าปฏิบัติการตรงที่สำคัญของข้าศึกทันที จนข้าศึกไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ คือบีบศัตรูเข้ามาเพื่อทำลายเสีย ถ้ามองในสภาพจิตคือความรุนแรง โดยต้องใช้ความเด็ดขาดเป็นหลักสำคัญ
กลศึกที่ 4 เถื่อนกำบัง ใช้กำบังเป็นเครื่องช่วยในการต่อสู้ เมื่อได้โอกาสแล้วค่อยทำลายข้าศึก เมื่อกำลังน้อยกว่าต้องใช้ป่าเป็นที่กำบัง แล้วคอยรบกวนข้าศึก ซอก ซอนไปทั่วให้เป็นความลึกลับ ทำให้ข้าศึกรู้ยากเห็นยาก ส่วนทางจิตนั้น ต้องมีความเชื่อถือมีวินัยเพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปอย่างแน่วแน่
กลศึกที่ 5 พังภูผา เข้าทำลายหลายจุดเพื่อให้ข้าศึกพ่ายแพ้ แต่ถ้าเราเข้าตีแล้วไม่สำเร็จต้องถอยออกมาทุกจุด เพื่อไม่ให้ข้าศึกรู้ว่าจุดไหนอ่อนจุดไหนแข็ง ซึ่งการปฏิบัติพร้อมกันจึงเป็นเรื่องสำคัญ คือถ้าตีข้าศึกแล้วสำเร็จแสดงว่าเรารู้จุดอ่อนข้าศึก แต่ถ้าเราแพ้แสดงว่าข้าศึกเริ่มรู้จุดอ่อนของเรา
กลศึกที่ 6 ม้ากินสวน ยอนภูเขา การและเล็มเข้าไปสืบข่าวเข้าไปจนรู้แหล่งกำลังข้าศึก แล้วจึงเข้าทำลาย เช่น ลอบเข้าโจมตีข้าศึกบ่อยจนข้าศึกเตรียมการจะบุก เราก็รู้แหล่งกำลังข้าศึก จึงซุ่มโจมตีโดยหาทางหนีทีไล่ไว้อย่างดี ถ้าเรารู้แหล่งข้าศึกเช่นนี้ข้าศึกมีกำลังมากเท่าไหร่เราก็ทำลายได้
กลศึกที่ 7 พวนเรือโยง เย้าให้ผอม เมื่อเริ่มรบต้องปะทะและหาข่าวไปก่อน เมื่อทราบสิ่งต่าง ๆ แน่นอนดีแล้วก็เข้าปฏิบัติการอย่างเต็มที่ได้ โดยการหาข่าวลาดตระเวนปะทะเพื่อเข้าตีข้าศึกทำให้สูญเสีย หรือเข้าต่อสู้เพื่อให้ข้าศึกเตรียมการใหญ่ ไม่เป็นอันทำมาหากิน ข้าวยากหมากแพง ทำให้ทหารเสียขวัญกำลังอ่อนลง เราจะเข้ามาทำลายได้สำเร็จ
กลศึกที่ 8 โพงน้ำบ่อ จอมปราสาท ต้องจับให้ได้ว่าข้าศึกมีความมุ่งหมายอย่างไร ถ้ารู้ได้ชัยชนะก็เป็นที่หวังได้ โดยต้องเตรียมกำลังรบให้พร้อมเสมอ เมื่อสบโอกาสต้องเข้าปฏิบัติการอย่างรวดเร็ว ซึ่งการรู้จุดหมายของข้าศึกด้วยกลอุบายต่าง ๆ เพื่อล้วงเอาความลับออกมาจนได้
กลศึกที่ 9 ล่อช้างป่า ราชปัญญา การดึงข้าศึกมายังจุดที่ทำลายนั้น ต้องใช้หลักวิชาทุกประการ คือต้องรวมทุกกลยุทธ์เข้ามาใช้ และใช้ปัญญาอย่างมาก เช่นสมเด็จพระนเรศวรทำที่บางแก้ว ในการลวงข้าศึกให้มายังจุดที่เราทำลายได้
กลศึกที่ 10 ฟ้างำดิน หมั่นสำเนียกพลพรินฒามาตย์ ให้ใจอาจหาญ ชำนาญช้างม้ากล้าณรงค์ มั่นคงชี้ฉับเฉียว เหลือบเหลียวหน้าซ้ายขวา โดยต้องหมั่นฝึกแม่ทัพนายกองให้มีการเตรียมพร้อมและว่องไวอยู่เสมอ
กลศึกที่ 11 อินทรพิมาน อันเกี่ยวกับหลักโหราศาสตร์ดังที่กล่าวว่า ให้อาจารย์ผู้รู้ แพทยาครูฝังนพบาท แต่งสีหนาทข่มนาม ตามโบราณผู้แม่น อันชาญแกว่นเห็นประโยชน์ บรรเทาโทษโดยสาตร หากมองโดยนัยเป็นเหมือนการเรียกขวัญกำลังใจในการรบ
กลศึกที่ 12 ผลาญศัตรู ข้าศึกดูองอาจ บ่พลาดราษฎรกระทำ นำพลพยัคฆปะเมือง พลนองเนืองแสนเต้า แจกเราเขาชาวเรา เอาอาวุธจงมาก ลากปืนพิศพาดไว้ ขึ้นหน้าไม้ธนู กรูปืนไฟจุกช่อง ส่องจงแม่นอย่าคลา บทนี้เน้นการต่อสู้แบบตาต่อตาฟันต่อฟัน แต่ยังย้ำเตือนถึงการเตียมพร้อมไม่ประมาท ปลุกปลอบไพร่พลให้มีความฮึกเหิม และอย่าทะนงตนว่าเก่งกาจ ให้อยู่ในระเบียบวินัยแห่งการรบ
กลศึกที่ 13 ชูพิษแสลง ข้าศึกแรงเรืองฤทธิ์ คิดไผภัยเอาเรา เคยเขามากมาก ภาคที่คับแคบที่คับ สลับรี้พลช้างม้า เคยคลาปล้นรุกราน ผลาญล่อลวงบ้านเมือง เนืองเนืองมาเพื่อตน ให้ใส่กลปราศรัย ฝากของไปฝากรักษ์ ลักลอบให้เงินทอง รางวัลปองขุนใหญ่ หัวเมืองไพร่ข้าศึก ความหมายของบทนี้ร่ายถึงการยุยงให้ข้าศึกแตกคอกันเอง ทั้งด้วยการพูดและให้ของกำนัล
กลศึกที่ 14 แข็งให้อ่อน ผ่อนเมื่อศัตรูยก ให้ดูบกดูน้ำ ซ้ำดูเขาอย่าพิศ พินิจพิศจงแหลก ตัดไม้แบกเบื่อเมา เอาไปทอดในน้ำ ทับซ้ำหนามแหนบขวาก แต่งจงมากท่าทาง วางจ้าวแหลมเลห์ กลศึกนี้จงใจให้หลอกล่อคู่ต่อสู้ที่บุกมาให้เผาผลาญกำลังไปเรื่อย ๆ จนหมดเสบียงและกำลัง โดยอาจใช้การซุ่มโจมตี
กลศึกที่ 15 ยอนภูเขา ข้าศึกเนาประชิ ให้ริดูชองชอบ ที่จะขอบจะขัง แต่งระวังยักย้าย ฝ่ายพลเขาเอาเสบียง เรียงงานในเมืองเรา เอาใจไพร่ใจพล คนอยู่ประจำการ พนักงานใครใครรบ แต่งบรรจบพลแล่น ให้ทำแกว่นชวนกัน ในความหมายของการศึกย่อมมีหมู่พลที่สอดแนมเข้ามา จึงต้องวางกลอุบายเพื่อให้ข่าวลวง เพื่อข้าศึกจะได้ข่าวผิดจากความเป็นจริง
กลศึกที่ 16 เย้าให้ผอม ปันเมื่อเธอลีลา พาธาอริราช ให้พินาศศัตรู หมั่นตรวจดูกำลัง ช้างม้าทั้งรี้พล ปรนกันเปลี่ยนไปลาด ผาดจูเอาแต่ได้ หนังสือไว้หมายหมก อาจยกพลหลวง ลวงใส่กลเป็นเขต หมายถึงการใช้ทหารหน่วยย่อยรบพุ่งก่อ กวนตลอดปี จนฝ่ายตรงข้ามเกิดความหวาดกลัว และต้องเตรียมกำลังพลตลอดปี โดยไม่มีเวลาทำไร่ไถนา สิ่งสำคัญคือต้องเตรียมเสบียงให้พร้อมตลอดปี
กลศึกที่ 17 จอมปราสาท อย่าทำกลดุจเสือ บกเรือจงชำนาญ ชาญทั้งที่โดยกระบวน คิดควรรู้จะผับนับหน้าอาสา หาคนดีเป็นเพื่อน อย่าเลือนถ้อยให้เสียคำ ทำอันใดทำโดยสาตร ตามฉบับโบราณ ก็ทำการให้รอมชอม อันหมายถึงการรู้ทิศทางตั้งค่าย และการใช้คนให้เป็นในการแต่งตั้งคนให้เหมาะสมกับหน้าที่ เพราะหากไม่เหมาะสมเตรียมแพ้ไว้ได้เลย
กลศึกที่ 18 ราชปัญญา พร้อมเสนาทั้งสองข้าง ช้างม้ารถเสมอกัน หานักธรรมผู้ฉลาด อาจใส่กลไปปลอมด้อมดูที่ดูทาง วางต้นหนคนใช้ ไว้กังวลแก่เขา เอาศีลให้หฤหรรษ์ อันหมายถึงหากข้าศึกทัพทั้งสองฝ่ายมีแม่ทัพแก่งกาจพอ ๆ กัน ให้ใช้สายลับยุแหย่แตกแยก ทั้งด้วยสินบนและกลนานา ซึ่งสมัยก่อนมักใช้สายลับที่มีอายุคือผู้ทรงศีล เพื่อให้ข้าศึกเกรงขาม
กลศึกที่ 19 ฟ้าสนั่นเสียง เสียงพลพยู่หกำหนด กฏประกาศถึงตาย หมายให้รู้ถ้วนตน ปรนปันงานณรงค์ ยวดยงกล่าวองอาจ ผาดกำหนดกฎตรา ยามล่าอย่าลืมตน ทำยุบลสิงหนาท ดุจฟ้าฟาดสายแสง คือการใช้ทหารบุกอย่างรวดเร็ว แล้วใช้เสียงฆ้องกลองข่มขวัญข้าศึก
กลศึกที่ 20 เรียงหลักยืน ให้ชุ่มชื่นรุกราน ผลาญให้ครอบทั่วพัน ผันเอาใจให้ชื่น หื่นสร้างไร่สร้างนา หาปลาล่วงแดนต่าง โพนเถื่อนข้างล่วงแดนเขา เอาเป็นพี่เป็นน้อง เป็นกลยุทธ์ที่ค่อย ๆ ขยายอำนาจอย่างช้า ๆ เข้าชิงพื้นที่ทีละน้อย ส่งคนเข้าไปสร้างความคุ้นเคยหรืออยู่อาศัย แต่งงานอยู่กินจนกลายเป็นพวกเดียวกัน
กลศึกที่ 21 ปืนพระราม อย่ามีความโกรธขึง ทรจิงใจหนักฤกษ์ สำแดงศึกใหญ่มา พาธาจงคอยพัง ให้ระวังทวยแกล้ว แนวอย่าแวนแว่นไว ได้แล้วกลับคืนรอด หมาย ความถึงหากข้าศึกมีมากกว่าเกินจะชนะได้ ต้องรู้จักถอยทัพให้เป็น
21 กลศึกที่ว่ามาหากรู้จักประยุกต์ใช้ย่อมเกิดผล แต่สิ่งสำคัญในตำรากำชับไว้อย่างหนักแน่น คือคุณธรรมขุนพล เมื่อใดที่ขาดต่อให้มีทัพเก่งกาจเพียงไรย่อมแพ้ภัยตัวเอง.