ทุ่งสังหาร นรกบนดินในยุคเขมรแดง

ทุ่งสังหาร นรกบนดินในยุคเขมรแดง

1382259549-PA170173-o

คำว่า genocide เป็นคำที่รุนแรง มันมากกว่าคำว่า murder ที่แปลว่าการฆ่า หรือฆาตกรรม และมากกว่าคำว่า kill ที่แปลว่า การฆ่า genocide เป็นคำที่พูดถึงการฆ่าคนเป็นจำนวนมาก เป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หรือการทำให้ชาติใดชาติหนึ่ง กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งสูญพันธุ์ให้ได้

อนุสรณ์นี้หากมองดูเพียงภายนอกแล้ว หลายคนอาจจะคิดว่ามันก็คืออนุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงเอกราชของชาวเขมรเท่านั้น แต่ใครจะรู้ว่าภายในมันกลับบรรจุไว้ด้วยเรื่องราวอันโหดเหี้ยมและภาพอันน่าสะพรึงกลัวที่ไม่มีวันจะลบเลือนไปจากความทรงจำของชาวเขมรได้เลย เพราะภายในอนุสรณ์สถานเจืองเอ็กนั้นคือสถานที่เก็บหัวกะโหลกของชาวเขมร เหยื่อของการสังหารโหดที่เรียกว่า “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” เมื่อประมาณเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา มันจึงเป็นเสมือนสถานที่แสดงถึงความโหดร้ายและระลึกถึงผู้เสียชีวิตชาวเขมรที่ต้องดับดิ้นลงไปด้วยน้ำมือของคนชาติเดียวกัน

เชื่อว่าชาวเขมรที่ยังคงมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันนี้ คงจะไม่มีใครลืมเลือนเหตุการณ์ ในปี ค.ศ.1975 ที่ชีวิตคนประมาณ 1 ล้าน 7 แสนคน ได้ถูกนำไปทารุณอย่างโหดร้าย ก่อนที่จะถูกส่งไปยังสนามแห่งหนึ่งตรงช่องเอกในจังหวัดกันดาล ชานกรุงพนมเปญ ซึ่งชาวเขมรรู้จักกันดีในนามของ “Killing Fields” หรือ “ทุ่งสังหาร” ณ ที่แห่งนี้เหยื่อทั้งหมดถูกยิง ถูกตัดหัว ถูกทุบตี ถูกแทงและอีกสารพัดวิธีการทรมานสุดแต่ที่ชาวเขมรด้วยกันจะคิดออกมาได้

ว่ากันว่าถ้าเหยื่อเป็นเด็กจะถูกจับเท้าและฟาดอย่างแรงกับต้นไม้จนตายคาที่ จากนั้นก็จะถูกจับแขวนคอยังกิ่งไม้ในรอบๆ ทุ่งสังหาร ถ้าเป็นผู้ใหญ่ก่อนที่จะถูกฆ่าพวกเขาจะถูกบังคับให้ขุดหลุมขนาดใหญ่เหมือนกระทะ เมื่อขุดเสร็จก็จะถูกยิงทิ้งในหลุมนั้นทันที เหยื่อทั้งหมดนอนตายอย่างทุกข์ทรมานในสนามแห่งนี้และคงเหลือไว้เพียงหัวกะโหลกให้คนรุ่นหลังได้เห็นเท่านั้น โดยต่อมาได้มีการสร้างอนุสาวรีย์ครอบหัวกะโหลกเอาไว้ ซึ่งก็คืออนุสรณ์สถานเจืองเอ็กในปัจจุบันนั่นเอง

เชื่อหรือไม่ !? เรื่องสยองทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพราะคน 2 คนแท้ๆ และสองคนนี้เป็นคนเขมรโดยกำเนิด แต่ใจเขาสุดอำมหิตจนเป็นเหตุให้คนเขมรตายถึง 3 ล้านคน คนแรกคือนายเขียว สัมพันธ์ และคนที่สองคือ พอล พต (Pol Pot)

ซาลอท ซาร์ (Saloth Sar) หรือ พอล พต (1925-1998) เป็นผู้นำเขมรแดงและเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศกัมพูชาในปี ค.ศ.1976-1979 – พอล พต มีชื่อเดิมว่าชาลอท ชาร์ เกิดเมื่อปี ค.ศ.1925 ที่เมืองกำปงธม ในครอบครัวเศรษฐีหัวสมัยใหม่ พ่อเป็นเจ้าที่ดินที่มั่งคั่ง ส่วนพี่สาวและญาติฝ่ายหญิงทำงานในวัง (เป็นนางรำ แต่บางแหล่งบอกว่าเป็นสนม)

ในเวลานั้นกัมพูชาอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อกำลังสับสนวุ่นวาย เนื่องจากขณะนั้นเขมรยังถูกฝรั่งเศสยึดเป็นอาณานิคมอยู่ ทำให้วัยรุ่นนักศึกษาเขมรเกิดแฟชั่นฮิตในการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ โดยหวังว่าการปกครองนี้จะช่วยให้กัมพูชาเจริญก้าวไกลกว่าประเทศอื่นๆ

พอล พต ในตอนเด็กนั้นไม่มีเค้าของผู้นำที่โหดร้ายในอนาคตสักนิด เขาเป็นเด็กเรียบร้อย มารยาทงาม ชอบคิดคนเดียวเงียบๆ มากกว่าจะพูด คะแนนการเรียนใช่ว่าจะดีเลิศมากมายนัก แต่กระนั้น พอต พต ก็มีดีอยู่อย่างคือ เขาเก่งภาษาฝรั่งเศสและความที่เป็นเด็กเส้นทำให้เขาได้ทุนเรียนเมืองนอกที่กรุงปารีสในสาขาเกี่ยวกับไฟฟ้าและคลื่นวิทยุเมื่อปี ค.ศ.1949

แม้จะไปเรียนนอกก็ตาม แต่พอล พต ใช่ว่าจะตั้งใจเรียนมากนัก คะแนนสอบเขาห่วยจัด เอาแต่หมกอ่านหนังสือไปวันๆ ไม่นานก็เริ่มเบื่อที่จะคุยกับเพื่อนๆ ในสาขาเดียวกันและมุ่งหาเพื่อนที่มีแนวคิดที่เสมือนกับเขาและที่สำคัญจะต้องเป็นคนชาติเดียวกันกับเขา นั่นคือ “สายเลือดกัมพูชา”

ต่อมาไม่นานนัก เขาได้มาพบกับเพื่อนที่เขาต้องการ บุคคลที่จะนำพาชีวิตและอุดมการณ์ของเขาให้เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง โชคชะตาพา “เขียว สัมพันธ์” และ “พอล พต” ให้มาพบกัน ทั้งสองพูดคุยกันได้อย่างถึงพริกถึงขิง – เขียว สัมพันธ์ ได้ให้เหตุผลถึงการมีอยู่ของรูปแบบทุนนิยมอันจะก่อให้เกิดการทำลายกันเองให้พอล พต ได้ฟัง จนทำให้พอล พต ถึงกับอึ้งในความคิด เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา เขาคิดว่าฝรั่งเศสจะช่วยพัฒนาชาวเขมรให้ดียิ่งขึ้น

แต่เพราะการเปิดประเด็นของเขียว สัมพันธ์ ที่กล่าวถึงนโยบายประเภทเลี้ยงสัตว์ป่าให้อยู่ในบ้าน ซึ่งเป็นวิธีที่สอนให้ชาวเขมรไม่ขยันขันแข็ง มีการส่งเสริมการพักผ่อนกลางวันถึง 2 กะ ทำให้ชาวเขมรไม่กระตือรือร้นและใฝ่รู้ในการเรียนและฝรั่งเศสจะได้ปกครองง่ายๆ

นายเขียวเอ่ยปากทฤษฎีที่เขาศึกษาว่านี่คือวิธีการปกครองที่เหมาะแก่ประเทศกัมพูชาแก่พอล พต ว่า“ลบล้างกฎเกณฑ์และเรื่องราวทุกอย่างของชาติตะวันตก (ฝรั่งเศส) ที่เคยวางรากฐานปกครองกัมพูชาเอาไว้ ยุติการแสวงประโยชน์ในทุกทาง ให้ประเทศกัมพูชาเจริญในการปกครองแบบชนบท คือ ไม่มีเมืองใหญ่ ไม่มีโรงงานอุตสาหกรรม ไม่มีระบบเงินตาและไม่มีการศึกษา” แม้ทฤษฏีนี้จะเป็นแค่ลมปากของนายเขียว แต่พอล พต ชอบใจมาก เขาคิดว่าจะนำทฤษฏีนี้มาใช้กับประเทศกัมพูชาในอนาคต

เดินเข้าไปตรงอนุสรณ์สถานที่ตั้งตระหง่านท้าแดดท้าฝน เป็นที่เก็บกระโหลกของเหยื่อผูเสียชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของเขมรแดง

กะโหลกศรีษะของผู้เสียชีวิตจะวางเรียงรายเข้าไปด้านใหน และมีหลายชั้นสูงขึ้นไป  เป็นครั้งแรกที่ได้เห็นกะโหลกศรีษะมนุนย์แบบชัดๆ  มันช่างดูน่ากลัวจริงๆ  นี่ขนาดเวลาผ่านมานานหลายปีแล้ว

จากนั้นพอล พต ก็เริ่มหลงใหลคอมมิวนิสต์ อีกสองปีต่อมา คือในปี ค.ศ.1952 เขาเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส ซึ่งต่อต้านลัทธิต่อต้านอาณานิคม ร่วมกับนายเส็ง สาลี ซึ่งเคยอยู่ที่กรุงเบอร์ลิน และต่อมาสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ได้ก่อวีรกรรมที่ทำให้ตนเองต้องถูกลอยแพ

นั่นคือการส่งจดหมายเปิดผนึกไปยังสมเด็จสีหนุ ตราหน้าว่าเป็นฆาตกรประชาธิปไตยที่ยังตั้งไข่ ทำให้ฝรั่งเศสสั่งปิดสมาคมนักศึกษากัมพูชา (KSA) และถูกระงับเงินทุนเข้าประเทศ ทำให้สมาคมนักศึกษาต้องแตกกระเซ็น – พอล พต ต้องเดินทางกลับประเทศพร้อมกับเขียว สัมพันธ์ ในปี ค.ศ.1953 และทำงานในโรงเรียนเอกชนในกรุงพนมเปญ

แต่ฉากหลังนั้นทำงานให้กับสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ ไม่นานนัก พอล พต ออกพื้นที่ไปยังจังหวัดกำปงจามเพื่อร่วมมือกับพวกเวียดมินห์ในช่วงสงครามกับฝรั่งเศส ต่อมาก็กลับมาที่พนมเปญเพื่อทำหน้าที่เป็นตัวประสานงานระหว่างพรรคการเมืองหัวเอียงซ้ายและพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งแบ่งออกเป็นสองปีกคือปีกสนับสนุนเวียดนามและปีกต่อต้านเวียดนาม

ในปี ค.ศ.1954 กัมพูชาเกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย ไม่ว่าจะเป็นกัมพูชาได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสในข้อตกลงของสนธิสัญญาเจนิวา หลังสงครามโลกฝรั่งเศสเจ้าอาณานิคมเก่าต้องการกัมพูชากลับมาไว้ในมือเหมือนเดิมเพื่อรักษาสภาพคล่องทางการเงินและต่างประเทศ แต่ทางกัมพูชาได้รับบทเรียนนั้นแล้ว จึงไม่ยอมแน่นอนและได้ทำการขับไล่กองทัพฝรั่งเศสจนเรียกได้ว่าเผ่นป่าราบจนไปถึงสมรภูมิที่คนยุคหลังเรียกว่า “เดียนเบียนฟู”

กษัตริย์ของเขมรนั่นคือ สมเด็จพระนโรดม สีหนุ (เรียกสั้นๆ ว่า สมเด็จสีหนุ) ทรงได้รับเลือกจากสภาให้สืบราชสมบัติจากพระอัยกา (ท่านตา) คือสมเด็จสีศวัด มนีวงศ์ ตั้งแต่ปี ค.ศ.1941 ในภายหลังพระองค์ได้ทรงสละราชสมบัติให้พระบิดาคือสมเด็จพระนโรดม สุระมฤติ ทรงดำรงเป็นกษัตริย์แทน เพื่อมาลงรับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี

สมเด็จสีหนุได้ทรงพยายามนำประเทศให้ทำตัวเป็นกลางปลอดจากจากกองกำลังเวียดนามและต้องการรวบอำนาจไว้แต่เพียงผู้เดียวจึงให้พรรคการเมืองต่างๆ ปะทะกันเอง พระองค์ยังทรงปราบปรามพรรคการเมืองที่มีแนวคิดแบบสุดโต่ง พรรคคอมมิวนิสต์ก็โดนผลกระทบนี้ด้วย กลุ่มแกนนำที่สำคัญโดนฆ่าตัดตอนจนมากมายหลายคน – พอล พต จึงได้เลื่อนขึ้นมารับตำแหน่งในพรรคอย่างรวดเร็ว ต่อมาในปี ค.ศ.1963 ทางการกัมพูชาได้ขึ้นบัญชีดำพอล พต เป็นอาชญากรหมายเลขหนึ่งที่ทางการต้องการตัวมากที่สุด

ปี ค.ศ.1963 พอล พต จำต้องลี้ภัย เขาเลือกที่จะหนีไปเวียดนามและขอความช่วยเหลือจากเวียดนามเหนือ (ตอนนั้นเวียดนามยังคงแบ่งเป็นเวียดนามเหนือกับเวียดนามใต้) จัดตั้งกองกำลังเป็นเขมรแดงหรือกลุ่ม Khmer Rouge (Red Cambodians) แต่ในตอนนั้นเวียดนามเหนือกำลังสู้กับสหรัฐฯ ทำให้ไม่สามารถช่วยพอต พต ได้มากนัก – พอล พต สิ้นหวังกับเวียดนามเหนือ เขาเลยเดินทางไปยังจีน เขาได้รับการตอนรับอย่างดีจากพวกซ้ายจัด อีกทั้งเขาได้แนวคิดใหม่ๆ จากจีน และอยากนำมาใช้อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรม นโยบายก้าวกระโดด

ปฎิวัติโหด

ในปี ค.ศ.1966 พอล พต กลับมากัมพูชา เวลานั้นประชาชนเขมรกำลังทะเลาะกัน เนื่องด้วยพวกชาวนาออกมาต่อต้านรัฐบาลของสมเด็จสีหนุเพราะไม่สามารถแก้ไขราคาข้าวได้ ทำให้ชาวเขมรหลายคนเข้าร่วมพรรคคอมมัวนิสต์ของพอล พต มากยิ่งขึ้น อีกหนึ่งปีต่อมาพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งกลับมาใช้ชื่อเดิมคือ Communist Party of Kampuchea หรือ CPK (แปลเป็นไทยได้ว่า “พรรคคอมมิวนิสต์แห่งกัมพูเชีย (กัมพูชา)”)

จากนั้นเป็นต้นมาสงครามกลางเมืองเขมรก็เริ่มต้นขึ้น แม้ทหารจากรัฐบาลจะมีจำนวนมากกว่ากองกำลังของพอล พต และเวียดนามเหนือไม่มาช่วยเหลือก็ตาม แต่กระนั้นปี ค.ศ.1968 พอล พต ก็ก้าวมาเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดของกลุ่มเขมรแดงที่เรียกว่า ประธานพรรค (Collective Leaders) มีผู้ติดตามนับร้อย ปกป้องเขาอย่างกับไข่ในหิน

ย้อนกับมายังสมเด็จสีหนุพระมหากษัตริย์และนายกรัฐมนตรี      ต่อมาพระบิดาของพระเจ้าสีหนุซึ่งครองราชย์อยู่ในกัมพูชาเพียง 5 ปีก็ทรงสวรรคต     ทำให้พระเจ้าสีหนุดำรงตำแหน่ง 2 ควบนั่นคือ    พระมหากษัตริย์และนายกรัฐมนตรีไปด้วย   พระองค์เจอปัญหารอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นความล้มเหลวในการบริหารประเทศ การเมืองที่ร้อนฉ่า

และแล้วทุกสิ่งทุกอย่างก็เปลี่ยนไป ในปี ค.ศ.1970 สมเด็จสีหนุเสด็จเดินทางไปรักษาโรคมะเร็งที่จีนและโซเวียต นายพลลอน นอล ถือโอกาสปลดพระองค์ออกจากตำแหน่งประมุขของรัฐและยึดอำนาจมาไว้เป็นของตนเอง – นายพลลอน นอล มีแนวคิดไม่สนับสนุนเวียดนามเหนือและร่วมมือสหรัฐทุกรูปแบบ (มีข่าวลือว่า CIA อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ครั้งนี้)

ในที่สุดเหตุการณ์ปานปลาย สงครามกลางเมืองของกัมพูชายิ่งเลวร้ายขึ้น สมเด็จสีหนุตอนนี้ติดค้างในปักกิ่ง พยายามออกรายการวิทยุเพื่อปลุกระดมต่อต้านรัฐบาล แต่ก็ใช่ว่าวิธีนี้จะได้รับผลดีมากนัก สมเด็จสีหนุเลยต้องเข้าไปจูบปากกับศัตรูคู่แค้นที่ครั้งหนึ่งพระองค์เกลียดนักเกลียดหนาอย่างพอล พต เพื่อเข้าร่วมต่อสู้กับรัฐบาลของนายพลลอน นอล

จากเพื่อนเป็นศัตรู-จากศัตรูมาเป็นเพื่อน ทุกสิ่งทุกอย่างคือผลประโยชน์ เวียดนามเหนือก็เข้าร่วมศึกครั้งนี้ด้วย นายพลลอน นอล ที่ได้รับการสนับสนุนจากเวียดนามใต้และสหรัฐฯ ได้ใช้สิทธินี้ขอกำลังฝูงบินของสหรัฐฯ นำทิ้งระเบิดที่ภาคตะวันออกของกัมพูชาทำให้ผู้บริสุทธิ์ตายนับพัน

เหตุการณ์แทนที่จะดีกลายเป็นร้ายขึ้นเรื่อยๆ ชาวบ้านเขมรเหม็นขี้หน้านายพลลอน นอล สุดขาดใจ ถึงขั้นจับนายลอน นิล พี่ชายของลอน นอล ไปคว้านท้องเอาตับมาต้มแบ่งกิน รัฐบาลของลอน นอล เต็มไปด้วยคอรัปชั่น บ้านเมืองไม่มีเขื่อนมีแป ถึงขนาดข้าราชการบางคนเอาปืนไปขายให้พวกคอมมิวนิสต์ไปยิงชาวบ้านเล่นก็มี ตัวนายพลลอน นอล ก็อ่อนแอ ล้มเหลวในการบริหารประเทศ วันๆ เอาแต่ขอความช่วยเหลือสหรัฐฯ

พอล พต อาศัยจังหวะสะสมกองกำลังและปัจจัยการรบมากขึ้นเรื่อยๆ เขาปลูกฝังอุดมการณ์ของคอมมิวนิสต์ที่ทำให้คนเรามีฐานะเท่าเทียมกันในสังคม ทำให้ชาวนาที่ยากจนชอบเขมรแดงมากขึ้นและพื้นที่การครอบครองของเขมรแดงก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ปี ค.ศ.1972 เวียดนามเหนือยุติการรบกับรัฐบาลนายพลลอน นอล และส่งมอบภาระให้กับพอล พต กับกองทัพต่อไปและด้วยความสนับสนุนจากประเทศจีน บวกกับตัวนายพลลอล นอล ได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐน้อยลง ทำให้พอล พต ยึดกัมพูชาได้เมื่อปี ค.ศ.1975 กองทัพเขมรแดงได้รับชัยชนะ นายพลลอน นอล ลี้ภัยไปตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนก่อนที่กองทัพเขมรแดงจะเข้ายึดเมืองหลวง ทันทีที่กองทัพเขมรแดงภายใต้การนำของพอล พต ยึดเขมร สิ่งแรกที่พอล พต ออกคำสั่งไปคือให้นำผู้นำระดับสูง ข้าราชการ ลูกจ้างรัฐบาลและผู้นำระดับสูงของรัฐบาลหลายคนไปยิงทิ้งกันต่อหน้าสาธารณชน

เช้าของวันที่ 17 เมษายน ค.ศ.1975 กองกำลังของเขมรแดงเดินแถวกันเข้ามาในกรุงพนมเปญบนถนนที่รกร้างว่างเปล่า กองกำลังนี้แต่งตัวเหมือนชุดชาวนาหรือไม่ก็ชุดสีกากีแบบง่ายๆ อายุเฉลี่ยประมาณ 15 ปี พวกเขาไม่สนใจการต้อนรับของประชาชนมากนัก แม้ว่าช่วงนี้จะเป็นช่วงปีใหม่ของเขมรพอดี (บางที่บอกว่าเป็นวันชาติของกัมพูชา)

รูปทหารชุดดำเข้ากรุงพนมเปญ ประชาชนต่างสวมกอดเพราะคิดว่าการเมืองที่วุ่นวาย ในเมืองหลวงคงจะสงบลงเสียที่แต่หารู้ไม่ว่าเหล่า ทหารชุดดำเหล่านี้จะมีความโหดเหี้ยมป่าเถื่อนผิดมนุษย์

พอล พต กล่าวว่าปีดังกล่าวเป็นปีที่เริ่มศักราชใหม่ของเขมรหรือเรียกว่าเป็นปีศูนย์ (Year Zero) เขมรจะเปลี่ยนโฉมเสียใหม่เป็นประเทศที่ประชาชนมีฐานะเท่าเทียมกันและแล้วทฤษฏีเขียว  สัมพันธ์ จึงปัดฝุ่นเพื่อนำมาใช้ จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นความเลวร้าย ความตายครั้งมโหฬารที่สุดในประวัติศาสตร์

รูปแบบการปกครองของเขมรแดงมีจุดประสงค์เพื่อสร้าง “สังคมใหม่” โดยใช้รากฐานทางอุดมการณ์ที่เรียกว่า “อุดมการณ์ปฏิวัติแบบเบ็ดเสร็จ” (Ideology of Total Revolution) ที่มีการรักษาเผด็จการโดยชนชั้นกรรมาชีพเป็นตัวขับเคลื่อน เขมรแดงเริ่มใช้วิธีที่รุนแรงปกครองประเทศ เพื่อปรับปรุงระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมพึ่งตัวเอง รวมถึงการโดดเดี่ยวประเทศออกจากอิทธิผลต่างชาติ ปิดโรงเรียน โรงพยาบาล โรงงาน ยกเลิกระบบธนาคาร เงินตรา ฯลฯ

สิ่งแรกที่เขมรแดงกระทำหลังจากได้รับอำนาจ คือ การกวาดต้อนประชาชนกัมพูชาทั้งหมดจากกรุงพนมเปญและเมืองสำคัญอื่นๆ เพื่อหลบหนีการทิ้งระเบิดจากเครื่องบินของสหรัฐฯ ที่ไม่พอใจว่ารัฐบาลที่ตัวเองหนุนถูกโค่นล้ม พอล พต อ้างว่าการเดินทางนี้ไม่ไกลมากนักและใช้เวลาประมาณสอง-สามวันก็กลับบ้านได้

หลังจากนั้นถนนในกรุงพนมเปญก็เต็มไปด้วยผู้คนมากมาย ทุกคนหวังว่าพวกเขาจะใช้ชีวิตที่ดีกว่ารัฐบาลก่อนหน้า แต่หารู้ไม่ว่าพอล พต นั้นโกหกหน้าด้านๆ สิ่งที่ชาวบ้านพวกนี้ต้องเผชิญคือการถูกบังคับให้เข้าระบบนารวม ต้องทำงานอย่างหนักเพื่อที่จะได้มีเสบียงเลี้ยงคนทั้งประเทศ กรุงพนมเปญกลายเป็นเมืองร้างที่เต็มไปด้วยครอบครัวของผู้นำเขมรแดง โรงพยาบาลก็ร้างคนเพราะคนไข้คนเจ็บหนักก็ถูกกวาดต้อนไปด้วย

การเดินทางของชาวบ้านเพื่อไปที่ทำนา จากที่พอล พต อ้างว่าไม่ไกลนั้น ที่จริงมันไกลมาก ส่งผลให้ชาวบ้านหลายคนต้องตายกลางทางเพราะอาหารและเสบียงในการเดินทางไม่เพียงพอ บวกกับพวกเขมรแดงไม่เชื่อในการแพทย์แผนใหม่จึงเน้นแผนโบราณที่คุณภาพการรักษาไม่ดีนัก

การกระทำดังกล่าวนี้ส่งผลให้ประชาชนชาวกัมพูชาต้องเสียชีวิตจากการถูกสังหาร ถูกบังคับใช้แรงงานและความอดอยากเป็นจำนวนประมาณ 850,000 ถึง 3 ล้านคน ซึ่งเมื่อเทียบอัตราส่วนของประชาชนที่เสียชีวิตต่อจำนวนประชาชนกัมพูชาทั้งหมดในขณะนั้น (ประมาณ 7.5 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2518 (ค.ศ.1975)) ถือได้ว่าระบอบการปกครองของเขมรแดงเป็นหนึ่งในระบอบที่มีความรุนแรงที่สุดในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20

20 เมษายน ค.ศ.1975 ประชากรชาวพนมเปญ (เก่า) ถูกแยกแถวออกจากกันและให้เข้าไปประจำค่ายทำงานคอมมูน (หน่วยกลาง) ซึ่งจุผู้คนได้ครั้งละ 10,000 คน ซึ่งแท้จริงแล้วไม่ต่างจากเรือนจำดีๆ นี่เอง แม้กระทั่งพระสงฆ์ เด็ก หญิงมีครรภ์และเชื้อพระวงศ์บางกลุ่มถูกสั่งการให้ทำงานกลางแจ้งอย่างหนัก มีอาหารรองท้องเพียง 2 มื้อเท่านั้น นั่นคือ ปลาตากแห้งและข้าวต้ม

แน่นอนเมื่อประชาชนถูกสั่งให้ทิ้งบ้านช่องเพื่อไปทำงานให้พวกเขมรแดงอย่างทันควัน มีหรือที่จะไม่มีการต่อต้านจากชาวเขมรแต่คำตอบของเหล่าผู้คุมชาวเขมรแดงตอบ คือการทรมาน การทุบตี การทารุณกรรมทางเพศอย่างย่ำยี รวมไปถึงการสังหารหมู่อันเป็นตำนานที่โหดเหี้ยมที่สุดในเขมร 

นอกจากนี้พอล พต ยังเร่งสร้างเครื่องจักรสังหารเพื่อเข้าสู่กองทัพเขมรแดงทันที โดยการนำเด็กอายุตั้งแต่ 12-15 ปี มาเดินแถวเข้ากัน จากนั้นผู้คุมชาวเขมรแดงจะนำตัวนักโทษการเมืองมาครั้งละมากๆ มาผูกมือ ปิดตาไว้ แล้วผู้คุมจะยื่นไม้หน้าสามหรืออาวุธบางชนิดให้เด็กชายเพื่อนำไปฟาดผู้เคราะห์ร้ายให้ตายไปข้างหนึ่ง ถ้าใครกล้า-ใครทำดีก็จะให้บรรจุเป็นทหารในกองทัพ

นอกจากนี้ในการทำงานที่คอมมูน ซึ่งใช้แรงคนถึง 10,000 คน มีการพักผ่อนอันน้อยนิดและอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ไม่สามารถรองรับคนงานที่ทำงานกลางไร่-กลางแจ้งเกินวันละ 10 ชั่วโมงได้ คนป่วย สตรีมีครรภ์ คนชราและเด็กทารกเพิ่งคลอดคือผู้รับเคราะห์เนื่องจากมีอัตราการตายสูงมาก เพราะร่างกายไม่สามารถทำงานหนักๆ ได้

บางครั้งผู้หญิงที่เพิ่งคลอดจะถูกสั่งให้ไปทำงานหลังพักคลอดเพียง 2-3 วันเท่านั้น ใครที่ทำงานไม่ได้หรือป่วยหนัก มักมีจุดจบอยู่ที่การถูกนำไปยิงทิ้งทันที จากนั้นศพของเขาและเธอเหล่านั้นจะถูกส่งลงหลุมฝังหมู่ทันที มีไม่น้อยที่จะเสียชีวิตเพราะขาดสารอาหารตาย ส่วนผู้ป่วย-คนพิการ ถือเป็นตัวถ่วงความเจริญของประเทศ

พอล พต ก็ไม่รอช้าที่กำจัดบุคคลเหล่านี้ การกำจัดมีหลายวิธี แต่ต้องให้โอกาสก่อน (ช่างเมตตาเหลือเกิน) นี่คือคำชี้แจงของเขียว สัมพันธ์ เพราะแม้จะพิการ-สติไม่ดี ก็จะนำมาใช้แรงงานเหมือนบุคคลปกติ เมื่อหาประโยชน์จากเขาเหล่านั้นไม่ได้ สิ่งที่จะใช้ปิดฉากนั้นคือ การฟาดให้ตายหรือสาดตะกั่วสังหารเขาเหล่านั้น

ผู้ใดหลบหนีจากคอมมูนจะถูกนำไปฝังทั้งเป็น จากนั้นชาวเขมรแดงจะทำกิจกรรมหลายๆ อย่างจากร่างของเหยื่อเหล่านั้น เช่น การปัสสาวะ ถ่มน้ำลาย รวมไปถึงการทุบตีขณะที่เหยื่อไม่สามารถปกป้องตนเองได้

คนจำนวนมากที่หิวโหยถึงขีดสุดนั้นมักจะหาโปรตีนมาเสริมให้ร่างกาย ทว่าในคอมมูนกักกันจะหาโปรตีนที่ไหนได้นอกจากซากศพของคนงานด้วยกันที่พวกเขาเห็นว่าเพิ่งถูกสังหาร พวกเขาจะวางแผนกันยามค่ำขณะที่ทหารเขมรแดงเผลอไผล รีบไปยังหลุมฝังเพื่อฉีกกระชากซากศพ เพื่อนำเลือดและเนื้อจากซากศพไปหลอมเป็นโปรตีนให้แก่ร่างกายเพื่อจะได้มีชีวิตรอดต่อไปในวันข้างหน้า

ผู้ที่รอดพ้นทหารเขมรแดงเมื่อรอดก็รอดไป แต่เมื่อเขาถูกจับได้ ผลที่ตามนั้นอาจทรมานยิ่งกว่าความตาย – ทหารเขมรแดงจะนำเชือกรัดมือ-รัดเท้า เป็นแท่นตรงๆ เพื่อนำไปเสียบกับหลุมที่ขุดไว้ จัดการฝังรากลึกลงไป แค่นั้นอาจยังไม่อำมหิตพอมือ เพราะหลังจากนั้นเขาจะกลับศีรษะของเหยื่อกินศพรายนั้นและเอาศีรษะของเขาจิ้มลงพื้นดินเสมือนนกกระจอกเทศที่เมื่อตกใจจะฝังหัวลงไปในพื้นดิน แน่นอนเหล่านักกินศพไม่อาจทนได้กับการฝังให้หายใจไม่ออกจนตาย ในที่สุดพวกเขาก็ได้ตาย

เรื่องสิ่งที่น่าสะพรึงกลัวและทั่วโลกจดจำที่สุดคือคุกนรกของเขมรแดงนั่นเอง คุกที่โด่งดังที่สุดก็ได้แก่ คุกหมายเลข 21 (S-21) คุกตุล สาเลช (Tuol Sleng) ที่สมัยก่อนเคยโรงเรียนมัธยม มาบัดนี้เขมรแดงได้ดัดแปลงจนกลายเป็นนรก ในช่วงสี่ปีที่เขมรแดงครองอำนาจมีคน 17,000-20,000 ถูกนำมาขังและฆ่าที่นั่น

โดยคนเหล่านี้ถูกยัดเยียดว่าเคยก่ออาชญากรรมหรือข้อหาที่ฟังๆ ดูไร้สาระ เช่นความสัมพันธ์กับชาวต่างชาติ อ่านหนังสือออก เป็นต้น จุดเด่นของคุกนี้คือเมื่อนักโทษถุกนำมาจะถูกถ่ายรูปพร้อมหมายเลขเก็บประวัติ จากนั้นก็มีการทำสอบสวนโดยการทรมานแบบโหดร้าย มีการทรมานด้วยเครื่องมือทรมานแบบยุคกลาง เช่น ทุบตี ไฟฟ้าซ็อต ถอดเล็บ พวกผู้คุมไม่นิยมให้นักโทษตายคาที่มากนัก พวกเขาอยากทรมานนักโทษมากกว่า เช่น บังคับให้กินอุจาระหรือปัสสาวะ ถูกล่ามอยู่ตลอดเวลาแม้แต่นอนหลับ

หลังจากทรมานจนสาแก่ใจแล้ว พวกนักโทษก็จะถูกส่งไปยังเจืองเอ็ก (Choeung Ek) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ทุ่งสังหาร” (The Killing Field) เพื่อนำไปสังหารโดยวิธีการต่างๆ โดยไม่ใช้กระสุนปืนในการฆ่าและเมื่อฆ่าแล้วจะฝังศพเป็นหมู่ ภายหลังคุกทั้งสองนี้ถูกเวียดนามเข้ายึดได้ในปี ค.ศ.1979 ก็พบว่าคุกแรกมีนักโทษรอดชีวิตเพียงเจ็ดคนเท่านั้น

ส่วนทุ่งสังหารก็พบศพกว่า 8,895 ศพ ในหลุมขนาดใหญ่ ที่น่าสนใจคือในคุกแห่งนั้นมีนักโทษที่เป็นชาวต่างชาติด้วย เช่นชาวอเมริกันสองคน ทั้งสองไม่ได้ทำผิดอะไรเลย เพียงแค่พวกเขาล่องเรือจากไทยแล้วหลงทางมายังเขมรเท่านั้น พวกเขาถูกจับแล้วมาทรมานจนเสียชีวิตในนรกแห่งนี้ ปัจจุบันสถานที่ทั้งสองได้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อระลึกถึงความโหดร้ายของเขมรแดง

4 ปีแห่งความทรมานของชาวเขมรกับแผนพัฒนาประเทศ (หรือแผนสังหารประเทศ) ของเขียว สัมพันธ์ ในที่สุดพอล พต ได้ตัดสัมพันธ์กับเวียดนาม-พันธมิตรเก่าอย่างไร้เยื่อใย เวียดนามโกรธมากที่กัมพูชาทำอย่างนั้น จึงได้ส่งกองกำลังขนาดใหญ่บุกกัมพูชาในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ปี ค.ศ.1978 ได้ชัยชนะในกลางเดือนมกราคม ค.ศ.1979 ขับไล่พวกเขมรแดงออกไปตั้งหลักอยู่บริเวณติดกับชายแดนประเทศไทย ใกล้ๆ ตราดและอุบลราชธานี จนกระทั่งกลับกลายเป็นกลุ่มกองโจรกระจอกในที่สุด ส่วนพอล พต, เขียว สัมพันธ์ และผู้นำระดับสูงคนอื่นๆ หนีรอดไปได้ ข่าวคราวของพอล พตและเขียว สัมพันธ์ หายไปจากประวัติศาสตร์เขมรนานนับสิบปี (มีข่าวว่ารัฐบาลไทยช่วยเหลือหาที่หลบซ่อนพอล พต)

จากนั้นดูเหมือนจะเป็นเวรกรรม … พอต พต ป่วยเป็นโรคร้ายเขาอัมพาตครึ่งตัว แต่กระนั้นเขาก็ยังเป็นผู้นำเขมรแดงอยู่ แม้ว่าเขาจะสละอำนาจไปให้คนอื่น แต่คนพวกนี้ก็เป็นเพียงหุ่นเชิดของพอล พต เท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามเขมรแดงของพอล พต ก็ไม่มีอิทธิพลอะไรอีกแล้ว สมาชิกสำคัญหลายคนของเขมรแดงยอมจำนนและเข้าร่วมรัฐบาล ขนาดนายเล็ง สารี ซึ่งเป็นน้องเขยของพอล พต ยังขอยอมแพ้ หรือแม้แต่ตัวนายซอน เซน ก็ถูกพอล พต ยิงทิ้งข้อหาที่พยายามหักหลัง

ชีวิตพอล พต ช่วงสุดท้ายเหมือนชายชราที่หลงลืมๆ อัลไซเมอร์ ที่เอาแต่พูดเรื่องอดีตและอยู่อย่างสิ้นหวัง จนสมาชิกเขมรแดงบางคนมีความคิดว่าจะส่งเขาไปศาลพิเศษสำหรับอาชญากรต่อมวลมนุษยชาติ แต่ความคิดนี้ก็สายไปเสียแล้ว … ในคืนวันที่ 15 เมษายน ค.ศ.1997             

นายพอล พต เสียชีวิตอย่างสงบภายในกระท่อมที่คุมขังเขา คนใกล้ชิตของพอล พต บอกว่าเขาตายเพราะโรคหัวใจ ถึงแม้หลายฝ่ายจะพยายามเข้าไปตรวจสอบศพ แต่อีกสองวันให้หลัง ศพของพอล พต ก็ถูกเผาท่ามกลางกองขยะและกองยาง ทำให้ชาวโลกสงสัยจนถึงทุกวันนี้ว่าพอล พต เสียชีวิตเพราะอะไรกันแน่ ?

คำกล่าวสุดท้ายที่มีต่อโลก
“I came to carry out the struggle, not to kill people. Even now, and you can look at me, am I a savage person?”
แปลเป็นไทยก็ประมาณว่า “ผมมาเพื่อต่อสู้สำหรับชนชั้นกรรมาชีพ (ชาวนา) ไม่ใช่มาฆ่าคน แม้บัดนี้คุณสามารถมองมาที่ผมได้ ผมเป็นคนเลวร้ายขนาดนั้นหรือ?”

นี่คือคำกล่าวสุดท้ายที่มีต่อโลก (ต่อหน้าผู้สื่อข่าวที่บุกไปสัมภาษณ์และถามถึงความรับผิดชอบของเขาที่มีต่อการตายของเพื่อร่วมชาติหลายล้านกว่าคน) อันเป็นการกล่าวอ้างที่เข้าข้างตนเองอย่างหน้าด้านๆ โดยไม่ได้สนใจอะไรกับชีวิตของชาวกัมพูชานับล้านๆ คน และคำพูดสุดท้ายที่มีต่อผู้สื่อข่าวต่างชาตินั้นคือ

“ผมไม่เหลืออะไรอีกแล้วทั้งเงิน อำนาจ ทหาร หากทั้งนี้แล้ว … ปล่อยให้ผมมีชีวิตรอดจนช่วงสุดท้ายเถิด”

นั่นหมายความว่า พอล พต หมดเขี้ยวเล็บถาวรไปแล้ว เพราะหากเขายังมีกำลังอยู่ ผู้สื่อข่าวคงไม่มีวันได้ออกมาจากบ้านพักกักกันแน่นอน

ส่วนสมาชิกเขมรแดงที่มีส่วนร่วมสังหารหมู่ ต่างคนก็ได้รับผลกรรมหรือตายก่อนได้รับผลกรรม เช่น นายพลตา ม็อค เพื่อนพอล พต นั้นก็ถูกทหารของรัฐบาลจับในปี ค.ศ. 1999 และเสียชีวิตในคุกเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ค.ศ.2006,

สหายดุช หัวหน้าคุกนรกติดคุก ขณะที่ผู้นำหลายคนยังใช้ชีวิตอย่างสงบอยู่ในชนบท กระบวนการศาลของเขมรนั้นไปอย่างเชื่องช้าเพราะว่ามีนักกฎหมายกัมพูชาพยายามช่วยเหลือ อีกทั้งผู้นำเหล่านี้ส่วนมากชราภาพและมีปัญหาเรื่องสุขภาพจนไม่ความจำเป็นต้องขึ้นศาล ปล่อยตายเพราะหมดอายุไขไปเถอะ และที่น่าสนใจคือเกือบทั้งหมดอาจตายเพราะโรคชรามากกว่าจะตายเพราะการตัดสินด้วยซ้ำไป

หลุมศพหลุมแรกซึ่งมีป้ายบอกจำนวนเหยื่อผู้เสียชีวิต ชายกัมพูชาผู้นี้เพ่งมอง หลุมศพของเหยือผู้เสียชีวิต ด้วยความสงบนิ่ง ตอนนี้สิ่งที่เราเห็นตรงหน้าคือความว่างปล่าว  แต่ในอดีตนั้นโหดร้ายเหลือเกิน  จุดนี้มีผูเสียชีวิตประมาญ 450 ศพ

สายคล้องข้อมือเท่าที่ดูน่าจะเป็นการทำขึ้นหลังจากขุดค้นเจอโครงกระดูก  และเป็นการทำขึ้นตามจำนวนศพที่ค้นพบ แขวนอยู่เรียงกันอย่างเป็นระเบียบ

ตรงจุดนี้เป็นกระดูกและฟัน ของผู้เสียชีวิตที่ถูกขุดในปี 1980 กระดูกและฟันจำนวนมากลอยขึ้นมาจากเหตุการน้ำท่วมในช่วงที่ฝนตกหนัก  ทุกวันนี้มีการเก็บรักษากระดูกและฟันของเหยื่ผู้เสียชีวิตไว้เป็นอย่างดี

ในบริเวณทุ่งสังหารจะมีป้ายให้ผู้มาเยือนอยู่ในความเงียบสงบ  มีไกด์อธิบายข้อมูลให้นักท่องเที่ยวฟัง

อีกหนึ่งหลุมฝังศพ  เป็นหลุมฝังศพที่มีเหยื่อผู้เคราะฆ์ร้ายทั้งสิ้น  166 ศพ  โดยทุกศพจะถูกทรมานแล้วฆ่า  และสิ่งที่น่าสลดหดหู่คือ ทั้ง 166 ศพ ปราศจากศรีษะ   นั่นก็หมายความว่าก่อนที่จะถูกฝังพวกเขาเหล่านั้นโดนตัดศรีษะก่อนจะโดนฝัง

จุดนี้เป็นจุดที่เก็บเสื้อผ้าของผู้เสียชีวิต  โดยนักโทษที่จะถูกฆ่าจะถูกสั่งให้ถอดเสื่อผ้าออกให้หมด  ก่อนจะให้ขุดหลุกที่ลึกและกว้างพอสำหรับจำนวนนักโทษ   และหลังจากนั้นผู้คุมจะกราดยิ่งนักโทษอย่างเหี้ยมโหด   บางหลุมมีการฝังทั้งเป็น

จะสังเกตุเห็นเสื้อผ้าของเด็กตัวเล็กๆอยู่ในตู้กระจก  มองดูยิ่งรู้สึกหดหู่ใจเป็นอย่างมาก

และมาถึง Killing Tree  ต้นไม้ที่ใช้สังหารเด็กๆโดยการจับขาแล้วฟาดกับต้นไม้อย่างรุนแรง

เขมรแดงมีความโหดเหี้ยมมากแม้แต่กับเด็กเล็กๆยังใช้วิธีการสังหารที่ดูป่าเถื่อนมาก

ข้างๆ Killing Tree จะมีหลุมฝังศพอีกหลุมหนึ่ง ซึ่งอยู่ไกล้ๆกันโดยจุดนี้จะเป็นศพของเด็กและผู้หญิง และศพส่วนใหญ่จะอยู่ในสภาพเปลือยปล่าวแทบทั้งสิ้น    ดูแล้วรู้สึกใจหาย ที่คนชาติเดียวกันฆ่าแกงกันได้ อำมหิตโหดเหี้ยมถึงเพียงนี้

ต้นตาลมรณะ ที่น้า Eroica มาให้ข้อมูลแล้วว่าต้นตาลที่ผมกล่าวไปข้างต้นนั้นจะใช้ก้านของตาล ที่มีความคมมากเพื่อปาดคอเหยื่อผู้เคราะฆ์ร้าย  

ตรงข้ามกับต้นตาลจะมีตู้กระจกใส่กระดูกที่ขุดค้นพบในช่วงปี 1980

มีศาลเล็กๆแขวนสายคล้องข้อมืออยู่ไกล้ๆ ส่วนด้านหลังจะเป็นแอ่งน้ำมีน้ำขัง  บรรยากาศดูร่มรื่น และเรื่องราวที่พ้นผ่านกลับเป็นเรื่องที่โหดร้ายต่อคนกัมพูชาทั้งในอดีตและ ปัจจุบัน  นอกจากไกด์ที่พานักท่องเที่ยวเข้ามาแล้วคนกัมพูชาที่เข้ามาดูน้อยมากๆ แทบพูดได้เลยว่ามีเพียงไม่กี่คน  คนกัมพูชาทุกวันนี้ คงไม่มีใครอยากพูดถึงเรื่องนี้อีก

แต่ถัดมาอีกหน่อยจะเป็นต้นไม้ใหญ่  ไม่แน่ใจว่าเป็นต้นทองหลางหรือปล่าว   จะใช้แขวนลำโพงเพื่อเปิดเสียงให้ดังจุดประสงค์คือกลบเกลื่อนเสียงของเหยื่อผู้เคราะฆ์ร้ายที่ร้องโอดครวญจากความตกใจ และ ความเจ็บปวด

จากป้ายเขียนว่า Magic Tree มีไกด์กำลังอธิบายให้นักท่องเที่ยวฟังเกี่ยวกับ ต้นไม้ต้นนี้ ข้างๆกันเป็นหลุมฝังศพอีกหนึ่งแห่ง

มีป้ายเตือนไม่ให้เดินข้ามหลุมฝังศพ แน่นอนคงไม่มีใครคิดที่จะทำแบบนั้นเว้นเสียจากเขมรแดง

หลุมศพที่ยังหลงเหลือมามายหลายหลุม  โดยมีหญ้าเขียวขจีขึ้นโดยรอบ บรรยากาศดูวังเวงและเงียบมาก มองไปรอบๆดูร่มรื่น  ไม่อยากจะคิดเลยว่าอดีตของที่นี่ช่างดูแตกต่างจากสิ่งที่เราเห็นในปัจจุบันเหลือเกิน

ใกล้ประตูทางออก  หันไปด้านซ้ายมือจะมี Museum ตั้งตระหง่านอยู่มีนักท่องเที่ยวเดินเข้าออกตลอดเวลา เดี๋ยวเข้าไปดูว่ามีอะไรข้างใน

ด้านในจะเป็นการแสดงเรื่องราวต่างๆในยุคเขมรแดงเรื่องอำนาจ มีนักท่องเที่ยวต่างสนใจข้อมูลที่จัดแสดงไว้ด้านใน

เสื้อผ้าของนักโทษ  ซึ่งในความเป็นจริงจะมีซักกี่คนกันที่ได้ใส่ชุดนนี้ในเมื่อนักโทษส่วนใหญ่ที่เข้ามาผู้คุมจะให้ถอดเสื้อผ้าออกหมดก่อนจะสังหาร

genocide ที่เมืองพระตะบองที่นี่ไม่ต่างจากพนมเปญเท่าไร เพราะพระตะบองเป็นเมืองใหญ่รองๆมาจากพนมเปญ

อาวุธที่ใช้สังหารนักโทษจะสังเกตุเห็นว่ามีแทบทุกอย่างจริงๆ เพราะอาวุธพวกนี้กว่าที่นักโทษจะเสียชีวิตจะได้รับความทรมานกว่าการใช้กระสุนปืน   ขอปิดท้ายด้วยภาพเหล่านี้ครับ  อยากบอกว่าเราโชคดีที่เกิดมาในแผ่นดินไทยถึงแม้จะมีเหตุการณ์ร้ายๆที่ผ่านมา  แต่ก็ไม่ร้ายเเรงเท่าเพื่อนบ้านของเราอย่าง  กัมพูชา เมื่อเกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายแบ่งพวก ยิ่งมีความรุนแรง ยิ่งสร้างความเกลียดชังต่อฝ่ายตรงข้าม

ที่มา: https://pantip.com/topic/31133845

Leave a Reply