สะพานสมมตอมรมารค
ถนนบำรุงเมืองทางทิศตะวันตก เมื่อตัดข้ามคลองโอ่งอ่างตรงบริเวณที่เรียกว่า ประตูผี ในต้นสมัยรัชกาลที่ 5 มีสะพานเก่าซึ่งใช้โครงเหล็กรองรับพื้นที่ชักเลื่อนออกจากกันได้ตามแบบสะพานรุ่นเก่าที่ยังคำนึงถึงมาตรการป้องกันพระนครโดยอาศัยคูเมือง เป็นสะพานสำคัญที่ราษฎรใช้เข้าออกกันอยู่เสมอ โดยเฉพาะการนำศพออกไปฝังหรือเผานอกพระนครตามกฎหมายประเพณียุคนั้นที่ว่าหากมีผู้ตายลงต้องนำศพออกไปปลงนอกพระนคร สะพานเดิมจึงอยู่ตรงประตูซึ่งราษฎรเรียกติดปากกันมาแต่ในรัชกาลที่ ๑ ว่า ‘ประตูผี’ เพราะเป็นประตูหามผีออกไปป่าช้านอกพระนคร ทว่าชื่อเป็นทางการนั้นชื่อว่า “ประตูสำราญราษฎร์”
ส่วนที่สร้างสระพานให้ชักเลื่อนออกจากกันได้ก็เพื่อประโยชน์ทางยุทธศาสตร์หากมีข้าศึกมาประชิดติดพระนครประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งก็เพื่อให้เรือกระบวนแห่ผ่านเพราะในสมัยโบราณกระบวนแห่พระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินนั้นมีอยู่เนืองๆ เช่นกระบวนแห่เสด็จฯ ทอดผ้าพระกฐิน
ต่อมาในรัชกาลที่ ๕ สะพานเก่าชำรุดทรุดโทรม พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง จึงโปรดฯ ให้ออกแบบและก่อสร้างสะพานขึ้นใหม่ เสร็จเรียบร้อยเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๖ พระราชทานชื่อสะพานว่า “สะพานสมมติอมรมารค”
“สมมติอมรมารค” เป็นพระนามทรงกรมของพระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๔ ถึงรัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นกรมหมื่นสมมติอมรพันธุ์ และ กรมขุนสมมติอมรพันธุ์ ตามลำดับ ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ ทรงเลื่อนเป็น กรมพระสมมติอมรพันธุ์
เจ้าจอมมารดาของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมติอมรพันธุ์ คือ เจ้าจอมมารดาหุ่น ต่อมาได้เป็นท้าวทรงกันดาลในรัชกาลที่ ๕ เจ้าจอมมารดาหุ่นเป็นพระสนมเอกรุ่นเดียวกันกับเจ้าจอมมารดาวาด (ท้าววรจันทร์) เจ้าจอมมารดาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนพิทยลาภพฤมิธาดา (พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต) และเจ้าจอมมารดาเขียน เจ้าจอมมารดาของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ (พระองค์เจ้าชายวรวรรณากร)
ฯกรมพระสมมติอมรพันธุ์ เป็นต้นราชสกุล ‘สวัสดิกุล ณ อยุธยา’
เจ้านายพระองค์นี้ทรงรับราชการตำแหน่งสำคัญในรัชกาลที่ ๕ คือ เป็นราชเลขานุการ (ฝ่ายหน้า มาแต่ในสมัยกลางๆ รัชกาล จนกระทั่งปลายรัชกาล ทรงเป็นทั้งเสนาบดีตำแหน่งราชเลขานุการ และอธิบดีกรมพระคลังข้างที่
พระนามไม่สู้จะเป็นที่รู้จักโดยทั่วๆ ไปดัง เจ้าพี่เจ้าน้อง เช่น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สมเด็จกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ฯลฯ เพราะทรงทำราชการในตำแหน่งเงียบๆ มิได้เกี่ยวข้องกับความเจริญของบ้านเมือง หรือตำแหน่งหน้าที่อันเห็นผลสำคัญในเวลาต่อมาโดยตรง
ลักษณะสะพานในปัจจุบันเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก พนักราวสะพานทั้งสองข้างเป็นคอนกรีตเจาะเป็นช่อง ลูกกรงเป็นปูนปั้นทำเป็นลายวงกลมเกี่ยวพันกัน 5 วง แต่ละช่องกั้นด้วยรูปจำลองเสาแบบ Ionic ขนาดเล็ก ปลายพนักทั้งสี่ทำลายขดลักษณะเหมือนตัว “S” ขนาดใหญ่ ที่ขอบพื้นสะพานด้านนอกมีลายวงกลมต่อเนื่องกันตลอดแนว มีแผ่นจารึกนามสะพานตั้งอยู่บนพนักราวสะพานทั้งสองข้าง ลักษณะลวดลายประดับของสะพานสมมตอมรมารคนี้งดงามกว่าสะพานดำรงสถิต ได้รับการบูรณะขยายพื้นผิวจราจรบนสะพานในรัชกาลปัจจุบัน
ที่มา: http://www.thapra.lib.su.ac.th/ratanagosin/bridge-sommot.htm, http://my.dek-d.com/bird711/writer/viewlongc.php?id=524172&chapter=90