ลานนา หรือ ล้านนา

ลานนา หรือ ล้านนา

หลายๆ คน คงรู้จัก เมืองล้านนา  ซึ่งเป็น ราชอาณาจักรของชาวไทยวนในอดีตที่ตั้งอยู่บริเวณภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ตลอดจน สิบสองปันนา แล้ว คำว่า “ล้านนา” หรือ “ลานนา” นั้น แปลว่าอะไร ทำไมจึงเรียกอย่างนั้น

ล้านนา หมายถึง ดินแดนที่มีนานับล้าน หรือมีที่นาเป็นจำนวนมาก คู่กับล้านช้าง คือดินแดนที่มีช้างนับล้านตัว เมื่อปี พ.ศ. 2530 คำว่า “ล้านนา” กับ “ลานนา” เป็นหัวข้อโต้เถียงกัน ซึ่งคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งมี ดร. ประเสริฐ ณ นคร เป็นประธาน ได้ให้ข้อยุติว่า “ล้านนา” เป็นคำที่ถูกต้อง และเป็นคำที่ใช้กันในวงวิชาการ

คนไทยรู้จักอาณาจักรลานนาเป็นเวลานานแล้ว อาณาจักรแห่งนี้รุ่งเรืองในยุคเดียวกันกับอาณาจักรสุโขทัยและอยุธยาตอนต้นและตอนกลาง อาณาจักรลานนามีบริเวณที่ตั้งอยู่ในดินแดน ๘ จังหวัดของภาคเหนือตอนบนของไทยในปัจจุบัน  ได้แก่  เชียงใหม่ เชียงราย  พะเยา  ลำพูน  ลำปาง  แพร่  น่าน  และแม่ฮ่องสอน

ในช่วง ๑๐ กว่าปีที่ผ่านมา นักวิชาการไทยได้ตื่นตัวหันมาสนใจศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและปัญหาท้องถิ่นในปัจจุบันมากขึ้น ผลพวงอันหนึ่งของการศึกษาก็คือ ข้อเสนอที่ว่าอาณาจักรลานนานั้นควรจะเรียกเสียใหม่ให้ถูกต้องว่า “อาณาจักรล้านนา” ซึ่งแปลว่า ที่นาจำนวน ๑ ล้าน ด้วยเหตุผลดังนี้

หนึ่ง คำว่า “ลานนา” ไม่มีในภาษาเหนือ ไทยเหนือใช้คำว่าลานเฉพาะกับต้นลานและใบลาน ส่วนลานซึ่งแปลว่าที่ราบโล่งภาษาไทยเหนือเรียกว่า ข่วง และเรียกลานที่ใช้สำหรับนวดข้าวว่า ตะลางตีข้าว

สอง การวัดพื้นที่ในภาคเหนือยุคเก่า วัดเป็นร้อยนา ปันนา หมื่นนา แสนนา และล้านนา และจำนวนดังกล่าวเป็นตำแหน่งทางราชการด้วย จากหลักฐานที่พบ เขตเมืองเชียงแสนมี ๖๕ ปันนา เขตเมืองเชียงรายมี ๒๗ ปันนา และเขตเมืองเชียงรุ่งมี ๑๒ ปันนา เป็นต้น

สาม มีหลักฐานศิลาจารึก สมุดข่อย และใบลานหลายชิ้น ที่ใช้คำว่าล้านนา และยังกล่าวถึงอาณาจักรล้านช้าง บ้านพี่เมืองน้องของล้านนา ซึ่งรุ่งเรืองในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน และมีเมืองหลวงอยู่ที่หลวงพระบาง

สี่ การที่หลักฐานในอดีตใช้ทั้งคำว่า ล้านนา และ ลานนาล้านช้าง และ ลานช้าง น่าจะเกิดจากการใช้เครื่องหมายวรรณยุกต์ซึ่งต่างกันในหลายท้องที่ นอกจากนี้ ในบางระยะการใช้เครื่องหมายวรรณยุกต์มีน้อยมาก และบางระยะก็ไม่มีการใช้เลย

ปัจจุบัน ข้อเสนอให้ใช้คำว่า ล้านนา ได้รับการยอมรับกันเป็นส่วนใหญ่แล้ว

ที่มา: หนังสือ ๑๐๘ ซองคำถาม / สำนักพิมพ์สารคดี

Leave a Reply