วาระ-ดิถี

วาระ-ดิถี

NewYearCard

ในช่วงระยะเวลาก่อนสิ้นปีเก่า พ.ศ. ๒๕๒๗ และขึ้นปีใหม่ พ.ศ. ๒๕๒๘ นี้ บัตร ส.ค.ส. ขายดีเป็นพิเศษ ข้าพเจ้าเองก็ได้ส่งบัตร ส.ค.ส. ไปยังท่านที่เคารพนับถือ และเพื่อนฝูงเป็นจำนวนมาก และก็ได้รับบัตร ส.ค.ส. เป็นจำนวนมากเช่นกัน ข้อความในบัตร ส.ค.ส. ซึ่งเป็นการอวยพรความสุขปีใหม่นั้น มีอยู่เป็นจำนวนมากที่ใช้ข้อความขึ้นต้นว่า “ในศุภวารดิถีขึ้นปีใหม่ ๒๕๒๘ นี้”

การนำคำว่า “วาร” กับ “ดิถี” มาใช้คู่กันในกรณีเช่นนี้ หาเป็นการถูกต้องไม่ ทั้งนี้เพราะคำว่า “วาระ” กับ “ดิถี” ใช้ในความหมายที่ต่างกัน และที่ปรากฏทั่ว ๆ ไป คำว่า “วาร” มักประวิสรรชนีย์ด้วย ในกรณีเช่นนี้ไม่ต้องประวิสรรชนีย์ เพราะเป็นคำสมาสเช่นเดียวกับคำว่า “กาลเทศะ” ฉะนั้น

คำว่า “ดิถี” พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้ความหมายไว้ว่า “น. วันตามจันทรคติ เช่น ขึ้นค่ำหนึ่ง แรม ๒ ค่ำ, ใช้ว่า ดฤถี ก็มี.” คำว่า “ดิถี” นี้ มาจากคำบาลีและสันสกฤตว่า “ติถิ” ส่วนคำว่า “วาระ” พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้เก็บไว้เป็น “วาร ๑, วาร-๒” ดังนี้

วาร ๑ (วาน) น. วันหนึ่ง ๆ ในสัปดาห์ เช่น อาทิตยวาร.”
วาร-๒, วาระ (วาระ-) น. ครั้ง, เวลาที่กำหนด.” และยังมีลูกคำอีก ๒ คำ คือ
วารสาร (วา-ระ-สาน) น. หนังสือที่ออกเป็นคราว ๆ.”
วารสารศาสตร์ น. วิชาว่าด้วยการทำหนังสือพิมพ์ นิตยสาร วารสาร และการพิมพ์ประเภทอื่น ๆ.”

จากบทนิยามที่ท่านได้ให้ไว้ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน นี้ ก็พอจะกำหนดได้ว่า

คำว่า “ดิถี” ใช้หมายถึงวันตามจันทรคติ คือ ขึ้น-แรม เท่านั้น เช่น จาตุทสี ดิถี คือ วัน ๑๔ ค่ำ ปัณณรสี ดิถี คือ วัน ๑๕ ค่ำ ฯลฯ ส่วน “วาร” นั้น ท่านมักใช้หมายถึงวันทางสุริยคติ เช่น วันอาทิตย์ ก็ใช้ว่า อาทิตยวาร วันจันทร์ ก็ใช้ว่า จันทวาร หรือ วันเสาร์ ก็ใช้ว่า โสรวาร เป็นต้น นอกจากคำว่า “อธิกวาร” ซึ่งหมายถึง วันที่เพิ่มขึ้นในปีจันทรคติ คือ ในปีนั้น เดือน ๗ เป็นเดือนเต็ม มี ๓๐ วัน คือ มีถึงแรม ๑๕ ค่ำ เพราะตามปรกติเดือน ๗ เป็นเดือนขาด มีเพียง ๒๙ วัน คือถึงวันแรม ๑๔ ค่ำเท่านั้น

สาเหตุที่เรานำคำว่า “วาร” กับ “ดิถี” มาใช้คู่กันในคำอวยพรปีใหม่นั้น คงเนื่องมาจากสาเหตุ ๒ ประการ คือ

ประการแรก คงไม่ทราบว่า “วาร” กับ “ดิถี” ท่านใช้ต่างกันอย่างไร

ประการที่ ๒ คงเป็นเพราะในเวลาเขียนบทร้อยกรอง เมื่อนำคำว่า “วาร” กับ “ดิถี” มาเข้าคู่กันแล้ว จะรับสัมผัสกับ “ปี” ที่ “ปีใหม่” ได้พอดี เราจึงมักขึ้นต้นคำอวยพรวันขึ้นปีใหม่ว่า “ในศุภวารดิถีขึ้นปีใหม่” เสมอ ส่วนที่ราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งก็จัดทำบัตร ส.ค.ส. ของตนเองขึ้นเช่นกัน แต่ก็ได้หลีกเลี่ยงการใช้คำ “วาร” กับ “ดิถี” คู่กัน ในกรณีเช่นนี้ เรามักจะเลี่ยงไปใช้ข้อความอื่นแทน เช่น “ในศุภมงคลสมัยขึ้นปีใหม่…” หรือ “ในศุภวาระขึ้นปีใหม่…” หรือ “ในวาระอันเป็นศุภมิ่งมงคลขึ้นปีใหม่…” ฯลฯ เสมอ ในเรื่องนี้ศาสตราจารย์ พระยาอนุมานราชธน อดีตผู้รักษาการนายกราชบัณฑิตยสถาน ได้เคยติงเรื่องการใช้คำว่า “วาร” กับ “ดิถี” กันไม่ค่อยถูกมาแล้ว เราจึงได้พยายามใช้ให้ถูกต้องเพื่อเป็นแบบฉบับต่อไป.

ผู้เขียน : ศ.จำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต สำนักศิลปกรรม
ที่มา : ภาษาไทยไขขาน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แพร่พิทยา. ๒๕๒๘. หน้า ๓๓๗-๓๓๙.

Leave a Reply