ตำราพรหมชาติ
ตำราพรหมชาติ เป็นชื่อตำราพยากรณ์ที่คนไทยรู้จักกันมากที่สุด มีสภาพเป็นตำราหมอดูประจำบ้านที่ให้อิทธิพลต่อความเชื่อของคนไทย เพราะเป็นตำราที่รวมวิชาการทำนายแบบดูคำทำนายประกอบภาพ มีทั้งตำราดูลักษณะของบุคคลตามวันเดือนปีเกิด ตำราทำนายเนื้อคู่ที่สมพงศ์กันทั้งสมพงศ์กำเนิดและสมพงศ์ธาตุ ตำราดูวันดี วันร้ายในการเพาะปลูก ปลูกเรือน วันเดินทางไกล ตำราดูฤกษ์ยามตามวันขึ้นแรมในแต่ละเดือน องค์ความรู้ต่างๆที่ปรากฏในตำราพรหมชาติฉบับพิมพ์จึงเป็นความรู้ที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของบุคคลทั่วไป
ตำราพรหมชาติ ของภาคกลางและภาคใต้ เป็นตำราที่สืบทอดกันมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาเป็นสมุดไทยดำเขียนด้วยตัวอักษรไทยสมัยต้นรัตนโกสินทร์ด้วยลายเส้นสีขาวเมื่อมีการพิมพ์เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา ได้มีการรวบรวมความรู้การพยากรณ์แบบอื่นๆเข้าไว้ในชุดเดียวกันแล้วให้ชื่อว่า “ตำราพรหมชาติ” ฉบับพิมพ์เก่าสุดเป็นฉบับพิมพ์ของโรงพิมพ์พานิชศุภผล พิมพ์ก่อนปีพ.ศ.๒๔๕๕ ไม่ปรากฏชื่อผู้รวบรวม ต่อมาได้มีการพิมพ์ขึ้นอีกหลายครั้งจากหลายโรงพิมพ์และแพร่หลายไปทุกภูมิภาค มีทั้งตำราหมอดูชาวบ้านและตำราโหรราชสำนักรวมอยู่ในเล่มเดียวกัน สังเกตได้ว่าฉบับพิมพ์แต่ละครั้งจะเพิ่มเติมเนื้อหาอื่นๆมากขึ้นเรื่อยๆจนทำให้คำว่า” พรหมชาติ” กลายเป็นคำรวมของตำราหมอดูไทยแทนที่จะเป็นการทำนายวิธีการหนึ่งตามชื่อของตน
จุดเด่นของการดูพรหมชาติคือเป็นตำราหมอดูที่ใช้รหัสภาพที่เกี่ยวเนื่องกับปีนักษัตรแบบจีน แต่ใช้สัตว์แทนลักษณะนิสัยของบุคคลที่เกิดในปีนั้นๆแบบไทย ผสมผสานกับความรู้ทางโหราศาสตร์ของพราหมณ์ ที่มีความสัมพันธ์กับตำราโหราศาสตร์ที่อาศัยเกณฑ์คำนวณ คือ มหาทักษา ซึ่งเป็นตำราดูฤกษ์ยามที่มีการนับตำแหน่งของดาวอัฏฐเคราห์เวียนทางขวา ไม่ต้องใช้การคำนวณตัวเลข เพียงอ่านหนังสือออกและดูภาพก็สามารถเข้าใจการทำนายได้ จึงเป็นที่นิยมของชนทุกชั้น
ตำราพรหมชาติ ยังมีอิทธิพลในวิถีชีวิตของชาวบ้านทั่วไปในการพยากรณ์ชีวิต การดูนิสัยเพื่อเลือกคู่ครองและการคบมิตร การหาฤกษ์ยามเพื่อประกอบพิธีกรรม การทำพิธีเสดาะเคราะห์ ทั้งส่วนปัจเจกบุคคลและส่วนรวม จึงมีการพิมพ์คัดลอกต่อๆกันมาและเสริมเพิ่มเติมขึ้นเรื่อยๆ โดยขาดการตรวจสอบ เป็นตำราที่แพร่หลายมากในตลาดล่างโดยทุกสำนักพิมพ์ต่างอ้างตนเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ทั้งที่เป็นตำราที่ไม่มีลิขสิทธิ์
ที่มา: http://ich.culture.go.th/index.php/th/ich/folk-literature/252-folk/462–m-s