ฐานทัพอ่าวกวนตานาโม
อ่าวกวนตานาโม เป็นฐานทัพนอกดินแดนที่เก่าแก่ที่สุดของสหรัฐฯ และยังเป็นฐานที่ตั้งอยู่ในประเทศซึ่งไม่ได้อยากเปิดความสัมพันธ์ทางการ เมืองกับสหรัฐฯ เสียด้วย
อ่าวกวนตานาโมเป็นเมืองเล็กๆในจังหวัดโอเรียนเต บนชายฝั่งด้านตะวันออกเฉียงใต้ของคิวบา ก่อนปี 1898 รู้จักกันดีว่าบรรยากาศที่นั่นสวยงามด้วยป่ามะนาว ป่าเลมอน ต้นโคคา เจ้าของพื้นที่เป็นชาวไร่ซึ่งมั่งคั่งจากการพลิกเนินเขาสูงที่มองทอดลงมา เห็นทะเลให้กลายเป็นรีสอร์ตอันมีชื่อ
อ่าวกวนตานาโมเป็นฉากจารึกประวัติศาสตร์ที่สำคัญของโลก เมื่อสหรัฐฯ เข้ามาตั้งฐานทัพระหว่างทำสงครามกับสเปน ซึ่งปะทุขึ้นในปี 1898 และสิ้นสุดลงโดยที่สหรัฐฯได้ครอบครองดินแดนอดีตอาณานิคมของสเปนในทะเล แคริบเบียนและมหาสมุทรแปซิฟิก อันได้แก่ คิวบา เปอร์โตริโก ฟิลิปปินส์ และเกาะกวม
ปี 1903 ประธานาธิบดีธีโอดอร์ รูสเวลต์ ทำข้อตกลงเช่าพื้นที่บนอ่าวกวนตานาโมจากรัฐบาลคิวบา เพื่อใช้เป็นท่าเติมเชื้อเพลิง โดยอำนาจอธิปไตยสูงสุดเป็นของคิวบา แต่ให้สหรัฐฯมี “อำนาจตามกฎหมายอย่างสมบูรณ์” โดยลงนามกันในเดือนธันวาคมปีนั้น จากนั้นก็ต่อสัญญากันอีกหลายฉบับ จนขยายพื้นที่เช่าเป็น 45 ตารางไมล์
สหรัฐฯ บีบให้คิวบายอมรับค่าเช่าเป็นเหรียญทองคำ 2,000 เหรียญต่อปี แต่สนธิสัญญาใหม่ที่ลงนามเมื่อปี 1934 มีเนื้อหาระบุว่า คิวบาและประเทศคู่ค้าสามารถเข้ามายังอ่าวได้โดยเสรี นอกจากนี้ยังกล่าวถึงสัญญาเช่าว่าจะสิ้นสุดลงด้วยการยินยอมจากทั้งสองฝ่าย หรือเมื่อสหรัฐฯละทิ้งออกจากดินแดนนี้ ซึ่งหมายความว่าสหรัฐฯจะยังคงตั้งฐานทัพที่นี่ได้ตราบนานเท่าที่ต้องการ
นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังตกลงจะจ่ายค่าเช่าเป็นเช็ค สั่งจ่ายเงินตามมูลค่าเทียบเท่าเหรียญทองคำ หรือ 4,085 เหรียญสหรัฐฯ
สหรัฐฯ ยังคงความสัมพันธ์กับคิวบาจนผ่านสงครามโลกทั้งสองครั้ง จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เมื่อการปฏิวัติทำให้คิวบาได้ผู้นำใหม่ที่ชื่อ ฟิเดล คาสโตร ในปี 1959 นับตั้งแต่นั้น ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และคิวบาก็เริ่มตกต่ำลง เมื่อคาสโตรประกาศตัวว่านิยมลัทธิคอมมิวนิสต์ พร้อมประกาศกร้าวว่า นอกจากอาณาเขตเช่าในอ่าวแล้ว ทหารและพลเรือนสหรัฐฯไม่สามารถเข้ามายังดินแดนส่วนอื่นของคิวบาได้
ว่ากันว่าตั้งแต่วันขึ้นรับตำแหน่งจนถึงวันนี้ คาสโตรเคยขึ้นเช็คค่าเช่าอ่าวกวนตานาโมไปเพียงครั้งเดียว เนื่องจากเขาเห็นว่าการเช่าพื้นที่นี้ เป็นไปอย่างไม่ถูกต้อง
หลังประธานาธิบดีฟิเดล คาสโตร ขึ้นสู่อำนาจ ความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ และคิวบาก็ลุ่มๆ ดอนๆ เรื่อยมา ในปี 1962 ครอบครัวของเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ในกวนตานาโมถูกสั่งอพยพ เมื่อประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี ประกาศว่ามีขีปนาวุธของโซเวียตอยู่ในคิวบา อีกเพียง 14 เดือนต่อมา ในเดือนกุมภาพันธ์ 1964 คาสโตรสั่งตัดระบบส่งน้ำและปิดถนนสู่อ่าว เพื่อตอบโต้การกระทำของสหรัฐฯ หลายกรณี
อ่าวกวนตานาโมของสหรัฐฯ ปฏิบัติภารกิจหลากหลายช่วงกลางทศวรรษ 1990 อ่าวนี้ปลอดภัยสำหรับชาวคิวบาและเฮติที่ต้องการลี้ภัยมาอยู่ในดินแดนของ สหรัฐฯ นอกจากนี้ยังส่งเสริมปฏิบัติการต้านยาเสพย์ติดในทะเลแคริบเบียนด้วย
และเมื่อเกิดเหตุวินาศกรรมในนิวยอร์กและวอชิงตัน เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 ค่ายลี้ภัยกวนตานาโมก็กลายเป็นเรือนจำที่สหรัฐฯ ใช้คุมขังนักโทษหลายร้อยคนจากกว่า 35 ประเทศ ซึ่งสหรัฐฯระบุว่าเกี่ยวข้องกับ “การก่อการร้าย”
เหตุที่สหรัฐฯ เลือกอ่าวกวนตานาโมเป็นสถานที่กักตัวนักโทษสำคัญ น่าจะเป็นเพราะฐานทัพแห่งนี้ตั้งอยู่ไม่ไกลจากสหรัฐฯ ถ้าเดินทางจากเมืองแจ็กสันวิลล์ ในรัฐฟลอริดา จะใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมงเท่านั้น ทำให้ส่งนักกฎหมายไป-มาได้สะดวกรวดเร็ว
และสาเหตุสำคัญน่าจะเป็นเพราะอ่าวกวนตานาโมไม่ใช่ดินแดนของสหรัฐฯ ดังนั้นสหรัฐฯ จึงสามารถอ้างได้ว่า การดำเนินการใดๆ ภายในค่ายไม่สามารถฟ้องร้องในศาลได้ ทั้งนี้ อ้างอิงจากคำพิพากษาของศาลสูงสุดของสหรัฐฯ เมื่อปี 1950 ซึ่งระบุอย่างตรงไปตรงมาผิดธรรมดาว่า “ศัตรูต่างด้าวซึ่งไม่มีถิ่นพำนักในสหรัฐฯไม่สามารถจะเรียกร้องให้ศาลของเรา พิจารณาคดีให้ในช่วงสงครามได้”
ที่มา: http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9480000129433