กลิ่นดินคือกลิ่นอะไร?
เมื่อฝนแรกโปรยลงผืนดิน หลังจากที่ฤดูร้อนเพิ่งผ่านพ้นไป หลายๆคนจะรอจังหวะให้กลิ่นหนึ่งที่หอมชื่นใจให้รวยมา เรามักเรียกกลิ่นนั้นกันว่า “กลิ่นดิน” เคยสงสัยไหมครับ ว่ากลิ่นนี้มันคือกลิ่นของอะไรกันนะ
กลิ่นดินที่เราเรียกกันนั้นฝรั่งก็มีคำเรียกของเขาเหมือนกัน ฟังดูหรูหราว่า geosmin (จีออ-สมิน) โดยมาจากภาษากรีกสองคำ คือ geo (กิโย หรือ จีโอในสำเนียงฝรั่ง) แปลว่าดิน และ osmi (ออสมี) ซึ่งแปลว่า กลิ่น รวมความได้ว่า กลิ่นดิน นั่นเองครับ
นักวิทยาศาตร์หลายคนพยายามหาที่มาของกลิ่นดินนี้ ซึ่งในที่สุดก็พบว่า กลิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ของดินยามฝนโปรยลงนั้น แท้แล้วไม่ใช่กลิ่นของดินเอง แต่เป็นองค์ประกอบทางเคมีหนึ่ง ซึ่งเป็นผลผลิตของแบคทีเรียในดินครับ นักวิทยาศาสตร์จึงให้ชื่อขององค์ประกอบทางเคมีนี้ว่า geosmin
แบคทีเรียที่ผลิตเจ้า geosmin นี้เรียกว่า Streptomyces ซึ่งชอบอยู่ในดินและซากพืชที่เน่าเปื่อยครับ มันค่อนข้างขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว เมื่อหน้าแล้งมาถึง แบคทีเรียพวกนี้ก็เริ่มขาดน้ำ เมื่อมันรู้ตัวว่ากำลังจะตาย มันก็จะพากันสร้างสปอร์จำนวนมหาศาลที่อึดและทนแล้งได้นานนับปี รอการมาถึงของฝนถัดไป…
และเมื่อการรอคอยอันยาวนานสิ้นสุดลง ในที่สุดฝนก็โปรยลงมา สปอร์จำนวนมหาศาลเหล่านี้ก็ฟุ้งขึ้นเป็น ละอองลอย (aerosol) ปลิวไปตามลม เป็นที่มาของกลิ่นดินนั่นเองครับ
จริงๆแล้วสปอร์เหล่านี้ไม่ได้มีพิษภัยกับเราเท่าไหร่นะครับ ซึ่งเรื่องที่น่าสนใจก็คือ จมูกของเรานั้นไวต่อกลิ่นดิน หรือ geosmin นี้มากๆ โดยสามารถเริ่มรู้สึกได้ถึงกลิ่นในปริมาณ 5 ส่วนในล้านล้านส่วนที่อยู่ในอากาศ และเราอาจจะถูกออกแบบมาให้ชอบกลิ่นดินนี้อย่างมีจุดประสงค์ก็เป็นได้ครับ
ตัวอย่างที่น่าสนใจก็คืออูฐสองหนอกที่อาศัยในพื้นที่ทุรกันดาร จะคอยดมกลิ่น geosmin นี้เพื่อหาแหล่งน้ำ(เพราะที่ไหนมี geosmin หมายถึงมีสปอร์ของแบคทีเรียฟุ้งมา ซึ่งย่อมหมายถึงมีน้ำ) โดยอูฐสามารถได้กลิ่น geosmin ที่อยู่ไกลออกไปถึง 80 กิโลเมตรได้สบายๆเลยครับ นักวิทยาศาสตร์จึงเชื่อว่า เจ้าแบคทีเรีย Streptomyces นี้อาศัยกลิ่นอันหอมเย็นของ geosmin ที่มันผลิตขึ้น ในการเรียกสัตว์ต่างๆมาหาครับ(ถึงจริงๆจะมาหาน้ำก็เถอะ) เพราะหวังจะให้สปอร์ของมันติดสัตว์เหล่านั้นไป เพื่อขยายอาณาเขตในการแพร่พันธุ์ต่อไป
เรื่องที่น่าสนใจอีกเรื่องนึงก็คือ ในปี 1964 นักวิจัยชาวออสเตรเลียสองคน ได้บัญญัติคำว่า Petrichor (เพ็ท-ทริ-คอร์) ขึ้นมา โดยมาจากภาษากรีก(ตัลหลอด…)สองคำ คือ petros แปลว่าหิน และ ichor หมายถึงโลหิตของทวยเทพ โดยนักวิจัยทั้งสองนี้อธิบายว่า กลิ่นดินนั้น แท้จริงแล้วไม่ได้มีเฉพาะ geosmin อย่างเดียวเท่านั้น แต่ประกอบไปด้วยน้ำมันคัดหลั่งจากพืชนานาที่อยู่ในบริเวณนั้นในยามแล้งอีกด้วย โดยเมื่อน้ำม้นเหล่านี้ลงถึงดิน ก็จะถูกดูดซับเอาไว้ ซึ่งเชื่อกันว่าพืชหลายชนิดหลั่งน้ำมันออกมาเพื่อหวังให้เคลือบผิวของเมล็ดพันธุ์ที่ร่วงหล่นอยู่ตามพื้น เป็นการป้องกันเชื้อโรคต่างๆให้เข้าถึงเนื้อในได้ช้าลง ครั้นพอฝนโปรยลงมาก็กวนให้น้ำมันเหล่านี้ปล่อยกลิ่นขึ้นอวลปนไปกับสปอร์ (geosmin) เกิดเป็นกลิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ที่เราเรียกว่ากลิ่นดินซึ่งรวมเรียกว่า Petrichor นั่นเองครับ
ที่มา: MCOT