กุฎีจีน

กุฎีจีน

Charoenchai04

กุฎีจีน หรือ กะดีจีน เป็นชุมชนเก่าแก่ของพ่อค้าชาวจีนฮกเกี้ยนที่ตั้งอยู่ริมคลองวัดกัลยาณ์ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และกลุ่มคนหลายเชื้อชาติทั้งชาวไทย จีน ฝรั่ง ญวน มอญ ฯลฯ ที่อพยพจากกรุงเก่ามาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณด้านทิศใต้ของคลองบางหลวง หรือคลองบางกอกใหญ่ใกล้ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

ตามบันทึกประวัติศาลเจ้าเกียนอันเกง บันทึกว่ากุฎีจีนสร้างในสมัยกรุงธนบุรีโดยชาวจีนที่ตามเสด็จพระเจ้าตากสิน เดิมมี 2 ศาล คือ ศาลเจ้าโจวซือกง และศาลเจ้ากวนอู ต่อมาเมื่อรัชกาลที่ 1 ย้ายพระนครไปกรุงเทพ คนจีนเหล่านี้จึงอพยพไปรวมกับพวกที่ย่านตลาดน้อยและสำเพ็ง ศาลเจ้าจึงถูกทิ้งร้าง ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 จึงได้บูรณะรวมกันเป็นศาลเดียวกันแล้วอัญเชิญเจ้าแม่กวนกิมมาประดิษฐานให้ชื่อว่า ศาลเจ้าเกียนอันเกง ศาลเจ้านี้จึงเป็นร่องรอยของชุมชนในย่านกุฎีจีน

 

เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2310 ในครั้งนั้น ชาวคริสตังในกรุงศรีอยุธยาต่างหนีกระจัดกระจายไปในที่ต่าง ๆ จนกระทั่งพระยาตากสินกู้อิสรภาพจากพม่าได้สำเร็จ ในปี พ.ศ. 2311 และได้ทำพิธีราชาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้ากรุงธนบุรี (สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) รวมทั้งได้ทำการก่อร่างสร้างเมืองขึ้นใหม่ที่กรุงธนบุรี หรือ บางกอก ซึ่งเป็นชื่อเรียกของชาวต่างชาติในสมัยนั้น

556000016531102

จนในปี พ.ศ. 2312 คุณพ่อกอรร์ (Corre) บาทหลวงชาวฝรั่งเศสซึ่งพาพวกเข้ารีตลี้ภัยไปที่เขมรได้เดินทางมายังบางกอกพร้อมชาวคริสตัง และชาวโปรตุเกสจำนวนหนึ่ง เพื่อหวังพึ่งพระบรมโพธิสมภารของสมเด็จพระเจ้าตากสิน และมีโอกาสได้เข้าเฝ้าพระองค์ ด้วยพระเมตตาที่ทรงมีต่อคุณพ่อกอร์และชาวบ้านทั้งปวง พระองค์ได้พระราชทานเงิน 20 เหรียญ (กษาปณ์) และเรือลำหนึ่ง รวมทั้งสัญญาว่าจะพระราชทานที่ดินสำหรับสร้างวัดคาทอลิกให้

ในปีเดียวกัน คุณพ่อกอรร์และชาวบ้านที่มีทั้งคนญวนและคนไทยที่อพยพมาด้วยกันจึงได้ชักชวนคริสตังที่อาศัยกระจัดกระจายอยู่ในบางกอกได้จำนวนราว 400 คน และได้เข้าเฝ้าขอพระราชทานที่ดินจากสมเด็จพระเจ้าตากสินตามสัญญา ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานที่ดินแปลงหนึ่งให้บริเวณริมน้ำเจ้าพระยา โดยตั้งชื่อที่ดินนี้ว่า “ค่ายซางตาครู้ส” จากนั้นคุณพ่อกอรร์และคริสตังได้ช่วยกันสร้างวัดขึ้น และเรียกว่า วัดซางตาครู้ส ซึ่งโบสถ์แห่งนี้นับเป็นโบสถ์คาทอลิก แห่งที่ 2 ในประเทศไทย

จากวันเวลาที่ผันผ่านทำให้วัดชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา จึงต้องมีการบูรณะวัดขึ้นมาใหม่อีกถึง 3 ครั้ง โดยครั้งที่ 3 ในปี พ.ศ. 2456 บาทหลวงกูเลียล โมกิ๊น ดาครูส ได้สร้างโบสถ์ขึ้นเป็นสถาปัตยกรรมแบบอิตาเลียนสมัยเรเนสซองส์ ที่เรียกว่า แบบนีโอคลาสสิก อย่างที่เห็นในปัจจุบัน

ส่วนมุสลิมเป็นกลุ่มชนที่มาตั้งรกรากในธนบุรีจำนวนมากรองจากชาวจีน ส่วนใหญ่อพยพมาจากกรุงศรีอยุธยา ภายหลังสมเด็จพระเจ้าตากสิน สถาปนากรุงธนบุรีแล้ว มุสลิมบางส่วนอยู่ในธนบุรีตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเพราะธนบุรีเป็นเมืองท่าจึงมีพ่อค้ามุสลิมจากหัวเมืองมลายูโดยเฉพาะหลังจากประเทศไทยเปิดการค้าเสรีภายใต้สนธิสัญญาเบาริ่ง ศูนย์กลางของมุสลิมในธนบุรีอยู่บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ โดยมีสุเหร่าต้นสน หรือกุฎีใหญ่เป็นศูนย์รวมจิตใจ

Charoenchai01

ย่านกุฎีจีนช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 2 – รัชกาลที่ 4 จากบริเวณวัดประยุรวงศาวาส ไปจนถึงวัดอรุณราชวราราม เคยเป็นที่พำนักของราชทูตตะวันตก และมิชชันนารีโปรเตสแตนท์กลุ่มแรกๆ บุคคลเหล่านี้นอกจากจะเข้ามาเผยแพร่ศาสนาแล้วยังมีคุณูปการต่อวงการแพทย์ การศึกษา และการพิมพ์ของไทย เช่น หมอบรัดเลย์ ที่นอกจากรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีการแพทย์สมัยใหม่แล้ว ยังได้ตั้งโรงพิมพ์แห่งแรกขึ้นในประเทศไทย คณะมิชชันนารี และคณะเพรสไบทีเรียน ได้แก่ หมอแมททูนและภรรยา หมอบุชและภรรยา กับหมอเฮ้าส์ ได้ตั้งโรงเรียนขึ้นบริเวณบ้านพัก ต่อมาเมื่อมีนักเรียนมากขึ้นจึงย้ายไปตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณตำบลสำเหร่ ซึ่งถือเป็นต้นกำเนิดของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน และโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยในปัจจุบัน

ที่มา: http://www.bpsthai.org/BPS_Links/PhotoTechnic_L/PhotoTip_L/Sec06.html

Leave a Reply