ดมิทรี เมนเดเลเอฟ “บิดาแห่งตารางธาตุ”

ดมิทรี เมนเดเลเอฟ “บิดาแห่งตารางธาตุ”

ดมิทรี เมนเดเลเอฟ

เมนเดเลเอฟ (หรือ เมนเดลีฟ) ในชื่อเต็มว่า ดมิทรี อิวาโนวิช เมนเดเลเอฟ (Dmitri Ivanovish Mendeleev) คือนักเคมีชาวรัสเซีย ผู้คิดค้นตารางพีริออดิก (Periodic table) ที่จัดเรียงธาตุตามลำดับของน้ำหนักเชิงอะตอม แบ่งธาตุออกเป็นคาบและหมู่ ธาตุในหมู่เดียวกันจะมีคุณสมบัติคล้ายกัน วิธีนี้ทำให้เมนเดเลเอฟ สามารถทำนายคุณสมบัติของธาตุที่ไม่รู้จักได้ ซึ่งเมื่อวิทยาศาสตร์ก้าวหน้าขึ้นในเวลาต่อมา ความรู้เกี่ยวกับอะตอมมีมากขึ้นด้วย นักวิทยาศาสตร์จึงปรับปรุงตารางพีริออดิกของเมเดเลเอฟอีกเล็กน้อย จนในที่สุดก็ได้ตารางธาตุแบบที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ เมนเดเลเอฟจึงถูกยกย่องให้เป็น “Father of the Periodic Table” หรือ “บิดาแห่งตารางธาตุ”

เมนเดเลเอฟ เกิดเมื่อวันที่ 8 ก.พ. ค. ศ.1834 ในไซบีเรีย (ถ้ายังมีชิวิตอยู่ ปัจจุบันเมนเดเลเอฟก็เพิ่งจะฉลองครบรอบวันเกิดเขาปีที่ 175 ของเขาไปเมื่อไม่กี่วันมานี่เอง) เนื่องจากพ่อของเมนเดเลเอฟเสียชีวิตลงตั้งแต่เขายังเด็ก แม่ของเขาต้องเป็นคนหาเลี้ยงครอบครัวเอง ด้วยการทำกิจการโรงงานกระจก จนโรงงานกระจกถูกไฟไหม้ ในที่สุดครอบครัวเมนเดเลเอฟจึงอพยพไปอยู่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก และมหาวิทยาลัยที่นี่เองที่รับเมนเดเลเอฟ ผู้ส่อแววเฉลียวฉลาดและสนใจในวิทยาศาสตร์ตั้งแต่อายุยังน้อย เข้ารับการศึกษาเพื่อเป็นอาจารย์ทางด้านวิทยาศาสตร์ เมนเดเลเอฟได้รับทุนการศึกษาเต็มจำนวนจากมหาวิทยาลัยอีกด้วย

เข้าเรียนได้เพียงแค่ไม่กี่เดือน แม่และพี่สาวของเมนเดเลเอฟก็จากเขาไปเพราะวัณโรค ในเวลาต่อมา เมนเดเลเอฟที่ทุ่มเทให้กับการเรียนและการทำงานอย่างหนักก็ล้มป่วยลง หมอบอกว่าเขาป่วยเป็นวัณโรค โรคเดียวกันกับที่เคยคร่าชีวิตคนในครอบครัวเขาไปนั่นเอง จึงเป็นเหตุให้เมนเดเลเอฟต้องย้ายไปอยู่แถบคาบสมุทรไครเมีย (Crimean Peninsula) ทางตอนเหนือของทะเลดำ ซึ่งมีสภาพอากาศดีกว่า ในปี ค.ศ. 1855 ที่นั่นเขาเข้ารับตำแหน่งที่สถาบันซิมเฟอโรโพล (Simferopol Gymnasium №1.) ในฐานะอาจารย์วิทยาศาสตร์ ก่อนที่กลับมายังเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กอีกครั้ง ด้วยสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์ในสองปีให้หลัง

เมื่อกลับคราวนี้ เมนเดเลเอฟศึกษาและทำวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ในระดับที่สูงขึ้นไปอีก จนได้รับปริญญาโทและปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในที่สุด เมนเดเลเอฟได้ไปศึกษาต่อที่ปารีสอยู่ช่วงหนึ่ง ที่นั่น เขาได้มีโอกาสได้พบปะแลกเปลี่ยนความรู้กับนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงหลาย ต่อหลายคน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เหล่านี้นี่เองที่มีอิทธิพลต่อแนวคิดในงานของเขาในกาลต่อมา

ตาางธาตุของเมนเดเลเอฟ 1869

ตาางธาตุของเมนเดเลเอฟ 1869

ตารางธาตุที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

ตารางธาตุที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

ปี 1859 เมนเดเลเอฟศึกษาต่อด้านวิทยาศาสตร์ และนวัตกรรมทางเทคโนโลยีในกรุงปารีส และได้พบกับนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงหลายคน ที่มีอิทธิพลต่อแนวคิดในงานของเขา หลังจากที่กลับมาใน ปี 1863 เมนเดเลเอฟได้เข้ารับตำแหน่งศาสตราจารย์ทางด้านวิทยาศาสตร์ ที่สถาบันเทคโนโลยีเคมีในกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก

ปี 1869 คือ ปีที่เมนเดเลเอฟนำเสนอการจัดตารางธาตุแบบของเขาออกสู่สายตาชาวโลก ไม่เพียงเท่านี้ งานวิจัยของเมนเดเลเอฟยังมีอีกมากมาย ผลงานสร้างชื่อเสียงมากที่สุดเรื่องหนึ่ง ก็คือ อินทรีย์เคมี ที่ตีพิมพ์ ในปี 1861 ซึ่งทำให้เขาได้รับรางวัลโดมิดอฟ และเมนเดเลเอฟก็กลายเป็นนักเคมีที่มีชื่อเสียงขณะที่มีอายุเพียง 27 ปี นอกเหนือจากงานวิจัยแล้ว เมนเดเลเอฟยังสนใจการพัฒนาเทคโนโลยีในรัสเซีย งานวิจัยด้านเคมีการเกษตร การกลั่นน้ำมัน การหลอมแร่กลับมาใช้ใหม่ ตลอดชีวิตของเขา เมนเดเลเอฟได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากหลายมหาวิทยาลัย ได้รับรางวัลมากมายนับไม่ถ้วนจากหลายองค์กร อาทิ Davy Medal จาก Royal Society of England ปี 1882 รางวัล Copley Medal, Society’s Highest Award ปี 1905 เขายังเคยได้รับการเสนอชื่อ ให้ได้รับรางวัลโนเบล จากผลงานการศึกษาเรื่องตารางธาตุใน ปี 2448 และ 2449 อีกด้วย แต่เนื่องจากคณะกรรมการเห็นว่า ผลงานของเขานั้นเป็นที่รู้จักมานานและแพร่หลายอยู่แล้ว ชื่อของเขาก็เลยเป็นอันต้องตกไป

ถึงแม้เมนเดเลเอฟจะไม่ได้รางวัล โนเบลก็ตาม แต่ใครจะปฏิเสธได้ว่า เมนเดเลเอฟ บิดาแห่งตารางธาตุ ที่คนในวงการวิทยาศาสตร์ต้องรู้จักผู้นี้ ไม่ได้ยิ่งใหญ่และไม่ได้สร้างประโยชน์ให้กับสังคมโลกอย่างกว้างขวาง หรือคุณว่าไง

ข้อมูลจาก: neutron.rmutphysics.com, wikipedia.org, zephyrus.co.uk, nukul.ac.th, adviser.eduzones.com
ภาพ ประกอบจาก: wikipedia.org, rsc.org

Leave a Reply