เจิ้งเฉิงกง ขุนพลคนสุดท้ายแห่งต้าหมิง

เจิ้งเฉิงกง ขุนพลคนสุดท้ายแห่งต้าหมิง

Image25

หลังจากกองทัพชิงของชนเผ่าแมนจูรุกเข้าด่านซานไห่กวน โดยการชักนำของแม่ทัพอู๋ซานกุ้ย อดีตขุนพลแห่งราชวงศ์หมิงที่แปรพักตร์ เหล่าเชื้อพระวงศ์ของต้าหมิงที่เหลือรอด ได้อพยพลงไปตั้งที่มั่นใหม่ยังภาคใต้ในชื่ออาณาจักรหมิงใต้ หรือหนานหมิง

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลานั้น อาณาจักรหมิงใต้กลับแบ่งออกเป็นก๊กเป็นเหล่าและแต่ละกลุ่มต่างก็อ้างสิทธิในราชบัลลังก์ต้าหมิงจนเกิดการรบพุ่งกันเอง โดยไม่ได้คิดที่จะรวมกำลังกันต่อต้านชาวแมนจูที่เข้ามารุกราน

ใน ปี ค.ศ.1645  ถังหวาง เชื้อพระวงศ์ของต้าหมิงได้ตั้งมั่นที่เมืองฝูโจว ขึ้นเสวยราชย์ในพระนาม ฮ่องเต้หลงอู่ โดยเป็นหนึ่งในกลุ่มอำนาจของอาณาจักรหมิงใต้

ฮ่องเต้หลงอู่ทรงมีแม่ทัพนามว่า เจิ้งจือหลง เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด โดยเจิ้งจือหลงมีบุตรชายผู้หนึ่ง นามว่า เจิ้งเฉิงกง ซึ่งเป็นนายทหารหนุ่มที่เชี่ยวชาญในการรบเป็นอย่างมาก

เจิ้งเฉิงกง เป็นชาวหนานอัน มณฑลฟูเจี้ยน เกิดที่ญี่ปุ่น ในวันที่ 27 เดือน 8 ปี ค.ศ. 1624 เป็นบุตรชายคนโตของเจิ้งจือหลง กับภรรยาชาวญี่ปุ่น นามเดิมชื่อ เจิ้งเซิน หลังจากอายุได้ 7 ปี จึงติดตามบิดามารดามาอยู่ที่ประเทศจีน

ในปี ค.ศ.1945 บิดาของเขาได้พาเจิ้งเซินเข้าเฝ้าฮ่องเต้หลงอู่ พระองค์ได้ตรัสถามเจิ้งเซินว่า ”ยามบ้านเมืองเข้าสู่ยุคเข็ญดังนี้ จักกอบกู้ชาติได้อย่างไร”

เจิ้งเซินได้ยกเอาคำพูดของ งักฮุย อดีตแม่ทัพผู้ภักดีต่อชาติในยุคราชวงศ์ซ่ง ขึ้นมากราบทูลตอบว่า ”หากจักกอบกู้ชาติให้เป็นผล ขุนนางพลเรือนต้องไม่โลภเงินทอง เหล่าขุนทัพนายกองต้องกล้าหาญไม่กลัวตาย”

ฮ่องเต้หลงอู่ทรงพอพระทัยในคำตอบของเจิ้งเซินมาก จึงทรงแต่งตั้งให้เขาเป็นนายกองทหารราชองครักษ์และพระราชทานนามใหม่ว่า เจิ้งเฉิงกง


(อนุสาวรีย์ เจิ้งเฉิงกงบนเกาะไต้หวัน)

ใน ปี ค.ศ. 1646 ราชวงศ์ชิงได้ส่งคนมาลอบติดต่อกับเจิ้งจือหลงอย่างลับๆ เพื่อกล่อมให้อีกฝ่ายยอมจำนนโดยแลกกับลาภยศตำแหน่ง เจิ้งจือหลงเห็นแก่ผลประโยชน์ที่ทางราชสำนักชิงเสนอมา จึงทรยศฮ่องเต้หลงอู่ ยอมให้ทัพชิงรุกเข้าเมืองฝูโจว ทำให้ฮ่องเต้หลงอู่ถูกทหารแมนจูปลงพระชนม์

เจิ้งเฉิงกงโกรธมากที่บิดาทรยศต่อแผ่นดิน เขาจึงชูธงคำขวัญ ”เนรคุณบิดา แทนคุณชาติ” รวบรวมไพร่พลที่ยังจงรักภักดีตั้งกองกำลังต่อต้านราชวงศ์ชิง ยกกำลังไปตั้งมั่นที่เกาะหนานเอ้า มณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ต่อมาทราบว่า กุ้ยหวาง เชื้อพระวงศ์ต้าหมิงตั้งตัวเป็นฮ่องเต้ ที่กวางต่งใช้พระนามฮ่องเต้หย่งลี่ เขาจึงนำทหารเข้าสนับสนุนและได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เหยียนผิงจวิ้นหวาง

กองทัพของเจิ้งเฉิงกงเอาชนะกองทหารชิงได้หลายครั้งจนมีชื่อเสียงเป็นที่เลื่องลือไปทั่ว ในยามนั้น ตัวเอ่อกุน ผู้สำเร็จราชการแทน ฮ่องเต้ซุ่นจื้อ แห่งราชวงศ์ชิงได้สั่งให้เจิ้งจือหลงเขียนจดหมายไปเกลี้ยกล่อมให้เจิ้งเฉิงกงยอมจำนน หาไม่ จะประหารเจิ้งจือหลงและครอบครัวทั้งหมด ทว่าเจิ้งเฉิงกง ได้ปฎิเสธ ทำให้เจิ้งจือหลงถูกประหารชีวิต

ทางด้านเจิ้งเฉิงกงนั้น หลังจากเข้าร่วมกับฮ่องเต้หยงลี่แล้ว ก็ได้นำทัพเข้ายึดจางโจวเอาไว้ได้และแผ่อิทธิพลควบคุมพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก จนสามารถระดมไพร่พลได้ถึงสองแสนคน ทำให้ทางต้าชิงต้องออกโองการสั่งให้ชาวประมงที่อาศัยอยู่ริมทะเลย้ายเข้ามาในแผ่นดินใหญ่เป็นระยะทาง 40 ลี้ (ยี่สิบกิโลเมตร) เพื่อป้องกันมิให้ชาวประมงเหล่านี้เข้าไปสมทบกับกองทัพของเจิ้งเฉิงกง

ครั้นถึงปี ค.ศ.1659 เจิ้งเฉิงกงได้นำทัพใหญ่เข้าตีนานกิง ทว่าต้องกลศึกของฝ่ายต้าชิง จนต้องถอยทัพกลับและในขณะที่เจิ้งเฉิงกงยังคงติดพันการศึกกับกองทัพแมนจูที่รุกไล่ตามมานั้นเอง ทางต้าชิงก็ได้ลอบส่งทัพใหญ่อีกทัพหนึ่งเข้าตีเมืองจางโจวจนแตกพ่าย ฮ่องเต้หยงลี่ได้เสด็จหนีไปพม่าแต่ถูกอู๋ซานกุ้ยนำทัพไล่ล่าติดตามและจับพระองค์สังหารเสียในเวลาต่อมา

การที่ฮ่องเต้หยงลี่ถูกปลงพระชนม์ ทำให้ความพยายามที่ผ่านมาสิบกว่าปีของเจิ้งเฉิงกงต้องสูญสลายไป อย่างไรก็ตามเขายังคงนำไพร่พลที่เหลือไปตั้งมั่นที่เกาะเซี่ยหมินเพื่อต่อต้านราชวงศ์ชิงต่อไป ในเวลาเดียวกันนั้น ชาวฮอลันดาที่เข้ามายึดเกาะไต้หวันไว้เป็นอาณานิคมตั้งแต่ช่วงก่อนสิ้นราชวงศ์หมิงก็ได้ส่งกองเรือเข้าระรานชาวจีนตามเกาะต่างๆ นอกชายฝั่ง ซึ่งการกระทำของฮอลันดาได้กลายเป็นอุปสรรคขัดขวางงานกู้ชาติของเจิ้งเฉิงกง

เจิ้งเฉิงกงเล็งเห็นว่า หากยังคงตั้งมั่นอยู่ที่เซี่ยหมิน จะไม่เป็นผลดีต่อการใหญ่ในวันหน้า เนื่องจากอาจถูกตีขนาบทั้งจากกองทัพชิงและพวกฮอลันดา เขาจึงตัดสินใจนำกำลังเข้ายึดไต้หวันเพื่อเป็นที่มั่นใหม่สำหรับงานกู้ชาติต่อไป

(ทัพหมิงโจมตีไต้หวัน)

ในวันที่ 29 เมษายน ปี ค.ศ. 1661 เจิ้งเฉิงกงได้นำกองเรือพร้อมทหาร 25,000 นาย ข้ามทะเลมุ่งสู่ไต้หวัน ซึ่งในยามนั้นมีกองทหารชาวฮอลันดากว่าสองพันนาย พร้อมเรือรบนับสิบลำคอยป้องกัน

กองทัพหมิงได้ยึดเมืองท่าลู่เออร์หมินบนเกาะไต้หวันเอาไว้เป็นอันดับแรก จากนั้นจึงเข้าตีป้อมปราการที่ฉื้อคั่น ซึ่งเป็นที่ตั้งของทำเนียบข้าหลวงใหญ่ฮอลันดา หลังจากระดมกำลังเข้าตีอยู่สามวันก็สามารถยึดป้อมปราการดังกล่าวได้ จากนั้นจึงยกทัพเข้าตีกองบัญชาการใหญ่ของฮอลันดาที่อันผิง โดยใช้เวลาปิดล้อมอยู่นานถึง 7 เดือน ชาวฮอลันดาจึงยอมจำนน ทั้งนี้หลังจากที่ตกอยู่ในอำนาจของชาวฮอลันดานานถึง 38 ปี ไต้หวันก็กลับเป็นอิสระอีกครั้ง ในปี ค.ศ.1661

(ที่พำนักของเจิ้งเฉิงกงบนเกาะไต้หวัน)

หลังยึดไต้หวันคืนมาจากชาวฮอลันดาได้สำเร็จ เจิ้งเฉิงกงได้เร่งพัฒนาเศรษฐกิจของไต้หวันและฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนบนเกาะในด้านต่างๆ เพื่อหวังที่จะใช้ไต้หวันเป็นฐานในการกู้ชาติ ทว่าหลังจากจากที่ยึดไต้หวันกลับคืนมาได้เพียงไม่กี่เดือน เจิ้งเฉิงกงก็ป่วยหนักและเสียชีวิตลงในปี ค.ศ.1662  อย่างไรก็ตาม ชาวไต้หวันยังคงต่อต้านราชวงศ์ชิงเรื่อยมา จนกระทั่งถูกกองทัพชิงเอาชนะได้ในรัชสมัยของ คังซี ฮ่องเต้องค์ที่สี่แห่งต้าชิง

ที่มา: http://www.komkid.com

Leave a Reply