ยอมเป็นหยกแหลกลาญ ไม่ขอเป็นกระเบื้องสมบูรณ์
ในสมัยคริสตศักราชที่ 550 ยุคราชวงศ์เหนือ อัครเสนาบดี “เกาหยาง” กุมอำนาจเด็ดขาดในราชสำนักแผ่นดินเว่ยตะวันออก (ตงเว่ย) จึงบีบให้กษัตริย์ “เสี้ยวจิ้งตี้ (หยวนซ่าน)” สละราชบังลังก์ แล้วตั้งตนขึ้นเป็นกษัตริย์แทน สถาปนาราชวงศ์ฉีเหนือ (เป่ยฉี) ขึ้นมา
เกาหยางเป็นคนโหดเหี้ยมทารุณ เพื่อกำจัดเสี้ยนหนามที่อาจจะกลับมาทิ่มแทงในอนาคต จึงตัดสินใจสังหารเสี้ยวจิ้งตี้พร้อมทั้งราชโอรสทั้งสามไปในปีคริสตศักราชที่ 551 ทว่าการก่อกรรมทำชั่วอย่างมากมายเช่นนั้น ทำให้ในใจของเกาหยางอัดแน่นไปด้วยความหวาดกลัว
ครั้งหนึ่งเกาหยาง เอ่ยถามคนสนิทว่า “ยุคปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (ซีฮั่น) ครั้งที่พระญาตินาม “หวังหมั่ง” แย่งชิงอำนาจมาจากตระกูลหลิวสำเร็จ เหตุใดภายหลังจึงปล่อยให้ “หลิวซิ่ว (ฮั่นกวงอู่)” ช่วงชิงอำนาจกลับไปได้สำเร็จ?” คนสนิทของเกาหยางไม่ทราบเหตุผลอันใด เพียงแต่ตอบเพื่อเอาใจนายเหนือหัวว่า “เป็นเพราะหวังหมั่งไม่ขุดรากถอนโคน กวาดล้างราชนิกูลตระกูลหลิวไปให้หมดสิ้นในคราวเดียว” เมื่อเกาหยางได้ฟังก็เห็นว่าคำกล่าวนี้มีเหตุผล จึงได้นำมาใช้ โดยออกคำสั่งให้กวาดล้างสังหารพระญาติราชนิกูลตระกูลหยวน ของเสี้ยวจิ้งตี้ ให้สิ้นซากจากแผ่นดิน ไม้เว้นแม่แต่เฒ่าชราหรือทารก ส่งผลให้คนตระกูลหยวนระส่ำระสาย รู้สึกหวาดกลัว เพราะไม่รู้ว่าวันใดตนจะถูกฆ่าตาย จึงได้จัดการพบปะในหมู่เครือญาติเพื่อหารือ
ในการหารือของตระกูลหยวน มีคนผู้หนึ่งเสนอว่า ทางที่ดีควรจะเปลี่ยนชื่อสกุลใหม่ จาก หยวน (元) เป็น เกา (高) แต่พระญาตินาม“หยวนจิ่งห้าว”คัดค้านความคิดนี้อย่างหัวชนฝา โดยกล่าวว่า”ลูกผู้ชายยอมเป็นหยกแหลกลาญ ไม่ขอเป็นกระเบื้องสมบูรณ์ ยอมตายอย่างกล้าหาญ ดีกว่ามีชีวิตอยู่อย่างอัปยศอดสู”
ภายหลัง หยวนจิ่งห้าว ถูกทางการสังหารไปในที่สุด ส่วนเกาหยางเองนั้นป่วยหนักเสียชีวิตไปภายหลังจากนั้นไม่นาน ราชวงศ์ฉีเหนือจึงสิ้นสุดลงอย่างรวดเร็วในคริสตศักราชที่ 577
สำนวน “ยอมเป็นหยกแหลกลาญ ไม่ขอเป็นกระเบื้องสมบูรณ์” เดิมใช้ในความหมายว่า ยอมตายไม่ยอมเสียศักดิ์ศรี ภายหลังมักใช้หมายถึงการยึดมั่นในหลักความเชื่อ-อุดมการณ์ของตนอย่างแน่วแน่ แม้จนตัวตายก็ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง
ที่มา: http://www.manager.co.th/