กบฏไท่ผิง (1851-1864)

กบฏไท่ผิง (1851-1864)

Hong Xiu Quan

ในช่วงศตวรรษที่สิบเก้า ประเทศจีนถูกปกครองโดยราชวงศ์ชิงของชนเผ่าแมนจู ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว การบริหารปกครองแผ่นดินกำลังเสื่อมลงเนื่องจากองค์จักรพรรดิทรงไร้ความสามารถ จนทำให้ประชาชนจำนวนมากได้รับความทุกข์ยากจากการขูดรีดและกดขี่ของพวกขุนนางกับเจ้าที่ดิน

ความทุกข์ยากที่ประชาชนได้รับ นำไปสู่การก่อกบฏหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งแม้ในที่สุด กบฏเหล่านั้นจะถูกปราบปรามโดยทางการจนราบคาบ แต่ก็ส่งผลให้รากฐานการปกครองของราชวงศ์ชิงต้องสั่นคลอน และการกบฏที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของราชวงศ์ชิงหรืออาจจะเป็นหนึ่งในการกบฏที่รุนแรงที่สุดของประวัติศาสตร์โลก ก็คือ กบฏไท่ผิง

taiping2

พลธนูชาวแมนจู

กบฏนี้ เริ่มขึ้นในเดือนธันวาคม ปี ค.ศ.1850 ตรงกับรัชสมัยของจักรพรรดิเสียนเฟิง และสิ้นสุดในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1864 ในรัชสมัยของจักรพรรดิถงจื้อ หัวหน้าก่อการคือ หงซิ่วฉวน อดีตบัณฑิตตกยาก ผู้ถือกำเนิดที่อำเภอฮวาเซี่ยน มณฑลกว่างตง หงซิ่วฉวนเป็นบุตรของผู้ใหญ่บ้านซึ่งมีฐานะพอสมควร ทำให้ในวัยเด็ก เขามีโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียน ทว่าเมื่ออายุ 14 ปี ฐานะของครอบครัวย่ำแย่ลง ทำให้เขาต้องออกจากการเรียนกลางคันเพื่อมาช่วยที่บ้านทำนา

ด้วยความที่อยากก้าวหน้า หงซิ่วฉวนได้พยายามสอบเพื่อให้ได้เป็นบัณฑิตเพื่อจะได้มีสิทธิสอบเข้ารับราชการ แต่ก็ต้องผิดหวัง ทว่าเขาก็ไม่ท้อยังคงพยายามหาความรู้เพิ่มเติมและหาโอกาสเข้าสอบอีกหลายครั้ง

ครั้งหนึ่ง หงซิ่วฉวนได้พบกับบาทหลวงในศาสนาคริสต์พร้อมกับสานุศิษย์ชาวจีนชื่อ เหลียงฟา ซึ่งเป็นผู้มอบคัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลเป็นภาษาจีนให้หงซิ่วฉวน ทำให้เขาได้มีโอกาสศึกษาหลักศาสนาคริสต์จนเกิดความศรัทธาในพระเจ้าและปรารถนาให้สังคมเกิดความเสมอภาคกันเหมือนเช่นในคำสอนของศาสนาคริสต์

ค.ศ.1843 หงซิ่วฉวนอายุ 28 ปี และเข้าสอบมาแล้วถึงสี่ครั้ง ซึ่งล้วนสอบไม่ได้ทุกครั้ง ด้วยความผิดหวังอย่างที่สุด เขาจึงเลิกศึกษาตำราขงจื๊อและหันมาศึกษาคัมภีร์ศาสนาคริสต์อย่างจริงจัง พร้อมกับปวารณาตนเป็นคริสต์ศาสนิกชนและตั้งลัทธิบูชาพระเจ้าขึ้น ก่อนออกเผยแพร่คำสอนของลัทธิ ทว่าไม่ได้รับการยอมรับจากผู้คน แต่เขาก็ไม่ย่อท้อ ยังคงมุ่งมั่นทำงานตามอุดมการณ์ของตนต่อไป

ค.ศ. 1844 หงซิ่วฉวนและเฝิงหวินซาน สหายและศิษย์คู่ใจ ได้เดินทางไปเผยแพร่คำสอนที่มณฑลกว่างซี ซึ่งในครั้งนี้ได้รับการตอบรับจากชาวนา กรรมกรเผาถ่านและชนเผ่าแม้วที่ไม่พอใจทางการ เข้าร่วมเป็นสาวกนับร้อยคน ก่อนจะขยายเป็นสามพันคนในสามปี จากนั้นลัทธิบูชาพระเจ้าก็ได้สร้างรากฐานมั่นคงที่กว่างซีและมีสาวกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงปี ค.ศ.1847 ก็เปลี่ยนเป็นพรรคบูชาพระเจ้าโดยมีหงซิ่วฉวนเป็นประมุข

taiping4

พรรคบูชาพระเจ้าเริ่มออกปฏิบัติแข็งกร้าว เข้าทำลายพระพุทธรูปและก่อการจลาจลต่อต้านทางการ จนกลายเป็นกบฏเต็มที่ในปี ค.ศ.1851 โดยพรรคบูชาพระเจ้าได้ก่อการปฏิวัติที่หมู่บ้านจินเถียน มณฑลกว่างซี และสถาปนาอาณาจักรไท่ผิงเทียนกว๋อ (เมืองแมนแดนสันติ) พร้อมตั้งกองทัพใหญ่ห้าทัพสำหรับต่อสู้กับทางราชสำนัก

ทางราชสำนักชิงได้ส่งทหารเข้าปราบปรามหลายครั้งแต่ล้วนพ่ายแพ้ไปสิ้น และในเวลาไม่นาน กองทัพไท่ผิงก็ครอบครองมณฑลกว่างซีได้ทั้งหมด จากนั้นจึงเคลื่อนพลเข้าสู่มณฑลเหอหนานและเหอเป่ย ยึดเมืองใหญ่น้อยไว้ได้มากมายและขยายกำลังพลเป็นห้าแสนนาย โดยหงซิ่วฉวนได้สถาปนาตนเองเป็นเทียนหวาง หรือราชันย์สวรรค์ ประมุขแห่งไท่ผิง

เดือน มีนาคม ปีค.ศ.1853 กองทัพไท่ผิงยึดเมืองหนานจิง (นานกิง) ได้สำเร็จและสถาปนาเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรไท่ผิงเทียนกว๋อ โดยเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น เทียนจิง (ราชธานีแห่งสวรรค์) ซึ่งนับจากนั้น ไท่ผิงเทียนกว๋อก็ครอบครองดินแดนทางใต้ของจีนเกือบทั้งหมด คิดเป็นพื้นที่หนึ่งในสามของประเทศจีน สั่นคลอนอำนาจรัฐของราชวงศ์ชิงอย่างรุนแรง

taiping_rebellion

การรบระหว่างพวกไท่ผิงกับทหารราชสำนัก

หลังสถาปนาเมืองหลวง หงซิ่วฉวนได้ดำเนินงานตามอุดมการณ์ที่เคยตั้งมั่นไว้ โดยใช้หลักความเสมอภาคในการบริหารแผ่นดิน ด้วยการปฏิรูปที่ดินและการเกษตร โดยรัฐจะเป็นเจ้าของที่ดินและผลผลิต ทั้งยังมีหน้าที่ดูแลสวัสดิภาพพลเมือง โดยประชาชนจะได้รับที่ดินและผลผลิตเท่าที่จำเป็นต่อการครองชีพ นอกจากนี้ หงซิ่วฉวนยังได้ยกเลิกอาชีพโสเภณีและประเพณีรัดเท้าสตรี ทั้งยังให้สิทธิสตรีได้เสมอภาคกับบุรุษโดยสามารถสอบเข้ารับราชการได้

อย่างไรก็ตาม แม้อาณาจักรไท่ผิงจะมีอุดมการณ์ที่ดีในการปกครอง ทว่าหลังยึดนครหนานจิงได้ไม่นาน อุดมการณ์เหล่านี้ก็ค่อย ๆหายไป หงซิ่วฉวนหันมาลุ่มหลงกับการเสพสุขในตำแหน่งประมุขของไท่ผิงเทียนกว๋อ โดยตัวเขาเองนั้นได้แต่งตั้งนางสนมมากถึงสามร้อยคน และตลอดเวลาห้าปี นับจาก ค.ศ.1854 ถึง ค.ศ.1858 เขาไม่เคยออกหมายราชการเลยแม้แต่ฉบับเดียว แต่ที่ร้ายยิ่งกว่าก็คือ ความแตกแยกในเหล่าผู้นำทัพของไท่ผิงซึ่งมีหงซิ่วฉวนอยู่เบื้องหลัง เนื่องจากเขาเกรงว่า บรรดาผู้นำที่เข้มแข็งจะกลายเป็นอันตรายต่อฐานอำนาจของเขา

taiping3

แม่ทัพและไพร่พลของไท่ผิงเทียนกว๋อ

แต่เดิม หงซิ่วฉวนมีพี่น้องร่วมสาบานห้าคนในการก่อตั้งอาณาจักรไท่ผิง คือเฝิงหวินซาน หยางซิ่วชิง เซียวเฉากุ้ย เหวยจื้อเจิ้ง และสือต๋าไค ในช่วงต้นของการก่อตั้งอาณาจักร เฝิงหวินซานและเซียวเฉากุ้ย เสียชีวิตในการรบกับกองทัพราชวงศ์ชิง ส่วนหยางซิ่วชิงนั้น ภายหลัง ถูกหงซิ่วฉวนวางแผนมอบคำสั่งลับให้เหวยจื้อเจิ้งยกพลเข้าสังหารพร้อมกำลังพลในสังกัดอีกสองหมื่นนาย ซึ่งการกระทำของเหวยจื้อเจิ้งทำให้สือต๋าไคไม่พอใจมาก เหวยจื้อเจิ้งจึงคิดกำจัดเขา แต่สือต๋าไคไหวตัวทันจึงหนีรอดไปได้และได้ใช้กำลังพลของตนบีบให้หงซิ่วฉวนประหารชีวิตเหวยจื้อเจิ้ง

หลังเหวยจื้อเจิ้งถูกประหาร หงซิ่วฉวนก็เพิ่มความระแวงในสือต๋าไคซึ่งเป็นแม่ทัพที่มากบารมีและความสามารถ จึงวางแผนกำจัดเขา ทำให้สือต๋าไคต้องนำกำลังพลหนีไปตั้งมั่นยังหัวเมืองอื่นและถูกกองทัพราชวงศ์ชิงเข้าปิดล้อมโจมตีจนกองทัพของเขาแตกพ่าย สือต๋าไคถูกทหารแมนจูจับตัวได้และถูกประหารชีวิต

การเข่นฆ่ากันเองภายใน ทำให้อาณาจักรไท่ผิงเทียนกว๋ออ่อนแอลง ประกอบกับทางราชสำนักชิงได้เสริมกำลังทัพด้วยกองทหารรับจ้างชาวอังกฤษและฝรั่งเศสในการปราบกบฏนี้ ทำให้กองทัพไท่ผิงตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้และอ่อนกำลังลงเรื่อยๆ

ปี ค.ศ.1864 ทางราชสำนักส่ง เจิงกว๋อฟานและเซิงเก๋อหลินซิ่ง นำทัพใหญ่เข้าปิดล้อมนครเทียนจิง (หนานจิง) เมืองหลวงของไท่ผิงเทียนกว๋อ โดยเมืองถูกล้อมนานถึงหกเดือนจนไม่มีเสบียงอาหารหลงเหลืออยู่เลย หงซิ่วฉวนเองถึงกับต้องกินใบไม้ใบหญ้าเพื่อประทังชีวิตทำให้ล้มป่วยลงและเสียชีวิตด้วยวัย 50 ปี เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ปี ค.ศ.1864 จากนั้นในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน กองทัพแมนจูก็ยึดเทียนจิงได้ ทำให้อาณาจักรไท่ผิงต้องล่มสลายลงหลังจากสถาปนามาได้เพียงสิบสี่ปี

taiping61

(นายทหารม้าและพลทหารราบแมนจูจับกุมกบฏแนวร่วมของไท่ผิง)

แม้ว่าอาณาจักรจะล่มสลายไป แต่แนวร่วมของไท่ผิงยังคงมีอยู่เป็นอันมากและได้รวมกำลังกันต่อต้านกองทัพราชวงศ์ชิงโดยใช้ชื่อของไท่ผิงเทียนกว๋อ ซึ่งในการปราบกบฏเหล่านี้ เซิงเก๋อหลินซิ่ง แม่ทัพใหญ่ของราชสำนักชิงได้ถูกกองทัพกบฏซุ่มโจมตีและเสียชีวิตในที่รบ อย่างไรก็ตาม กองกำลังกบฏไท่ผิงเหล่านี้ก็ได้ถูกกองทัพของราชวงศ์ชิงปราบปรามลงจนราบคาบในอีกสองปีต่อมา

เหตุการณ์กบฏไท่ผิงนับเป็นการกบฏครั้งสำคัญที่รุนแรงที่สุดในยุคแห่งการปกครองของราชวงศ์ชิง โดยในเหตุการณ์กบฏนี้ มีทหารและประชาชนล้มตายลงมากกว่ายี่สิบล้านคน นับเป็นหนึ่งในเหตุวิปโยคในหน้าประวัติศาสตร์ของโลก

ที่มา: http://www.komkid.com

Leave a Reply