บ๊ะจ่าง ตำนานปราชญ์รักแผ่นดิน
ถ้าเอ่ยถึงบ๊ะจ่าง หลายคนคงรู้จักเป็นอย่างดีกับข้าวเหนียวใส่กุนเชียง เนื้อหมู แปะก้วย ถั่ว (และอื่น ๆ) ห่อด้วยใบไผ่เป็นรูปสามเหลี่ยมแล้วนำมานึ่ง ทว่าที่มาของเจ้าบ๊ะจ่างหรือขนมจ้างนี้ เกี่ยวพันกับเรื่องราวของ ฉู่หยวน นักปราชญ์ ผู้ทรงคุณธรรมและรักบ้านเมือง
700 ปี ก่อน ค.ศ. ประเทศจีนในสมัยราชวงศ์โจวตะวันออก ถูกแบ่งเป็นเจ็ดแคว้น เรียกว่า ยุคจ้านกว๋อ หรือ เจ็ดผู้กล้าแห่งสงคราม ซึ่งประกอบด้วยแคว้นฉิน หาน ฉู่ จ้าว เว่ย เอี้ยน และฉี ซึ่งแต่ละแคว้นต่างก็ทำสงครามแย่งชิงดินแดนกันมิได้หยุด ขณะที่ราชวงศ์โจวก็ไม่มีอำนาจที่จะห้ามปรามแคว้นใด ๆ ได้ และเมื่อถึงปลายยุคจ้านกว๋อ แคว้นฉินที่อยู่ทางภาคตะวันตก ได้ปฏิรูปบ้านเมืองจนมีความเข้มแข็งทั้งด้านเศรษฐกิจและการทหาร จากนั้นจึงเริ่มแผ่แสนยานุภาพเข้าคุกคามแคว้นอื่น ๆ จนกลายเป็นที่ยำเกรงของทุกแคว้น
ฉู่หยวน
ฉู่หยวนเป็นขุนนางของแคว้นฉู่ซึ่งตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ เขาเป็นผู้ที่ทรงภูมิรู้และมีคุณธรรมทั้งมีความรักแผ่นดินเกิดเป็นอันมาก ฉู่หยวนเป็นที่ปรึกษาของฉู่ฮุ่ยหวาง ประมุขแห่งแคว้นฉู่ ซึ่งในระยะแรก พระองค์มีความเชื่อถือในตัวเขาเป็นอันมาก ทว่าเมื่อชื่อเสียงของฉู่หยวนเริ่มเลื่องลือ ก็มีขุนนางบางคนริษยาความสามารถของเขาและพากันทูลยุแยงจนฉู่ฮุ่ยหวางเกิดความระแวงและคลายความเชื่อถือในตัวฉู่หยวนลง
ปีที่ 299 ก่อน ค.ศ. แคว้นฉินกับแคว้นฉู่ทำสงครามกัน กองทัพฉู่พ่ายแพ้ยับเยิน ฉินหวางได้ยื่นข้อเสนอจะสงบศึก แต่มีข้อแม้ให้ฉู่ฮุ่ยหวางเดินทางไปแคว้นฉินเพื่อทำข้อตกลง ฉู่หยวนคาดการณ์ว่าข้อเสนอดังกล่าวมีอุบายแอบแฝงอยู่ จึงพยายามคัดค้านไม่ให้เจ้าเหนือหัวของตนไปแคว้นฉิน ทว่าฉู่ฮุ่ยหวางไม่ยอมฟังและเสด็จไปแคว้นฉินตามคำเชิญ จนถูกจับเป็นเชลย จากนั้นอีกสามปีต่อมา ก็สิ้นพระชนม์ในที่คุมขัง
หลังจากฉู่ฮุ่ยหวางถูกจับไป โอรสของพระองค์ได้ขึ้นครองราชย์แทน โดยมีพระนามว่า ฉู่ฉิงเซียงหวาง ซึ่งหลังจากฉู่ฉิงเซียงหวางครองราชย์แล้ว กลุ่มขุนนางที่เป็นศัตรูกับฉู่หยวนได้กลายเป็นที่โปรดปรานของฉู่หวางพระองค์ใหม่ ขุนนางเหล่านั้นได้ให้ร้ายฉู่หยวน จนทำให้เขาต้องออกจากราชการและถูกเนรเทศไปชนบท
ปีที่ 278 ก่อน ค.ศ. แคว้นฉินได้ส่งทัพยกมาตีแคว้นฉู่ นครหลวงอิ่งตูถูกกองทัพฉินตีแตก ทำให้แคว้นฉู่ต้องเสียเมืองหลวงและดินแดนอีกหลายส่วนให้แก่ฉิน ซึ่งเมื่อฉู่หยวนได้ทราบข่าวก็เศร้าเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นอันมาก และด้วยความคับแค้นใจที่ตนเองไม่อาจใช้ความรู้ความสามารถช่วยเหลือบ้านเมืองในยามวิกฤตได้เขา จึงตัดสินใจกระโดดลงแม่น้ำลั่วปลิดชีพตนเอง
เมื่อพวกชาวเมืองจำนวนมากที่รักใคร่นับถือฉู่หยวน ได้ทราบข่าว ก็พากันเศร้าโศกเสียใจ พวกเขาพยายามงมหาร่างของฉู่หยวนขึ้นมาทำพิธีศพแต่ไม่พบ พวกชาวเมืองจึงพูดกันว่า ดวงวิญญาณฉู่หยวนคงไม่ปรารถนาขึ้นมาอยู่บนแผ่นดินที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย จึงบันดาลให้ผู้คนหาร่างของเขาไม่พบ ทว่าพวกชาวเมืองต่างเกรงว่าฝูงปลาในแม่น้ำมี่ลั่วจะกินร่างของฉู่หยวน จึงพายเรือไปตามแม่น้ำและตีกลองไล่ปลา พร้อมกับนำข้าวเหนียวนึ่งปั้นเป็นก้อนห่อด้วยใบไผ่โยนลงน้ำให้ปลากินเพื่อที่ปลาจะได้ไม่ไปกินร่างของฉู่หยวนที่พวกเขานับถือและศรัทธา จากนั้นทุกปี ในวันที่ 5 เดือน 5 เพื่อรำลึกถึงฉู่หยวน วีรบุรุษผู้รักแผ่นดิน พวกชาวเมืองจึงจัดงานแข่งเรือมังกรและทำข้าวเหนียวนึ่งห่อใบไผ่รับประทานกัน จนกลายเป็นธรรมเนียมแพร่หลายสืบมา โดยจากข้าวเหนียวนึ่งห่อใบไผ่ในยุคแรก ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงจนกลายมาเป็นบะจ่างหรือขนมจ้างดังเช่นทุกวันนี้
ที่มา: http://www.komkid.com