หนุมาน อ่านอย่างไรถูก
มีผู้ตั้งข้อสงสัยว่า คำว่า หนุมาน อ่านว่า [หะ-หฺนุ-มาน] ได้ไหม เพราะ ห เป็นอักษรนำ
ก่อนที่จะตอบคำถามนี้ได้จะต้องรู้ก่อนว่า อักษรนำ คืออะไร
อักษรนำ คือ พยัญชนะ ๒ ตัวเรียงกัน ตัวหน้ามีอิทธิพลนำเสียงวรรณยุกต์ของตัวที่ตามมา ตัวหน้าจะเป็นอักษรสูงหรืออักษรกลางก็ได้ แต่ตัวที่ตามมาเป็นอักษรต่ำเดี่ยวเท่านั้น
ส่วนวิธี “การอ่านแบบไทย” มี ๒ แบบ ดังนี้
แบบที่ ๑ อ่านออกเสียงเป็นพยางค์เดียว เช่น หนุ่ม หนู ในกรณีนี้ มี ห นำได้เพียงตัวเดียวและไม่ออกเสียง ทำหน้าที่เพียงชักนำเสียงวรรณยุกต์ ให้ออกเสียงเหมือนกับคำ หุ่ม หู เท่านั้น
แบบที่ ๒ อ่านออกเสียงเป็น ๒ พยางค์ เช่น กนก ขนม จรวด ฉลาด ตนุ ถนัด ปรอท ผนวก ฝรั่ง ศยาม สงบ อร่อย ในกรณีนี้ มีอักษรสูงอื่นๆ (ยกเว้น ห) และอักษรกลางนำได้ พยางค์แรกจะออกเสียงอะ
และทำหน้าที่ชักนำเสียงวรรณยุกต์ด้วย
ในกรณีของคำว่า หนุมาน ถ้าจะอ่านแบบอักษรนำก็น่าจะเป็นแบบที่ ๑ คือ [หฺนุ-มาน] ไม่มีการออกเสียง ห แต่คำนี้กลับอ่านว่า [หะ-นุ-มาน] โดยไม่มีอิทธิพลของอักษรนำ
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะยังมีวิธีอ่านอีกแบบหนึ่งซึ่งขอเรียกว่า “การอ่านแบบไม่ไทย” วิธีนี้ใช้กับคำจากภาษาต่างประเทศ เช่น กนิษฐ์ ขนิษฐา จริยา ฉมบ ดนุ ถเมิน ปนัดดา ผรุสวาท ศรัณยู สวิตช์ อนุ
จะเห็นได้ว่า คำที่มี “การอ่านแบบไม่ไทย” นี้มีทั้งคำจากภาษาบาลีสันสกฤต เขมร และอังกฤษ
อย่างไรก็ตาม หากการอ่านแบบอักษรนำหรือ “การอ่านแบบไทย”นั้นไปพ้องเสียงกับคำที่ไม่พึงประสงค์ ก็จะเปลี่ยนเป็น “การอ่านแบบไม่ไทย” ทันที เช่น
สมาคม อ่านว่า [สะ-มา-คม] ไม่อ่านว่า [สะ-หฺมา-คม]
สมาชิก อ่านว่า [สะ-มา-ชิก] ไม่อ่านว่า [สะ-หฺมา-ชิก]
คำบางคำปรากฏเสียงอ่านในพจนานุกรมเป็น “การอ่านแบบไทย” แต่ผู้ที่ใช้คำนั้นเป็นชื่อตัวก็อาจจะเลือก “การอ่านแบบไม่ไทย” ก็ได้ เช่น
ศยามล อ่านว่า [สะ-ยา-มน] ไม่อ่านว่า [สะ-หฺยา-มน]
คำบางคำเคยระบุ “การอ่านแบบไม่ไทย” ไว้ แต่เมื่อมีผู้นิยม “การอ่านแบบไทย” มากขึ้น พจนานุกรมก็ระบุการอ่านไว้ทั้ง ๒ แบบ เช่น
มัสยิด อ่านว่า [มัด-สะ-หฺยิด] หรือ [มัด-สะ-ยิด]
เพราะฉะนั้นคำว่า หนุมาน ซึ่งอ่านว่า [หะ-นุ-มาน] นั้นจึงเป็น “การอ่านแบบไม่ไทย”
วิธีการอ่านที่ต่างกันเช่นนี้ก็เกิดขึ้นกับภาษาอื่นๆ เช่นกัน
ในภาษาอังกฤษสระบางตัวก็ออกเสียงต่างกัน เช่น
bough ออกเสียงคล้าย [บาว]
though ออกเสียงคล้าย [โด]
but ออกเสียงคล้าย [บัต]
put ออกเสียงคล้าย [พุต]
เรื่องนี้คงต้องให้อาจารย์สอนภาษาอังกฤษมาเป็นผู้ตอบคำถามว่า “ทำไม”
จาก: มองไทยใหม่ : การอ่านแบบไทย VS การอ่านแบบไม่ไทย : นิตยา กาญจนะวรรณ