สาบเสือ

สาบเสือ

biodiversity-128722-1
สาบเสือ สมุนไพรข้างทาง ห้ามเลือด สมานแผล แก้บาดทะยัก

สาบเสือ มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Eupatorium odoratum L.
ชื่อภาษาอังกฤษว่า Bitter bush, Siam weed มีชื่อเรียกอื่นๆ เช่น หญ้าเสือหมอบ หญ้าดงร้าง หญ้าดอกขาว บ้านร้าง หมาหลง(สุพรรณบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี), หญ้าดอกขาว(สุโขทัย ระนอง), หญ้าเลาฮ้าง(ขอนแก่น), สะพัง(เลย), มุ้งกระต่าย(อุดรธานี), ยี่สุ่นเถื่อน(สุราษฎร์ธานี), ต้นขี้ไก่(ใต้), พาพั้งขาว(ไทใหญ่), จอดละเห่า(ม้ง) และเฮียงเจกลั้ง ปวยกีเช่า(จีน) เป็นต้น

ลักษณะเป็นไม้ล้มลุก แตกกิ่งก้านสาขามากมายจนเหมือนทรงพุ่ม มีอายุแค่ 1 ปี สูงประมาณ 1-2 เมตร ลำต้นและกิ่งก้านปกคลุมด้วยขนอ่อนนุ่ม ใบเป็นใบเดี่ยว รูปหอก ปลายใบแหลม ฐานใบกว้าง ขอบใบหยัก ที่ใบเห็นเส้นชัดเจน 3 เส้น ดอกออกเป็นช่อ ลักษณะเป็นกระจุกคล้ายร่ม สีขาวหรือฟ้าอมม่วง ไม่มีกลิ่นหอมเลย มีแต่กลิ่นคล้ายสาบเสือ ออกดอกในฤดูหนาว ส่วนผลมีขนาดเล็ก เป็นสันหรือห้าเหลี่ยม แห้ง เรียว บาง มีสีน้ำตาลหรือดำ ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด

เมื่อนำใบและก้านมาขยี้ จะมีกลิ่นแรงคล้ายกลิ่นสาบเสือ จึงเป็นที่มาของชื่อสาบเสือ เล่ากันว่า คนโบราณเวลาหนีสัตว์ร้ายเข้าไปในดงสาบเสือจะปลอดภัย เพราะสัตว์นั้นจะไม่ได้กลิ่นคน แต่จะได้กลิ่นสาบเสือแทน

สาบเสือมีถิ่นกำเนิดอยู่ในอเมริกากลาง แพร่กระจายตั้งแต่ทางตอนใต้ของฟลอริดา จนถึงพื้นที่ตอนเหนือของอาร์เจนตินา และเขตร้อนของโลกทุกทวีป ขึ้นทั่วไปทั้งในสภาพดินชื้นหรือแห้ง ที่รกร้างว่างเปล่า และตามที่ที่มีแสงแดดมากๆ จึงเป็นสมุนไพรที่หาได้ง่าย

ตัวยาสำคัญของสมุนไพรชนิดนี้อยู่ที่ใบ เพราะใบของสาบเสือมีสารสำคัญ คือ กรดอะนิสิก และฟลาโวนอยด์หลายชนิด เช่น ไอโซซากูรานิติน และโอโดราติน รวมทั้งน้ำมันหอมระเหย ซึ่งประกอบไปด้วยสารยูพาทอล คูมาริน โดยสารสำคัญเหล่านี้จะไปออกฤทธิ์ที่ผนังเส้นเลือด ทำให้เส้นเลือดหดตัว และยังมีฤทธิ์ไปกระตุ้นสารที่ทำให้เลือดแข็งตัวได้เร็วขึ้น ทำให้สามารถห้ามเลือดได้

สารสกัดจากกิ่งและใบยังช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดหนอง

ด้วยเหตุนี้ หมอยาไทยโบราณจึงมักใช้ใบสาบเสือรห้ามเลือด รักษาแผลสด สมานแผล ป้องกันการเกิดแผลเป็น ถอนพิษแก้อักเสบ แก้พิษน้ำเหลือง ตาฟาง ตาแฉะ ริดสีดวงทวารหนัก รักษาแผลเปื่อย

นอกจากนี้ ใบสาบเสือยังช่วยแก้ผมหงอก ทำให้ผมดกดำ โดยนำมาตำแล้วใช้หมักผมเป็นประจำ จะทำให้เส้นผมดูดกดำขึ้น และมีฤทธิ์ในการกำจัดปลวก ไล่แมลง ฆ่าแมลง ยับยั้งการงอกและชะลอการเจริญเติบโตของพืชอื่นๆ

สำหรับสรรพคุณส่วนอื่นๆของสาบเสือ ได้แก่
ต้น : เป็นยาแก้ปวดท้อง ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ แก้บวม ดูดหนอง
ดอก : เป็นยาแก้ร้อนใน กระหายน้ำ ชูกำลัง แก้อ่อนเพลีย บำรุงหัวใจ แก้ไข้
ราก : เป็นยาแก้โรคกระเพาะ แก้ไข้ป่า
ทั้งต้น : เป็นยาแก้บาดทะยัก และรักษาแผลสด ใช้เป็นยาฆ่าแมลง

ผศ.ดร.ภญ.วีณา นุกูลการ สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวยืนยันถึงสรรพคุณของใบสาบเสือว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ทำให้เลือดหยุดไหล สมานแผล ต้านการอักเสบ ต้านเชื้อจุลชีพ ช่วยในการห้ามเลือด รักษาแผลสด แผลเปื่อย แก้อักเสบ และแก้ริดสีดวงทวาร

จากผลการศึกษาทางคลินิก พบว่า ใบสาบเสือแบบสดและแบบแห้ง สามารถห้ามเลือดในผู้ป่วยที่มีบาดแผลฉีกขาดของเนื้อเยื่อและหลอดเลือดฝอย ได้เร็วกว่าการใช้ผ้าก๊อซอย่างเดียวประมาณ 10-15 นาที ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดและความลึกของบาดแผล

โดยนำใบสดมาล้างให้สะอาด จากนั้นนำมาขยี้หรือโขลกให้ละเอียดแล้วพอกที่แผลสดทันที เนื่องจากใบของสาบเสือมีส่วนประกอบของน้ำมันหอมระเหย เทอร์พีน สเตียรอล คูมาริน และฟลาโวนอยด์หลายชนิด โดยสารสำคัญเหล่านี้จะไปออกฤทธิ์ที่ผนังเส้นเลือด ทำให้เส้นเลือดหดตัว และกระตุ้นสารที่ทำให้เลือดแข็งตัวได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ ยังมีแคลเซียมที่ช่วยให้เลือดหยุดไหลได้อีกด้วย

และล่าสุด สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการวิจัยพบว่า ใบสาบเสือมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ช่วยลดน้ำตาลในเลือด และป้องกันการเกิดต้อกระจก ซึ่งเป็นอาการแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นจากโรคเบาหวานได้อีกด้วย

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 165 กันยายน 2557 โดย มีคณา)

Leave a Reply