ถนนซังฮี้และสะพานซังฮี้
ที่มาของคำว่า ซังฮี่ นี้มาจากสมัยราชวงศ์ซ้อง บัณฑิตหนุ่มแซ่หวัง ชื่อหวังอาซี เข้าสอบหน้าพระที่นั่ง หลังสอบเสร็จก็เข้าพิธีวิวาห์กับหญิงคนรัก ปรากฏว่าในวันแต่งงาน ทราบผลสอบว่าสอบได้เป็นที่ 1 คือได้เป็น จอหงวน นั่นเอง ในการแต่งบ้านสำหรับงานแต่งงานของตน หวังอาซีได้เขียนคำว่า ฮี่ สีทองบนกระดาษแดงติดไว้ที่ผนัง
เมื่อทราบว่าได้เป็นจอหงวน ทำให้ความสุขความยินดีเพิ่มเป็นทวีคูณ จึงเขียนคำว่า ซัง อีกตัว เพิ่มต่อจากฮี่ตัวแรก กลายเป็นคำว่า ซังฮี่ หรือ ฮี่คู่ แล้วนำไปติดไว้ที่หน้าประตูบ้าน เพื่อประกาศให้ญาติมิตรได้ทราบถืงความสุขที่มีเป็น 2 เท่าของตน ตั้งแต่นั้นมา คำว่า ซังฮี่ ก็เป็นที่นิยมและกลายเป็นสัญลักษณ์ของงานวิวาห์
ถนนซังฮี้ (ถนนราชวิถี)
ถนนซังฮี้ เป็นถนนที่เริ่มต้นจากถนนจรัญสนิทวงศ์ สิ้นสุดที่ถนนราชปรารถ ส่วนสะพานซังฮี้เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อถนนราชวิถีฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี พระบามสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามถนนตามชื่อเครื่องกิมตึ้ง
เครื่องกิมตึ้ง คือเครื่องถ้วยชามที่มีลวดลายต่างๆ จากเมืองจีน ซึ่งในสมัยพระบามสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนิยมสั่งจากเมืองจีนมาเพื่อใช้และสะสมเป็นของมีค่าประเภทสวยงามและเมื่อโปรดให้สร้างพระราชวังสวนดุสิตขึ้นนั้น โปรดพระราชทานนามตำหนัก ถนน สะพานและคลองต่างๆภายในพระราชวังสวนดุสิต เป็นชื่อเครื่องกิมตึ้งทั้งสิ้น เช่น ชื่อถนนด้านหลังพระราชวังโปรดพระราชทานนามว่า ซังฮี้ อันเป็นคำมงคลของจีน มีความหมายว่า “ยินดีอย่างยิ่ง”
ถนนซังฮี้เมื่อแรกสร้างมีระยะทางจากแม่น้ำเจ้าพระยาไปสุดบริเวณด้านหลังพระราชวังดุสิต และได้ขยายต่อมาในถายหลัง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งโปรดให้เปลี่ยนนามสถานที่หลายแห่งนั้น ถนนซังฮี้ก็เป็นถนนหนึ่งที่โปรดให้เปลี่ยนชื่อเป็น “ถนนราชวิถี”
สะพานซังฮี้ (สะพานกรุงธน)
สะพานซังฮี้ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ ๒๔๙๘ สมัยรัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงคราม ขณะทำการสร้างประชาชนทั่วไปยังไม่ทราบนามสะพานอย่างเป็นทางการ จึงเรียกชื่อสะพานว่าสะพานซังฮี้ เพราะสะพานนี้เริ่มต้นปลายถนนซังฮี้ทางด้านฝั่งนคร ต่อมาเมื่อสร้างเสร็จแล้วรัฐบาลได้ให้นามสะพานว่า “สะพานกรุงธน”