พยัคฆ์ทมิฬ สิ้นชาติ: Part III Carnage

พยัคฆ์ทมิฬ สิ้นชาติ: Part III Carnage

ปี 2002 ขณะที่ความฝันของการเป็นรัฐโดยชอบธรรมเข้าใกล้ความเป็นจริงที่สุดนั้น ประภาการันทราบดีว่าเขาต้องสลัดภาพลักษณ์ “ผู้ก่อการร้าย” ให้พ้นเสียก่อน จึงจะขึ้นเป็นผู้นำของรัฐเกิดใหม่ได้อย่างสง่างาม
ด้วยเหตุนี้ในเดือนเมษายนปีเดียวกัน ประภาการันจึงได้จัดงานแถลงข่าวขึ้นที่เมืองคิลินอชชิ และเชื้อเชิญสื่อมวลชนจากสำนักข่าวชื่อดังทั่วโลก เช่น BBC, CNN, New York Time มาให้สัมภาษณ์
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
งานแถลงข่าวของประภาการัน
ในวันนั้น ประภาการันใช้โทนเสียงที่อ่อนลง เขาพูดถึงเรื่องราวการต่อสู้เพื่อกู้ชาติที่กล้าหาญและสวยงาม เขาปฏิเสธการสังหารหมู่ หรือการก่อการร้ายใดๆ เปรียบเทียบมันกับความชั่วร้ายของฝ่ายรัฐบาล และบอกว่ามันเป็นสิ่งจำเป็นในสงคราม
เหตุการณ์เป็นไปด้วยดีจนกระทั่งมีนักข่าวคนหนึ่งถามว่า “คุณคิดอย่างไรกับการลอบสังหารนายกรัฐมนตรี ราจีฟ คานธีของอินเดีย?”

คำถามนั้นทำให้ประภาการันสะดุด เขากับหัวหน้าฝ่ายการเมืองมองหน้ากันเลิ่กลั่ก และในที่สุดประภาการันก็ตอบออกมาว่า “…คุณจะพูดถึงเรื่องน่าเสียใจที่เกิดขึ้นเมื่อสิบปีก่อนทำไม?”
อันที่จริงการตัดสินใจสังหารราจีฟ คานธีนั้นเป็นสิ่งที่ทำให้ประภาการันสำนึก เสียใจมาตลอด
จริงอยู่ชาวทมิฬอินเดียบางกลุ่มยังคงสนับสนุนพวกอีแลมอย่างลับๆ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้พวกเขาสามารถทำการซื้อขายกับโลกภายนอกได้
แต่ชาวอินเดียส่วนใหญ่ รวมทั้งชาวอินเดียใต้ซึ่งประภาการันนับญาติด้วยนั้นไม่เคยให้อภัยเขาในเรื่องนี้เลย

ภาพประภาการันเข้าพบราจีฟ คานธี ในสมัยที่ยังอุปถัมภ์ค้ำชูกันอยู่
วิญญาณของราจีฟ คานธี ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นผู้มีพระคุณที่ช่วยเหลือให้กลุ่มพยัคฆ์ทมิฬตั้งตัวขึ้นมาจากไม่มีอะไร ได้ตามหลอกหลอนประภาการันมาตลอด

ในระยะเวลาสิบปีเศษที่รัฐอีแลมก่อตัวเป็นรัฐ พวกพยัคฆ์ทมิฬได้ทำหลายอย่างเพื่อสร้างรายได้มากพอในการปกครองประเทศ
แหล่งรายได้ “ในทางสว่าง” ของพวกเขา นอกจากเงินบริจาคจากชาวทมิฬพลัดถิ่นแล้ว ยังมีเงินภาษีประชาชนในเขตปกครอง และการเก็บค่าผ่านทางถนน A9 เชื่อมจาฟนา-ศรีลังกาตอนใต้
อนึ่งหลังจากรัฐบาลศรีลังกาและกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬทำสัญญาสงบศึกกัน พวกพยัคฆ์ทมิฬก็เปิดเส้นทาง A9 ให้ประชาชนจากภาคเหนือและใต้ไปมาหาสู่กันได้โดยต้องเสียเงินค่าผ่านทางจำนวนมาก พวกเขายังสร้างร้านอาหาร, โรงแรม และพิพิธภัณฑ์สงคราม บนเส้นทางถนน A9 อีกหลายแห่ง เพื่อเก็บเงินนักท่องเที่ยวอีกด้วย

เส้นทาง A9

บาร์สำหรับนักท่องเที่ยวในเมืองคิลินอชชิ ภาพนี้มาจากนักท่องเที่ยวผู้ทำการรีวิวบาร์นี้เซนเซอร์หน้าตัวเอง
ในด้านมืดพวกเขายังทำการค้ายาเสพย์ติด, ค้าอาวุธเถื่อน, ทำบัตรเครดิตปลอม, ทำพาสปอร์ตปลอม, จี้ปล้น ทำตัวเป็นโจรสลัด
ชาวทมิฬศรีลังกาคนใดที่มีความประสงค์ไปตั้งรกรากหางานหาอนาคตที่ดีกว่าในประเทศที่เจริญแล้ว ก็สามารถจ่ายเงินให้พวกพยัคฆ์ทมิฬให้ลักลอบพาตน ไปยังประเทศเหล่านั้นได้ในราคาแพงลิบ

ภาพเรือ Farah 3 ของกลุ่มธุรกิจตะวันออกกลางที่ถูกพวกพยัคฆ์ทมิฬปล้นทั้งลำ เอาเครื่องยนต์ออกหมด แล้วเอาซากเรือมาจอดตั้งไว้ชายหาด ทำเป็นป้อมปราการ
พวกพยัคฆ์ทมิฬยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มก่อการร้ายอื่นๆทั่วโลก มีหลักฐานมากมายว่าพวกเขาได้ขาย “เทคโนโลยีการก่อการร้าย” และบริการขนส่งอาวุธ ให้กับกลุ่มก่อการร้ายต่างๆ เช่นโจรแบ่งแยกดินแดนภาคใต้ของไทย, กลุ่มอาบูไซยัฟในฟิลิปปินส์, กลุ่มกบฏชาวเคิร์ด, กลุ่มเจมาร์ อิสลามิยะ ในอินโดนีเซีย, และกลุ่มอัลเคดา
สำหรับกลุ่มอัลเคดานั้นมีรายงานว่า นอกจากกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬจะสอนเทคโนโลยีการระเบิดฆ่าตัวตายให้แล้ว ยังให้บริการทำพาสปอร์ตปลอมให้กับนายแรมซี ยูซุฟ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ก่อวินาศกรรมตึกเวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์อีกด้วย

นายแรมซี ยูซุฟ
ในลักษณะนี้การก่อการร้ายสมัยใหม่ ว่าด้วยการโจมตีเป้าหมายอ่อนแอ สร้างความหวาดกลัว แบ่งแยกประชาชนออกจากกันก็แผ่กระจายไปทั่วโลก โดยมีต้นกำเนิดจากดินแดนอีแลม ซึ่งตามที่ผมเรียนไปแล้วว่ามีขนาดและประชากรใกล้เคียงกับจังหวัดนครราชสีมาเท่านั้น

ก่อนหน้านี้ด้วยความที่มีคนน้อยกว่ารัฐบาล ทำให้พวกพยัคฆ์ทมิฬจำเป็นต้องเกณฑ์ผู้หญิงและเด็กมาเป็นทหาร ดังที่กล่าวแล้วว่ามีผู้หญิงในกองทัพพยัคฆ์ทมิฬมากถึงหนึ่งในสาม และมีเด็กอีกห้าพันคนเศษ
ครั้นมีประภาการันมีรายได้มากขึ้น เขาสามารถนำเงินเหล่านั้นไปซื้ออาวุธดีๆ ทำให้ลดการพึ่งพากำลังคนลง ด้วยเหตุนี้ประภาการันจึงได้ประกาศเลิกเกณฑ์ทหารเด็กในปี 2003 เพื่อลดแรงกดดันจากต่างชาติด้วยอีกทางหนึ่ง (แต่มีรายงานจากองค์กรสิทธิมนุษยชนหลายรายงานระบุว่าจริงๆแล้วเขายังแอบเกณฑ์อยู่)

ทหารเด็ก
อาวุธที่ประภาการันภูมิใจที่สุดคือกองบิน Zlin 43 ซึ่งเขาลักลอบซื้อมาจัดตั้งขึ้นในช่วงเวลานี้

เครื่องบิน Zlin 43 ผลิตในสาธารณรัฐเชค
นอกจากอาวุธแล้วอุตสาหกรรมบันเทิงในอีแลมก็เจริญรุ่งเรือง มีการผลิตหนังและมิวสิควีดีโอขึ้นมาหลายชิ้น
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
หนังเรื่อง Operation Ellalan ผมฟังภาษาทมิฬไม่ออก แต่เนื้อเรื่องประมาณว่ามีเด็กคนหนึ่ง ครอบครัวถูกทำร้ายเสียชีวิต ด้วยความแค้นจึงทิ้งแฟนไปเป็นเสือดำ และพลีชีพอย่างกล้าหาญในที่สุด (ลองดูนาที 4.10 ไปมีอนิเมชันด้วย)
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
เดาล้วนๆว่าเรื่องนี้นางเอกเป็นเสือดำ มีภารกิจต้องแทรกซึมปลอมเป็นทหารรัฐบาล แล้วเกิดเห็นอกเห็นใจ แต่สุดท้ายมีการพิสูจน์ว่าพวกสิงหลมันเลว อย่าไปเห็นใจมัน เลยกลับมาหาพระเอกที่เป็นเสือดำเหมือนกัน ใครอยากดูภาพบ้านเมืองและกิจกรรมต่างๆในอีแลม ผมแนะนำให้ดูวีดีโอนี้ช่วงหนึ่งนาทีแรกนะครับ นอกจากนั้นช่วงต้นยังมีการเต้นข้ามเขาซึ่งได้รับอิทธิพลจากหนังอินเดียให้ดูเล็กน้อย
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
มิวสิคเกี่ยวกับการหาปลา และ sea tiger (มั้ง) จำหน้านางเอกมิวสิคไว้นะครับ

ประภาการันนั้นไม่นับถือศาสนา กลุ่มพยัคฆ์ทมิฬของเขาก่อตั้งขึ้นมาด้วยอุดมการณ์มาร์กซิส ดังนั้นเมื่อมีอำนาจแล้วก็มักจะกดขี่คนศาสนาต่างๆ เว้นแต่ฮินดูกับคริสต์ซึ่งเป็นศาสนาที่คนทมิฬศรีลังกานับถือกันมาก (ยุคที่ชาวทมิฬยังเป็น “เด็กดี” ของอังกฤษนั้นมีคนทมิฬเปลี่ยนศาสนาตามเจ้าของอาณานิคมจำนวนหนึ่ง)
แต่เมื่อมีคนนับถือตัวเองมากๆเข้า ประภาการันก็ค่อยๆกลายได้รับการเทิดทูนเป็นอวตารของสุริยเทพ หรือเทพแห่งดวงอาทิตย์ในศาสนาฮินดู

สุริยเทพ ประภาการัน
ประภาการันมีลูกสามคน คนโตเป็นชายชื่อ ชาร์ล แอนโทนี่ ถูกตั้งชื่อตามเพื่อนที่เป็นวีรบุรุษสงคราม คนที่สองเป็นหญิงชื่อ ทวารกา ส่วนลูกชายคนสุดท้องชื่อพลจันทร์ การตรวจสอบหลังสงครามทำให้พบว่าแม้ในขณะที่พวกพยัคฆ์ทมิฬยังอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากนั้น ประภาการันและครอบครัวกลับมีชีวิตส่วนตัวที่ค่อนข้างสุขสบาย โดยลูกและภรรยาเขาเดินทางไปมาระหว่างอีแลมกับประเทศในทวีปยุโรป มีบ้านใหญ่โตหลายแห่งในหลายประเทศ

ประภาการันกับครอบครัว

สระว่ายน้ำที่ประภาการันซ่อนไว้ใช้เอง ถูกค้นพบหลังฝ่ายกบฏถูกรัฐบาลตีแตก

สระว่ายน้ำเด็กก็มี

ครอบครัวประภาการัน

พลจันทร์กับรถคันแรก

วันเกิดพลจันทร์

ชาร์ล แอนโทนี่กับทวารกา

ทวารกาโตขึ้นมา …สวยครับ
ชีวิตของประภาการันคงจะสุขสบายเหมือนผู้นำประเทศทั่วไป หากไม่มีเหตุการณ์พลิกผันเกิดขึ้นเสียก่อน…

เหตุพลิกผัน
เหตุพลิกผันเริ่มขึ้นในปี 2004 เมื่อนายพลกรุณา ผู้บัญชาการรบทางตะวันออกของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬคนหนึ่งกล่าวหาว่าประภาการันทำการพัฒนาภาคเหนือกับภาคตะวันออกไม่เท่าเทียมกัน (ซึ่งผมดูๆแล้วก็จริงนะครับ) การทะเลาะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงกับทำให้นายพลกรุณานำทหารในปกครองของตนแยกตัวจากกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬ

ประภาการันกับนายพลกรุณานั่งข้างๆกัน
พอแตกหักกันแล้วพวกพยัคฆ์ทมิฬก็กล่าวหาว่านายพลกรุณานั้นทุจริตเงินของกลุ่มแล้วถูกจับได้เลยต้องหนี ส่วนนายพลกรุณาก็ออกมาแฉหมดว่าพวกพยัคฆ์ทมิฬทำเรื่องชั่วช้า ค้ายา เกณฑ์ทหารเด็ก ฯลฯ ตัวเองเมื่อก่อนก็เคยเกณฑ์ทหารเด็ก แต่เกิดกลายเป็นคนดีขึ้นมาเฉยๆ เลยทนอยู่ไม่ได้
พวกพยัคฆ์ทมิฬจึงรบกับนายพลกรุณาซึ่งนำทหารจำนวนไม่กี่ร้อยของตัวเองต่อสู้อย่างยากลำบาก
ขณะเดียวกันเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในฝั่งสิงหล คือพรรค SLFP ซึ่งเป็นซุปเปอร์อุลตราอนุรักษ์นิยมได้ขึ้นเป็นรัฐบาล โดยมีนายมหินทาเป็นประธานาธิบดี
นายมหินทามาจากตระกูล “ราชปักษา” ซึ่งเป็นตระกูลชาวนาร่ำรวยทางตอนใต้ พ่อและลุงของนายมหินทาได้ลงเล่นการเมืองตั้งแต่ยุคที่ศรีลังกายังเป็นซีลอนอยู่ และได้รับเลือกเป็น ส.ส. ในเขตของตนเรื่อยมา ลักษณะเด่นของตระกูลราชปักษาคือมีความสัมพันธ์ในหมู่เครือญาติที่เหนียวแน่น มีการส่งลูกหลานไปเรียนสูงๆ จากนั้นก็ให้กลับมาช่วยตระกูลในทางต่างๆ ดูแล้วก็เหมือนระบบกงสีของคนจีน

นายมหินทา ราชปักษา
ครั้นนายมหินทาขึ้นเป็นประธานาธิบดีแล้วก็เอาญาติพี่น้องของตนมาใส่ในตำแหน่งสำคัญต่างๆ คนที่สำคัญที่สุดคือน้องชายแท้ๆชื่อนายโคตาพยา ราชปักษา
นายโคตาพยานี้เป็นทหารผ่านศึก เคยรบกับพวกพยัคฆ์ทมิฬในสมรภูมิต่างๆอย่างโชกโชนมาเป็นเวลายี่สิบปี ได้รับเหรียญกล้าหาญและรางวัลมากมายจากประธานาธิบดีถึงสามคน เมื่อขึ้นถึงตำแหน่งนายพลก็เกษียณ ย้ายครอบครัวไปอยู่อเมริกา ทำงานเป็นผู้ดูแลระบบคอมพิวเตอร์ และได้กรีนการ์ดแล้ว
นายมหินทาเรียกโคตาพยากลับมาประจำในตำแหน่งที่สำคัญที่สุดคือรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ต่อมาเขาได้กลายเป็นรัฐมนตรีกลาโหมที่โหดเหี้ยมและมีประสิทธิภาพที่สุดของศรีลังกา

นายโคตาพยา ราชปักษา
ด้านการทหารกองทัพสิงหลยุคนี้ได้ทำการจัดซื้ออาวุธ จากจีน รัสเซีย และปากีสถาน นอกจากนั้นยังเกณฑ์ทหารเพิ่มมากมาย เพื่อเตรียมการสำหรับสงคราม นายโคตาพยาสร้างเครือข่ายข่าวสารที่มีประสิทธิภาพ แสวงหากลยุทธใหม่ๆมาปราบกบฏ ขณะเดียวกันเขาก็ทำการปิดปากนักข่าวหรือนักสิทธิมนุษยชนที่ออกข่าวต่อต้านการทำสงครามปราบปรามการก่อการร้ายหลายคน

กองทัพศรีลังกา

เครื่องบิน IAI Kfir

SLNS Sayura
ในทางการเมือง นายมหินทาได้เดินทางไปประเทศมหาอำนาจต่างๆทั่วโลก พยายามล๊อบบี้ให้รัฐบาลประเทศนั้นๆสนับสนุนภารกิจปราบกบฏของเขา โดยเฉพาะกับอินเดียที่นายมหินทาได้ไปผูกมิตรกับฝ่ายบริหารของรัฐบาลอินเดียไว้เป็นอย่างดี การนี้เท่ากับสร้างความแตกแยกในหมู่นักการเมืองอารยัน กับทมิฬของอินเดียโดยอัตโนมัติ

นายมหินทากับนายมันโมหัน สิงห์ นายกรัฐมนตรีอินเดีย

นายมหินทากับนายดิมิทรี เมดเวฟ ประธานาธิบดีรัสเซีย

นายมหินทากับนายสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน

ปล่อยให้ผมกระทืบพวกกบฏ แล้วผมจะส่งชามาให้ดื่มเยอะๆนะ
เมื่อเกิดกรณีกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬแตกคอกันเอง นายโคตาพยายังได้ยื่นมือไปโอบอุ้มนายพลกรุณาเอาไว้ พร้อมทั้งชุบเลี้ยงเป็นอย่างดี เพื่อปั้นให้เป็นทางเลือกทางการเมืองอีกทางหนึ่งที่ชาวทมิฬสามารถพึ่งพาได้ (ไม่ใช่มีแต่จะเอาหรือไม่เอาพวกพยัคฆ์ทมิฬเท่านั้น)

ถูกเขาแกล้งมาไม่เป็นไรนะน้องรัก มาอยู่กับพี่มะ เดี๋ยวเคลียร์ให้

แม้ในระหว่างที่มีการหยุดยิงกัน รัฐบาลศรีลังกาและกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬก็มีการปะทะกันประปราย เช่นพวกพยัคฆ์ทมิฬส่งคนมาลอบฆ่านักการเมืองสิงหล และนักการเมืองทมิฬสายกลางบ้าง หรือแล่นเรือไปปะกันกลางทะเลก็ยิงกันบ้าง
แต่จุดเริ่มต้นจริงๆของสงครามครั้งสุดท้ายเกิดทางภาคตะวันออกของประเทศ เมื่อพวกพยัคฆ์ทมิฬทำการปิดอ่างเก็บน้ำมาวิลอารูซึ่งอยู่ในเขตของตน แต่เป็นการตัดน้ำไม่ให้ไหลไปในเขตของชาวสิงหลซึ่งอยู่ติดกันโดยอัตโนมัติ ทั้งนี้เพราะต้องการให้รัฐบาลส่งงบมาพัฒนาดินแดนส่วนที่อยู่ในปกครองของพวกพยัคฆ์ทมิฬมากขึ้น
ประชาชนสิงหลกว่า 15,000 ครัวเรือนได้รับความเดือดร้อนเพราะขาดแคลนน้ำ ร้อนถึงฝ่ายรัฐบาลต้องเข้าไปเจรจากับพวกพยัคฆ์ทมิฬอยู่หลายวัน ก็ไม่มีทีท่าว่าจะมีการเปิดอ่าง

อ่างเก็บน้ำมาวิลอารู
นายมหินทาปรึกษาคณะรัฐมนตรีแล้ว มีความเห็นพ้องว่านี่เป็นข้ออ้างที่ดีในการเริ่มสงคราม ดังนั้นจึงส่งกองทัพและกองบินไปทิ้งระเบิดใส่กลุ่มพยัคฆ์ทมิฬที่เฝ้าอ่างเก็บน้ำอยู่ทันที
“สาธารณูปโภคพื้นฐานไม่ใช่สิ่งที่สามารถเอามาใช้เจรจาต่อรองได้!” นายมหินทาประกาศ “เรามีความจำเป็นต้องช่วยเหลือประชาชน แม้ว่าจะเป็นการยกเลิกข้อตกลงหยุดยิงก็ตาม!”
…พวกพยัคฆ์ทมิฬนึกไม่ถึงว่าฝ่ายรัฐบาลที่รบแพ้ติดต่อกันหลายครั้งในสงครามรอบก่อนจะกล้าใช้กำลังเต็มรูปแบบกับพวกตน …ไม่นึกว่ารัฐบาลจะเอาเรื่องนี้มาประกาศสงครามหลังจากที่หยุดยิง มีสันติมานานหลายปี
…พอกองทัพศรีลังกาเอาจริงเข้า เหล่าพยัคฆ์ทมิฬก็แตกพ่ายอย่างง่ายดาย…

จังหวัดทางตะวันออกที่พวกกบฏมีอิทธิพลในบางพื้นที่เท่านั้น ไม่เบ็ดเสร็จเหมือนภาคเหนือ
ครั้นเปิดอ่างเก็บน้ำไปช่วยประชาชนสำเร็จกองทัพศรีลังกาก็ตามตีต่อไปยังเมืองสำคัญในศรีลังกาภาคตะวันออก ด้วยความที่พยัคฆ์ทมิฬฝ่ายเหนือส่งทุนทรัพย์มาช่วยฝ่ายตะวันออกไม่มากอยู่แล้ว ประกอบกับทหารรัฐบาลเตรียมการมาอย่างดี มีข้อมูลภายในที่นายพลกรุณาเอาไปบอก ทำให้พวกกบฏทางตะวันออกพ่ายแพ้หมดรูปภายในเวลาเพียงปีเดียว
ชาวศรีลังกาทราบข่าวต่างก็ดีใจเฉลิมฉลองเรื่องนี้ เนื่องจากเป็นชัยชนะใหญ่ครั้งแรก หลังจากพ่ายแพ้กบฏติดๆกัน

อนุสาวรีย์การรบชนะในภาคตะวันออก

ข้างฝ่ายพยัคฆ์ทมิฬเมื่อเสียดินแดนภาคตะวันออกก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ พวกเขาเองก็อยากรบ เพราะมีอาวุธใหม่ๆที่สะสมมาในช่วงสันติเหมือนกัน
พวกพยัคฆ์ทมิฬเริ่มจากกลยุทธล้อมเว่ยช่วยจ้าวโดยบุกโจมตีจาฟนาอย่างหนัก เพราะคิดว่าจะทำให้รัฐบาลสับสนว่าจะยกไปช่วยทางไหน และถ้าเผลอๆตีจาฟนาแตกก็แจ๊คพอร์ตดีเลย
แต่กองทัพศรีลังกาในจาฟนาได้เตรียมพร้อมอยู่แล้ว พวกเขาต้านรับการโจมตีของพวกพยัคฆ์ทมิฬอย่างเหนียวแน่น เกิดเป็นศึกนองเลือดใหญ่ ฝ่ายรัฐบาลตาย 150 พวกพยัคฆ์ทมิฬตาย 700 คน จึงล่าถอยไป

พวกพยัคฆ์ทมิฬจะให้เกียรติทหารที่ตายมาก โดยการสร้างหลุมศพอย่างดีแบบนี้

แต่ในช่วงปลายสงครามทหารตายมากมาย พวกพยัคฆ์ทมิฬไม่มีเวลาฝังดีๆ จึงเกิดเป็นหลุมง่ายๆอย่างที่เห็นนี้ทั่วไป
สองเดือนต่อมา ฝ่ายรัฐบาลได้เตรียมตัวให้พร้อมขึ้นแล้วยกทัพบุกพวกกบฏบ้าง แต่พวกกบฏก็เตรียมการรับมือมาอย่างดีเช่นกัน ปรากฏว่ากบฏตาย 22 คน ฝ่ายรัฐบาลตาย 129 จึงต้องล่าถอย
แต่นั้นสองฝ่ายก็ยันกันไปกันมาที่ด่านทางช้าง ต่างฝ่ายต่างทำอะไรกันไม่ได้

หลังจากรัฐบาลปราบกบฏทางภาคตะวันออกแล้วก็จัดทัพยกเข้าตีภาคเหนือทันที โดยแบ่งทัพเป็นห้าทาง โจมตีกวาดจากทิศใต้
ทางที่หนึ่ง: ใช้กองพลที่ 58 นำโดยผู้บังคับการชเวนทรา ซิลวา ตีเข้าจากเขตแมนนาเริ่มที่เมืองอดัมปัน และให้ตีเลียบชายฝั่งทะเลตะวันตก จุดหมายหลักคือทำลายการลักลอบส่งเสบียงอาวุธจากอินเดียมาอีแลมในเส้นทางนั้น
ทางที่สอง: ใช้กองพลที่ 57 นำโดยนายพลจักกัธ ดิแอส ตีเข้าจากเขตแมนนาเช่นกัน ให้เริ่มที่เขตมธุจัดการเมืองฟากตะวันตกที่ไม่ติดชายหาดให้สิ้น
ทางที่สาม: ใช้กองปฏิบัติการพิเศษที่สอง เริ่มจากเขตวะวันนิยา ตีตามถนนสาย A9 ซึ่งอยู่กึ่งกลางภาคเหนือขึ้นไป
ทางที่สี่: ใช้กองปฏิบัติการพิเศษที่สี่ ตีเมืองเล็กน้อยในเขตมุลไลติวู เพื่อสนับสนุนกองทัพหลักในทางที่ห้า
ทางที่ห้า: ใช้กองพลที่ 59 นำโดยนายพลนันทนา อุดาวัฏ บุกตีเอาเมืองมุลไลติวูซึ่งเป็นเมืองเอกทางฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของอีแลมโดยเฉพาะ
อนึ่งทั้งห้าทางจะไปบรรจบกันที่เมืองคิลินอชชิ ตั้งใจว่าจะล้อมเมืองไว้เป็นสมรภูมิสุดท้าย

ผู้บังคับการชเวนทรา ซิลวา แม่ทัพที่สร้างผลงานมากที่สุดคนหนึ่งในสงครามครั้งนี้

แผนที่แสดงการเดินทัพ
นายโคตาพยาทราบดีว่าสิ่งที่ทำให้กลุ่มพยัคฆ์ทมิฬรบชนะมาตลอดคือการทำสงครามกองโจร สู้รบในป่าเขา ทำให้ฝ่ายรัฐบาลซึ่งสู้ตามแบบเสียเปรียบ แต่ครั้งนี้ผิดกันเพราะพวกพยัคฆ์ทมิฬเป็นฝ่ายที่มีขอบเขตบ้านเมืองให้รักษา ไม่อาจทำตัวเป็นกองโจรได้อีกต่อไป (การเป็นกองโจรแม้จะตามจับได้ยาก แต่มีข้อเสียคือไม่สามารถยึดครองพื้นที่ใดได้ถาวร ทำให้มีปัญหาเรื่องรายได้ เพราะไม่สามารถเก็บภาษีท้องที่มาบำรุงยุทธปัจจัย ดังนั้นทหารกองโจรก็ต้องมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อยึดบ้านยึดเมืองอยู่ดี)
ครั้งนี้ฝ่ายรัฐบาลมีการฝึกฝนให้พวกทหารหน่วยปฏิบัติการพิเศษมีความเชี่ยวชาญในการรบในป่าเขา กลายเป็นฝ่ายเล่นสงครามกองโจรกับพวกพยัคฆ์ทมิฬที่อยู่ในที่แจ้ง

หน่วยปฏิบัติการพิเศษสำหรับสู้ในป่าเขาของรัฐบาล

หน่วยปฏิบัติการพิเศษขณะเดินสวนสนาม
เมื่อความเจริญของพวกพยัคฆ์ทมิฬบีบให้พวกเขาสู้ในสมรภูมิที่ไม่ถนัด ผลคือในจำนวนห้าทัพนั้น พวกพยัคฆ์ทมิฬยันได้แค่ทัพเดียวคือกองพลที่ 59 ตีเมืองมุลไลติวู ที่เหลืออีกสี่ทางถูกตีแตกยะย่ายพ่ายยะยับสิ้น โดยเฉพาะกองพลที่ 58 นั้นสามารถยึดเมืองวิดัดตัลติวู ซึ่งเป็นศูนย์บัญชาการใหญ่ของหน่วยเสือทะเล จัดเป็นการสูญเสียสำคัญของฝ่ายพยัคฆ์ทมิฬ เพราะทำให้การส่งอาวุธและเสบียงจากอินเดียทำกันทางตะวันตกไม่ได้ ต้องพยายามอ้อมส่งทางชายฝั่งตะวันออก แปลว่าต้องใช้ระยะทางมากขึ้น เสียเวลามากขึ้น และเสี่ยงต่อการถูกกองเรือรัฐบาลจับมากขึ้น
ประภาการันไหวตัวทัน รีบสั่งการทันทีว่าให้ทุกทัพถอยร่นมาจากแนวหน้าอย่างมีระเบียบ ให้มารักษาเมืองคิลินอชชิไว้เป็นจุดเดียวก่อนที่จะแยกกันเสียหายมากกว่านี้
ช่วงนี้เขาได้ส่ง “เสืออากาศ” ออกทิ้งระเบิดโจมตีฝ่ายรัฐบาลหลายครั้ง พร้อมทั้งส่งกองกำลังเสือดำไปก่อวินาศกรรม ทำให้ฝ่ายรัฐบาลต้องแปลกใจ
…แต่ก็แค่ “แปลกใจ” เพราะการโจมตีของเสือดำนั้น พวกรัฐบาลเจอบ่อยจนพอรับมือได้แล้ว ส่วนเสืออากาศนั้นก็มีกันแค่เครื่องบินเล็ก และยุทธปัจจัยจำกัดทำให้ใช้ได้ไม่บ่อย จึงไม่ได้สร้างความเสียหายให้ฝ่ายรัฐบาลนัก ขณะที่รัฐบาลเอาเครื่องบินไปถล่มกบฏไม่หยุดหย่อน

รัฐบาลสามารถยึด “โบสถ์แห่งมธุ” ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจชาวคริสต์ศรีลังกาคืนจากกบฏได้
งาน Heroes Day ปีนั้นน ประภาการันได้กล่าวสุนทรพจน์ว่า “ขณะนี้เรากำลังถูกข้าศึกบุกโจมตีหนักอย่างที่ไม่เคยโดนมาก่อน ข้าพเจ้าขอให้พวกเราทุกคนเข้มแข็ง ต่อสู้อย่างมีสติ นอกจากนี้เรายังอยากส่งสารถึงอินเดียซึ่งเป็นประเทศแม่ที่รักยิ่งของเราว่า เราพร้อมจะเปิดช่องทางพันธมิตรให้กับท่านเหมือนเก่าก่อน…”
ผมแปลให้อ่านง่ายๆนะครับ ประภาการันกำลังบอกว่า “ใครก็ได้ช่วยด้วย จะตายอยู่แล้วโว้ย …อินเดีย ช่วยกุด้วย… ฮือ ฮือ…”
อนิจจามีเพียงนักการเมืองเชื้อสายทมิฬอินเดียไม่กี่คนเท่านั้นที่ตอบสนองการร้องขอของประภาการันโดยการประท้วงรัฐบาล กรรมที่เขาได้ไปสังหารราจีฟ คานธี ทำให้ชาวอินเดียส่วนใหญ่ไม่มีความเห็นใจใดๆต่อเขาอีก

ครั้นฝ่ายรัฐบาลยกทัพมาล้อมเมืองคิลินอชชิไว้เป็นสามทาง ศึกที่แท้จริงจึงเปิดฉากขึ้น เพราะที่นี้เองที่ประภาการัน “ปล่อย” กองกำลังที่แข็งแกร่งที่สุดคือกองกำลังชาร์ล แอนโทนี่ ซึ่งเขาเก็บไว้เป็นไม้ตายก้นหีบออกมา

ฝ่ายรัฐบาลตีกบฏจากสามทาง กองพล 58 นั้นอีกชื่อหนึ่งคือหน่วยปฏิบัติการพิเศษ 1
ฝ่ายกบฏสร้างเนินดินเป็นกำแพงล้อมรอบเมืองไว้หลายชั้น ฝ่ายรัฐบาลพยายามตีฝ่าเข้ามา แต่ถูกตีแตกกลับไปถึงสองครั้ง ฝ่ายกบฏได้ใจก็ออกจากกำแพงดิน เข้าตีฝ่ายรัฐบาล แต่ถูกตีย้อนกลับมาอีก

ส่วนหนึ่งของหน่วยปฏิบัติการพิเศษของรัฐบาล
กองทัพทั้งสองฝ่ายห้ำหั่นกันอย่างดุเดือด ตายกันฝ่ายละหลายๆร้อยคนแบบไม่กลัวความเสียหาย ฝ่ายพยัคฆ์ทมิฬอยู่ในสถานะที่ว่า “ทำอย่างไรก็ได้ ต้องรักษาเมืองหลวงไว้ให้ได้!” ส่วนฝ่ายรัฐบาลบอกตัวเองว่า “ถ้ายึดเมืองหลวงได้ แปลว่าต้องชนะสงครามนี้แน่แล้ว”
แต่ถึงที่สุดแล้วประภาการันคำนวณว่าหากสู้ต่อไปจะต้องพ่ายแพ้แน่นอน เขาจึงกวาดต้อนชาวทมิฬที่อยู่ในคิลินอชชิราวสามแสนหนีไปทางตะวันออกซึ่งเปิดโล่งอยู่ แล้วทิ้งทหารเดนตายไม่กี่คนให้ต่อสู้ประวิงเวลาหนี ฝ่ายรัฐบาลจึงสามารถตีเมืองคิลินอชชิ (ซึ่งบัดนี้กลายเป็นเมืองร้างแล้ว) แตกในการบุกโจมตีครั้งที่สาม ทั้งกวาดล้างพวกพยัคฆ์ทมิฬที่เหลืออยู่ในเมืองอย่างง่ายดาย

เมืองคิลินอชชิแตก พวกทหารบุกเข้าคฤหาสน์ของประภาการัน
พอได้คิลินอชชิ ฝ่ายรัฐบาลก็ยกเข้าตีด่านทางช้าง เปิดให้สามารถควบคุมถนน A9 ตลอดทั้งเส้น สร้างการคมนาคมระหว่างจาฟนาและศรีลังกาใต้ ด่านทางช้างที่ถูกพวกพยัคฆ์ทมิฬยึดมานาน ยันกับรัฐบาลมาเป็นสิบปีไม่เคยถูกตีแตก ก็ถูกตีแตกในที่สุดจากการที่ข้าศึกยกมาจากด้านหลังนี้เอง

การรบต่อจากนี้คือการที่ประภาการันพาประชาชนสามแสนคนถอยหนีไปทางตะวันออกมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลรุกไล่ยึดเมืองทีละเมือง ไปถึงเมืองไหนส่วนใหญ่ก็จะพบการต่อต้านเพียงเล็กน้อย
กองพลที่ 57, 58 ยังสามารถแบ่งคนไปช่วยกองพลที่ 59 ตีมุลไลติวูแตกอีกเมืองหนึ่ง ทำให้ฝ่ายพยัคฆ์ทมิฬไม่เหลือฐานทัพใหญ่อีกแล้ว ต้องหลบไปยังพื้นที่ชายหาดแคบๆโดยไม่ได้เตรียมการไว้ก่อน
ในช่วงเวลาที่แทบไม่เหลืออะไรแล้วนี้ประภาการันได้สร้างเซอร์ไพรส์ โดยส่งเครื่องบินรบสองลำบินไประเบิดฆ่าตัวตายที่โคลอมโบ แต่ทั้งสองต่างถูกยิงตกก่อนโดยที่ยังสร้างความเสียหายได้ไม่มาก

ซากเครื่องบินในปฏิบัติการครั้งสุดท้ายของ Air Tiger
อาวุธสุดท้ายจริงๆของประภาการันจึงเป็นคนสามแสนคนที่เขาพามาด้วย จนตอนนั้นเขายังมีความเชื่ออยู่ว่า ถ้ารัฐบาลศรีลังกาฆ่าคนของเขาไปสัก 1,000 – 2,000 คน สหประชาชาติกับประเทศมหาอำนาจก็คงไม่อยู่เฉย จะต้องมาช่วยเขาแน่นอน ดังนั้น “ประชาชน” เหล่านั้นจึงเปรียบเหมือนประกันภัยชั้นหนึ่งของเขา
ในตอนนั้นรัฐบาลเห็นว่าสามารถยึดพื้นที่ที่เคยเป็นของพวกพยัคฆ์ทมิฬมาได้กว่า 95% แล้ว ด้วยความไม่อยากถูกครหาว่าฆ่าคนบริสุทธิ์จึงประกาศให้พื้นที่ชายฝั่ง 20 ตารางกิโลเมตรเป็นพื้นที่ No Fire Zone รัฐบาลจะไม่ยิงไปตรงนั้น ให้พวกกบฏปล่อยประชาชนออกมา หรือไม่ก็กวาดต้อนประชาชนไปไว้ No Fire Zone เพื่อให้ปลอดภัย

ช่วงสุดท้ายของสงคราม สีแดงคือพื้นที่การปกครองของกบฏที่ถูกล้อม สีส้มคือ No Fire Zone
จากนั้นรัฐบาลก็รุกคือเข้าไปเรื่อยๆ พวกกบฏก็ถอยเข้าไปปะปนกับประชาชนใน No Fire Zone จนหมด ซึ่งรัฐบาลก็ไม่ได้ตามตีต่อ แต่ล้อมเอาไว้ กดดันให้พวกกบฏยอมแพ้ ยอมปล่อยประชาชนออกมา หรือไม่ก็แห้งตายอยู่ในนั้น
…ช่วงท้ายสุดของสงครามจึงเป็นช่วงที่ คนสามแสนคนติดอยู่ในพื้นที่ขนาด 20 ตารางกิโลเมตร ขาดน้ำขาดอาหาร…
ถูกล้อมอยู่เช่นนี้นานสามเดือน…

ตามที่ผมสรุปว่าสาเหตุความพ่ายแพ้ของพวกพยัคฆ์ทมิฬนั้นมีหลายอย่าง คือนอกจากจะมาจากการที่ฝ่ายรัฐบาลมีความเข้มแข็งจากการจัดการของตระกูลราชปักษาแล้ว ยังเกิดจากการที่พวกพยัคฆ์ทมิฬร่ำรวยขึ้น มีพื้นที่ให้ดูแลรักษามากขึ้น และผันตัวเองจาก “กองโจร” ไปเป็น “กองทหารตามแบบ”
ในขณะเดียวกัน ฝ่ายรัฐบาลได้ศึกษากลยุทธของฝ่ายตรงข้าม จัดตั้งกองกำลังที่สามารถรบกับพวกพยัคฆ์ทมิฬทั้ง “ตามแบบ” และ “นอกแบบ” ขึ้น พอสงครามเริ่มอีกครั้ง พวกพยัคฆ์ทมิฬต้องสู้แบบปกป้องเมืองซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ตัวเองไม่ถนัดจึงพ่ายแพ้อย่างรวดเร็ว ประภาการันไหวตัวทัน ตัดสินใจให้ทหารล่าถอยออกจากเมืองต่างๆมารวมกันที่เมืองคิลินอชชิ
…ผู้นำกบฏหวังว่าจะใช้กำลังอาวุธที่สะสมมา เอาชนะฝ่ายรัฐบาลในการยุทธ “ตามแบบ” ที่เมืองหลวงนี้ให้ได้ และใช้เป็นโอกาสตีโต้เอาดินแดนคืน…
แต่กองทัพศรีลังกาก็พิสูจน์ให้ประภาการันเห็นว่าเขาคิดผิด โดยทุ่มเทต่อสู้อย่างนองเลือด เอาชนะฝ่ายกบฏด้วยกำลังดุร้าย

ยุทธภูมิคิลินอชชิ

กองกำลังชาร์ล แอนโทนี่ที่แข็งแกร่งที่สุด ซึ่งมาละลายไปในการยุทธครั้งนี้
ไม่มีตัวเลขแน่ชัดว่าทหารทั้งสองฝ่ายตายที่คิลินอชชิเท่าใด แต่ประมาณกันว่า “มหาศาล” นับเป็นการสูญเสียใหญ่ครั้งแรกของพวกพยัคฆ์ทมิฬในสงครามนี้ หลังจากที่พยายามรบพลางถอยพลาง หลีกเลี่ยงการสูญเสียมาตลอด
:::  :::  :::
หลังการพ่ายแพ้ที่คิลินอชชิ ประภาการันต้องนำไพร่พล และประชาชนหนีกองทัพศรีลังกาหัวซุกหัวซุน ไปจนมุมที่พื้นที่ชายหาดแคบๆทางตะวันออกเฉียงเหนือของศรีลังกา
ระหว่างนั้นกองกำลังพยัคฆ์ทมิฬที่กระจัดกระจายอยู่ตามหัวเมืองต่างพากันเสียขวัญ ทำให้ถูกตีแตกอย่างรวดเร็ว ไม่กี่เดือน ฝ่ายรัฐบาลก็ยึดได้ด่านสำคัญซึ่งสู้มาสิบปีไม่เคยตีแตกอย่างด่านทางช้าง หรือเมืองสำคัญอย่างมุลไลติวูโดยง่าย
เดือน เม.ย. 2009 พวกพยัคฆ์ทมิฬพยายามตั้งหลักที่เมืองพูตุกคุดิยิริบปูซึ่งเป็นเมืองในครอบครองเมืองสุดท้าย (และมีชื่ออ่านยากที่สุดแห่งหนึ่ง) พวกเขาส่งกำลังเข้าตีโต้ฝ่ายรัฐบาลเป็นสามารถ เพียงเพื่อจะถูกตีกลับ และพบกับความพ่ายแพ้ย่อยยับ
ในศึกนี้รัฐบาลสามารถโอบล้อมศูนย์บัญชาการของฝ่ายพยัคฆ์ทมิฬสำเร็จ และได้สังหารนายทหารระดับสูงของฝ่ายกบฏไปเป็นจำนวนมาก ผู้ตายรวมถึงนางทุรคา, วิธุสา หัวหน้ากองทหารเสือหญิง และนายทีพัน ผู้บัญชาการรบสูงสุดของกบฏในเวลานั้นด้วย




ศพและอาวุธของฝ่ายกบฏที่ถูกนำมาวางเรียงรายกันหลังสมรภูมิพูตุกคุดิยิริบปู การเอาศพศัตรูมาวางเรียงเช่นนี้ ได้รับการต่อต้านจากนักสิทธิมนุษยชนเพราะเป็นการดูถูกความเป็นมนุษย์ แต่เป็นสิ่งที่ทั้งฝ่ายกบฏและรัฐบาลทำเป็นปกติ เพื่อข่มขวัญฝ่ายตรงข้าม

ครั้นเสียพูตุกคุดิยิริบปู ประภาการันก็ตระหนักว่าไม่มีโอกาสเอาชนะด้วยกำลังทหารแล้ว ความหวังเดียวของเขาจึงอยู่ที่ประชาชนสามแสนคนที่กวาดต้อนมา
ผู้นำกบฏจึงส่งสารไปยังองค์กรพยัคฆ์ทมิฬทั่วโลก ให้เกณฑ์ชาวทมิฬลี้ภัยตามที่ต่างๆทำการประท้วงพร้อมกัน
ในเดือนท้ายๆของสงครามกลางเมืองศรีลังกานั้น “โลก” ได้พบกับการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ของชาวทมิฬนับหมื่นๆแสนๆคน ที่ออกมาเดินขบวนตามท้องถนนในอังกฤษ แคนาดา ออสเตรเลีย สวิตเซอร์แลนด์ และประเทศอื่นๆที่พวกเขาลี้ภัยอยู่
ทุกๆคนหยุดงาน ปิดถนน ยึดจตุรัสกลางกรุง ทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อกดดันให้รัฐบาลของประเทศนั้นๆใช้กำลังยับยั้งรัฐบาลศรีลังกาจากการปราบกบฏให้ได้
…เกิดเป็นปรากฏการณ์ปั่นป่วนวุ่นวาย อย่างที่ไม่เคยพบมาก่อน…






คนนี้เผาตัวเองประท้วง





ชาวทมิฬทั่วโลกประท้วง
…มันเป็นเสียงกรีดร้องด้วยความเจ็บปวด…
…เสียงที่ดังขึ้นท่ามกลางความพังพินาศของประชาชาติหนึ่ง…
…พวกเขากรีดร้อง และกรีดร้อง…
…พวกเขาพยายามบอกว่า มีคนบริสุทธิ์สามแสนคน กำลังติดอยู่ในพื้นที่แคบเล็ก ขาดทั้งน้ำทั้งอาหาร ทั้งยังอยู่ท่ามกลางการต่อสู้อย่างดุเดือด…
…พวกเขาพยายามกดดันให้รัฐบาลของประเทศที่เจริญแล้วแทรกแซงศรีลังกา…
…เหมือนที่อินเดียเคยแทรกแซงในยุค ราจีฟ คานธี…
…เหมือนที่อเมริกาเคยแทรกแซงอัฟกานิสถาน…
…เหมือนที่เคยแทรกแซงอิรัก…
แต่อนิจจา… ไม่มีใครตอบรับเสียงเหล่านี้เลย…
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาลของประเทศมหาอำนาจเหล่านั้นถูกประธานาธิบดีมหินทาล็อบบี้ไว้หมดแล้ว…
แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะชาวทมิฬถูกมองว่ากำลังช่วยกลุ่มก่อการร้าย… ที่จับคนสามแสนคนเป็นตัวประกัน…
กลุ่มก่อการร้ายที่เคยสังหารหมู่คนบริสุทธิ์ทั้งเด็กและผู้หญิง ทำตัวเป็นโจรสลัด ค้ายา ค้าอาวุธ เผยแพร่เทคโนโลยีการก่อการร้าย สร้างความปั่นป่วนวุ่นวายไปทั่วโลก…
กลุ่มก่อการร้ายเช่นนี้จะช่วยมันทำไม?
…ครับ… มันเป็นกรรม…
กรรมที่พวกพยัคฆ์ทมิฬเคยก่อไว้ กรรมที่เขาเลือกมุ่งหน้าสู่จุดหมายโดยไม่สนใจความเดือดร้อนของคนอื่น
ทำให้เมื่อเขาบาดเจ็บ… ส่งเสียงกรีดร้องโหยหวนเฮือกสุดท้าย
…ไม่มีใครได้ยินเสียงนั้นเลยสักคนเดียว…

ข้างฝ่ายรัฐบาลศรีลังกา ครั้นตีกบฏจนล่าถอยไปอยู่ใน No Fire Zone ร่วมกับประชาชนเรียบร้อยแล้ว พวกเขาก็ตั้งล้อมไว้โดยไม่รีบร้อน
เมื่อพวกกบฏใช้ประชาชนเป็นเกราะกำบัง ตั้งปืนยิงออกมาใส่รัฐบาลในจุดใด ฝ่ายรัฐบาลก็ยิงกลับไปที่จุดนั้น ไม่สนว่าจะมีใครอยู่ ทั้งนี้จนกว่าพวกกบฏจะเลิกยิงไปเอง
เมื่อนักสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือคนบริสุทธิ์ รัฐบาลก็บอกว่าให้ไปโน้มน้าวฝ่ายกบฏให้ปล่อยคนออกมาก่อนสิ
แม้เมื่อชาวทมิฬทั่วโลกร้องตะโกนประท้วงให้นานาประเทศกดดันศรีลังกาถอนทัพ คืนพื้นที่ให้ฝ่ายกบฏ รัฐบาลศรีลังกาก็ยังนิ่งเฉย
…พวกเขาไม่รีบร้อนเลยแม้แต่น้อย…
เมื่อเวลาผ่านไปนานเข้า ฝ่ายกบฏเริ่มประสบปัญหาในการเลี้ยงดูคนจำนวนมาก ขาดแคลนทั้งอาหาร ยา และปัจจัย ในที่สุดก็มีการจลาจล พวกพยัคฆ์ทมิฬต้องปราบปรามชาวบ้านที่พยายามหนีออกมาหาฝั่งรัฐบาลเพื่อเอาชีวิตรอด
…แต่ยิ่งปราบปรามชาวบ้านก็ยิ่งต่อสู้ดิ้นรนมากขึ้นเรื่อยๆ ปรากฏทั้งทหารทั้งประชาชนทมิฬหนีออกมาหารัฐบาลเพิ่มขึ้นทุกวัน

ทหารประชาชนคนไหนยอมแพ้ต่อรัฐบาล รัฐบาลจะเลี้ยงมะพร้าวกับของกินแบบนี้
เพียงเดือนเดียวก่อนสิ้นสงคราม ผู้นำฝ่ายการเมืองของกบฏชื่อทยา และจอร์จ มาสเตอร์ ได้ร่วมมือกันต่อต้านฝ่ายทหาร นำประชาชนนับแสนๆคนหลั่งไหลออกมาจาก No Fire Zone แสดงให้เห็นว่ากลุ่มพยัคฆ์ทมิฬควบคุมคนของตนไม่ได้แล้ว

ชาวทมิฬนับแสน หนีเข้าหารัฐบาล
คนเหล่านี้เคยเป็นพลเมืองชั้นดีผู้สนับสนุนกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬถึงขั้นสาบานจะยอมพลีชีพให้ แต่บัดนี้ความยากลำบากบีบให้พวกเขาต้องผิดคำสาบานของตนเอง
…พวกเขาต่างอยู่ในสภาพอิดโรย สิ้นหวัง พ่ายแพ้ และพังทลาย…
กองทัพศรีลังกาควบคุมประชาชนทมิฬให้อยู่ในระเบียบ ทำการคัดกรองป้องกันสายลับที่อาจแฝงตัวมา แล้วส่งประชาชนเหล่านี้กระจายไปตามค่ายบรรเทาทุกข์ต่างๆที่จัดเตรียมไว้แล้ว
:::  :::  :::
ลุเข้าเดือนพฤษภาคม 2009 ทหารเรือศรีลังกาจับสมาชิกครอบครัวของนายพลสุไสจำนวน 11 คนที่แล่นเรือหนีออกมาจากชายฝั่งได้ เป็นสัญญาณว่าประภาการันไม่สามารถควบคุมแม้กระทั่งคนสนิทที่สุดของเขาได้อีกต่อไป
เกิดมีการจลาจลมีประชาชนอีกหลายพันคนหลบหนีออกมาจาก No Fire Zone โดยมีพวกพยัคฆ์ทมิฬยิงป้องกันคนหลบหนีอย่างสิ้นหวัง
กองทัพศรีลังกาใช้สิ่งเหล่านี้เป็นตัวชี้วัดว่านี่เป็นเวลาที่ฝ่ายกบฏอ่อนแอถึงขีดสุด ทั้งประชาชนที่ติดอยู่ก็เบาบางลงแล้ว พวกเขาจึงเปิดฉากบุกเข้าไปใน No Fire Zone
กองกำลังพยัคฆ์ทมิฬที่เหลืออยู่ในนั้นล้วนเป็นพวกเดนตายที่ยอมพลีชีวิตเพื่ออุดมการณ์ทั้งสิ้น ต่างต่อสู้กับทหารรัฐบาลอย่างดุร้าย แต่น้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ ความอ่อนล้าอิดโรย ทำให้ฝ่ายรัฐบาลพิชิตพวกกบฏลงได้อย่างเบ็ดเสร็จ
วันที่ 16 พฤษภาคม 2009 นายมหินทา ราชปักษาประกาศว่าสงครามกลางเมืองศรีลังกาที่กินเวลาหลายสิบปีได้ยุติลงแล้วโดยรัฐบาลเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ สามารถช่วยเหลือประชาชนที่พวกพยัคฆ์ทมิฬจับเป็นตัวประกันได้ทั้งหมด

นายมหินทาประกาศชัย

ประชาชนศรีลังกายินดีกับชัยชนะ
วันที่ 17 พฤษภาคม นายเสลวารัส หัวหน้าฝ่ายต่างประเทศของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬ ซึ่งเป็นผู้นำระดับสูงคนเดียวที่เหลือรอดได้ประกาศยอมรับความพ่ายแพ้ โดยพูดว่า “การต่อสู้ได้มาถึงจุดจบอันน่าขมขื่นแล้ว” กองกำลังพยัคฆ์ทมิฬหลายคนที่ยังต่อสู้อยู่ได้ยินคำประกาศนี้ต่างก็ถอดสายสร้อยของตน หยิบไซยาไนด์รับประทาน กระทำอัตวินิบาตกรรมพร้อมกันเป็นจำนวนมาก
วันที่ 18 พฤษภาคม มีรายงานว่านายประภาการันและคนสนิทพยายามหลบหนีออกจากสมรภูมิ โดยนั่งมาในรถพยาบาล แต่ถูกทหารศรีลังกายิงระเบิดใส่จนตาย แต่พบภายหลังว่านั่นเป็นข่าวลวง
วันที่ 19 พฤษภาคม ตอนเช้าเวลาเจ็ดโมงครึ่ง ขณะที่นายพลรวีปรียาของกองทัพรัฐบาลกำลังนำทหารกวาดล้างพื้นที่สุดท้ายของกบฏ เขาได้พบกับทหารพยัคฆ์ทมิฬราวสามสิบคนเคลื่อนไหวอยู่ ทั้งสองฝ่ายเปิดฉากยิงใส่กันอย่างดุเดือด
เวลาผ่านไปถึงเก้าโมงครึ่งเสียงปืนฝั่งพยัคฆ์ทมิฬก็สงบลง
ฝ่ายรัฐบาลเข้าไปตรวจสอบพบพวกกบฏตายหมด ศพหนึ่งในนั้นร่างกายสูงใหญ่ พกปืนสั้นสองกระบอก ยาวหนึ่งกระบอก มียารักษาโรคเบาหวาน มีป้ายชื่อสลักคำว่า “001” มีรูปสัณฐานคล้ายประภาการัน


ผู้บังคับการซิลวา นำนายพลกรุณามายืนยันว่าศพดังกล่าวเป็นศพของนายประภาการันจริง เราจะเห็นได้ว่าขณะนั้นศพของนายประภาการันถูกเหยียดหยามโดยจับแก้ผ้า แล้วเอาโคลนป้าย ต่อมาจึงมีการใส่เสื้อผ้าให้ใหม่

การขนศพประภาการัน
หลังการตายของประภาการัน พวกพยัคฆ์ทมิฬพลัดถิ่นได้ตั้งนายเสลวารัสขึ้นเป็นผู้นำแทน หากไม่กี่เดือนหลังจากนั้นเขาก็ถูกทางการศรีลังกาจับได้ และถูกนำตัวมาขังคุกไว้
ทางการศรีลังกายังขอความร่วมมือกับนานาประเทศ ให้ทำการปราบปรามองค์กรมาเฟียที่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอย่างเด็ดขาด
ประชาชนทมิฬทั่วโลกต่างโศกเศร้ากับสิ่งที่เกิดขึ้น ส่วนประชาชนทมิฬในศรีลังกานั้นถูกรัฐบาลควบคุมอย่างเข้มงวด
การสู้รบของกองกำลังพยัคฆ์ทมิฬที่เหลือยังมีบ้าง แต่เล็กน้อยมาก ส่วนใหญ่คนที่เคยเป็นพยัคฆ์ทมิฬต่างจำต้องเปลี่ยนไปเป็นพลเรือนประกอบสัมมาชีพที่รัฐบาลจัดหาให้ เพื่อให้เลี้ยงตัวเองได้ และลืมความคิดกบฏไป
“ทุกอย่างแย่มาก” เสือหญิงคนหนึ่งกล่าวด้วยความเจ็บช้ำ “พวกเราตกต่ำยิ่งกว่าเมื่อเริ่มต่อสู้เสียอีก การเสียสละทุกอย่างสูญเปล่า…”
อย่างไรก็ตามพวกเธอก็ยังคงต้องพยายามมีชีวิตอยู่ต่อไป และปล่อยให้เวลาเป็นตัวตัดสินว่าจะทำอย่างไรกับความทรงจำอันเลวร้ายดังกล่าว
…สงครามกลางเมืองศรีลังกาที่ดำเนินติดต่อกันมาหลายสิบปี ก่อเกิดเหตุการณ์กระทบกระเทือนต่อประชาคมโลกมากมาย ก็ปิดฉากลงแต่เพียงเท่านี้…

ที่มา: http://pantip.com/topic/31135673/story

Leave a Reply