สงครามดอกกุหลาบ

สงครามดอกกุหลาบ

BattleofBosworth_thumb5

สงครามการแย่งชิงราชบัลลังค์ระหว่าง 2 ตระกูล คือ ตระกูลยอร์ก (House of York) และตระกูลแลงคาสเตอร์ (House of Lancaster)

สาเหตุ ที่เรียกว่า “สงครามดอกกุหลาบ” (War of the Rose) เนื่องจากตระกูลยอร์กนั้นใช้ ดอกกุหลาบสีขาว เป็นสัญลักษณ์ ส่วนตระกูลแลงคาสเตอร์นั้นใช้ ดอกกุหลาบสีแดง เป็นสัญลักษณ์ ดังนั้นเมื่อเกิดสงครามระหว่างสองตระกูล จึงเรียกกันว่า “สงครามดอกกุหลาบ”

สงครามดอกกุหลาบ เริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1455 และสิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1485 โดยกินเวลานานถึง 30 ปี ถึงแม้สงครามครั้งนี้ไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของชาวอังกฤษโดยทั่วไป แต่การประหัตประหารของสองตระกูลมีผลถึงราชบัลลังค์ของอังกฤษ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการปกครองในสมัยนั้น

การสู้รบเริ่มขึ้นเมื่อริชาร์ด ดุ๊กแห่งยอร์ก (Richard Duke of York) ทรงอ้างสิทธิ์ในราชบัลลังค์อังกฤษแทนที่พระเจ้าเฮนรี่ที่ 6 (Henry VI) ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากดุ๊กแห่งแลงคาสเตอร์ที่มีพระสติฟั่นเฟือน ทำให้ขุนนางทั้งสองฝ่ายทะเลาะกันอย่างรุนแรง อันนำไปสู่สงครามกลางเมืองในที่สุด และหลังจากนั้น ราชบัลลังค์อังกฤษก็มีการสับเปลี่ยนผู้ขึ้นครองราชย์กันระหว่าง 2 ตระกูล โดยที่รัฐสภามักตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของฝ่ายที่มีชัยชนะตลอดมา

ครั้นถึงสมัยพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 (Richard III) ทรงครองราชย์ พระองค์ทรงถูกฆ่าตายในการรบที่ทุ่งบอสเวอร์ธ (Bosworth Field) เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม ค.ศ. 1485 โดยกองทัพของเจ้าชายเฮนรี ทิวดอร์ (Henry Tudor) ซึ่งนับว่าเป็นกษัตริย์ในราชวงศ์ยอร์กองค์สุดท้ายที่ได้ขึ้นครองอังกฤษ และหลังจากการรบที่ทุ่งบอสเวอร์ธ ก็นับเป็นการสิ้นสุดของสงครามดอกกุหลาบด้วย

หลังจากนั้นราชบัลลังก์ ของอังกฤษก็ตกเป็นของเจ้าชายเฮนรี ทิวเดอร์ นั้นเอง โดยพระองค์ทรงขึ้นครองราชย์ มีพระนามว่า “พระเจ้าเฮนรี่ที่ 7” (Henry VII) (ค.ศ. 1485 – 1509) พระองค์เริ่มสร้างความมั่นคงโดยการประสานรอยร้าวระหว่างตระกูลแลงคาสเตอร์ กับตระกูลยอร์ก โดยการอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงอลิซาเบธแห่งยอร์ก และเป็นต้นราชวงศ์ใหม่ คือ ราชวงศ์ทิวเดอร์

พระเจ้าเฮนรี่ที่ 7 ทรงเป็นแม่ทัพที่มีความสามารถ และยังเป็นผู้ปกครองที่เข้มเข็งด้วย พระองค์ทรงลดอำนาจและจำกัดสิทธิ์ของขุนนาง โดยมิให้ขุนนางมีสิทธิ์ในการดำเนินคดีอีกต่อไป และการตัดสินคดีนั้นให้เป็นหน้าที่และอยู่ในอำนาจของรัฐบาลกลาง พระองค์ทรงจัดตั้งศาลพิจารณาพิเศษให้อยู่ภายใต้คณะองคมนตรีสภาขึ้น มีชื่อว่า “Court of Star Chamber” และใช้กฎหมายสามัญในการพิจารณาคดี นอกจากนี้ทรงโปรดให้มีคณะลูกขุนพิจารณาคดีต่างๆ และกษัตริย์มีอำนาจในการออกกฎหมายและประกาศใช้โดยไม่ต้องคำนึงถึงจารีต ประเพณีต่างๆ (นับว่าเป็นความกล้าหาญอย่างมากในยุคสมัยนั้น)

นับว่า พระเจ้าเฮนรี่ที่ 7 พระองค์ทรงสามารถดึงอำนาจการปกครองกลับเข้าสู่ส่วนกลางได้อย่างดีเยี่ยม และถือเป็นการสถาปนาระบอบราชาธิปไตยยุคใหม่ในอังกฤษให้เข้มแข็ง รวมทั้งเป็นการฟื้นฟูชื่อเสียงของสถาบันกษัตริย์ด้วย

ที่มา: wikipedia, poopara555

Leave a Reply