ภควัทคีตา คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์แห่งศาสนาฮินดู

ภควัทคีตา คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์แห่งศาสนาฮินดู

gita-005b

ภควัทคีตา อ่านว่า “พะ-คะ-วัด-คี-ตา” หมายถึง “บทเพลงแห่งพระเป็นเจ้า” เป็นชื่อคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
ที่เล่าเรื่องโดย ฤๅษีกฤษณะ ไทวปายนะ วยาส โดยฤาษีตนนี้ ได้เล่าเรื่องราวของมหาภารตะให้แก่ พระพิฆเนศ และพระพิฆเนศก็ได้จดจาร บันทึกไว้เป็นตัวอักษร ก่อเกิดเป็นมหากาพย์อันยิ่งใหญ่ และคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวฮินดูใช้ปฏิบัติกันจวบจนปัจจุบัน

***คัมภีร์ภควัทคีตา ฉบับที่แปลเป็นภาษาไทยปัจจุบันแทบจะไม่เหลือแล้ว ลองหาอ่านได้ตามหอสมุดแห่งชาติ (ห้องหนังสือศาสนา) โบสถ์พราหมณ์เสาชิงช้า และหอสมุดโบราณต่างๆ***
มหาภารตะ เป็นมหากาพย์ที่ยาวที่สุดในโลก (ยาวกว่า สามก๊ก อีเลียด Oddysey และ The Cantos รวมกัน) มีเนื้อหาที่ซับซ้อนมาก ให้ความรู้ครบถ้วนทุกศาสตร์ในโลก ทั้งเรื่องราวของเทพปกรณัม นิทาน บทกวี คติสอนใจ หลักปรัชญา หลักการสู้รบ ภูมิศาสตร์ วิถีชีวิต ศิลปะ ประเพณีของอินเดีย การเมือง และมีเรื่องย่อยๆ แทรกอยู่อีกมากมาย สามารถแยกเรื่องย่อยๆเหล่านั้นมาเป็นหนังสือได้อีกหลายร้อยเล่ม จนมีคำกล่าวยกย่องไว้ว่า..

…สิ่งใดไม่มีกล่าวไว้ในมหาภารตะ…สิ่งนั้นไม่มีในโลก!!!

มหาภารตะเป็นเรื่องราวความขัดแย้งของพี่น้องที่สืบเชื้อสายเดียวกัน 2 ตระกูล ระหว่าง ตระกูลปาณฑพ กับ ตระกูลเการพ โดยทั้ง 2 ตระกูลก็เป็นพี่น้องที่สืบเชื้อสายมาจาก ท้าวภรต แห่งกรุงหัสตินาปุระมาด้วยกัน เหตุขัดแย้งบานปลาย นำไปสู่มหาสงครามอันยิ่งใหญ่ ณ ทุ่งกุรุเกษตร เพื่อแย่งชิงราชสมบัติและแย่งกันปกครองแผ่นดิน มีพรรคพวกพันธมิตรของแต่ละฝ่ายเข้าร่วมรบด้วยเป็นจำนวนมหาศาล คือมหากาพย์แห่งการสู้รบระหว่างฝ่ายธรรมะและฝ่ายอธรรม

ตัวเอกสำคัญที่สุดของมหากาพย์ภารตะ คือ เจ้าชายอรชุน (เจ้าชายฝ่ายตระกูลปาณฑพ) และ พระกฤษณะ ซึ่งพระกฤษณะก็ คือ 1 ใน 10 ปางอวตารของ พระวิษณุ หรือ พระนารายณ์ อันสูงสุดของศาสนาพราหมณ์นั่นเอง พระกฤษณะเป็นที่ศรัทธานับถือของชาวฮินดู ในลัทธิที่นับถือพระวิษณุเป็นใหญ่ในตรีมูรติ (นอกจากพระกฤษณะ หรือ ปางกฤษณาวตาร นี้แล้ว ยังมี ปางรามาวตาร โดยอวตารเป็น พระราม ใน มหากาพย์รามายณะ หรือ ชื่อไทยคือ รามเกียรติ์ ที่เรารู้จักกันดี และอีกอวตารคือ ปางพุทธาวตาร หรือ พระพุทธเจ้า ซึ่งก่อให้เกิดศาสนาพุทธในภายหลังนั่นเอง… ซึ่งทั้ง 3 ปางนี้ก็เป็นปางอวตารที่ยิ่งใหญ่ของพระวิษณุที่ชาวฮินดูนับถือมากที่สุด)

หลักปรัชญาใน ภควัทคีตา ที่ปรากฏอยู่ภายในมหากาพย์มหาภารตะนั้น คือปรัชญาที่เกิดขึ้นจากการสนทนาระหว่าง พระกฤษณะ กับ เจ้าชายอรชุน ในระหว่างการเข้าสู่สนามรบ โดยพระกฤษณะก่อนหน้านั้นเป็น สารถีผู้ขี่ม้า ให้แก่เจ้าชายอรชุน ได้เปิดเผยสถาวะที่แท้จริงของตนในภายหลังให้อรชุนได้ประจักษ์ ว่าตนเป็น พระวิษณุอวตาร และได้แสดงธรรมเปิดเผยคำสอนแก่อรชุน อันประกอบไปด้วยความจริงแห่งโลก จักรวาล ธรรมชาติของชีวิต การปฏิบัติตนเป็นโยคี การหลุดพ้น และการเดินทางสู่สภาวะอันเป็นนิรันดร์

bg_krishna_instructs_arjuna_2

ปรัชญาใน ภควัทคีตา ได้กลายมาเป็นคำสอนที่ชาวอินเดียผู้นับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ยึดเหนี่ยวเป็นที่พึ่ง ยึดเป็นข้อปฏิบัติด้วยศรัทธาอย่างแรงกล้า อันจะทำให้ตนหลุดพ้นบ่วงและพันธนาการอันชั่วร้ายทั้งปวง
มหาตมะ คานธี ผู้นำอินเดีย คือบุคคลที่นำเอาหลักปรัชญาจาก ภควัทคีตา มาใช้จนเห็นผลชัดเจนที่สุด…ในบรรดาศิลปิน นักปราชญ์ อาจารย์ นักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์และบุคคลที่มีชื่อเสียงของโลกหลากหลายอาชีพ ก็ได้ใช้ปรัชญาในคัมภีร์นี้ นำไปต่อยอดความรู้ของตน เพื่อการสร้างสรรค์ผลงานอันยิ่งใหญ่…..บุคคลชั้นนำในแวดวงธุรกิจ ตลอดจนนักการเมือง ผู้นำประเทศที่มีชื่อเสียงของโลกหลายท่าน ก็ได้ใช้หลักปรัชญาใน ภควัทคีตา มาปรับใช้ในการบริหารธุรกิจและปกครองประเทศอยู่มากมาย

คัมภีร์ภควัทคีตา และ มหากาพย์มหาภารตะ แม้จะเป็นเรื่องราวที่ว่าด้วยอวตารของ พระวิษณุ ซึ่งเป็นเทพคนละฝ่ายกับ พระศิวะ และ พระพรหม อันเป็น 3 มหาเทพสูงสุดของศาสนาพราหมณ์ก็ตาม แต่ชาวฮินดูทุกฝ่าย ก็ได้ยึดเอาหลักปรัชญาและคำสอนในภควัทคีตาและมหาภารตะ มาใช้ยึดเหนี่ยวและปฏิบัติในชีวิตประจำวันตราบจนสิ้นลมหายใจ ไม่ว่าตนจะนับถือพระวิษณุ พระศิวะ หรือพระพรหมเป็นใหญ่ก็ตาม

เฉกเช่นเดียวกับผู้ที่นับถือพระวิษณุ หรือพระพรหมเป็นใหญ่ ก็ล้วนต้องบูชาพระพิฆเนศอันเป็นบุตรของพระศิวะก่อนการบูชาพระวิษณุหรือพระพรหมตามหลักปฏิบัติที่มีมาแต่โบราณ นั่นหมายถึงต่างฝ่ายต่างก็ให้ความเคารพในมหาเทพอันสูงสุดของอีกฝ่าย

ชาวฮินดูผู้ใด ที่เข้าถึงปรัชญาอันสูงสุดของศาสนาพราหมณ์ได้อย่างลึกซึ้งแล้ว ผู้นั้นจะไม่มีการแยกฝ่ายแล้วว่า ฝ่ายไหนเป็นใหญ่ มหาเทพองค์ไหนสูงกว่า เพราะพระพรหม พระวิษณุ และพระศิวะ ต่างก็ได้รวมกันเป็นหนึ่ง หรือเป็น พระตรีมูรติ อันเป็นความยิ่งใหญ่สมบูรณ์เหนือสิ่งอื่นใดในจักรวาลแล้วนั่นเอง!!

ที่มา: http://paramatman-siamganesh.blogspot.com/

Leave a Reply