บุญข้าวสาก

บุญข้าวสาก

10665058_273379426194222_5077170128438261437_n

ในช่วงวันเพ็ญเดือนสิบของทุกปีนั้นหลังจากการทำนาแล้วเสร็จแล้ว ชาวบ้านในภาคอีสานของประเทศไทยเรา ก็จะทำบุญตามประเพณีที่เคยสืบต่อกันมา โดยนำภัตตาหารคาว-หวานไปถวายแด่พระภิกษุสามเณร

และเหตุที่เรียกว่า”บุญข้าวสาก” หรือ “สลาก” ก็เนื่องจากว่า ชาวบ้านแต่ละครัวเรือนต่างก็นำสำรับอาหารคาว-หวาน ไปถวายพระสงฆ์นั่นเอง เพื่อให้ชาวบ้านถวายสำรับได้ทั่วถึง และไม่เจาะจงพระภิกษุรูปหนึ่งรูปใด จึงมีการจับสลากโดยการเขียนชื่อผู้ที่จะถวายสำรับลงในบาตร แล้วให้พระภิกษุแต่ละรูปจับสลากชื่อของชาวบ้านที่ต้องการถวายสำรับ ถ้าพระภิกษุรูปใดจับสลากได้ชื่อใคร ผู้นั้นก็นำสำรับกับข้าวของตนไปถวายพระภิกษุรูปนั้น
ซึ่งในเรื่องนี้ ก็มีตำนาน-นิทานเล่าสืบทอดกันมาว่า

ในสมัยพุทธกาล มีชายหนุ่มคนหนึ่งเกิดในตระกูลมั่งคั่ง กำพร้าพ่อ เหลือแต่แม่ พอถึงวัยแต่งงานแม่ก็หาหญิงสาวรุ่นราวคราวเดียวกันจากตระกูลร่ำรวยเสมอกันมาให้เป็นภรรยา แต่นางไม่มีบุตร แม่จึงหาหญิงสาวคนใหม่มาให้เป็นภรรยาอีกคนหนึ่ง การที่ชายหนุ่มมีภรรยาสองคน เป็นเหตุให้เมียหลวงเกิดความอิจฉาริษยาเมียน้อย จึงคิดหาอุบายจะฆ่าเมียน้อยเสมอ จนมาวันหนึ่งเมียหลวงได้เริ่มวางแผนการกำจัดเมียน้อย โดยการบอกกับเมียน้อยว่า ถ้านางตั้งครรภ์ให้บอกแก่เธอก่อนใคร

เมื่อเมียน้อยตั้งครรภ์ เมียหลวงก็ลอบเอายาใส่ในอาหาร เมียน้อยจึงแท้งลูกออก พอนางผู้เป็นเมียน้อยมีครรภ์ครั้งที่สอง ผู้เป็นเมียหลวงก็ทำเช่นเดียวกัน พอถึงครั้งที่สาม นางผู้เป็นเมียน้อยก็ไม่บอกเมียหลวง แต่หนีไปอาศัยบ้านญาติอยู่ เมียหลวงตามไปพบจึงบังคับให้กินยาอีก คราวนี้ไม่แท้งเพราะครรภ์แก่ แต่ลูกในท้องนอนขวางอัดหัวใจตาย

ซึ่งก่อนจะใจขาดตายนั้น นางผู้เป็นเมียน้อย ก็ได้ผูกเวรจองกรรมกับเมียหลวงว่า ขอให้ตนได้เกิดเป็นนางยักษิณี ขอให้ได้กินเมียหลวงและลูกในชาติต่อไป

แล้วนางก็ขาดใจตาย แต่ในชาติแรกนั้นนางได้ไปเกิดเป็นแมว ส่วนเมียหลวงนั้นได้ถูกสามีฆ่าตาย ก็ไปเกิดเป็นไก่ อาศัยในครัวเรือนเดียวกัน พอไก่ไข่ออกมา แมวก็ขโมยกินไข่จนหมด

แม่ไก่ ไข่ครั้งที่สอง ก็โดนแมวกินไข่อีก พอไข่ครั้งที่สาม แมวกินทั้งไข่และไก่ ก่อนตายแม่ไก่ผูกเวรอาฆาตจะกินลูกแมวและแมวในชาติต่อไป

ชาติต่อมา แม่ไก่เกิดเป็นเสือเหลือง แมวไปเกิดเป็นนางเนื้อ พอนางเนื้อตกลูกนางเสือเหลืองก็กินลูกเนื้อ ครั้งที่สองนางเนื้อตกลูก เสือเหลืองก็กินอีก ครั้งที่สามเสือกินทั้งลูกทั้งแม่ ก่อนนางเนื้อจะตายไปได้ผูกเวรขอให้ตนได้กินลูกและแม่เสือ แล้วนางเนื้อก็ไปเกิดเป็นนางยักษิณี ส่วนเสือได้ไปเกิดเป็นนางกุลธิดาในเมืองสาวัตถี เมื่ออายุถึงวัยแต่งงาน นางได้แต่งงานกับชายหนุ่มคนหนึ่ง พอคลอดลูกคนแรกก็ถูกนางยักษิณีปลอมตัวเป็นสหายไปเยี่ยม แล้วฉวยโอกาสกินลูกของนางกุลธิดา เมื่อนางกุลธิดาคลอดลูกคนที่สอง นางก็ถูกนางยักษิณีหลอกกินลูกของนางอีก…

ครั้งที่สาม นางจึงชวนสามีหนีไปอาศัยที่บ้านญาติ พอเดินทางไปถึงสระโบกขรณี นางอยากอาบน้ำจึงส่งบุตรให้สามีอุ้ม เมื่ออาบเสร็จก็เปลี่ยนให้สามีลงอาบ ขณะนั้นนางยักษิณีตามมาอย่างกระชั้นชิด นางจึงเรียกสามีขึ้นจากสระ พากันวิ่งหนีเข้าไปยังวัดเชตวันมหาวิหาร ซึ่งขณะนั้น พระพุทธองค์กำลังแสดงธรรมอยู่ สองสามีภรรยาก็พาบุตรน้อยไปหมอบกราบถวายตัวต่อพระพุทธเจ้า ส่วนนางยักษิณีวิ่งตามไปไม่ทันจึงหยุดอยู่นอกเขตวัด พระพุทธเจ้าตรัสเรียกพระอานนท์ไปเรียกนางยักษิณีเข้ามาเฝ้า…

พระพุทธเจ้าทรงเล่ากรรมแต่ปางหลัง สั่งสอนสองสามีภรรยาและนางยักษิณีไม่ให้พยาบาลอาฆาตจองเวรกัน ถ้าจองเวรจองกรรมกัน ก็จะเป็นเวรต่อกันไปอีกหลายกัปหลายกัลป์ เหมือนแมวเป็นเวรกับหนู งูเป็นเวรกับพังพอน กาเป็นเวรกับนกเค้า หมีเป็นเวรกับไม้สะคร้อ
จึงได้ผูกเป็นพระคาถาว่า “นหิ เวเรน เวรานิ สมฺมนตีธ กุทาจนํ”
(ในกาลใดๆ เวรในโลกนี้ย่อมระงับด้วยเวรไม่ได้)

พระพุทธเจ้าจึงโปรดให้นางกุลธิดา นำนางยักษิณีไปเลี้ยงดู นางจึงนำนางยักษิณีไปอาศัยอยู่ตามที่ต่างๆ เช่น ชายคาบ้านบ้าง ประตูบ้านบ้าง ซึ่งก็ทำให้นางยักษิณีไม่พอใจ

นางกุลธิดาจึงให้นางยักษิณีไปอยู่ที่”ตาแฮก” ซึ่งเป็นที่แจ้ง นางยักษิณีเป็นผู้หยั่งรู้ฟ้าฝน ปีใดฝนจะแล้ง น้ำจะท่วม ก็บอกให้นางกุลธิดารู้ นางจึงทำนาได้ผลกว่าคนอื่นๆ ในเมืองนั้น ต่อมาชาวเมืองรู้ความจริง ก็นับถือนางยักษิณี ต่างก็พากันไปถามเกณฑ์ฟ้าฝนก่อนลงมือทำนา ทำให้การทำนาแต่ละปีได้ผล ชาวเมืองจึงพร้อมใจกันนำข้าวปลาอาหารไปให้นางยักษิณีเป็นการตอบแทน ซึ่งส่วนมากนิยมกระทำกันในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10

เมื่อนางยักษิณีเห็นข้าวปลาอาหารที่ชาวเมืองนำมามากมายเช่นนั้น จึงพาชาวเมืองนำสำรับกับข้าว ไปถวายพระภิกษุสงฆ์ที่วัดพระเชตวันมหาวิหาร การทำบุญในกลางเดือนสิบดังกล่าวนี้ เรียกว่า การทำบุญข้าวสาก ซึ่งก็ได้ยึดถือเป็นประเพณีสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

ที่มา: https://www.facebook.com/payapenad

Leave a Reply