พยัคฆ์ทมิฬ สิ้นชาติ: Part II The Tiger Rising

พยัคฆ์ทมิฬ สิ้นชาติ: Part II The Tiger Rising

กลับเข้าเรื่องของเรา หลังจากกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬขับไล่ทหารอินเดียออกจากเกาะศรีลังกาสำเร็จแล้ว พวกเขาก็ดำเนินการเข้ายึดครองเมืองจาฟนา ปราบปรามกลุ่มเคลื่อนไหวชาวทมิฬอื่นๆจนหมด ตั้งตัวเป็นตัวแทนของการแบ่งแยกดินแดนทมิฬแต่เพียงผู้เดียว
งานแรกที่กลุ่มพยัคฆ์ทมิฬทำหลังจากตั้งตัวได้คือการฉีกสัญญาพันธมิตรกับรัฐบาลศรีลังกา (จากกระทู้ก่อน ท่านได้ทราบว่ารัฐบาลศรีลังกาสงบศึกกับพวกพยัคฆ์ทมิฬชั่วคราว และยังส่งอาวุธสนับสนุนเพื่อให้ขับไล่อินเดียออกไป) พวกเขายกพลไปล้อมจังหวัดทางตะวันออกของศรีลังกา สั่งให้ตำรวจของรัฐบาลศรีลังกาวางอาวุธพร้อมทั้งถอนกำลังออกไปจากเมืองให้เร็วที่สุด
ประธานาธิบดีศรีลังกาเวลานั้นคือนายเปรมดัส มีความคิดว่าไหนๆพวกพยัคฆ์ทมิฬก็เคยช่วยกันขับไล่อินเดีย แล้วก็เป็นคนศรีลังกาเหมือนกัน ไม่อยากจะแตกหัก เลยยอมอ่อนข้อให้โดยการสั่งให้พวกตำรวจวางอาวุธและถอนกำลังออกจากเมือง

นายเปรมดัส

ทันทีที่พวกตำรวจยอม กลุ่มพยัคฆ์ทมิฬก็กวาดต้อนพวกเขาไปรวมกัน แล้วเปิดฉากสังหารหมู่ ฆ่าพวกตำรวจตายไปมากกว่า 700 คน
วันต่อมารัฐบาลจึงประกาศว่า “เล่นกันอย่างนี้ เราจะต้องทำสงครามกันจนกว่าจะตายไปข้างหนึ่งแล้ว!” เป็นคำประกาศที่สมตามเจตนารมย์ของพวกพยัคฆ์ทมิฬทุกประการ

หลังจากนั้นพวกพยัคฆ์ทมิฬก็ดำเนินการสร้าง “แผ่นดินแห่งเผ่าทมิฬบริสุทธิ์” โดยกำจัดชาวมุสลิมมัวร์ซึ่งเป็นคนท้องถิ่นของภาคเหนือและตะวันออกของศรีลังกา (พวกนี้เป็นลูกหลานของพ่อค้าอาหรับที่มาค้าขายกับศรีลังกาในอดีต) โดยก่อนหน้านี้พวกเขาเข่นฆ่าและขับไล่คนพื้นเมืองชาวสิงหลจนแทบไม่เหลือแล้ว
หลังจากพวกพยัคฆ์ทมิฬสังหารหมู่ชาวมุสลิมไปหลายครั้งพวกเขาก็เนรเทศมุสลิมจำนวน 72,000 คนออกจากจังหวัดทางเหนือโดยไม่ให้อะไรติดตัวไปเลยเว้นแต่เสื้อผ้า

ภาพชาวมุสลิมที่ถูกสังหารหมู่
ตำรวจทหารศรีลังกาที่เป็นมุสลิมมีความเจ็บแค้นเรื่องนี้ก็จับกลุ่มกันออกไปเข่นฆ่าหมู่ชาวบ้านทมิฬตามหมู่บ้านต่างๆ เกิดเป็นการนองเลือดไปทั่วเกาะศรีลังกา
ตามที่ผมเคยเรียนแล้ว บรรยากาศการไฝว้กันไปกันมาเหล่านี้ไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาลศรีลังกา เพราะแสดงถึงความอ่อนแอของรัฐบาลที่ป้องกันประชาชนบริสุทธิ์ไม่ได้ ควบคุมตำรวจทหารของตัวเองจากการทำร้ายคนบริสุทธิ์ก็ไม่ได้ แต่มันเป็นผลดีกับพวกพยัคฆ์ทมิฬอย่างยิ่ง เพราะทำให้ชาวบ้านธรรมดาที่เคยเป็นกลางเริ่มตระหนักว่าจะต้องเลือกข้างแล้ว ไม่งั้นจะต้องกลายเป็นเหยื่อไฝว้ไปด้วย
ด้วยความโกรธแค้นและความกลัว ชาวทมิฬตอนเหนือส่วนใหญ่จำต้องเลือกอยู่ใต้อำนาจของพวกกบฏ ทำให้กลุ่มพยัคฆ์ทมิฬแข็งแกร่งขึ้นอย่างยิ่ง
ในตอนนี้เองที่ประภาการันเริ่มสร้างกองทัพของเขาให้มีศักยภาพในการสู้รบตามแบบ และเริ่มสร้างสัญลักษณ์ของพวกทมิฬ

สัญลักษณ์ของทมิฬอีแลม
ธงชาติ

พวกพยัคฆ์ทมิฬได้นำสัญลักษณ์ของเขามาสร้างเป็นธงชาติอีแลม ใช้เป็นสัญลักษณ์ “เสือโคร่ง” อยู่ท่ามกลางปืนคู่ ในโทนเหลืองแดง  เสือมาจากธงเสือของอาณาจักรโจฬะ (อาณาจักรทมิฬโบราณ) ปืนคู่แสดงถึงการต่อสู้ เหลืองคือแสงธรรมนำชีวิต แดงคือโลหิตอุทิศให้
…เอ้ย เหลืองหมายถึงความเที่ยงธรรม แดงคือสีของความเป็นกลาง ไม่อิงวรรณะศาสนาใดๆ นอกจากนั้นยังมีโทนสีดำที่แสดงถึงความโศกเศร้าและความตายที่มาจากการฝ่าฟันเพื่อสร้างชาติด้วยครับ

ธงอาณาจักรทมิฬโจฬะ
ดองดึง
หากท่านเดินไปชอปปิ้งที่จตุจักรทุกวันนี้ ท่านอาจเคยเห็นพืชชนิดหนึ่งจำพวกหัว ต้นมีลักษณะเป็นเถาปลายตั้ง ใบเดี่ยวรูปหอก ส่วนปลายแหลมยาวบิดม้วนช่วยยึดเกาะ ลักษณะของดอกเป็นดอกเดี่ยว กลีบเรียวยาว ขอบของดอกบิดเป็นคลื่นปลายกลีบมีสีแดง ที่โคนหากบานใหม่ๆจะมีสีเหลือง แต่เมื่อแก่จะมีสีส้ม ผลเป็นรูปกระสวยเมื่อแก่จะแตกออก เมล็ดมีสีส้ม หัวกลมเรียวมีหงอนเหมือนขวานเมกขึ้นตามป่าดงดิบเขาชื้น หรือที่รกร้างว่างเปล่าที่มีความชุ่มชื้นสูง ขยายพันธ์ด้วยเมล็ดหรือแยกเหง้า (ลอกมาจากวิกิ)

ด้วยสรรพคุณที่ดองดึงสามารถแก้กามโรค และขับลมได้ และด้วยความที่มันมีสีเหลืองแดงเข้ากับธีมแมคโดนัล กลุ่มพยัคฆ์ทมิฬจึงได้ใช้มันเป็นสัญลักษณ์ พืชประจำชาติอีกอย่างหนึ่ง
เสือ
สำหรับสัตว์ประจำชาตินั้นไม่ต้องบอกก็คงรู้ว่าเป็นเสือซึ่งพวกทมิฬเรียกว่า “ปูลิ” นะครับ

คำรามให้เหมือนสิงโต MGM เลยนะลูก
แหล่งรายได้ใหม่
ท่านที่อ่านถึงตรงนี้คงจะสงสัยว่าพวกพยัคฆ์ทมิฬสามารถได้อาวุธร้ายแรงอย่างรถถังและเรือบินมาได้อย่างไร คำตอบคือมีสองทางได้แก่
1. รบชนะทหารรัฐบาลแล้วยึดมา
2. ซื้อมา
ถามว่าพวกพยัคฆ์ทมิฬเอาเงินจากที่ไหนซื้อมา? คำตอบคือเงินเหล่านั้นมาจาก:
งานโรงเรียน

ละครเด็ก

คอนเสิร์ต

รายการโทรทัศน์
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
งานแข่งขันกีฬาชิงถ้วยธิลีพัน

ครับ… จากกระทู้ก่อนท่านได้เห็นการที่ชาวทมิฬกว่าหนึ่งในสามแตกฉานซ่านเซ็นไปตามประเทศต่างๆ เพราะเหตุการณ์ Black July มีบางเมืองในแคนาดา หรือสวิตเซอร์แลนด์ที่ประชากรเป็นคนทมิฬทั้งสิ้น
เมื่อพวกเขาเหล่านี้ไปตั้งรกรากได้แล้วก็ย่อมมีใจสงสารญาติพี่น้องที่อยู่ที่ศรีลังกา พวกพยัคฆ์ทมิฬรู้ข้อนี้ดี จึงจัดตั้งองค์กรมาเฟียของตนขึ้นทำการร้องขอและข่มขู่ เพื่อเก็บภาษีชุมชนทมิฬเหล่านั้นเอาเงินส่วนหนึ่งกลับไปกู้ชาติ อีกส่วนหนึ่งหล่อเลี้ยงองค์กรทมิฬท้องถิ่นทั้งหลายให้เติบโตแข็งแรง อารมณ์คล้ายยุคหนึ่งที่เมืองไทยมีกลุ่มอั้งยี่เก็บภาษีคนจีนในไทยไปช่วยก๊กมินตั๋งน่ะครับ
งานโรงเรียนงานกีฬาแบบนี้ถูกจัดขึ้นในประเทศอย่างอังกฤษ, สวิตเซอร์แลนด์ หรืออินเดีย เพื่อระดมทุน นอกจากนั้นเครือข่ายชาวทมิฬยังเปิดสถานีโทรทัศน์ของตัวเองหลายช่อง ออกอากาศในหลายประเทศ เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นข้อมูลข่าวสารของเกาะ เรียกร้องให้ชาวทมิฬส่งเงินมา support เช่นช่องนี้
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
บางครั้งกิจกรรมเหล่านี้ก็ถูกรัฐบาลของประเทศนั้นๆกดดันว่าอย่าทำประเจิดประเจ้อ แต่เพราะพวกทมิฬส่งคนไปประจำอยู่ในทั้งฝ่ายการเมือง ธุรกิจและศาสนาของประเทศที่พวกเขาลี้ภัยอยู่ เขาจึงสามารถกดดันพวกนักการเมืองประเทศเหล่านี้ด้วยเงินและคะแนนเสียง (กรณีทมิฬอพยพได้สัญชาติประเทศใหม่แล้ว) ทำให้พวกเขายังคงทำสิ่งเหล่านี้ได้โดยเปิดเผยจนถึงช่วงท้ายๆของสงคราม
:::  :::  :::
เรื่องน่ารู้อีกอย่างคือในหมู่ชาวทมิฬลี้ภัยก็มีนักร้องแร๊ปเปอร์สาวสวยคนหนึ่ง ได้ก้าวขึ้นมาเป็นดาราที่มีชื่อเสียงในอังกฤษมีสมญานามว่า M.I.A. ใช้เพลงฮิปฮอปเรียกการสนับสนุนจากญาติพี่น้อง


โย่ แหมน ศรีลังกามันเลว โย่ๆ อีแลมจงเจริญ แร๊บ โย่

เพื่อเสริมความน่าเกรงขามให้พวกพยัคฆ์ทมิฬมากขึ้น ประภาการันได้แบ่งพลพรรคออกเป็นหลายหน่วย โดยกองกำลังที่โดดเด่นมีดังนี้
กองกำลังชาร์ล แอนโทนี่
(Charles Anthony brigade)
(ประภาการันตั้งชื่อตามเพื่อนสนิทของเขาที่ตายในสงครามนานแล้ว) กองกำลังนี้มีผู้นำคือนายพลบัลรัช เป็นกองกำลังที่รวบรวมนักรบที่เก่งที่สุด ที่ใช้อาวุธที่ดีที่สุดในกองทัพพยัคฆ์ทมิฬ มีไว้สำหรับเป็นท่าไม้ตายสุดยอดเวลาต้องการทำอะไรยากๆโดยเฉพาะ
สำหรับนายพลบัลรัชนั่น ว่ากันว่าเป็นทหารที่มีฝีมือสูงมาก มีข่าวลือว่าเคยใช้ SAM 7 ยิงใส่เครื่องบินรัฐบาลร่วงมาหลายลำแล้ว

เครื่องยิงจรวดประทับบ่า SAM-7

นายพลบัลรัช
กองกำลังมาลาตี และโสติยา
กองกำลังนี้เป็นที่รวมทหารหญิงโดยเฉพาะ มีผู้นำคือนางทุรคา และนางวิธุสา ทำหน้าที่ฝึกปรือทหารหญิงให้แกร่งกล้า รบได้ไม่แพ้ทหารชาย เป็นที่ประมาณกันว่ากองกำลังพยัคฆ์ทมิฬนั้นประกอบด้วยผู้หญิงถึงหนึ่งในสาม

นางทุรคา
กองกำลังเสือทะเล
(Sea Tiger)
หน่วยนี้มีนายพลสุไสเป็นผู้นำ เป็นกองกำลังทางน้ำที่มีศักยภาพสูง โดยนายพลสุไสตระหนักว่าลำพังกองเรือของตนเองนั้นไม่อาจเทียบเทียมเรือรบของรัฐบาลได้ จึงมุ่งใช้กลยุทธ “อเนกเรือเล็กสัมพันธ์” คือเน้นใช้เรือเล็กหลายลำ ประสานด้วยการสั่งการจากคลื่นวิทยุชายฝั่ง ทำให้มีความคล่องตัวสูง ออกดำเนินการลอบกัดตอดเล็กตอดน้อย ทั้งโดยการรุมยิง และระเบิดตัวตายพร้อมกัน ทำให้กองเรือศรีลังกาได้รับความเสียหายเป็นอันมาก นอกนั้นยังสร้างผลงานในการขนทหารเข้าไปแนวหลังข้าศึกอย่างไม่ทันตั้งตัวหลายครั้ง
กลยุทธของนายพลสุไสนี้ โด่งดังถึงกับใช้สอนกันในโรงเรียนทหารทั่วโลก เป็นตัวอย่างที่ดีของกลยุทธ Sea Denial หรือการที่ทัพเรือเล็กไม่เน้นการยึดครองน่านน้ำ แต่เน้นสร้างความหวาดกลัวแก่ทัพเรือที่ใหญ่กว่า จนทำให้ศัตรูเดินเรือค้าขายหรือลาดตระเวนได้ไม่เต็มที่ เปิดโอกาสให้ฝ่ายพยัคฆ์ทมิฬลอบขนอาวุธเข้ามาในเขตอิทธิพลได้ง่ายอีกโสตหนึ่ง

นายพลสุไส ผู้บัญชาการกองเรือ Sea Tiger
กองกำลังเสืออากาศ
(Air Tiger)
กองกำลังนี้ที่ยังไม่เกิดขึ้นในสงครามช่วงนี้ …เพราะแพง..
แต่ราวสิบปีข้างหน้าเมื่อประภาการันสะสมทรัพย์ได้มากพอ จะซื้อเอาไว้ประดับบารมี สร้างความสะเทือนเลื่อนลั่นไปทั่ว

ตอนนี้ดูรูป Air Tiger เป็นพรีวิวกันไปก่อนนะครับ
:::  :::  :::
ถึงจุดนี้ท่านอาจสงสัยว่าพวกพยัคฆ์ทมิฬซื้ออาวุธมาจากไหน? คำตอบคือพวกเขามีเครือข่ายการซื้ออาวุธที่กว้างขวางมาก ครอบคลุมหลายประเทศในเอเชียรวมทั้งประเทศไทย
อย่างไรก็ตามประเทศที่เป็นมิตร และช่วยเหลือ support กลุ่มพยัคฆ์ทมิฬทางอาวุธมากที่สุดก็คงจะเป็นที่อื่นไม่ได้นอกจาก ประเทศในตำนานที่น่ารักของพวกเราทุกคน
เกาหลีเหนือครับ

ตามจริงคือพอถูก boycott จากประเทศโลกตะวันตก เกาหลีเหนือก็ส่งอาวุธไปขายกลุ่มก่อการร้ายทั่วโลก เป็นรายได้หลักอย่าง หลังมีการติดต่อซื้อขายกันเสร็จ พวกเขาจะส่งอาวุธลงเรือซึ่งหน้าฉากอาจเป็นเรือขนข้าว หรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ จากนั้นก็พยายามแล่นไปจอดที่อินเดียก่อน ก่อนจะแยกชิ้นส่วนใส่เรือเล็กขนมาอีแลม ซึ่งจะมีกองเรือรัฐบาลศรีลังกาคอยสอดส่องก็ตรวจจับอยู่ ต้องให้หน่วย sea tiger ไปรบกวน เพื่อให้การส่งปลอดภัย

เรือดำน้ำของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬที่ใช้ขนของไปกลับอินเดีย
แต่ตามที่ผมเรียนในต้นกระทู้ ว่าอาวุธที่ร้ายแรงที่สุดของพวกทมิฬคือสิ่งที่อยู่ในสายสร้อยเล็กๆเส้นนี้

มันเป็นสายสร้อยใส่แคปซูลยาพิษไซยาไนด์ที่พวกพยัคฆ์ทมิฬแจกให้ทหารของตน เพื่อที่จะได้ใช้ฆ่าตัวตายทันทีที่ถูกจับ แสดงให้เห็นความแน่วแน่ในการทำสงคราม

การฝึกอย่างเข้มงวด ทำให้ทหารพยัคฆ์ทมิฬทุกคนมีความดุร้าย เฉียบขาด และสายสร้อยแบบนี้ที่เขาห้อยอยู่ทุกวันจะเป็นเครื่องเตือนสติเขาว่า “จงพร้อมที่จะตายอยู่ทุกเมื่อ …เพื่อชาติ

และแล้วเราก็จะมาพูดถึงกองกำลังที่มีชื่อเสียง น่าหวาดหวั่นเกรงขามที่สุดของพวกพยัคฆ์ทมิฬ นั่นคือ…
กองกำลังเสือดำ
(Black Tiger)
ทหารของกองกำลังนี้เป็นหน่วยคอมมานโดที่ร้ายกาจที่สุดของฝ่ายพยัคฆ์ทมิฬ ชื่อของพวกเขาทำให้คนทั้งหลายเกรงขาม และพวกเขากลายเป็นสัญลักษณ์ของการก่อการร้ายสมัยใหม่
เหตุผลที่ทำให้พวกเขามีชื่อเสียงเช่นนี้ ส่วนหนึ่งเพราะงานใหญ่ๆส่วนมากของหน่วยนี้คือ “งานตาย”
…ใช่ครับ… กองกำลังเสือดำนี้คือหน่วยปฏิบัติการพลีชีพที่พร้อมพุ่งเข้าแลกชีวิตกับศัตรู

กองกำลังเสือดำขณะกำลังเดินสวนสนาม
ว่าไปตอนแรกที่ประภาการันตั้งกองเสือดำขึ้นมาก็ไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้หรอก เพียงกะให้เป็นคอมมานโดอย่างเดียว แต่พอมีคนพลีชีพหลายคนเข้าแล้วได้ผล ประภาการันจึงเริ่มถือหลักการว่าทำแบบนี้แล้ว “คุ้ม” เราตายคนเดียว แต่มันตายเป็นร้อย จึงให้กองเสือดำเป็นกองกำลังสำหรับทำงานพลีชีพตั้งแต่นั้นมา
กลุ่มพยัคฆ์ทมิฬมีวิธีการคัดเลือกคนเข้ามาเป็นสมาชิกของกองกำลังเสือดำที่น่าสนใจมาก
…นั่นคือการ “ประกวดเขียนเรียงความ” (ไม่ได้ล่อเล่นนะครับ)…
พลพรรคคนใดเกิดเบื่อหน่ายในชีวิต สามารถเขียนเรียงความแสดงการอยากตายไปให้หน่วยเหนือได้ ประภาการันจะทำการอ่านเรียงความเหล่านี้ด้วยตนเอง
เมื่อประภาการันอ่านแล้วจะได้พิจารณาจากความสามารถ ศักยภาพ และทัศนคติของผู้เขียน จึงตัดสินใจรับเจ้าของงานเข้ามาในหน่วยเสื่อดำ
ผู้ที่ถูกคัดเลือกจะถูกนำมาฝึกอย่างหนักทั้งในการปลอมตัว การแทรกซึม การใช้อาวุธหนักเบาต่างๆ รวมถึง “เข็มขัดระเบิด” จนกระทั่งมีความแข็งแกร่งมากพอแล้ว ก่อนวันที่เขาจะต้องถูกส่งไปปฏิบัติการจริง ประภาการันจะเรียกเขามาหาและเลี้ยงข้าวเขาอย่างดีมื้อหนึ่ง
ระหว่างที่รับประทานอาหารด้วยกัน ประภาการันก็จะไต่ถามสารทุกข์สุขดิบเขาอย่างเป็นกันเอง ให้ความสนิทสนม พอกินข้าวเสร็จแล้วทั้งหมดจึงถ่ายรูปรวมกันหนึ่งรูป
แบบนี้

แบบนี้

แบบนี้

และแบบนี้

…คนที่เห็นในรูปเหล่านี้ทุกคน คือคนที่กำลังจะไปตายในอีกไม่กี่วัน…
(ส่วนประภาการันก็นั่งนิ่งหน้าเดียวในทุกรูปจนน่าสงสัยว่าโฟโต้ชอปกันมาหรือเปล่า)
จากนั้นถึงวัน 27 พฤศจิกายนในปีเดียวกัน ชาวเมืองอีแลมต่างจะพากันจัดเทศกาลรำลึกวีรบุรุษให้แก่พวกเสือดำ ประภาการันจะกล่าวสุนทรพจน์ชมเชยพวกเขาอย่างใหญ่โต พร้อมกับมาทำพิธีศพให้ด้วยตนเอง

ยังมีประเพณีให้เกียรตินำชื่อของพวกเสือดำเหล่านี้ ไปตั้งเป็นชื่อสิ่งต่างๆ …นี่ทำให้ชาวทมิฬทั้งหลายเกิดความฮึกเหิม อยากเป็นวีรบุรุษบ้าง
…และแล้ว ต่างคนต่างก็เขียนเรียงความส่งไปให้ประภาการันอ่านมากยิ่งขึ้น…

สภาพสงครามในสงครามอีแลมครั้งที่สองนี้ จะเป็นการผลัดกันรุกรับระหว่างพวกพยัคฆ์ทมิฬที่มีกองกำลังหลักอยู่ที่จาฟนา และส่งเซลล์ก่อการร้ายกระจายอยู่ทั่วไปในดินแดน “วันนิ” ส่วนใหญ่จะไม่ใช่การรบใหญ่ แต่จะเป็นการสังหารหมู่โดยมุ่งเป้าหมายพลเรือน

ดินแดนวันนิ
“วันนิ” เป็นคำเรียกแต่โบราณของดินแดนที่อยู่ข้างใต้จาฟนา (เมืองหลวงโบราณของทมิฬ) และเหนืออนุราธปุระ (เมืองหลวงโบราณของสิงหล) มีภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นป่า และแม่น้ำ เป็นที่อยู่ของชาวชนบท ที่ไม่เจริญนัก พวกพยัคฆ์ทมิฬใช้ดินแดนนี้เป็นสมรภูมิอย่างดีในการทำสงครามกองโจรสู้กับรัฐบาล
มีการรบใหญ่ที่ควรกล่าวถึงในสงครามช่วงนี้ คือการรบที่ “ทางช้าง”

ทางช้าง หรือ Elephant Pass เป็นทางที่เชื่อมต่อจาฟนากับแผ่นดินใหญ่ จัดเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่สุดแห่งหนึ่ง ในช่วงแรกของสงครามกองทัพรัฐบาลได้มาสร้างป้อมค่ายอยู่ที่ทางช้างแห่งนี้อย่างแน่นหนา เพื่อไม่ให้พวกพยัคฆ์ทมิฬในจาฟนาเล็ดรอดออกมาได้
ประภาการันเล็งเห็นความสำคัญของจุดยุทธศาสตร์นี้เป็นอย่างดี วันที่ 10 กรกฎาคม 1991 เขาได้สั่งให้ทหารพยัคฆ์ทมิฬจากจาฟนา รวมกับทหารกลุ่มย่อยที่แยกย้ายกันอยู่ในดินแดนวันนิ รวมกำลังกันเข้าตีป้อมทางช้างเป็นจุดเดียว พร้อมทั้งจัดกองกำลังยิงป้องกันไม่ให้ทหารรัฐบาลข้างนอกเข้ามาช่วยได้ทั้งทางบกและทางอากาศ
ทหารรัฐบาลในป้อมต้องรับมือกับการโจมตีนี้อย่างยากลำบาก มีเรื่องราวที่ควรกล่าวถึงในการรบครั้งนี้ ตามบันทึกของทหารสิงหลในสมรภูมิจริงว่า:
“ในวันที่ 14 กรกฎาคม พวกเราถึงปิดล้อมอยู่ในป้อม ปราศจากน้ำและอาหารเพียงพอ พวกพยัคฆ์ทมิฬส่งกำลังพลระลอกแล้วระลอกเล่าเข้ามาตีจากทุกทิศทาง แม้ว่าเราจะยิงจนพวกมันล่าถอยไปบางส่วน แต่ก็มีหนุนเนื่องต่อมาอีกจนดูเหมือนหาที่สิ้นสุดไม่ได้
พวกเราพยายามปลอบขวัญกันเองให้มีขวัญกำลังใจ แต่แล้วพอถึงเวลาพลบค่ำ พวกเราก็ต้องตกตะลึงกับ ‘อาวุธใหม่’ ของพวกพยัคฆ์ทมิฬที่กำลังเคลื่อนที่เข้ามา

…มันเป็นก้อนเหล็ก
…เป็นแท่งเหล็กใหญ่ที่กำลังเคลื่อนไหว…
…มันเป็นรถถัง …เป็นรถถังแน่ๆ …แต่พวกพยัคฆ์ทมิฬจะมีรถถังได้อย่างไร?
พวกเราพยายามยิงไปที่รถถังนั้น แต่กระสุนของเราทำอะไรมันไม่ได้ ตรงกันข้าม บนรถถังนั้นมีการติดตั้งปืนกล มันยิงพวกเราตายไปหลายคน
…คลื่นมนุษย์ของพวกพยัคฆ์ทมิฬโถมกระหน่ำมาอีก พวกเราคิดว่าจะต้องพ่ายแพ้แน่ๆแล้ว
…แต่ในขณะนั้นเองเพื่อนของเราคนหนึ่งชื่อ กามิณี ได้ทำในสิ่งที่น่าตกใจ เขาวิ่งออกจากบังเกอร์ตรงไปยังกองทหารฝ่ายตรงข้ามตัวเปล่า …ไม่สิ เขาถือลูกระเบิดมือไปด้วยสองลูก
การวิ่งไปอย่างนั้นท่ามกลางดงกระสุนมันเป็นการฆ่าตัวตายชัดๆ กามิณีเองก็โดนยิงไปหลายนัด แต่เขายังคงวิ่งต่อไปจนเข้าใกล้เจ้ารถถังประหลาดนั้นได้สำเร็จ
…ที่นั่นเขาขว้างระเบิดมือตกเข้าไปในรถถัง
บึม!
เกิดเสียงดังสนั่นหวั่นไหว รถถังประหลาดนั้นยังคงอยู่เหมือนเดิม แต่มันไม่เคลื่อนไหวอีกแล้ว และปืนกลก็ไม่ลั่นมาอีกแล้ว
ร่างของกามิณีที่บาดเจ็บจากกระสุนนับไม่ถ้วนร่วงลงมาจากรถถัง …เขาเองก็ขาดใจตายตรงนั้น…”

กามิณี
กามิณีเคยเป็นเหยื่อที่รอดชีวิตจากการสังหารหมู่ของพวกพยัคฆ์ทมิฬมาได้หวุดหวิด ทำให้เขามีความโกรธแค้นพวกทมิฬมาก จนนำไปสู่การตัดสินใจดังกล่าว การตายของกามิณีทำให้ทหารรัฐบาลมีขวัญกำลังใจ เข้าต่อสู้ขับไล่พวกพยัคฆ์ทมิฬ จนสามารถประวิงเวลาให้กองหนุนมาช่วยสำเร็จ
แม่ของกามิณีพอทราบเรื่องการตายของลูกชายก็ขอร้องให้รัฐบาลช่วยพาไปดูรถถังที่ลูกของเธอแลกชีวิตมา

รถถังประหลาดของพวกทมิฬ
แท้จริงแล้วรถถังนั้นเป็นเพียงรถบูโดเซอร์ที่ถูกพวกพยัคฆ์ทมิฬเอามาดัดแปลง จากการตรวจสอบพบว่าคนขับรถคนนี้ถูกล็อคกุญแจมือไว้กับพวงมาลัยอีกด้วย
จากวีรกรรมนี้ ทำให้ชื่อของกามิณีและรถบูโดเซอร์ กลายเป็นสัญลักษณ์ของด่าน “ทางช้าง” จวบจนปัจจุบัน

สงคราม Eelam ครั้งที่สองนี้จบลงด้วยการที่พวกพยัคฆ์ทมิฬ และรัฐบาลทำอะไรกันไม่ได้มาก ยกเว้นแต่การที่มือระเบิดของทมิฬสามารถไปฆ่าตัวตายร่วมกับประธานาธิบดีเปรมดัสในช่วงท้ายสงคราม ดังที่เล่าไปแล้ว
การตายของนายเปรมดัสนี้ได้นำการเปลี่ยนแปลงสำคัญมาสู่ศรีลังกา
กล่าวคือตลอดมาศรีลังกามีพรรคการเมืองสำคัญอยู่สองพรรค ได้แก่พรรค United National Party (UNP) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองสายอนุรักษ์นิยม ประธานาธิบดีที่ผ่านมาทั้งหมด มาจากพรรคนี้

สัญลักษณ์พรรค UNP

กับอีกพรรคหนึ่งชื่อ Sri Lanka Freedom Party (SLFP) เป็นพรรคการเมืองที่เริ่มมาเหมือนจะเป็นสังคมนิยม แต่ต่อมาได้กลายร่างเป็นซุปเปอร์อุลตร้าอนุรักษ์นิยม …คือรักชาติอย่างรุนแรงมากๆ

สัญลักษณ์พรรค SLFP
สองพรรคนี้ ฝ่าย UNP จะเปิดโอกาสให้มีการเจรจากับพวกพยัคฆ์ทมิฬมากกว่า ส่วน SLFP จะคิดว่าอย่าต่อรองกับผู้ก่อการร้าย เราต้องเข้มแข็งฆ่ามันให้เหี้ยน แล้วจะดีเอง (ทั้งสองพรรคนี้บริหารเศรษฐกิจอย่างทุนนิยมเสรีทั้งคู่ ทำให้ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการพัฒนาประเทศให้เจริญ มาติดอยู่ก็เรื่องสงครามกลางเมืองนี่แหละ)
การตายของนายเปรมดัส ทำให้พรรค UNP อ่อนแอลง และพรรค SLFP นำโดยนางจันทริกา กุมารตุงคะสามารถขึ้นเป็นประธานาธิบดีเป็นครั้งแรก

นางจันทริกา กุมารตุงคะ
ช่วงต้นๆนางจันทริกาก็โน้มเองไปทางเจรจา แต่ต่อมาก็เกิดคิดนโยบายว่า “สงครามเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้เกิดสันติภาพ” นางจันทริกาจึงจัดหนักใส่พวกพยัคฆ์ทมิฬ ส่งกองกำลังทางบกทางน้ำ เข้าตีเมืองจาฟนาภายใต้ชื่อปฏิบัติการ “รวีเรสะ”

ปฏิบัติการรวีเรสะ เป็นการเริ่มต้นสงคราม Eelam III หรือช่วงที่พวกพยัคฆ์ทมิฬค่อยๆกลายเป็นรัฐ
มันเริ่มมาจากความพ่ายแพ้ของพวกพยัคฆ์ทมิฬ โดยทหารศรีลังกาภายใต้ปฏิบัติการรวีเรสะได้นำกำลังทางบกทางน้ำเข้าตีเมืองจาฟนาไว้ได้สำเร็จ สร้างความปลาบปลื้มปิติแก่นางจันทริกายิ่งนัก เธอประกาศว่า “สงครามจบแล้ว” เพราะประมาณว่าการตีเมืองจาฟนานั้นได้ทำลายกองกำลังของพวกพยัคฆ์ทมิฬไปถึงสองในสาม
แต่การณ์ไม่เป็นเช่นนั้น ในตอนที่จาฟนาใกล้จะแตก ประภาการันได้นำกำลังกวาดต้อนชาวจาฟนาหลายแสนเข้าไปในป่าของวันนิ ทำให้เขาสามารถรักษาฐานการสนับสนุนส่วนใหญ่ไว้ได้

การกวาดต้อนชาวจาฟนา
และในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลกำลังดีใจนั้นเอง ประภาการันก็เริ่มต้นสิ่งที่เรียกว่า “ปฏิบัติการคลื่นกระทบ” คือการบุกเข้าโจมตีเมืองต่างๆในวันนิอย่างรวดเร็วไม่ให้ทันตั้งตัว
ปฏิบัติการคลื่นกระทบมีสามครั้ง พวกพยัคฆ์ทมิฬตีได้มุลไลติวูเมืองเอกทางตะวันออกของวันนิ คิลินอชชิ เมืองเอกทางเหนือ และด่านทางช้าง ทำให้เวลานี้ประภาการันควบคุมวันนิเกือบทั้งหมดได้แล้ว นับว่ามีพื้นที่อิทธิพลกว้างใหญ่กว่าที่เคยมีมาทั้งหมด
สถานการณ์ที่รัฐบาลเคยล้อมกบฏไว้ในจาฟนา ก็กลับตาลปัตรเป็นถูกกบฏล้อมเสียเอง

แผนที่ศรีลังกาก่อนสงครามช่วงสุดท้าย สีแดงคือพื้นที่อิทธิพลของพยัคฆ์ทมิฬ ซึ่งคือวันนิ สีส้มคือศรีลังกาภาคตะวันออกที่พยัคฆ์ทมิฬแผ่อิทธิพลไปบ้าง สีเหลืองคือดินแดนที่พยัคฆ์ทมิฬอ้างความเป็นเจ้าของแต่ถูกรัฐบาลยึดไว้

ต้นกำเนิดของชัยชนะเหล่านี้ มาจากการทำสั่งสมกำลัง และสร้างเทคนิคทำสงครามแบบใหม่ๆที่ทหารศรีลังกาไม่เคยเห็นมาก่อน
ในช่วงนี้เองที่พยัคฆ์ทมิฬได้นำชาวจาฟนาที่กวาดต้อนมาตั้งรกรากในเมืองต่างๆ และ ขอรีรันว่าเขาได้สร้าง
ศาล

สถานีตำรวจ

ธนาคาร

ไปรษณีย์

และสิ่งอื่นๆเพื่อเป็นการ  “กระทำตนเป็นรัฐ” ขึ้น เป็นการสร้างรากฐานของประเทศอีแลมที่จะยืนยงต่อไปอีกนับสิบปี

เหรียญทองที่พวกพยัคฆ์ทมิฬประดิษฐ์ขึ้นมาใช้เป็นของขวัญ และชำระหนี้ของรัฐ

เราอาจบอกได้ว่าสงครามกลางเมืองศรีลังกาที่ผ่านๆมานั้น ฝ่ายพยัคฆ์ทมิฬกับรัฐบาลกินกันไม่ลง แต่ฝ่ายรัฐบาลประสบความสำเร็จมากกว่า จนมาถึงสงคราม  Eelam III ครั้งนี้แหละครับที่แม้พวกพยัคฆ์ทมิฬจะเสียเมืองหลวง แต่ก็ได้ดินแดนชนบทเพิ่มขึ้นมากมาย ทั้งยังตั้งเมืองคิลินอชชิเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ ทำการต่อสู้และสะสมอาวุธต่อไปอย่างเข้มแข็งมากขึ้น
ในช่วงปลายสงคราม Eelam III นั้นฝ่ายพยัคฆ์ทมิฬยังได้ก่อวีรกรรมสะเทือนเลื่อนลั่นสองอย่าง หนึ่งคือเอาระเบิดไปจะฆ่านางจันทริกา ซึ่งแม้นางจันทริกาจะรอดตาย แต่ก็ทำให้ถึงกับตาบอดข้างหนึ่ง

นางจันทริกาตาบอด

นอกจากนั้นพวกพยัคฆ์ทมิฬยังทำการก่อการร้ายที่มีชื่อเสียงฉาวโฉ่ที่สุดในโลกครั้งหนึ่ง
ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2001 เวลาตีสาม มีกลุ่มเสือดำสิบสี่คนถือ RPG และอาวุธอื่นๆ ลอบตัดลวดหนามบุกเข้าสนามบิน กาตุนะยาเก ซึ่งเป็นสนามบินรบของกองทัพศรีลังกา พวกเขาต่อสู้กับทหารในสนามบินจนถูกฆ่าตายไปแปดคน (ทหารตายไปสามคน) แต่ประสบความสำเร็จในการยิงทำลายเครื่องบินของกองทัพอากาศถึงแปดลำ ได้แก่
เครื่องบิน K-8 Karakorum trainer aircraft 3 ลำ; เครื่อง Mil Mi-17 helicopter 1 ลำ; เครื่อง Mil Mi-24 helicopter 1 ลำ; เครื่อง IAI Kfir fighter jets 2 ลำ; และ MiG-27 1 ลำ นอกจากนั้นยังสร้างความเสียหายแก่  K-8s 5 ลำ และ MiG-27 อีกหนึ่งลำ
หลังจากทำลายเครื่องบินซึ่งเป็นอาวุธสำคัญในการโจมตีของรัฐบาลจนถึงการสมควรแล้ว กลุ่มเสือดำที่เหลือตายอีกหกคนก็ข้ามเข้าสนามบิน บันดาราไนเกซึ่งเป็นสนามบินพาณิชย์นานาชาติแห่งเดียวของศรีลังกา
พวกเขาฆ่าทหารยามที่มีอยู่เล็กน้อย แล้วเอา RPG ระดมยิงใส่เครื่องบินพาณิชย์ที่จอดเรียงรายกันอยู่ โดยทำลาย Airbus A330 2 ลำ และ Airbus A340 หนึ่งลำ พร้อมทั้งสร้างความเสียหายแก่ A320-200 และ A340-300 อีกด้วย
สุดท้ายกองทัพศรีลังกาก็สามารถเข้ามาหยุดยั้ง จับตายพวกเสือดำ แต่นั่นเป็นหลังจากเครื่องบินของศรีลังกาพินาศวอดวายไปมากแล้ว
ความเสียหายนี้มีมูลค่า 350ล้านเหรียญ US ทำให้เศรษฐกิจของศรีลังกาถดถอยเป็นครั้งแรก และการท่องเที่ยวเสื่อมทรามลงอย่างหนัก






ความพินาศย่อยยับของปฏิบัติการโจมตีสนามบินบันดาราไนเก

เมื่อเห็นชัดว่านโยบายสงครามของนางจันทริกานั้นล้มเหลว ประชาชนศรีลังกาในยุค 1995-2000 ต่างตกอยู่ในความหวาดกลัวจาการก่อการร้ายที่อุกอาจครั้งแล้วครั้งเล่าของพยัคฆ์ทมิฬซึ่งรัฐบาลทำอะไรไม่ได้ และการที่ฝ่ายทหารเองก็รบแพ้หลายครั้ง จนกบฏตั้งบ้านเมืองขึ้นมาสำเร็จ
พวกเขาเริ่มหมดหวังกับการใช้กำลังทหารยุติสงครามจึงกลับไปเทคะแนนเสียงให้นายรานิล วิกรมสิงเห หัวพรรค UNP ซึ่งมีนโยบายเจรจาสันติภาพขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

นายรานิล วิกรมสิงเห
แม้กฏหมายศรีลังกาจะให้ประธานาธิบดีเป็นทั้งประมุขของรัฐและหัวหน้าฝ่ายบริหาร แต่การที่รานิลสามารถควบคุม ส.ส.ส่วนใหญ่ในสภาไว้ได้ ทำให้ประธานาธิบดีอย่างนางจันทริกาขยับแขนขาไม่ออก
เธอต้องนั่งดูนายรานิลเปิดการเจรจากับพวกพยัคฆ์ทมิฬที่นอร์เวย์ ที่นั่นนายรานิลยื่นข้อเสนอการจัดตั้งสหพันธรัฐ โดยให้พวกพยัคฆ์ทมิฬมีอำนาจในการปกครองภาคเหนือของศรีลังกาทั้งหมด และพวกพยัคฆ์ทมิฬก็เอ่ยตกลง ทั้งสองฝ่ายทำสัญญาว่าจะไม่รุกรานกัน และร่วมมือกันมุ่งหน้าสู่การเป็นสหพันธรัฐ โดยมีนอร์เวย์เป็นผู้ดูแลให้สัญญานี้บรรลุ
นี่เองคือการเข้าใกล้การเป็นรัฐที่สุดของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม

การเจรจาที่นอร์เวย์

ในเดือนตุลาคม 2003 พวกพยัคฆ์ทมิฬยื่นข้อเสนอขอตั้งตัวเป็นรัฐบาลชั่วคราว ก่อนจะมีการเลือกตั้ง แก่รัฐบาลศรีลังกา
การเป็นรัฐบาลชั่วคราวนี้หมายถึงศรีลังกาต้องให้การยอมรับอำนาจอธิปไตย การติดต่อต่างประเทศ เศรษฐกิจ การใช้ทรัพยากรทุกอย่างของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬเหนือดินแดนอีแลม ซึ่งรานิลก็ทำท่าว่าจะให้
แต่แล้วขณะที่รานิลเดินทางออกไปนอกประเทศ นางจันทริกาซึ่งมีสมัยการเป็นประธานาธิบดีเหลืออีกไม่มากแล้วก็ประกาศก้องว่า “ตากุอยู่ไหน!” แล้วใช้อำนาจประธานาธิบดีหยุดการตัดสินใจของนายรานิล ต่อมาก็ประกาศยุบสภาเลือกตั้งใหม่
ประชาชนสิงหลส่วนใหญ่ที่เลือกนายรานิลมาเพราะต้องการสันติภาพ เริ่มรับไม่ได้ที่ต้องเห็นผู้ก่อการร้ายที่ก่อกรรมทำชั่วมามากได้ดีเป็นรัฐบาลก็พากันโหวตเข้าข้างพรรค SLFP

ชาวสิงหลประท้วงนายรานิล
จริงๆแล้วเสียงของพรรค SLFP และพรรคพันธมิตรในเวลานั้น ชนะเสียงพรรค UNP เพียงเล็กน้อย ตัวแปรสำคัญอยู่ที่พวกพยัคฆ์ทมิฬไม่ยอมให้คนในเขตของตนโหวตเลือกตั้งประธานาธิบดีศรีลังกา (คนทมิฬมีแนวโน้มเลือก UNP เพราะเป็นมิตรกว่า) ทำให้พรรค SLFP ชนะการเลือกตั้งจริงๆ
ศรีลังกาได้ประธานาธิบดีคนใหม่ชื่อนาย มหินธา ราชปักษา เขาคนนี้ได้ให้สัญญาไว้ตอนหาเสียงว่า…
จะไม่ยอมประนีประนอมกับผู้ก่อการร้ายเด็ดขาด!

นายมหินธา ราชปักษา
…เรื่องราวในช่วงสร้างชาติ และกลายเป็นรัฐของพวกทมิฬก็จบลงเพียงแค่นี้…
ในกระทู้ต่อไปจะเป็นเรื่องของสงครามช่วงสุดท้าย ซึ่งจะเป็นสงครามที่รุนแรงที่สุด นองเลือดที่สุด บ้าระห่ำ และน่าสยดสยองที่สุดครั้งหนึ่งที่โลกของเราเคยพบเห็น
ท่านจะได้เห็นคำสาป การหักหลัง ความเศร้าเสียใจ ชัยชนะ และการพ่ายแพ้…
ท่านจะได้เห็นความฝันและความหวังของผู้คนที่คุกรุ่น ก่อตัว แตกปะทุขึ้นถึงจุดสูงสุด และได้เห็นการแตกดับ พินาศ พังทลาย วอดวายหมดสิ้น
…ในกระทู้หน้า ท่านจะได้เห็นว่า “การสิ้นชาติ” ของประเทศหนึ่งนั้นเป็นอย่างไร…

ที่มา: http://pantip.com/topic/31122705/story

Leave a Reply