ประวัติของบัตรอวยพรวันปีใหม่ (ส.ค.ส.)

ประวัติของบัตรอวยพรวันปีใหม่ (ส.ค.ส.)

สคส002

เอนก นาวิกมูล นักค้นคว้าประวัติศาสตร์ เขียนไว้ว่า ธรรมเนียมการส่ง ส.ค.ส. เป็นเรื่องที่ไทยเราได้รับแบบอย่างมาจากฝรั่ง พระมหากษัตริย์ของไทยที่ทรงเริ่มส่ง ส.ค.ส. และอาจเป็นบุคคลแรกในประเทศที่ส่ง ส.ค.ส. คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 หลักฐานเก่าที่สุดคือหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอร์ดเดอร์ ฉบับวันที่ 13 ม.ค.2409 ในโอกาสขึ้นปีใหม่ ปี ค.ศ.1866 หรือตรงกับ พ.ศ.2409

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ส.ค.ส.ส่วนใหญ่พบในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ในช่วงปี 2429 มีลักษณะเป็นนามบัตร เขียนคำว่า ส.ค.ส. ปีนั้นปีนี้ลงไป หรือไม่ก็เขียนคำอวยพรลงบนแผ่นกระดาษฝรั่ง นอกจากนี้ยังพบ ส.ค.ส.ฝรั่งปะปนอยู่อีกหลายแผ่น เป็นคำถวายพระพรรัชกาลที่ 5 จากข้าราชสำนัก

สำหรับบัตรอวยพรปีใหม่ของฝรั่ง เกิดขึ้นใกล้เคียงกับบัตรอวยพรคริสต์มาส เกิดขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 โดยชาวเยอรมัน พบหลักฐานเป็นแม่พิมพ์แผ่นไม้ นิยมทำเป็นภาพรูปบ้านและรูปพระเยซูในวัยเยาว์ พร้อมกับคำอวยพรว่า Ein gut selig jar หมายถึงปีที่ดีและมีสุข

ต่อมาชาวอังกฤษพัฒนารูปแบบบัตรอวยพร ให้สวยงามและมีสีสันมากขึ้น ในศตวรรษที่ 18 นักเรียนประจำนิยมส่งการ์ดคริสต์มาสและปีใหม่ ไปให้ทางบ้าน เพื่ออวยพรพ่อแม่และคนที่บ้าน ทั้งยังจะได้อวดลายมือด้วย ขณะเดียวกันกลุ่มพ่อค้าก็นิยมส่งการ์ดให้ลูกค้าในวันปีใหม่ จนเป็นที่แพร่หลายตั้งแต่ปี ค.ศ.1770

ข้อมูลจากวารสารสารวัฒนธรรม ฉบับที่ 1 เดือน มกราคม 2548 บอกว่าผู้ที่สนใจอยากจะเห็นบัตรอวยพรย้อนยุค นับตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจนถึงยุคปัจจุบันได้ที่ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ซึ่งที่นี่สามารถค้นภาพบัตรอวยพรที่หลากหลายทั้งรูปแบบและสีสัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบัตรอวยพรที่เจ้านาย ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และชั้นผู้น้อยส่งมาถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7

พร้อมยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในช่วงสมัยที่เริ่มมีการส่งบัตรอวยพรปีใหม่ นอกจากบัตรอวยพรเนื่องในวันปีใหม่ของไทยแล้ว ยังปรากฎบัตรอวยพรเนื่องในวันตรุษฝรั่งคือ วันที่ 25 ธันวาคม หรือที่เรียกว่า วันคริสต์มาสและวันขึ้นปีใหม่สากลคือวันที่ 1 มกราคม ด้วย

ในยุคแรกๆ ลักษณะบัตรอวยพรมีขนาดเล็กเท่านามบัตรปรากฎเฉพาะชื่อของ ผู้ส่ง ตำแหน่ง และปีพุทธศักราช เท่านั้นตัวอักษรมีทั้งตัวพิมพ์และเขียนด้วยลายมือ ต่อมาบัตรอวยพรมีขนาดใหญ่ขึ้น เท่าโปสการ์ด หรืออาจใหญ่กว่า เป็นภาพวาดสีน้ำ มีสีสันและลวดลายงดงาม ส่วนใหญ่เป็นภาพดอกไม้ ผลไม้ และสัตว์คำอวยพรเป็นร้อยแก้ว หรือบทร้อยกรอง และมีการใช้คำที่แปลกออกไปจากปัจจุบันบ้าง เช่นคำว่า “ศุข” แทนคำว่า “สุข” คำว่า “รฤก” แทนคำว่า “ระลึก” และใช้คำว่า “ถ.ค.ส.” เพื่อถวายความสุขแด่พระมหากษัตริย์ เป็นต้น

เมื่อประเทศไทยมีการติดต่อกับต่างประเทศมากขึ้น บัตรอวยพรจะปรากฎเป็นภาพพิมพ์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ และมีข้อความอวยพรเป็นภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้นมาด้วย บัตรอวยพรชุดที่เด่นเป็นภาพชุดพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถและพระราชโอรส รวมทั้งภาพเหตุการณ์สำคัญ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นต้น

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรูปแบบบัตรอวยพรวันปีใหม่ ชุดที่เด่น มีลักษณะเช่นเดียวกับในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่นภาพถ่ายที่อัดบนบัตรอวยพร ชุดภาพการซ้อมรบเสือป่า ณ จังหวัดนครปฐม และปรากฎบัตรอวยพรที่มีรูปแบบแปลกตาไปจากเดิมคือ บัตรอวยพรส่งความสุขเนื่องในวันวิสาขบูชา ซึ่งอาจสันนิษฐานได้ว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ริเริ่มขึ้นเพื่อแสดงความเป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทยและคนไทยที่นับถือพุทธศาสนารูปแบบบัตรอวยพรมีขนาดเท่าโปสการ์ดขอบสีทอง ประดิษฐ์เป็นลวดลายไทยสวยงาม ส่วนใหญ่เป็นภาพวาดด้วยสีน้ำ และภาพพิมพ์แสดงเหตุการณ์สำคัญทางศาสนาเช่น พระพุทธเจ้าเมื่อเสด็จออกทรงผนวช ทรงเทศนา ฯลฯคำอวยพรจะเน้นใช้ภาษาบาลีที่มีความหมายลึกซึ้ง

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวปรากฎแบบร่างบัตรอวยพรปีใหม่ ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดทำขึ้น เพื่อทรงอวยพรชาวต่างประเทศ จากหลักฐานเอกสารจดหมายเหตุ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงประกาศให้ประเทศไทยเปลี่ยนมาใช้วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2484 เป็นวันขึ้นปีใหม่เหมือนอย่างประเทศทั้งหลาย ด้วยว่า วันที่ 1 มกราคม ใกล้กับวันแรม 1 ค่ำของไทย และเป็นการใช้ฤดูหนาวเริ่มต้นปี บัตรอวยพรเนื่องในวันปีใหม่ 1 มกราคม จึงเกิดขึ้นนับแต่นั้นมา

บัตรอวยพรปีใหม่ของไทยเป็นเอกสารจดหมายเหตุที่มีคุณค่าและความสำคัญที่สามารถบอกเล่าเรื่องราวในอดีตสะท้อนขนบธรรมเนียมประเพณีของสังคมไทยในแต่ละยุคสมัยรวมทั้งความวิจิตรบรรจงด้านวรรณศิลป์ นอกเหนือจากความสวยงามของภาพที่ปรากฎ มีความหมายและทรงคุณค่าสำหรับผู้ที่ได้รับ และเป็นรูปแบบของการส่งความสุขที่ยังคงใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย

ที่มา: http://www.yesspathailand.com

Leave a Reply