หมาน้อย อาหารพื้นบ้านอีสาน

หมาน้อย อาหารพื้นบ้านอีสาน

0019

“หมาน้อย” เป็นอาหารพื้นบ้านทางภาคอีสาน แถบภาคเหนือตอนบนเรียก “แอ่งแต๊ะ” วัตถุดิบที่ใช้ คือ ใบหมาน้อย หรือใบแอ่งแต๊ะ มีคุณสมบัติการเปลี่ยนรูปจากของเหลวเป็นวุ้นแต่ไม่ถึงกับแข็งเหมือนวุ้นทั่วไป แต่จะเป็นวุ้นแบบเด้งดึ๋งดั๋งไปมาเมื่อใช้ช้อนตักลงไปที่หมาน้อย

ต้นหมาน้อย

จัดเป็นพืชป่าตระกูลเถาไม้เลื้อย มักอาศัยพันกับหลักหรือต้นไม้ พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะทางแถบภาคอีสานจะพบมาก และรู้จักกันในชื่อ “เครือหมาน้อย” นั่นเอง!

หมาน้อย มีใบเดี่ยว รูปหัวใจ มีขนปกคลุมทั่วไปทั้งบนใบและท้องของใบดูคล้ายๆ ย่านาง แต่มีลักษณะต่างกัน ที่ใบย่านางไม่มีขนเหมือนหมาน้อย

ที่มาของชื่อหมาน้อยนั้นสาเหตุที่แท้จริงไม่อาจทราบได้ แต่ก็มีบางคนบอกว่า เพราะใบของหมาน้อยมีขนนุ่ม เวลาเอามือลูบและจับจะมีลักษณะการสัมผัสนุ่มๆเหมือนขนลูกสุนัขที่เพิ่งคลอด

MN02

ลักษณะพิเศษของใบหมาน้อยก็คือ เมื่อเรานำมาขยำกับน้ำ แล้วกรองเอาเศษใบออก พอตั้งทิ้งไว้สักพักจะจับตัวกันเป็นก้อนคล้ายวุ้น (ซึ่งอาจเป็นพืชชนิดเดียวที่มีคุณลักษณะพิเศษเช่นนี้)

หมาน้อย พืชป่าชนิดนี้ได้รับการยอมรับให้เป็นเมนูอาหารป่าที่หายากของชาวอีสาน ที่มีการกล่าวขานมาตั้งแต่ครั้งชนรุ่นก่อนเก่าถึงกรรมวิธีในการปรุงเพื่อใช้เป็นอาหาร รวมทั้งสรรพคุณทางยา เมื่อก่อนเครือหมาน้อยจะมีให้กินเพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้นในรอบ 1 ปี และพบได้ตามดง ตามป่า ในธรรมชาติตามที่รกร้างว่างเปล่าตามชนบท

ในสมัยนี้ แถวๆ ภาคอีสาน เมื่อไหร่อยากกินก็ไปหากินได้ทุกเมื่อ ไม่ต้องเข้าไปเก็บในป่าอีกแล้ว เพราะว่า เครือหมาน้อย มีขาย และมีปลูกอยู่ทั่วไปตามบ้านคนทั่วไปแล้ว

ประโยชน์จากต้นเครือหมาน้อย 

ชาวบ้านพื้นถิ่นชาวอีสาน จะนำเอาใบหมาน้อยมาประกอบอาหารได้ทั้งคาวและหวาน ซึ่งเป็นภูมิปัญญาไทยโบราณเชื่อว่า “หมาน้อย” เป็นพืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยา เช่น ราก มีรสหอมเย็น แก้ไข้ ดีซ่าน เป็นยาอายุวัฒนะ แก้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ส่วนใบจะใช้ทาแก้โรคผิวหนังได้

เมื่อเรานำใบสีเขียวเข้มของ เครือหมาน้อย มาคั้นในน้ำ แล้วตั้งทิ้งไว้สักพัก น้ำสีเขียวเข้มจะจับตัวกลายเป็นวุ้น ซึ่งก็เกิดจากใบของ “หมาน้อย” นั้นมีเพคตินธรรมชาติเป็นส่วนประกอบในปริมาณสูง สำหรับคุณสมบัติของเพคติน เมื่อเกิดการพองตัวจะอุ้มน้ำได้ดี จึงเป็นการเพิ่มกากอาหารให้ลำไส้ ช่วยในการขับถ่าย ลดระยะเวลาของอุจจาระที่ตกค้างในลำไส้ รวมทั้งดูดซับสารพิษจากการย่อยกากอาหารของเชื้อจุลินทรีย์ หรือสารพิษตกค้างอื่นๆ เป็นการลดปัจจัยหรือความเสี่ยงการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ ทั้งยังลดการดูดซึมน้ำตาลและไขมัน จึงเหมาะที่จะใช้เป็นอาหารสำหรับผู้มีปัญหาเบาหวาน และคอเลสเตอรอลในเลือดสูง

ที่มา: http://sanomcity.blogspot.com/2010/10/blog-post_8047.html, https://www.technologychaoban.com/news_detail.php?tnid=1946, https://www.silpa-mag.com/club/miscellaneous/article_6324

Leave a Reply