ยะซุกุนิ ศาลเจ้าต้องห้าม

ยะซุกุนิ ศาลเจ้าต้องห้าม

13248905031324890557l

ศาลเจ้ายะซุกุนิ ตั้งอยู่ที่เขตชิโยะดะ กรุงโตเกียว สร้างขึ้นครั้งแรกในยุคเมจิ ปีพ.ศ. 2412 ตามความเชื่อของลัทธิชินโต มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นที่ระลึกถึงผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สงครามกลางเมือง (สงครามโบะชิง) ระหว่างกองกำลังผู้สนับสนุนรัฐบาลโชกุนโทะกุกะวะ กับกองกำลังจักรพรรดินิยมของญี่ปุ่น

ในยุคเมจิ เกิดสงครามกลางเมืองภายในประเทศญี่ปุ่น เรียกว่าสงครามโบะชิง ซึ่งเป็นการสู้รบระหว่างฝ่ายรัฐบาลโชกุนโทะกุกะวะและฝ่ายของผู้จงรักภักดีต่อองค์จักรพรรดิ สุดท้ายฝ่ายองค์จักรพรรดิเป็นผู้ชนะ สิ้นสุดยุคของโชกุนโทะกุกะวะที่ปกครองญี่ปุ่นยาวนานกว่า 260 ปี มีผู้คนล้มตายจำนวนมาก องค์จักรพรรดิเมจิมีรับสั่งให้สร้างอนุสรณ์สถานเพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สงครามโบะชิง และพระราชทานชื่อว่า โตเกียวโชกนชะ ต่อมา จักรพรรดิเมจิ ได้ทรงเปลี่ยนชื่อเป็นยะซุกุนิจินจะในปี พ.ศ. 2422ซึ่งหมายถึง ประเทศที่สงบสุข

ตัวศาลในปัจจุบันสร้างขึ้นด้วยโครงสร้างเหล็กน้ำหนักรวมกว่า 100 ตัน หรือประมาณ 100,000 กิโลกรัม นับเป็นศาลเจ้าตามลัทธิชินโตที่ใหญ่ที่สุดของกรุงโตเกียว

เมื่อสหรัฐอเมริกา เข้ามามีบทบาทสำคัญในการจัดการภายในของประเทศญี่ปุ่น ได้กำหนดให้ทางการญี่ปุ่นเลือกว่าศาลเจ้าแห่งนี้เป็นของรัฐหรือจะให้เป็นอิสระจากรัฐ ซึ่งญี่ปุ่นเลือกที่จะให้เป็นอิสระจากรัฐบาล หลังจากนั้นศาลเจ้ายะซุกุนิถูกใช้เพื่อเป็นที่สถิตให้แก่เหล่าดวงวิญญาณของทหารญี่ปุ่นที่เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ 2 กว่า 2,466,000 คนด้วย ภายในศาลมีป้ายชื่อทหารที่เสียชีวิตระหว่างสงคราม บางคนมีชื่อเป็นอาชญากรสงครามรวมอยู่ด้วยกว่า 12 คน รวมทั้งนายฮิเดะกิ โทโจ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นผู้บัญชาการให้กองทัพญี่ปุ่นโจมตีอ่าวเพิร์ล ฮาร์เบอร์ ของสหรัฐอเมริกา ก็ได้รับการอัญเชิญดวงวิญญาณให้มาที่สถิตอยู่ในศาลเจ้าแห่งนี้ด้วยเช่นกัน

ศาลเจ้ายะซุกุนิเป็นสัญลักษณ์แห่งความโหดร้ายของสงครามในสายตาของชาวเอเชียอย่างจีนและเกาหลีใต้ เป็นประเด็นความขัดแย้งระหว่างประเทศมาโดยตลอด และตกเป็นข่าวดังภายหลังจากจุงอิชิโร โคะอิซุมิ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น เดินทางไปสักการะศาลเจ้าซึ่งถือเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกในรอบหลายปีของญี่ปุ่นที่เดินทางไปสักการะ แม้การกระทำดังกล่าวสร้างความไม่พอใจแก่ประเทศจีนและเกาหลีใต้เป็นอย่างมาก แต่จุงอิชิโระก็ยังคงปฏิบัติเช่นเดิมตลอดวาระของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกว่า 6 ปี มีเพียงปีเดียวเท่านั้นที่ไม่ได้ไปเนื่องจากการประชุมเอเชีย-แอฟริกา

ที่มา: Wikipedia

Leave a Reply