ยุทธหัตถีในประวัติศาสตร์ไทย
การกระทำยุทธหัตถีเป็นประเพณีสงครามที่รับมาจากอินเดีย โดยช้างที่ใช้ เรียกว่า “ช้างศึก” โดยมากจะนิยมเลือกใช้ช้างพลายที่กำลังตกมัน ดุร้าย ก่อนออกทำสงครามจะกรอกเหล้าเพื่อให้ช้างเมา เกิดความฮึกเหิมเต็มที่ โดยจะแต่งช้างให้พร้อมในการรบ เช่น ใส่เกราะที่งวงหรืองาเพื่อรื้อทำลายค่ายคูของฝ่ายตรงข้าม เรียกว่า “ช้างกระทืบโรง” หรือล่ามโซ่หรือหนามแหลมที่เท้าทั้งสี่ ใช้ผ้าสีแดงผืนใหญ่ปิดตาช้างให้เห็นแต่เฉพาะด้านหน้าเพื่อไม่ให้ช้างตกใจและเสียสมาธิ เรียกว่า “ผ้าหน้าราหู”
ตำแหน่งของผู้ที่นั่งบนหลังช้างจะมีด้วยกัน 3 คน คือ ตำแหน่งบนคอช้าง จะเป็นผู้ทำการต่อสู้ โดยอาวุธที่ใช้สู้ส่วนมากจะเป็นง้าว ตำแหน่งกลางช้าง จะเป็นตำแหน่งที่จะให้สัญญาณและส่งอาวุธที่อยู่บนสับคับให้แก่คอช้าง โดยอาวุธได้แก่ ง้าว, หอก, โตมร, หอกซัด และเครื่องป้องกันต่าง ๆ เช่น โล่ เป็นต้น และตำแหน่งควาญช้างซึ่งจะเป็นผู้บังคับช้างจะนั่งอยู่หลังสุด และหากเป็นช้างทรงของพระมหากษัตริย์ จะมีทหารฝีมือดี 4 คนประจำตำแหน่งเท้าช้างทั้ง 4 ข้างด้วย เรียกว่า “จาตุรงคบาท” ซึ่งไม่ว่าช้างทรงจะไปทางไหน จาตุรงคบาทต้องตามไปคุ้มกันด้วย หากตามไม่ทันจะมีโทษถึงชีวิต
โดยมากแล้ว ผลแพ้ – ชนะของการทำยุทธหัตถีจะขึ้นอยู่กับขนาดของช้าง ช้างที่ตัวใหญ่กว่าจะสามารถข่มขวัญช้างที่ตัวเล็กกว่า เมื่อช้างที่ตัวเล็กกว่าหนีหรือหันท้ายให้ หรือช้างตัวใดที่สามารถงัดช้างอีกตัวให้ลอยขึ้นได้ จะเปิดจุดอ่อนให้โจมตีได้ตรง ๆ การฟันด้วยของ้าวเพียงครั้งเดียวก็อาจทำให้ถึงชีวิตได้ โดยร่างอาจขาดหรือเกือบขาดเป็นสองท่อนได้ เรียกว่า “ขาดสะพายแล่ง”
ช้างที่จะถูกจัดให้เป็นช้างศึกนั้น ต้องเป็นช้างพลาย (ช้างเพศผู้) มีลักษณะตรงตามตำราคชลักษณ์ คือ รูปร่างใหญ่โตกำยำ หัวกะโหลกหนาและใหญ่ แก้มเต็มสมบูรณ์ หน้าเชิดหลังต่ำ งายาวใหญ่มีความโค้งและแหลมคมได้ที่ โดยที่ช้างเชือกที่ฝึกซ้อมมาเป็นอย่างดีและสามารถสู้เอาชนะช้างเชือกอื่นได้ จะถูกเรียกว่า “ช้างชนะงา”
การกระทำยุทธหัตถีในประวัติศาสตร์ไทยที่เลืองลือ ปรากฏทั้งหมด 5 ครั้ง คือ
ครั้งที่ 1. พ่อขุนรามคำแหงชนช้างกับขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด
เกิดในยุคสุโขทัย รัชสมัยของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ครั้งนั้น พระองค์ได้ยกทัพไปรบกับกองทัพของขุนสามชน ที่ชายแดนสุโขทัยทางด้านเหนือ และได้ชนช้างกัน ช้างทรงของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์เสียทีล่าถอย ถูกฝ่ายตรงข้ามรุกไล่ ทว่าขุนรามคำแหง ซึ่งยามนั้นยังเป็นเพียงเจ้าชายได้นำช้างทรงของพระองค์เข้าช่วยพระราชบิดาและกระทำยุทธหัตถีกับขุนสามชนจนได้ชัยชนะทำให้ขุนสามชนแตกพ่ายไป
ครั้งที่ 2. ศึกสายเลือด เจ้าอ้ายพระยา และเจ้ายี่พระยา
ในสมัยอยุธยาตอนต้น หลังสมเด็จพระนครินทราธิราชสวรรคต เจ้าอ้ายพระยา และเจ้ายี่พระยา พระโอรสองค์ใหญ่และองค์รองของสมเด็จพระนครินทร์ ได้ยกทัพมาจากเมืองแพรกศรีราชาและเมืองสุพรรณบุรีเพื่อหมายชิงสิทธิ์ในการครองราชย์กรุงศรีอยุธยา ทัพของเจ้าชายสองพี่น้อง พบกันที่เชิงสะพานถ่านในกรุงศรีอยุธยา ทั้งสองพระองค์ได้เข้ากระทำยุทธหัตถีกันจนสุดท้าย ต่างถูกอีกฝ่ายใช้พระแสงของ้าวฟันจนสิ้นพระชนม์ทั้งคู่ ทำให้เจ้าสามพระยา ซึ่งเป็นโอรสองค์ที่สาม ได้ขึ้นครองราชสมบัติ
ครั้งที่ 3. พระอินทราชา ปะทะ เจ้าหลวงหมื่นด้งนครและสามขุนทัพเชียงใหม่ พ.ศ. 2006
ในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ อยุธยาทำสงครามใหญ่กับเชียงใหม่ ครั้งนั้น ทัพเชียงใหม่ยกมาตีเมืองพิษณุโลก พระอินทราชาวัยสิบห้าชันษา โอรสองค์รองของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้ยกทัพหน้าไปต้านศึก และเข้าปะทะกับทัพใหญ่ของฝ่ายเชียงใหม่ ทั้งสองรบกันในยามกลางคืน ในเวลานั้นเอง พระอินทราชาได้ถูกเจ้าหลวงหมื่นด้ง พระปิตุลาของพญาติโลกราช พระเจ้าเชียงใหม่ กับแม่ทัพเชียงใหม่อีกสามคนไสช้างเข้ารุมรบ ระหว่างเข้ายุทธหัตถีแบบสี่ต่อหนึ่งกันนั้นเอง พระอินทราชาต้องปืนของทหารเชียงใหม่เข้าที่พระพักตร์จนต้องล่าทัพกลับเข้าเมือง
ครั้งที่ 4.พระสุริโยทัยชนช้างกับพระเจ้าแปร พ.ศ. 2091
ในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ครั้งนั้นพระเจ้าหงสาวดีตะเบงชะเวตี้ได้ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้เสด็จนำทัพไปหยั่งเชิงศึกที่ทุ่งมะขามหย่อง และได้ปะทะกับทัพหน้าของฝ่ายหงสาวดีที่นำโดยพระเจ้าแปร ช้างทรงของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสียทีถูกช้างทรงพระเจ้าแปรรุกไล่ ยามนั้น พระสุริโยทัย พระมเหสีของพระมหาจักรพรรดิ ที่ตามมาด้วย ได้นำช้างของพระนางเข้าขวางช้างพระเจ้าแปรและกระทำยุทธหัตถีกัน พระนางพลาดท่าถูกพระเจ้าแปรสังหาร สิ้นพระชนม์ในกลางศึก
ครั้งที่ 5 พระนเรศวรกับพระมหาอุปราชา พ.ศ. 2135
พงศาวดารฉบับขุนหลวงหาวัด บรรยายว่า
“ส่วนพระนเรศวรกับพระมหาอุปราชาก็เข้าชนช้างชิงชัย แล้วสู้รับฟันแทงกันด้วยพระแสงของ้าวตามกระบวนเพลงขอ ก็รำรอรับกัน ประจันสู้กันไปตามเพลง ส่วนช้างพระนเรศวรนั้นเล็ก ก็ถอยพลางทางสู้ชน ครั้นถอยไปอุปราชา จึงฟันพระนเรศวรด้วยพระแสงของ้าว พระนเรศวรจึงหลบ ก็ถูกพระมาลาบี้ไปประมาณได้สี่นิ้ว ครั้งช้างพระนเรศร์ถอยไปจึงได้ที ประจันหนึ่งเรียกว่าหนองขายันและพุทรากระแทก ก็ยังมีที่ที่อันนั้นจนทุกวันนี้ ช้างพระนเรศวรนั้นยันต้นพุทรานั้นเข้าได้แล้ว จึงชนกระแทกขึ้นไป ก็ค้ำคาง ช้างพระมหาอุปราชาเข้า ฝ่ายช้างอุปราชาเบือนหน้าไป พระนเรศวรได้ทีก็ฟันด้วยพระแสงของ้าว ชื่อเจ้าพระยาแสนพลพ่าย ก็ถูกอุปราชา พระเศียรก็ขาดออกไปกับที่บนคอช้าง”
ที่มา: Wikipedia, Komkid