กระเล็น กระถิก กระจ้อน กระแต

กระเล็น กระถิก กระจ้อน กระแต

กระเล็น

กระเล็น หรือ กระถิก หรือ กระถึก (Asiatic striped squirrel, Striped squirrel) เป็นสกุลหนึ่งของสัตว์ฟันแทะ จำพวกกระรอก ใช้ชื่อสกุลว่า Tamiops

กระเล็น จัดว่าเป็นกระรอกขนาดเล็กที่สุดที่พบได้ในประเทศไทย ขนาดโดยเฉลี่ยรวมความยาวทั้งลำตัว, หัว และหางแล้วประมาณ 20 เซนติเมตร มีลักษณะเด่น คือ ลำตัวสีน้ำตาล มีลายสีขาวดำพาดขนานตามยาวของลำตัวเห็นเด่นชัด ตั้งแต่จมูกถึงโคนหาง คล้ายกับลายของชิพมังค์ ซึ่งเป็นกระรอกขนาดเล็กเช่นกัน แต่พบในทวีปอเมริกาเหนือ ส่วนหางของกระเล็นจะไม่เป็นพวงฟูเหมือนกระรอกทั่วไป ตัวเมียมีเต้านมทั้งหมด 6 เต้า

กระเล็น หากินในเวลากลางวัน หากินบนต้นไม้สูง ๆ เป็นหลัก กินอาหารได้หลากหลายเหมือนกระรอกทั่วไป พบกระจายพันธุ์ในภูมิภาคเอเชียใต้, ตอนใต้ของจีน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบทั้งหมด 4 ชนิด ในประเทศไทยพบได้ 2 ชนิด พบได้ทั่วไปทั้งในป่าทึบหรือในชุมชนเมือง โดยที่ไม่จัดว่าเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองหรือสัตว์ป่าสงวนแต่ประการใด

กระจ้อน

กระจ้อน หรือ กระรอกดินข้างลาย (Indochinese ground squirrel, Berdmore’s ground squirrel; ชื่อวิทยาศาสตร์: Menetes berdmorei) จัดอยู่ในไฟลัมสัตว์มีแกนสันหลัง ชั้นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อันดับสัตว์ฟันแทะ เป็นกระรอกขนาดเล็กชนิดหนึ่ง พบเห็นได้ทั่วไปในทุกภาคของประเทศไทย และทุกสภาพภูมิประเทศ แม้แต่ในสวนใจกลางเมือง ไม่ชอบอยู่อาศัยในป่าดิบทึบ ชอบหากินอยู่ตามพื้นดิน มีลำตัวสีน้ำตาลมีแถบสีดำสลับสีอ่อนอยู่ด้านข้างลำตัว จัดเป็นกระรอกดินชนิดหนึ่ง

เป็นสิ่งมีชีวิตเพียงชนิดเดียวที่อยู่ในสกุล Menetes พบได้ทั่วไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความยาวเต็มที่รวมหาง ประมาณ 15-20 เซนติเมตร นิยมเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง

กระแต

กระแต (Treeshrew, Banxring, อันดับ: Scandentia) เป็นอันดับของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กอันดับหนึ่ง ใช้ชื่ออันดับว่า Scandentia

กระแต มีลักษณะโดยรวมคล้ายกับกระรอก ซึ่งเป็นสัตว์ที่อยู่ในอันดับสัตว์ฟันแทะ รวมทั้งมีพฤติกรรมความเป็นอยู่ที่คล้ายกัน หากแต่กระแตมีปากยื่นยาวกว่ากระรอก มีฟันเล็กหลายซี่ ไม่ได้เป็นฟันแทะ แบ่งออกเป็นฟันตัด 4 ซี่ ที่ขากรรไกรบน และ 6 ซี่ที่ขากรรไกรล่าง จึงไม่สามารถที่จะกัดแทะผลไม้หรือไม้เปลือกแข็งอย่างกระรอกได้ และมีนิ้วที่ขาคู่หน้า 5 นิ้ว ที่เจริญและใช้ในการหยิบจับได้ดี เหมือนเช่นสัตว์ในอันดับไพรเมต หรืออันดับวานร กระแตมีขนปกลุมลำตัวสีเขียวหรือสีน้ำตาลเหมือนกระรอก มีหางยาวประมาณ 12-19เซนติเมตร

กระแต นั้นหากินทั้งบนพื้นดิน โคนต้นไม้ และบนต้นไม้ กินได้ทั้งพืช และสัตว์เล็ก ๆ อย่าง แมลง หรือหนอน เป็นอาหาร โดยมากจะหากินในเวลากลางคืน และอาศัยอยู่ตามลำพังเพียงตัวเดียว แต่บางครั้งก็พบอยู่ด้วยกัน 2-3 ตัว เป็นฝูงเล็ก ๆ ออกลูกครั้งละ 2-3 ตัว โดยที่ก็ตกเป็นอาหารของสัตว์กินเนื้อขนาดใหญ่กว่า เช่น ชะมด หรืออีเห็น, แมวป่า หรือนกล่าเหยื่อ อย่าง เหยี่ยว หรืออินทรี ด้วย

กระแต กระจายพันธุ์อยู่ทั่วไปในป่าทวีปเอเชียแถบเอเชียใต้และเอเชียอาคเนย์ มีทั้งหมด 19 ชนิด 5 สกุล แบ่งออกได้เป็น 2 วงศ์ พบในประเทศไทย 5 ชนิด คือ กระแตเหนือ, กระแตใต้ หรือกระแตธรรมดา, กระแตเล็ก, กระแตหางขนนก และกระแตหางหนู

เดิม กระแตเคยถูกจัดรวมอยู่อันดับเดียวกับอันดับสัตว์กินแมลง เช่น หนูผี แต่ปัจจุบันได้ถูกแบ่งออกเป็นอันดับต่างหาก และกระแตถูกสันนิษฐานว่ามีบรรพบุรุษร่วมกันกับอันดับไพรเมตด้วย ด้วยมีนิ้วที่เท้าหน้าคล้ายคลึงกัน โดยวิวัฒนาการแยกออกจากกันในยุคอีโอซีนตอนกลาง

ที่มา: Wikipedia

Leave a Reply