กบฏเจ้าฟ้าเหม็น
ตัดหวายอย่าไว้หน่อ ฆ่าพ่ออย่าไว้ลูก
“กบฏเจ้าฟ้าเหม็น” เป็นคดีกบฏชิงราชบังลังก์คดีสำคัญในยุคเริ่มต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แต่มีการศึกษาค้นคว้าเบื้องลึกเบื้องหลังคดีนี้ไว้น้อยมาก ไม่ต่างจากชื่อ “เจ้าฟ้าเหม็น” บุคคลสำคัญในระดับองค์รัชทายาทของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็กลายเป็นเจ้านอกพงศาวดารที่แทบไม่มีใครรู้จัก แม้ว่าวังท่าพระของพระองค์ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากรเดี๋ยวนี้ จะห่างพระบรมมหาราชวังแค่ข้ามถนน ก็ไม่ทำให้ชื่อ “เจ้าฟ้าเหม็น” เป็นที่รู้จักขึ้นมาแต่อย่างใด
เจ้าฟ้าเหม็น หรือ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิต เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าตากสินมหาราช พระมารดาคือสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงฉิมใหญ่ พระราชธิดาองค์ใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ เท่ากับว่าทรงเป็น หลานตา องค์โตของรัชกาลที่ 1 ประสูติในสมัยกรุงธนบุรี ในวันศุกร์ ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 10 จุลศักราช 1141 ตรงกับวันที่ 17 กันยายน 2322 เจ้าฟ้าเหม็นทรงเป็นกำพร้าพระมารดามาตั้งแต่ประสูติได้เพียง 12 วัน ต่อมาอีกเพียง 3 ปี ก็เกิดเหตุกับพระราชบิดา สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงถูก เจ้าคุณตา สำเร็จโทษพร้อมกับพระญาติอีกหลายพระองค์จนเกือบสิ้นวงศ์ เจ้าฟ้าเหม็นทรงพ้นชะตากรรมนี้มาได้ก็เพราะทรงเป็นหลานของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ครั้นเมื่อทรงเจริญพระชันษาขึ้น จึงโปรดพระราชทานวังถนนหน้าพระลาน ด้านตะวันตก ติดกับท่าช้างวังหลวง คือ วังท่าพระ หรือ มหาวิทยาศิลปากรในปัจจุบัน
เจ้าฟ้าเหม็นทรงเป็นหลานที่ใกล้ชิดกับรัชกาลที่ 1 พอสมควร เช่น คราวชะลอพระศรีศากยมุนี มาจากสุโขทัย เจ้าฟ้าเหม็นได้โดยเสด็จเคียงข้างรัชกาลที่ 1 ด้วยขณะนั้นทรงประชวรอยู่ แต่ก็เสด็จออกในกระบวนแห่ชักพระพุทธรูปจากประตูท่าช้างมายังวัดสุทัศน์ รัชกาลที่ 1 ทรงเซและก้าวพลาด เจ้าฟ้าเหม็นทรงรับพระองค์ไว้ได้ ถึงอย่างนั้น เจ้าฟ้าเหม็นซึ่งดำรงพระอิสริยยศเป็น กรมขุนกษัตรานุชิต ก็ไม่ได้มีหน้าที่ทางราชการใดๆ กล่าวกันว่า รัชกาลที่ 1 ทรงดำริไม่ให้เจ้าฟ้าเหม็นเกี่ยวข้องกับงานราชการใด เพื่อเลี่ยงเหตุที่จะทำให้ได้รับโทษทัณฑ์ เพราะมีผู้ไม่พอพระราชหฤทัยที่ไม่ทรงประหารเจ้าฟ้าเหม็นที่เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าตากสินหลายคน ทั้งนี้ ไม่แน่ชัดว่าด้วยการใด รัชกาลที่ 1 ทรงเคยตรัสว่า ทรงรักษาราชบัลลังค์นี้ไว้ให้เจ้าฟ้าเหม็น ในความจริง แม้ว่าจะทรงเป็นหลานองค์โปรดของรัชกาลที่ 1 แต่ด้วยพระบารมีหรืออำนาจราชศักดิ์นั้น คงเปรียบไม่ได้กับกรมหลวงอิศรสุนทร พระราชโอรสองค์โตในรัชกาลที่ 1 ซึ่งทรงเป็นทั้งวังหน้า และโดยเสด็จในราชการสงครามอยู่หลายครั้ง และสิ่งที่เป็นชนักติดหลังที่ไม่มีทางลบได้คือทรงเป็น ลูกเจ้าตาก กล่าวกันว่า เมื่อใกล้สิ้นรัชกาล เจ้าฟ้าเหม็นทรงทวงราชบัลลังค์คืน
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ เสด็จสวรรคตได้เพียง 3 วัน ก็เกิดคดีเจ้าฟ้าเหม็นเป็นกบฏ เหตุเกิดจากมีบัตรสนเท่ห์ ที่อีกาตัวหนึ่งคาบมาและทิ้งลงที่หน้าพระที่นั่ง กล่าวโทษพระองค์คบคิดกับขุนนางจำนวนหนึ่งคิดแย่งชิงราชบัลลังก์ มีการนำความกราบบังคมทูลในทันที และทรงมีพระดำริให้ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เป็นผู้ชำระความ รุ่งขึ้นจึงโปรดให้จับกุมเจ้าฟ้าเหม็นมาสอบสวนทันที นอกจากนี้ ยังมีรัชทายาทในพระเจ้าตากสินถูกกล่าวโทษในคดีนี้อีก 2 พระองค์ คือ เจ้าจอมมารดาสำลี พระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เดิมมีพระนามว่าพระองค์เจ้าหญิงสำลีวรรณ เป็นเจ้าจอมในกรมหลวงเสนานุรักษ์ ซึ่งต่อมาก็คือวังหน้าในรัชกาลที่ 2 เหตุการณ์ในขณะเกิดเหตุนั้น หลวงพิสูจน์พาณิชยลักษณ์ (ม.ล.เพิ่มยศ อิศรเสนา) ได้นิพนธ์ไว้ว่า
” ในวันจันทร์ วันเดียวกันนั้น เจ้าจอมมารดาสำลีตัดผมใหม่ พระองค์ชายพงศ์อิศเรศร์ ชันษา ๙ ปี พระองค์หญิงนฤมล ชันษา ๖ ปี สามคนแม่ลูกนั่งเล่นกันอยู่ที่พระตำหนักในพระนิเวศนเดิม (ราชนาวิกสภา) สมเด็จฯ กรมหลวงเสนานุรักษ์เสด็จกลับจากพระบรมมหาราชวัง รับสั่งถามเจ้าจอมมารดาสำลีว่า กรมขุนกษัตรานุชิตเป็นขบถ เขาว่าเจ้ารู้เห็นเป็นใจด้วยจริงหรือ คุณสำลีตอบเป็นทำนองว่า จะหาว่าเป็นขบถก็ตามใจ พ่อเขาก็ฆ่า พี่น้องเขาจะเอาไปฆ่า ตัวเองจะอยู่ไปทำไม รับสั่งให้เรียกตำรวจเข้ามาคุมตัวไป คุณสำลีก็ผลักหลังลูกสองคนว่า นี่ลูกเสือลูกจระเข้ แล้วก็ลุกขึ้นตามตำรวจออกไป”
ส่วนอีกพระองค์คือ พระองค์เจ้าชายอรนิภา หรือนายหนูดำ
ในเวลา 4 วัน คดีถูกตัดสินให้ประหารชีวิตทุกคนที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ โดยมีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่รวมอยู่ด้วย คือ
เจ้าพระยาพลเทพ (บุนนาค บ้านแม่ลา)
พระยาเพ็ชรปาณี (กล่อม)
พระยาราม (ทอง)
พระอินทรเดช (กระต่าย)
นอกนั้นเป็นชั้นผู้น้อย รวมผู้ต้องหาในคดีนี้ 40 คน กับพระราชวงศ์อีก 3 พระองค์ และพระโอรสทั้งหมดในเจ้าฟ้าเหม็นก็ถูกประหารทั้งหมดเช่นกัน
ที่มา: http://www.oknation.net/blog/bongbongstory/2009/09/10/entry-1