คุกจำลอง Stanford ตอนที่ 1
The Stanford Prison Experiment หรือ SPE สามารถสรุปได้ง่ายๆว่าเป็นการทดลองเพื่อศึกษาผลกระทบทางจิตวิทยาที่มีผลต่อความประพฤติและการตอบสนองในการเป็นนักโทษและผู้คุม การทดลองนี้ได้ถูกจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัย Stanford ในระหว่างวันที่ 14 – 20 สิงหาคม ปี 1971 (แทบจะเป็นช่วงที่เหตุการณ์ที่หมีลายกำลังเป็นที่รู้จักในสหรัฐอเมริกานั่นเอง) ผู้นำการทดลองคืออาจารย์ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาชื่อ Philip Zimbardo เงินสนับสนุนในโครงการนี้มาจาก the US Office of Naval Research เพื่อประโยชน์ของ the US Navy กับ Marine Corps ในการสืบสวนความเป็นไปได้ของสาเหตุที่ทำให้เกิดความรุนแรงระหว่างทหารผู้คุมและนักโทษในอดีต
ในเบื้องต้นนั้น การทดลองนี้มีแผนว่าจะทำกันประมาณ 2 อาทิตย์ ทว่าด้วยเหตุการณ์และพฤติกรรมอันน่าตกใจหลายๆอย่างทำให้การทดลองต้องสิ้นสุดลงในเวลาเพียงแค่ 6 วันเท่านั้น
เป้าหมายและวิธีการ
ทีมของ Zimbardo จัดทำการทดลองนี้ขึ้นมาเพื่อทดสอบข้อสันนิษฐานที่ว่า อันที่จริงแล้วอุปนิสัยที่มีอยู่แล้วลึกๆในตัวของแต่ละคน (หรือพูดง่ายๆคือ สันดาน) คือปัจจัยหลักของพฤติกรรมความรุนแรงในเรือนจำ ผู้เข้าร่วมการทดลองเป็นนักศึกษาชาวสหรัฐฯและแคนาดาที่อยู่ใกล้ๆมหาวิทยาลัย Stanford 24 คนซึ่งทางทีมได้คัดสรรมาเป็นอย่างดี ส่วนใหญ่เป็นคนขาวและมีฐานะปานกลาง และผู้เข้าร่วมทุกคนจะต้องไม่เคยมีประวัติอาชญากรรม ความบกพร่องทางจิตวิทยา หรือเคยได้รับการรักษาอาการทางจิต ซึ่งหลังการทดลองนี้ พวกเขาจะได้รับค่าตอบแทนเล็กๆน้อยๆด้วย
การทดลองนั้นดำเนินการในชั้นใต้ดินของตึก Jordan Hall (ตึกจิตวิทยาของมหาวิทยาลัย) 12 จาก 24 คนถูกเลือกให้เป็นผู้คุมนักโทษ ที่เหลือเป็นนักโทษ โดยที่ Zimbardo จะทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการของคุกจำลอง ส่วนผู้ช่วยคนอื่นจะรับหน้าที่เป็นพัศดี ทั้งนี้ทางทดลองได้ถูกออกแบบให้เสมือนจริงที่สุด เพื่อให้ผู้ร่วมการทดลองไม่สามารถรับรู้และตัดสินใจได้อย่างที่ทำในภาวะปรกติ ชักจูงให้เกิดการสร้างบุคลิกใหม่สำหรับสภาพแวดล้อมนั้นๆ และภาวะอุปทานหมู่ที่ทำให้การรับรู้ผิดชอบชั่วดีผิดพลาดในกลุ่มที่ตนอยู่
วันก่อนการเริ่มการทดลอง นักวิจัยได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับตัวการทดลองและอธิบายขอบเขตหน้าที่ของผู้คุมในคุกจำลองนี้ ซึ่งหนึ่งในเงื่อนไขคือ ห้ามทำการอะไรที่เป็นอันตรายต่อตัวนักโทษ “ทางร่างกาย” โดยเด็ดขาด และในวีดีโอที่ถ่ายทำเพื่อการศึกษาในครั้งนั้น เราจะเห็น Zimbardo ได้พูดอธิบายถึงสิ่งที่ผู้คุมสามารถทำได้ดังต่อไปนี้
“พวกคุณสามารถทำอะไรก็ได้นอกเหนือจากการทำร้ายร่างกาย เช่น พวกคุณจะทำให้พวกนักโทษเบื่อหน่ายแทบตายหรือรู้สึกหวาดกลัวบ้างก็ทำได้ พวกเขาควรรู้สึกว่าชีวิตของพวกนั้นถูกควบคุมโดยพวกเรา โดยระบบคุกนี้ โดยผมและคุณ ทั้งหมดเลย พวกเขาจะไม่มีความเป็นส่วนตัวใดๆทั้งสิ้น พวกเราจะทำลายความเป็นตัวของตัวเองของพวกเขาในหลายๆด้าน สิ่งที่พวกเราจะทำทั้งหมดนี้คือการทำให้พวกเขารู้สึกว่า พวกเขาไม่มีสิทธิ์หรืออำนาจใดๆในตัวเองเลย… ในคุกจำลองแห่งนี้ เราคือผู้กุมอำนาจและมีสิทธิ์ในทุกสิ่งอย่าง ส่วนพวกเขาไม่มีเลยแม้แต่นิดเดียว”
ผู้คุมขังทุกคนจะได้รับกระบองไม้ เพื่อบ่งบอกถึงสถานะของเขาในคุกจำลอง รวมถึงยูนิฟอร์มที่เหมือนกับผู้คุมจริงๆ และแว่นดำเพื่อป้องกันการสร้างปฎิสัมพันธ์กันทางสายตา ส่วนนักโทษนั้นจะถูกจับให้ใส่ชุดนักโทษและโซ่ล่าม ผู้คุมถูกสั่งให้เรียกนักโทษแต่ละคนตามรหัสเลขที่ติดอยู่บนตัวของพวกเขา ห้ามมีการใช้ชื่อเรียกโดยเด็ดขาด ข้อปฎิบัติเรื่องการเรียกชื่อนี้ก็ถูกบังคับในหมู่นักโทษเช่นกัน
อ่านมาจนถึงจุดนี้กัน อย่าได้ลืมกันนะว่าทั้งนักโทษและผู้คุมนั้นต่างเป็นอาสาสมัครนักศึกษาทั้งหมด ส่วนคุกจำลองนี้จะไม่เหมือนกับเรือนจำของแท้ซะทีเดียว เพราะเขาต้องการที่จะสร้างบรรยากาศที่เข้มข้นและก่อให้เกิดการกระตุ้นพฤติกรรมต่างๆของอาสาสมัครแต่ละคนในแต่ละบทบาทนั่นเอง
(มีต่อ…)
ที่มา: https://www.facebook.com/madworldTH/posts/665485256829275:0