ศกุนตลา

ศกุนตลา

ศกุนตลา” …เป็นเรื่องแทรกอยู่ในมหากาพย์มหาภารตะ กล่าวถึงเรื่องราวความรักระหว่างศกุนตลาธิดาเลี้ยงของฤษีกัณวะ เป็นผู้มีความงามบริสุทธิ์ผุดผ่อง กับท้าวทุษยันต์กษัตริย์ผู้มีคุณธรรม แต่ความรักของคนทั้งสองต้องพบอุปสรรค เนื่องมาจากผลคำสาปของฤษีทุรวาส

 

บทละครศกุนตลาแต่งขึ้นโดยกวีชาวอินเดีย นาม กาลิทาส ในระหว่าง 1 ปีก่อนคริสตกาลถึงศตวรรษที่ 4 ด้วยภาษาสันสกฤต  มีเนื้อเรื่องที่กินใจและคำสอนที่น่าจดจำในการดำรงชีวิต   ละครเรื่องนี้จึงเป็นที่นิยม ชื่นชอบและถูกนำมาแสดงบ่อยครั้ง  หลังจากนั้นอีกหนึ่งพันเจ็ดร้อยปี  บทละครเรื่องนี้จึงถูกแปลมาเป็นภาษาอังกฤษ  และบทละครศกุนตลาในรูปแบบภาษาอังกฤษก็ได้แพร่กระจายไปทั่วโลก ในประเทศเยอรมนี  กวีเอก เกอเธ่ (Goethe) นำมาดัดแปลงและแปลเป็นภาษาเยอรมัน และนักประพันธ์ ฟรานซ์ ชูเบิร์ต เป็นผู้แต่งดนตรีประกอบการเล่าเรื่องในปี 1820  ส่วนในประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงแปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษและดัดแปลงเป็นบทละครร้องภาษาไทยในช่วงปีพ.ศ. 2453 (1910)

เรื่องของศกุนตลานั้น มีจุดเริ่มต้นจาก “ฤาษีวิศวามิตร” ซึ่งเป็นอดีตกษัตริย์ที่สละราชบัลลังก์เพื่อแสวงหาหนทางที่สูงกว่านั้น เขาได้บำเพ็ญตบะจนมีฤทธิ์แกร่งกล้า จนพระอินทร์รู้สึกไม่สบายใจด้วยเกรงว่าจะมีฤทธิ์เหนือกว่าตน จึงวางแผนทำลายตบะของวิศวามิตรเสียโดยส่งนางอัปสรนามว่า “เมนกา” ลงไปใช้มารยาหญิงยั่วยวนให้ตบะแตกให้ได้ ตอนแรกวิศวามิตรก็ไม่ได้สนใจอะไร แต่เวลาผ่านไปก็เริ่มหลงเสน่ห์ไปทีละน้อยๆ สุดท้ายวิศวามิตรก็ตบะแตกและได้เมนกาเป็นภรรยาในที่สุด

เวลาผ่านไป เมนกาก็ตั้งครรภ์และได้ให้กำเนิดเด็กหญิงตัวน้อยๆ ทว่า วิศวามิตรซึ่งหมดช่วงข้าวใหม่ปลามันบวกกับสำนึกว่าตนผิดพลาดครั้งใหญ่ ได้ขอแยกทางกับเมนกาและออกไปบำเพ็ญเพียรยังที่ๆห่างไกล ด้านเมนกานั้นก็ไม่สามารถนำลูกสาวของตัวเองกลับสวรรค์ได้ จึงต้องตัดใจทิ้งลูกของตัวเองไว้กลางป่า ในช่วงแรกได้มีนกคอยดูแลป้องกันอันตรายต่างๆให้ จนวันหนึ่ง “ฤาษีกัณวะ” เดินทางผ่านมา แล้วได้ยินเสียงเด็กน้อยร้องไห้ จึงเดินตามเสียงและได้พบกับเด็กหญิงตัวน้อย ด้วยความสงสารจึงตั้งใจจะเลี้ยงเด็กคนนี้ ซึ่งฤาษีกัณวะได้ตั้งชื่อว่า “ศกุนตลา” แปลว่า “นางนก” เวลาผ่านไป ศกุนตลาก็เติบโตเป็นสาวแรกรุ่นที่มีความงดงามเป็นอย่างมาก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพรรณนาความงามของศกุนตลาได้อย่างงดงามและประณีตยิ่ง โดยทรงบรรยายไว้ว่า..

“ดูผิวสินวลละอออ่อน
มะลิซ้อนดูดำไปหมดสิ้น
สองเนตรงามกว่ามฤคิน
นางนี้เป็นปิ่นโลกา
งามโอษฐ์ดังใบไม้อ่อน
งามกรดังลายเลขา
งามรูปเลอสรรขวัญฟ้า
งามยิ่งบุปผาเบ่งบาน…”

ซึ่งศกุนตลาก็ได้อยู่รับใช้ฤาษีกัณวะผู้เป็นบิดาบุญธรรมเป็นอย่างดีเสมอกัน

จนกระทั่งวันหนึ่ง “ท้าวทุษยันต์” กษัตริย์แห่งหัสตินาปุระได้มาเที่ยวล่าสัตว์ในป่าใหญ่ เมื่อมาถึงบริเวณของอาศรมฤาษีกัณวะก็ตั้งใจว่าจะแวะนมัสการ แต่เผอิญว่าฤาษีกัณวะไม่อยู่ในอาศรมในช่วงนั้น เนื่องจากได้เดินทางไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เมืองอื่นพอดี ทุษยันต์ก็ได้พบกับศกุนตลา ดั่งกามเทพได้แผลงศรรักปักเข้ากลางใจของทั้งคู่ในวินาทีแรกที่สบตากัน ทั้งสองต่างตกหลุมรักซึ่งกันและกันทันที ประกอบกับเหล่าพราหมณ์และฤาษีทั้งหลายเมื่อทราบข่าวว่าทุษยันต์อยู่ที่อาศรมฤาษีกัณวะจึงไปหาทุษยันต์เพื่อความช่วยเหลือเนื่องจากมีเหล่าอสูรคอยมาปั่นป่วนจนไม่เป็นอันบำเพ็ญสมณกิจ จึงจะขอแรงให้ช่วยจัดการเหล่าอสูรเหล่านี้ ซึ่งทุษยันต์ก็ตอบรับคำของฤาษี โดยในช่วงที่ว่างจากการปราบอสูรทุษยันต์ก็พยายามจีบศกุนตลาตลอดเวลาด้วย

จนเมื่อทั้งสองหนุ่มสาวได้อยู่ตามลำพังในป่าใหญ่ ด้วยแรงปรารถนาจากความรักอันสุดจะหักห้ามใจได้ ในที่สุดทั้งคู่ก็ตกลงปลงใจเป็นสามีภรรยากัน (ในธรรมเนียมอินเดียโบราณจะเรียกว่า “คนธรรพวิวาห์”) และได้เสพสมรสรักอันแสนหอมหวานและสุขสมในร่มไม้ภายใต้แสงจันทร์ ทว่า เวลาแห่งความสุขนั้นแสนสั้นนัก เมื่อทุษยันต์เสร็จสิ้นภารกิจปราบอสูรแล้ว ด้วยหน้าที่ของกษัตริย์จึงจำต้องกลับไปบำบัดทุกข์บำรุงสุขของราษฎร แต่ก่อนที่ทั้งคู่จะจากกัน ทุษยันต์ก็ได้มอบแหวนวงหนึ่งแทนใจ พร้อมกับให้คำมั่นแด่หญิงผู้เป็นที่รักว่า “โปรดจงรอคอยพี่หน่อยเถิดยอดรัก เมื่อกลับไปยังหัสตินาปุระ พี่จะกลับมารับน้องให้ถูกต้องตามธรรมเนียม จงรักษาตัวให้จงดี แล้วพี่จะรีบกลับมา…” เมื่อทุษยันต์จากไป ศกุนตลาก็ได้แต่คิดถึงทุษยันต์และรอวันเวลาที่คนรักของเธอจะกลับมารับตัวเธอไปตามคำสัญญา

แต่แล้วลางร้ายก็ได้มาถึง เมื่อฤาษีทุรวาส ฤาษีจอมหัวร้อนได้เดินทางมาในบริเวณอาศรมฤาษีกัณวะเพื่อรับบริจาคทาน ทว่า ทุรวาสเรียกเท่าใดก็ไม่มีเสียงตอบกลับจากภายในอาศรม เพราะศกุนตลานั้นป่วยเป็นไข้ใจเฝ้าแต่คิดถึงคนรักของตนจนไม่เป็นอันทำอะไร และไม่ได้ต้อนรับแขกผู้มาเยือน ทำให้ทุรวาสเกิดหัวร้อนขึ้นมาทันที พร้อมกับสาปศกุนตลาว่า…
“ในเมื่อเจ้าเอาแต่คิดถึงคนรักของเจ้าจนไม่ออกมาต้อนรับข้า ข้าจึงขอสาปให้คนรักของเจ้าจดจำอะไรเกี่ยวกับตัวเจ้าไม่ได้เลย!”
ศกุนตลาตกใจกับคำสาปอย่างมาก จึงได้ออกมาแสดงความเคารพพร้อมกับบอกเหตุผลและกล่าวขออภัยทั้งน้ำตา ด้านทุรวาสซึ่งอารมณ์เย็นลงแล้วและด้วยเห็นใจในความรักของศกุนตลา จึงให้พรเพื่อล้างคำสาปไปว่า… “เมื่อใดที่คนรักของเจ้าเห็นสิ่งที่เขามอบให้กับเจ้า ความทรงจำของเขาจะกลับมาดังเดิม…”

เวลาผ่านไป ศกุนตลาก็ยังรอคอยคนรักอยู่ และตอนนี้นางก็ได้ตั้งครรภ์อ่อนๆแล้วด้วย ฤาษีกัณวะผู้เป็นบิดาซึ่งทราบเรื่องทั้งหมดในภายหลังจึงดำริหากปล่อยไว้เห็นจะเป็นการไม่ดี จึงบอกให้ศกุนตลาเดินทางไปยังหัสตินาปุระเพื่อไปหาทุษยันต์เสีย พร้อมกำชับว่าให้รักษาแหวนของทุษยันต์ให้จงดี ทว่าในระหว่างทาง ศกุนตลาได้พักชำระร่างกายโดยที่ไม่รู้เลยว่าแหวนนั้นตกน้ำและลอยไปตามกระแสน้ำเสียแล้ว เมื่อศกุนตลาไปถึงหัสตินาปุระก็ได้พบกับทุษยันต์ที่ท้องพระโรง ทว่า ท้าวเธอนั้นจำนางไม่ได้เสียแล้ว ศกุนตลาจึงหาแหวนวงนั้นมายืนยัน แต่กลับหายไปแล้ว ทุษยันต์จึงต่อว่าศกุนตลาว่าเป็นหญิงแพศยา เที่ยวโกหกพกลมว่าเป็นเมียของกษัตริย์ทั้งๆที่ตัวเองเป็นพราหมณ์ และสั่งขับไล่ให้ออกไปจากท้องพระโรงเสีย

ด้านศกุนตลาเมื่อได้ยินถ้อยคำที่ทำร้ายจิตใจจากคนรักของนาง ก็ได้แต่ร้องไห้เสียใจและหนีออกมาจากท้องพระโรงด้วยทนถ้อยคำผรุสวาทไม่ไหว เมนกาผู้เป็นมารดาของศกุนตลารู้สึกสงสารที่ลูกสาวของตนต้องเจ็บปวดจากความรัก จึงลงมารับตัวลูกสาวไปส่งทีาอาศรมฤาษีกัณวะและช่วยดูแลลูกสาวของตนเป็นอย่างดี ต่อมาศกุนตลาก็ให้กำเนิดบุตรชาย ฤาษีกัณวะได้ตั้งชื่อให้กับหลานชายของตนว่า “ภรต”

วันหนึ่ง ชาวประมงได้จับปลามาได้ตัวหนึ่ง ขณะที่กำลังชำแหละปลาก็พบแหวนวงหนึ่งอยู่ในท้องปลา เมื่อทราบว่าแหวนวงนี้เป็นของทุษยันต์จึงขอเข้าเฝ้าและถวายแหวนคืนแก่เจ้าของ ทันทีที่ทุษยันต์ได้รับแหวน ความทรงจำเกี่ยวกับศกุนตลาก็กลับมาดังเดิมพร้อมกับภาพที่ตนเองต่อว่าคนที่ตนรักว่าเป็นหญิงแพศยาพร้อมทั้งขับไล่ไปอย่างไม่ไยดี จึงบังเกิดความเสียใจเป็นอย่างมากที่ได้ทำร้ายจิตใจของศกุนตลาไปถึงขนาดนั้น จึงรีบสั่งให้จัดกระบวนใหญ่ไปหาศกุนตลาโดยทันที เมื่อไปถึงอาศรมทุษยันต์ได้กล่าวขอโทษต่อศกุนตลาและขอให้ยกโทษกับความผิดของตน ด้วยความรักที่มีอยู่ศกุนตลาก็ยกโทษให้ และทั้งคู่ก็ได้กลับไปยังหัสตินาปุระและครองรักอย่างมีความสุข

ส่วนเจ้าชายตัวน้อยผู้มีนามว่าม”ภรต” นั้น เมื่อเติบใหญ่เขาได้ครองนครหัสตินาปุระแทนผู้เป็นบิดา และเขาได้รับการยกย่องว่าเป็นจอมจักรพรรดิผู้เกรียงไกรมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์อินเดียโบราณ และนามของเขาได้กลายเป็นคำเรียกขานดินแดนและชาวอินเดียว่า “ภารตะ” นับแต่นั้นเป็นต้นมา…

ที่มา: https://storylog.co/story/590731b8d14d51701b40d4aa

Leave a Reply