มุกตลก หรือ มุขตลก

มุกตลก หรือ มุขตลก

เนื่องจากมีผู้สับสนเรื่องการใช้คำ “มุกตลก” และ “มุขตลก” ว่าที่ถูกต้องควรสะกดด้วย “ก” หรือ “ข” นั้น ราชบัณฑิตยสถานขอชี้แจงถึงเหตุผลที่เก็บคำ “มุกตลก” ที่สะกดด้วย “ก” โดยมีที่มาจากเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการใช้คำว่า “มุก” ดังนี้

– กลอนไดเอรีซึมทราบกับตามเสด็จไทรโยค พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ ซึ่งสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า โปรดให้พิมพ์ประทานช่วยพระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าหญิงผ่อง ในงานทรงบำเพ็ญพระกุศลฉลองพระชันษาครบ ๖๐ ปีบริบูรณ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐ มีความตอนหนึ่งว่า

แถมโลกย ฤๅแถม เปล่าเขาก็ใช้
ลางทีโลกย เปล่าก็ได้ ไม่รู้เรื่อง
ลางทีเหลือแต่ โลโก โอ๊น่าเคือง
อีกอย่างเยื้อง ไปเปนหยอด ก็ยังมี
บางครั้งว่า หยอดตาลงขลุ้กขลุ้ก
จะเล่นกันมุกใดไฉนนี่
หฤๅว่าเราสูบกันชาเปนราคี
ก็ใช่ที่ไม่มีเค้าเราไม่รับ

– ละครชุดเบิกโรง เรื่องรามเกียรติ์ ตอนอภิเษกสมรส พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว องค์การค้าของคุรุสภาจัดพิมพ์ครั้งที่หนึ่ง พ.ศ. ๒๕๐๔ มีความตอนหนึ่งว่า

(ศรทะนง : พระรามและพระลักษมัณแผลงศร มารีจตกจากรถแล้วเซหายเข้าโรงไป สุวาหุตกจากรถ ตายกลางโรง และพวกพลยักษ์ตายโดยมาก เชิด :
สองกษัตริย์เข้าโรง พวกยักษ์ที่รอดตายวิ่งหนี และพวกพราหมณ์ไล่ตามตีด้วยพลอง และขว้างด้วยก้อนหิน เล่นกวนมุกพอสมควรแล้วหายเข้าโรงหมด)

– ใน “ไวพจน์ประพันธ์” ของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)

มุก
เรือใครใช้บันทุก เปลือกหอยมุกเอามาขาย
ช่างมุกประดับลาย ตลุ้มมุกสุกแวววาม
พวงสร้อยย้อยระยับ ล้วนประดับไข่มุกงาม
ในสวนของขุนราม กล้วยหักมุกสุกคาหวี
มุก กอ สกดใช้ มุกคำไทยใช้พาที
ฝ่ายมุขคำบาฬี สกด ขอ ข้อสำคัญ
มุขะแลมุขา แปลว่าหน้าทุกสิ่งสรรพ์
ใช้ทั่วทุกสิ่งอัน อวิญญาณสวิญญาณ
หนึ่งมุขแปลว่าปาก อีกคำหลากว่าประธาน
มคธบทพิจารณ์ คำปาโมกษ์ประมุขมี
มุขที่แปลว่าหน้า เหมือนคำว่ามุขมนตรี
หัวหน้าหมู่เสนี คือเสนาธิปะไตย
บ่ายมุขะมณฑล คือว่าคนบ่ายหน้าไป
มุขลดคล้ายพาไล ลดเป็นหลั่นชั้นหลังคา
น่ามุขคือสฐาน ที่เป็นด้านยื่นออกมา
ดังมุขแห่งพลับพลา ที่ประทับเจ้าภูวดล
ตรีมุขว่าสามน่า เช่นศาลาสามมุขยล
เป็นอย่างอ้างยุบล แบบตรีมุขทุกสฐาน
น่ามุขทั้งสี่ทิศ งามไพจิตรเพียงวิมาน
สยามนามขนาน จัตุระมุขสีน่าบัน
คำเรียกแก้วมุกดา ใช้กันมามากครามครัน
มคธบทสำคัญ นั้นท่านว่ามุตตาตรง
คำแผลงสังสกฤษฎ์ ตัว ตอ บิดผันผ่อนลง
เป็น กอ สกดคง คำใช้ชุกเป็นมุกดา
เช่นคำว่าสัตติ เป็นศักดิโดยภาษา
กด กับ กก วาจา เปลี่ยนกันได้ในวิถี
มุขเขมรใช้เจรจา แปลว่าหน้าเหมือนบาลี
ชรอยแต่เดิมที มคธใช้ได้ติดมา
รวมมุกที่รำพัน หมดด้วยกันสิบวาจา
นักเรียนเพียรศึกษา ได้ปัญญาใหญ่กว้างขวาง

และในพจนานุกรมภาษาบาลีสันสกฤต ให้ความหมายคำ “มุข” ไว้ว่า หน้า ปาก ประธาน พจนานุกรมภาษาเขมร ให้ความหมาย “มุข” ไว้ว่า หน้า ปาก ประธาน ที่ หน้าที่ แผนก แบบอย่าง ทางสาธารณะ ไม่พบความหมายของคำว่า มุข ที่หมายถึง เจรจาหรือพูด

นอกจากเอกสารหลักฐานต่าง ๆ แล้ว คณะกรรมการชำระพจนานุกรมได้สอบถามข้อมูลจากผู้ทรงคุณวุฒิ เช่น ศ. ดร.ประเสริฐ ณ นคร ศ.วิสุทธ์ บุษยกุล ศ.เรืองอุไร กุศลาสัย ดร.สวนิต ยมาภัย สรุปความได้ว่า คำ “มุก” เป็นคำที่ใช้กันมานานแล้ว เป็นคำไทย สะกดแบบไทย ทั้งนี้ ดร.สวนิต ยมาภัย ให้ข้อมูลว่า ประมาณ พ.ศ. ๒๔๘๕ มีคำว่า มุก มุกกิ๊ก และโม้กิ๊ก ใช้ในภาษาพูด เป็นคำภาษาปากหรือคำคะนอง แปลว่า ปด หลอกให้คนมีอารมณ์ขัน คำว่า กิ๊ก เป็นคำที่ตัดมาจาก กิ๊กหน้าวุ๊ย ซึ่งเป็นคำผวนมาจาก กุ๊ยหน้าวิก และเมื่อพิจารณาตามหลักทางภาษาศาสตร์ เรื่องการกลมกลืนเสียง (assimilation) จากคำ มุกกิ๊ก ที่มีใช้กันมา เกิดการกลมกลืนเสียง ก ระหว่างคำ “มุก” กับ “กิ๊ก” มุก ก็ควรสะกดด้วย ก หรือพิจารณาตามหลักนิรุกติศาสตร์ คำ โม้กิ๊ก กลายเสียงเป็น มกกิ๊ก แล้วเป็น มุกกิ๊ก ในที่สุด ซึ่งการกลมกลืนเสียงลักษณะเช่นนี้พบในคำไทยหลายคำ เช่น โท่ง เป็น ทุ่ง อ่อนไท้ เป็น อรไท

อย่างไรก็ตาม มักมีผู้ใช้คำนี้โดยสะกดด้วย “ข” เป็น “มุข” เช่น อย่ามาเล่นมุข มุขเด็ด ทั้งนี้เนื่องจากในภาษาไทยมีการใช้คำว่า “มุข” ในหลายความหมายและพบคำเหล่านี้มากกว่า เช่น มุขกระสัน มุขเด็จ มุขปาฐะ มุขยประโยค ส่วนคำว่า “มุก” ที่สะกดด้วย “ก” มีใช้ที่หมายถึง หอยมุก ไข่มุก และคำว่า “มุก” หรือ “มุกตลก” แต่เดิมนั้นส่วนใหญ่ใช้เป็นภาษาพูด เมื่อใช้เป็นภาษาเขียนก็เลยเขียนเป็น “มุขตลก” เพราะคำว่า “มุข” เป็นภาษาบาลีมีความหมายหลายอย่าง อย่างหนึ่งคือ “หน้า” จึงเข้าใจกันว่า “มุขตลก” หมายถึง “ทำหน้าตลก” แต่เมื่อตรวจสอบจากเอกสารหลักฐานเก่าตามที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้ปัญหาความสับสนที่เกิดขึ้นสามารถคลี่คลายลงไปได้ว่า ถ้ามีความหมายว่า “หน้า ปาก ประธาน” ใช้คำ “มุข” (ข สะกด) ถ้าเป็นคำไทยใช้ “มุก” (ก สะกด) คณะกรรมการชำระพจนานุกรมพิจารณาแล้วว่าคำนี้มิได้เกี่ยวกับปาก หรือหน้าเลย อาจจะเป็นท่าทางก็ได้ จึงเก็บคำนี้ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ว่า “มุกตลก”.

ที่มา : จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน ปีที่ ๑๔ ฉบับที่ ๑๖๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๗
http://www.royin.go.th/?knowledges=คำ-มุกตลก

Leave a Reply